“Curiosity is the lust of the mind.” – Thomas Hobbes
“ความอยากรู้อยากเห็นคือตัณหาของจิตใจ” – โทมัส ฮ็อบส์ นักปรัชญาอังกฤษ
DuckingTiger เริ่มต้นจากความสงสัย
สองปีก่อนผมก็ไม่ต่างจากคนที่เพิ่งจะเริ่มปั่นจักรยานจริงจัง เริ่มหาข้อมูลอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มหลงใหลการแข่งขันจักรยานทางไกล อยากรู้อยากเห็นไปหมด อยากได้ล้อแพงๆ รถแพงๆ คลั่งไคล้ไปกับเทคโนโลยีของมัน เห็นจักรยานเป็นยานพาหนะง่ายๆ แต่มันมีศาสตร์และศิลป์ในการสร้างยากเกินกว่าที่สมองของนักศึกษาสาขาประวัติศาสตร์อย่างผมจะเข้าใจได้
จักรยานคือจุดตัดของเทคโนโลยีและศิลปะ จักรยานที่ไฮเทคแต่หน้าตาอัปลักษณ์ก็ยากที่จะสร้างแรงดึงดูด กลับกัน จักรยานที่สวยงามแต่ไร้ซึ่งเทคโนโลยีก็เป็นได้แค่ยานพาหนะที่สวยแต่รูป จูบไม่หอม
จากความสงสัย นำไปสู่การเดินทางเพื่อสนองตัณหาจิตใจของผมเอง เขาว่ากันว่าการเขียนและการสอนคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ในมุมคนนอก DuckingTiger อาจจะเป็นแค่เว็บไซต์จักรยานเว็บหนึ่งบนโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีบทความข่าวสารให้เสพ แต่ในมุมของผม มันคือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทุกๆ วัน ผมไม่ใช่คนที่รู้เรื่องจักรยานมากที่สุด แต่อาจจะเป็นคนที่ขี้สงสัยที่สุด ทุกวันผมหวังว่าความสงสัยของผมจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่รักจักรยานเหมือนกัน
Taipei International Cycle Show
เมื่อเราศึกษาเรื่องๆ หนึ่งได้ลึกพอสมควรแล้ว ความสงสัยก็กลายเป็นความเคยชิน ความสนุกก็กลายเป็นความน่าเบื่อ เช่นนั้นแล้ว ถ้าชีวิตคุณอยู่กับจักรยานทุกวัน จะมีอะไรดีไปกว่าการได้มาสำรวจแหล่งกำเนิดของมันจริงๆ? นั่นคือการตัดสินใจมาชม Taipei Cycle Show หรืองานแสดงจักรยานนานาชาติไทเปครับ งานนี้เป็นงานเทรดโชว์ แสดงสินค้าจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และน่าจะใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจาก Eurobike – น่าจะแก้เบื่อได้ชะงัดนัก
แต่ที่นี่ไม่ใช่งานซื้อขายของสำหรับบุคคลทั่วไปครับ เป็นสถานที่ๆ โรงงานและผู้ผลิตแบรนด์ต่างๆ มาออกบูทเจอกับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อยากจะทำธุรกิจในวงการจักรยาน ไม่ใช่แค่จักรยานและอะไหล่ที่มีมาโชว์ มีเสื้อผ้า accessories ต่างๆ เช่นล็อกจักรยาน ถุงเท้า รองเท้า หมวกกันน็อค นิตยสารจักรยานก็มาเปิดบูทหาสปอนเซอร์ เครื่องจักรต่างๆ ก็มีตั้งแต่เครื่องเล็กๆ อย่างเครื่องตั้งล้อไปจนถึงเครื่องทดสอบความแข็งแรง และเครื่องล้างจักรยาน (!)
ความโชคดีของการเป็นสื่อคือคุณมีสายตาที่เป็นกลาง มุมมองผมครึ่งหนึ่งเป็นการดับความกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมจักรยานและเทคโนโลยีต่างๆ เช่นได้มาคุยกับผู้ผลิตจริงๆ ไม่ใช่แค่แบรนด์ที่มาจ้างเขาทำอีกที ซึ่งความรู้เหล่านี้มันช่วยให้เรามองทะลุมาร์เก็ตติ้ง การโฆษณา (เกินจริง) ของบริษัทต่างๆ ครับ
ในอีกมุมผมก็ได้มองอุตสาหกรรมจักรยานในมุมของผู้ประกอบการ ลองคิดดูว่าถ้าอยากเปิดธุรกิจเกี่ยวกับจักรยานสักอย่าง เราจะมีตัวเลือกอะไรบ้าง? (ผู้ประกอบการไทยมางานนี้เยอะมากครับ ผมยังคิดเล่นๆ ว่าถ้าเครื่องบินลำที่นั่งมาตกก่อนถึงไต้หวันนี่ ธุรกิจจักรยานไทยคงเจ๊งกันเลยทีเดียว 555)
งานนี้จะได้ฟีลต่างจาก Eurobike ที่ DT พาเที่ยวเมื่อปีที่แล้วพอสมควร หนึ่งเลยคือเล็กกว่า (มาก) – Eurobike มีขนาดประมาณเอาอิมแพคอารีน่าสัก 12 ฮอลล์มาต่อกัน! ที่นี่ได้แค่ฮอลล์เดียวแต่มีหลายชั้นครับ / สองคือแบรนด์ใหญ่ๆ ที่เรารู้จักไม่ค่อยมาเปิดบูทครับ (ยกเว้นแบรนด์ที่อยากจะหาตัวแทนจำหน่ายหรืออยากขยายธุรกิจในเอเชีย) สินค้าเปิดตัวใหม่ก็ไม่ค่อยมี เพราะเขาเน้นไปเปิดตัวที่ Eurobike มากกว่า แต่นั่นแหละ จุดประสงค์งานมันก็ต่างกัน
ผมมางานนี้แบบคนอินโนเซนส์จริงๆ คือทำตัวเป็นน้ำแก้วรั่วเลย ปีที่แล้วไป Eurobike เครียดไปหน่อย เพราะตื่นเต้นเกิน อะไรๆ มันก็ใหญ่ไปหมด เดินกัน 5 วันแบบเช้าจรดค่ำ งานนี้เลยตั้งใจมาชิลล์ๆ เจออะไรน่าสนใจก็คุยไปเรื่อย เห็นอะไรสวยก็ถ่ายรูปเก็บมาฝากกันDT พาเที่ยวชุดนี้จะมีหลายตอนหน่อยเพราะรูปเยอะ มาดูกันครับว่าวันแรกเจออะไรบ้าง จะขอเล่าในลักษณะ Photo Essay คือบรรยายใต้รูปละกันนะครับ
Part 1 เอาไว้เท่านี้ก่อน ยังเหลืออีกหลายร้อยรูปครับ ต้องบอกว่างานนี้ไม่ค่อยมีอะไรใหม่เท่าไรครับ ที่เด่นสุดของเป็นพาวเวอร์มิเตอร์ของ Powertap แต่สินค้าอื่นๆ เราก็น่าจะรู้จักกันหมดแล้ว ไม่น่าแปลกใจเพราะแบรนด์ส่วนใหญ่เลือกที่จะไปเปิดตัวสินค้าที่ Eurobike รอบเดียว เพราะที่นั่นงานใหญ่สุด สื่อมาเยอะสุด หลายๆ แบรนด์ก็ไม่ได้มีงบมากพอจะออกบูททุกงาน แต่สำหรับผู้ประกอบการในวงการจักรยาน งาน Taipei Cycle Show ก็ยังถือว่าสำคัญ เพราะสะดวกที่จะมาเจอโรงงานและผู้ผลิตได้ตรงๆ
จริงๆ หลายแบรนด์ใหญ่ (ที่ไม่มีบูท) ก็มางานนี้กันหมด แต่มาเพื่อประชุมกับตัวแทน โชว์สินค้าใหม่ในอนาคต (ที่ยังไม่เปิดตัว) ถามว่าผู้บริโภค นักปั่นธรรมดามาแล้วได้อะไรมากมั้ย? ก็ได้เปิดหูเปิดตา แต่ถ้าเลือกไปได้งานเดียว ผมว่าไป Eurobike คุ้มสุดครับ ไว้พรุ่งนี้มาดูกันต่อครับ
♦♦♦