รายงานรัฐสภาอังกฤษ: “ทีม Sky จงใจใช้สเตียรอยด์เพิ่มประสิทธิภาพนักปั่น”​

หลังจากที่สืบสวนมานานหลายเดือน ในที่สุดคณะกรรมการพิเศษที่จัดตั้งโดยรัฐสภาอังกฤษก็ได้ข้อสรุปเรื่องความเป็นไปได้ในการโด้ปของทีม Sky ทางคณะกรรมการสรุปว่า แบรดลีย์วิกกินส์และทีม Sky จงใจใช้ช่องโหว่ในกฏการขอใช้สารต้องห้าม (TUE) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปั่น

รายงานชิ้นนี้จัดทำโดยคณะกรรมการ Digital, Culture, Media and Sport เหตุมาจากที่มีข่าวหลุดออกมาหลายครั้งว่าทีม Sky ได้มีการขอไตรแอมซิโนโลน ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากสเตียรอยด์ในกลุ่ม Corticosteroid เพื่อรักษาอาการภูมิแพ้ของนักปั่นในทีม โดยเฉพาะแบรดลีย์ วิกกินส์ที่มีได้ขอใช้มากหลายครั้งก่อนแข่ง Tour de France ในปี 2012 ที่เขาได้แชมป์รายการ

ไตรแอมซิโนโลนมีผลข้างเคียงที่เป็นประโยชน์กับการแข่งขันหลายด้านเช่น ช่วยลดการอักเสบกล้ามเนื้อ ช่วยเผาผลาญไขมันอย่างรวดเร็ว และมีผลต่อเนื่องยาวนาน นั่นคือทำให้นักปั่นได้เปรียบในการแข่งขัน

องค์กรต่อต้านการโด้ปโลก (WADA) กำหนดให้ไตรแอมซิโนโลนเป็นสารต้องห้าม (banned substance) ไม่ให้ใช้ในการแข่งขัน แต่นักกีฬาสามารถยื่นขอใช้สารต้องห้ามเป็นกรณีพิเศษได้หากพิสูจน์ได้ว่ามีความจำเป็นต้องใช้รักษาอาการป่วยจริงๆ

รายงานกล่าวว่านักปั่นอาชีพจำนวนมากใช้ช่องทางการขอใช้ยาผ่าน TUE ไม่ได้เพื่อรักษา แต่เพื่อใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปั่น และนักปั่นทีม Sky ก็ทำอย่างเดียวกัน

“จากหลักฐานที่เราได้รับ เกี่ยวกับการใช้ไตรแอมซิโนโลนของทีม Sky โดยเฉพาะในช่วงปี 2012 คณะกรรมการเชื่อว่าทีม Sky ได้เตรียมไตรแอมซิโนโลนให้แบรดลีย์ วิกกินส์ และนักปั่นคนอื่นๆ ที่ช่วยเหลือเขาในการแข่ง Tour de France”

“จุดประสงค์ของการใช้ยานี้ ไม่ใช่เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แต่เพื่อเพิ่มสัดส่วนกำลังต่อน้ำหนักตัว (power to weight ratio) ของวิกกินส์ก่อนหน้าการแข่งขัน การขอใช้ไตรแอมซิโนโลนผ่าน TUE ก่อนวิกกินส์ลงแข่ง Tour de France หมายความว่าเขาจะได้ประโยชน์จากยานี้ในการแข่งขันโดยตรง”​

“นั่นหมายความว่า ทีม Sky ตั้งใจใช้ยานี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนักปั่นอย่างจงใจ ถึงแม้จะไม่ผิดกฏการโด้ปก็ตาม แต่เป็นการข้ามเส้นศีลธรรม”

“วิกกินส์อาจจะใช้ไตรแอมซิโนโลนถึง 9 ครั้งในระยะเวลา 4 ปี ทั้งในและนอกการแข่งขัน มันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้ว่าอาการป่วยอะไรที่ทำให้นักปั่นต้องใช้ไตรแอมซิโนโลนมากขนาดนี้”

คณะกรรมการยังได้รับรายงานจาก “บุคคลภายในทีม Sky” ที่ให้การว่า “วิกกินส์และนักปั่นในชุดทีม Tour de France ของเขาฝึกซ้อมแยกกับนักปั่นอื่นๆ ในทีม นักปั่นชุดนี้ใช้ไตรแอมซิโนโลนระหว่างซ้อมทุกคนเพื่อลดน้ำหนักให้ทันการแข่งขันรายการใหญ่ และใช้ในปริมาณมากกว่าที่ TUE กำหนด”

“เชน ซัตต้อน โค้ชของทีม Sky ในปี 2012 ที่ดูแลวิกกินส์ก็ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าวิกกินส์ได้ใช้ไตรแอมซิโนโลนจริง “สิ่งที่แบรดทำมันผิดศีลธรรม แต่ไม่ผิดกฏ”

ใน Tour de France ปีเดียวกัน คริส ฟรูม เพื่อนร่วมทีมของวิกกินส์ คว้าอันดับสองใน Tour de France แต่ตอนนี้เขากำลังตกเป็นเป้าสอบสวนเรื่องที่พบยาแก้ภูมิแพ้ซาลบูทามอลเยอะเกินที่กฏอนุญาต และมีสิทธิถูกถอนแชมป์ Vuelta a Espana 2017

คณะกรรมการเสนอข้อแนะนำว่า เดวิด เบรลส์ฟอร์ด ผู้อำนวยการทีม “ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายต่อชื่อเสียงของทีม และคำกล่าวที่เขาเคยอ้างว่าทีม Sky จะแข่งอย่างใสสะอาดที่สุด และจะไม่หาความได้เปรียบคู่แข่งจากช่องโหว่ของกฏการแข่งขัน”

 

บทสรุป: ยากที่จะเชื่อใจทีม ​Sky ได้อีกต่อไป

จากหลักฐานทั้งหมดที่คณะกรรมการพิจารณา สรุปออกมาได้ว่าสิ่งที่ทีม Sky โดยเฉพาะผู้อำนวยการทีม เดวิด เบรลส์ฟอร์ดพูดนั้น ขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

เบรลส์ฟอร์ดให้การกับคณะกรรมการว่า “ผมไม่สนับสนุนการใช้ยาใดๆ ทั้งสิ้นหากไม่มีความจำเป็นหรืออาการเจ็บป่วยที่ต้องใช้ยารักษา”

คณะกรรมการสรุปว่าเป็นการยากที่จะเชื่อคำให้การของเบรลส์ฟอร์ดเพราะหลักฐานออกมานั้นขัดแย้งกับที่เขาให้การทุกประการ นอกจากนี้ทางคณะกรรมการยังได้ข้อมูลภายในจากบุคคลภายในที่เคยเป็นผู้บริหารคนหนึ่งของทีม Sky ในปี 2012 ว่า “ทีม Sky ใช้ไตรแอมซิโนโลนเพื่อผลทางยุทธศาสตร์ ทั้งเพื่อรักษาสุขภาพนักปั่น แต่มีเป้าหมายหลักคือเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน”​

“ในปี 2012 ทีม Sky อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลที่จะต้องทำผลงาน ทั้งเบรลส์ฟอร์ด และซัตต้อนกดดันทีมแพทย์ของ Sky ให้สนับสนุนนักปั่นด้วยการใช้ยาต่างๆ ทีมได้เสนอเรื่องการขอใช้สารต้องห้าม (TUE) โดยใช้เหตุผลเรื่องการรักษาอาการเจ็บป่วยเป็นเหตุผลบังหน้า”

คณะกรรมการสรุปว่า “คำให้การของทีม Sky ฟังไม่ขึ้นและไร้ซึ่งความเป็นมืออาชีพ”

 

ก้าวต่อไปของทีม Sky?

ถ้าใครติดตามข่าวของ Sky ต่อเนื่องมาตลอดอาจจะพบว่ามันมีความคลุมเครือตลอดมา เพราะอย่างที่รายงานกล่าว โดยแท้จริงแล้วทีม Sky ไม่ได้ทำอะไรผิดกฏการโด้ปหรือการแข่งขันเลย แต่เป็นการอาศัยช่องโหว่ทุกอย่างในกฏเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนักปั่น และหลายๆ อย่างนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม

เดวิด เบรลส์ฟอร์ดก็ยังคงยืนการว่าทีมไม่ได้ทำอะไรผิด

รายงานฉบับนี้น่าจะมีผลต่อคดีของคริส ฟรูม พอสมควร เพราะถ้าชัดเจนว่าทีมยอมที่จะงอกฏหรือหาทางได้เปรียบคู่แข่งทุกวิถีทางถึงแม้จะเกินขอบเขตความพอดีและพร้อมจะข้ามเส้นศีลธรรม การที่ตรวจพบเจอยาแก้ภูมิแพ้ในคริส ฟรูมเกินปริมาณที่อนุญาตก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอีกต่อไป

น่าสนใจว่ารายงานฉบับนี้จะมีผลต่อสปอนเซอร์หลักของทีม Sky หรือเปล่า ผู้สนับสนุนหลักเป็นบริษัท Sky ผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวีรายใหญ่ที่สุดในอังกฤษ และเมื่อเดือนที่แล้วเพิ่งจะยืนยันคำเชื่อมั่นในทีมด้วยการจ้างเดฟ เบรลส์ฟอร์ดให้เป็นพนักงานของ Sky เต็มตัว จากที่ผ่านมา เบรลส์ฟอร์ดทำงานในฐานะ “ที่ปรึกษา” ของทีม ผ่านบริษัทที่ปรึกษาที่เขาตั้งขึ้นมาเอง

ถ้าใครสนใจอยากอ่านรายงานรัฐสภาตัวเต็ม (ความยาว 43 หน้า) เปิดอ่านได้ที่ลิงก์นี้ครับ

Parliament.UK: Combat doping in sport

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!