ปั่น 1200 กิโลเมตร ใน 90 ชั่วโมง: คุยกับคนไทยในสนาม Paris-Brest-Paris!

ในช่วงเวลา 100 ปีโลกเราเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน? ถ้าคุณหันมองไปรอบตัวเชื่อเลยว่าสิ่งของแทบทุกอย่างในปี 2015 นั้นแทบจะเปลี่ยนไปจากของเมื่อ 100 ปีก่อนโดยสิ้นเชิง เรามีคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน รถยนต์ไฮเทค และตึกสูงระฟ้าที่คนสมัยก่อนคงคิดว่าเขาไม่ได้อยู่บนโลกมนุษย์ถ้าเขาสามารถข้ามเวลามาหาเราได้…

แต่มีสิ่งหนึ่งที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยครับ นั่นก็คือจักรยาน! มันอาจจะมีน้ำหนักเบาขึ้นและใช้วัสดุทันสมัยกว่าเดิม แต่การทำงานของมันก็แทบจะไม่ต่างอะไรกับจักรยานที่เราใช้เมื่อร้อยปีก่อน ถ้าให้แชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์คนแรกของโลก — มิสเตอร์ เมาริส การิน (1903) มาแข่งคู่กับนักปั่นในสมัยนี้ เขาคงปรับตัวมาใช้จักรยานสมัยใหม่ได้ไม่ยาก มันก็ยังมีสองล้อเหมือนเดิม เป็นยานพาหนะรูปทรงสามเหลี่ยมสองชิ้นที่ขับเคลื่อนด้วยพลังมนุษย์ ใช้โซ่เป็นสายพานถ่ายพลังจากบันสู่ล้อเพื่อขับเคลื่อนไปข้างหน้า เผลอๆ การินจะปั่นแรงกว่าคริส ฟรูมเสียอีก?!

สปิริตการแข่งขันจักรยานคงไม่ต่างไปจากเมื่อร้อยปีก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ดูจะจางหายไปทุกวันกลับเป็นจิตวิญญาณการผจญภัยด้วยจักรยานครับ สมัยนี้เรามีจักรยานหลากประเภทสำหรับแทบทุกรูปแบบเส้นทาง จนเราไม่กล้าที่จะใช้จักรยาน “ผิดสนาม” ไม่กล้าออกปั่นไกลๆ หรือเดินทางไปไหนมาไหนด้วยจักรยานเหมือนเมื่อก่อน จักรยานกลายเป็นงานอดิเรกหรือกีฬาที่คำจำกัดความการใช้งานแคบลงเรื่อยๆ

The Paris-Brest-Paris

คุณเคยถามตัวเองไหมว่า ถ้าต้องปั่นจักรยานต่อกัน 1200 กิโลเมตรให้ได้ในเวลา 90 ชั่วโมง คุณจะทำยังไง? คำถามนี้เป็นสิ่งที่นักปั่นหลายพันหลายหมื่นคนมาร่วมกันหาคำตอบทุกๆ และทำกันมาต่อเนื่องร่วม 124 ปีเต็มแล้ว ใช่แล้วครับ ผมกำลังพูดถึงกิจกรรมการปั่น ปารีส-แบร็สต์-ปารีส (Paris-Brest-Paris) การปั่นจักรยานทางไกล 1,200 กิโลเมตรต่อเนื่อง ที่จัดขึ้นทุกๆ 4 ปี

มันเป็นงานปั่นจักรยานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เก่ายิ่งกว่าตูร์เดอฟรองซ์ และ Liege-Bastonge-Liege เสียอีก งานปารีส-แบร็สต์-ปารีส ในปัจจุบัน กำหนดให้ผู้เข้าร่วมต้องผ่านกิจกรรมร็องดอเนอร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งระยะ 200, 300, 400 และ 600 กิโลเมตรภายในหนึ่งปีนั้นมาก่อน นักกีฬาจะต้องขี่จักรยานเป็นระยะทาง 1,200 กิโลเมตร ภายในเวลา 90 ชั่วโมง และย้ายจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดไปที่เมืองแซ็ง-ก็องแต็ง-อ็อง-อีฟว์ลีนทางตะวันออกเฉียงใต้ของปารีส

เช่นเดียวกับสนามแข่งจักรยานชื่อดังอย่างตูร์เดอฟรองซ์ ผู้จัด PBP — ปิแอร์ กิฟฟาร์ด จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อโปรโมทหนังสือพิมพ์ โดยใช้ความยากและความยาวไกลของเส้นทางเป็นจุดขาย ซึ่งในสมัยนั้นจักรยานที่ใช้กันเป็นแค่ฟิกซ์เกียร์ธรรมดาๆ มันเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มทดลองกับขอบเขตความสามารถร่างกายในการปั่นจักรยาน ผู้เข้าร่วม PBP มีทั้งนักปั่นอาชีพและมือสมัครเล่น

IMG_0285

งานแรกที่กิฟฟาร์ดจัดคือสนามบอร์โดซ์-ปารีส ระยะทาง 600 กิโลเมตร ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะมีคนปั่นจบ แต่มันเป็นมหกรรมใหญ่ในปีนั้นเลยก็ว่าได้เมื่อผู้คนรายล้อมสองข้างทางจัดวางน้ำและอาหารให้ผู้เข้าแข่งขันตลอดเส้นทาง และออกมาเชียร์ตั้งแต่เริ่มจนจบ แชมป์รายการเป็นชาวอังกฤษที่ปั่นจบด้วยเวลาเพียง 26 ชั่วโมง

เมื่องานแรกประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม กิฟฟาร์ดตัดสินใจจัดอีกงานให้ใหญ่ขึ้น ยากขึ้นอีก จนกลายมาเป็น PBP สนามแรกในปี 1891 ที่นักปั่น 206 คนเข้าร่วมแข่งขัน ต้องผ่าน 16 เช็คพอยท์ กับเส้นทางที่ต้องขึ้นเนิน ข้ามเขา ผ่านทางกรวดขรุขระ แต่สุดท้ายแชมป์รายการชาวฝรั่งเศสก็ปั่นสำเร็จด้วยเวลา 71 ชั่วโมง เข้าเส้นชัยก่อนอันดับสองร่วมแปดชั่วโมงเต็ม และทั้งรายการมีคนปั่นจบเพียง 100 คน ด้วยความยากของมัน กิฟฟาร์ดยกเลิกการแข่งไป 10 ปีเต็มด้วยเหตุผลที่ว่ามันยากเกินไป

เข้าสู่ปี 1901 อองรี เดอกรานจ์ กลายมาเป็นผู้จัดงาน PBP แทนกิฟฟาร์ด ถ้าคุณจำชื่อเขาได้อาจจะไม่แปลกใจ เพราะเขาคือผู้ก่อตั้งสนามตูร์เดอฟรองซ์นั่นเองครับ เดอกรานจ์ก่อตั้งสมาคมออแดกซ์ (Audax) ในฝรั่งเศสเพื่อส่งเสริมการปั่นจักรยานระยะทางโคตรไกลโดยเฉพาะ คำว่า Audax มาจากคำ ‘Audace’ ในภาษาละติน ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “กล้าบ้าบิ่น” ว่ากันแล้วมันก็อธิบายจิตใจของนักปั่น Audax ได้สมบูรณ์แบบครับ หัวใจของการเป็นนักปั่น Audax มี สามอย่าง 1.) คุณต้องแข็งแกร่ง 2.) คุณต้องเด็ดเดี่ยว และ 3.) คุณต้องดูแลตัวเองได้ ปั่นจบโดยไม่รับความช่วยเหลือจากใคร

ระยะเวลาผ่านไป ผู้คนเริ่มให้ความสนใจการแข่งขันระยะทางไกลๆ แบบนี้น้อยลง แต่กลับไปสนใจสนามแบบ One Day Race อย่าง Paris-Roubaix กันมากขึ้น นักปั่นอาชีพเองก็เริ่มถอนตัวจากสนาม PBP แต่ใช่ว่าสนามนี้จะตายจากไปครับ

 

2015 Paris-Brest-Paris

ในปี 2015 Paris-Brest-Paris กลับมาจัดอีกครั้ง เป็นสมัยที่ 22 ในวันที่ 16 สิงหาคม มีนักปั่นกว่า 5,000 ชีวิตเข้าร่วมแข่งขัน ทุกคนต้องผ่านรอบคัดเลือก Audax 200, 300, 400, และ 600 กิโลเมตรในปีก่อนหน้า ถ้าจะเรียกว่า “ปั่นจบ” ผู้เข้าแข่งขันยังคงต้องปั่นระยะทาง 1200 กิโลเมตรให้ได้ในเวลา 80,84 และ 90 ชั่วโมง (ตามลำดับความยากที่สมัคร) พร้อมผ่านเช็คพอยท์ที่กำหนดทั้งหมด

นักปั่นทุกคนจะต้องเจออุปสรรคที่คนปั่นจักรยานเกือบทั้งโลกไม่เคยเจอ เส้นทางที่ไม่รู้จัก สภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ ร่างกายที่อ่อนล้า และคำถามในใจว่าฉันจะเลิกหรือจะไปต่อ? บททดสอบครั้งนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องของร่างกาย มันทดสอบความแกร่งของใจยิ่งกว่า แต่เชื่อไหมครับ ถึงจะปั่นจบได้ตามกำหนด หรือจะได้ที่หนึ่ง งานนี้ไม่มีรางวัลให้ผู้ชนะ ไม่มีเกียรติยศชื่อเสียงเหมือนสนามแข่งอาชีพ มีแค่ความภาคภูมิใจที่ตัวเราก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้….

ปีนี้มีนักปั่นไทยกว่า 74 ชีวิตได้เข้าร่วมการแข่งขัน (แต่คนที่ลงปั่นมีทั้งหมด 69 คน มีสปอนเซอร์บริษัทไทยอย่าง เครื่องดื่มเกลือแร่ซันโวและสิงห์ คอร์เปอเรชั่น เป็นผู้สนับสนุนการแข่งครั้งนี้ให้กับนักปั่นจำนวน 43 คน

เรื่องราวของพวกเขาจะเป็นยังไง เส้นทางยากแค่ไหน อุปสรรคมีอะไรบ้าง และเตรียมตัวกันยังไง? DT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ตัวแทนผู้เข้าแข่งขัน PBP ปีนี้ มาติดตามกันว่าปั่น 1200 กิโลเมตรมันเป็นยังไง

งานสัมภาษณ์วันนี้เราได้คุยกับหัวหน้าทีมชาวอังกฤษ ลุงบ็อบ อูเชอร์ (เกตุ วรกำธร) ตัวตั้งตัวตีของวงการ Audax ประเทศไทย ถึงลุงบ็อบจะอายุ 85 ปีแล้วแต่ก็ยังช่วยดูแลสนับสนุนคนไทยที่อยากจะไปแข่งสนามระดับโลก PBP และตัวแทนนักปั่นอีกร่วมสิบคนที่มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปั่นและให้คำแนะนำกับคนที่อยากจะลองสนามทางไกลแบบนี้ดูสักครั้ง

เส้นทางเป็นยังไง

งานนี้เริ่มจากกรุงปารีส ผ่านหลายเมืองใหญ่เล็กในฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น Mortagne, Villaines, Fougeres…และไปถึงเมืองที่เป็นจุดกลับตัวที่เบรสต์ รวมระยะทาง 600 กิโลเมตร และก็ปั่นกลับอีก 600 กิโลเมตร ตลอดระยะทางมีจุดเช็คพอยท์ที่นักปั่นต้องสแตมป์ประทับตาบัตรเพื่อพิสูจน์ว่าได้ปั่นเส้นทางที่กำหนดจริง

ถึงสภาพถนนจะดีแต่เส้นทางส่วนใหญเป็นเนินและภูเขา รวมกับระยะทางไกลๆ แล้วจึงไม่ใช่เส้นทางง่ายๆ เลย

สำหรับงานนี้ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกปั่นได้ 3 ระดับความยาก กำหนดโดยเวลาที่ต้องปั่นให้จบระยะทาง นักปั่นสามารถเลือกจักรยานแบบไหนก็ได้ จะเป็น Time Trial, จักรยาน Recumbent นอนปั่น, เสือหมอบ, เสือภูเขาก็ได้ทั้งหมด

  • 80 ช.ม. (นั่นคือต้องปั่นให้จบภายในกรอบ 80 ชั่วโมง คนที่ลงกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นระดับนักกีฬาหรือคนที่มั่นในความแข็งแรงของตัวเอง ประเภทนี้คนไทยลง 2 คน คือคุณสิริกร ปุณณประดับกิจ (จบด้วยเวลา 68.39 ชั่วโมง) และคุณนพดล ปานอุดมลักษณ์ (76.53 ชม.) เป็นคู่คนไทยที่ทำเวลาดีที่สุด
  • 84 ช.ม. ไม่มีคนไทยลงระดับนี้ (edit: มีคนไทยลง 4 คน แต่ปั่นจบในเวลา 2 คน)
  • 90 ช.ม. สำหรับผู้เข้าร่วมมือใหม่ นักปั่นไทยส่วนใหญ่ลงในประเภทนี้
  • รวมรายชื่อนักปั่นไทยที่ปั่นจบ และระยะเวลา ตามนี้ครับ

คุณสิระกร ปุณณประดับกิจ (68.39 ชม.)
คุณวิเชียร งามแสง (68.49 ชม.)
คุณนพดล ปานอุดมลักษณ์ (76.53 ชม.)
คุณศิริชัย อติวัฒนานนท์ (77.29 ชม.)
น.ส.สุกัญญา สุวรรณาคะ (81.48 ชม.)
คุณณัฐภพ กิจวัฒนกุล (83.46 ชม.)
คุณวินัย ทรรทรานนท์ (86.15 ชม.)
คุณเกรียงศักดิ์ กลิ่นนิ่มนวล (88:34 ชม.)
น.ส.ยุพิน ศิริสวัสดิ์ (87.40 ชม.
คุณธงชัย พิศาภาค (87.54 ชม.)
นอ.ณรงค์ วัฒนะเสน (88.05 ชม.)
คุณเอกสิทธิ์ สุฉันทบุตร (88.54 ชม.)
คุณสุมิตร สุโขทัยวาณิช (89.27 ชม.)
คุณประดิษฐ์ พยุงวงศ์ (89.50 ชม.)

PBP ไม่ได้มีจัดแข่งทุกปี (4 ปีมีหน) จะเข้ามาแข่งได้ก็ต้องพิเศษกันหน่อยครับ อันดับแรก คนที่อยากมาต้องปั่นรายการ Audax Randonneurs (จะประเทศไหนก็ได้) ให้จบได้ระยะทาง 200, 300, 400 และ 600 กิโลเมตรในปีเดียวกันถึงจะได้รับสิทธิให้ลงสนาม PBP ในปีนั้นๆ

เจอปัญหาอะไรบ้าง?

บอกตามตรง งานปั่น Audax เป็นงานที่ผมไม่อินเลยครับ เราชอบแข่งขันและชอบความเร็วระยะทางสั้นๆ มากกว่าปั่นไกล แต่ถึงจะไม่เคยเข้าร่วม ก็นับถือทุกคนที่ตั้งใจไปปั่นกัน ไม่ว่าจะเป็น 200, 400 หรือ 600 ก็ดี 1,200 กิโลนี่ยิ่งแล้วใหญ่ พี่ทำกันได้ยังไงเนี่ย!?

ผมไม่คิดว่างาน Audax จะได้รับความนิยมมากเท่าไรในบ้านเราในช่วงที่มาเปิดตัวใหม่ๆ เพราะประเทศไทยอากาศร้อนมาก แต่ไม่ใช่เลยครับ กลายเป็นว่ามีผู้คนมากมายที่หลงเสน่ห์งาน Audax และอยากที่จะเอาชนะตัวเองให้ได้ มันเป็นทางเลือกใหม่ที่ดึงดูดนักจักรยานอีกหลายกลุ่มเข้ามา ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ครอบครัว อายุมากน้อยก็ชวนกันไปปั่น ถึงจะไกลแต่ก็ไม่อันตรายและดูเข้าถึงยากเหมือนงานแข่งสนามใจเกินร้อยหรืองานที่สตาร์ทกันทีละหลายร้อยหลายพันคน

ปั่น 200 กิโลเมตรยังพอคุยกันได้ แต่ 1,200 กิโลเมตรนี่ทีมไทยต้องเจอปัญหาอะไร และเขาเตรียมตัวกันยังไงบ้าง? ระหว่างบทสนทนามีเพื่อนนักปั่นหลายคนแชร์ประสบการณ์และแนะนำสำหรับคนที่อยากจะลองเก็บแต้มมางาน PBP มีทั้งเรื่องที่คาดไม่ถึง เรื่องที่เตรียมตัวมาไม่พร้อม ข้อสรุปเป็นข้อๆ ครับ

สภาพอากาศ: ถึงจะเป็นการปั่นช่วงปลายฤดูร้อนของประเทศฝรั่งเศส แต่อากาศก็ไม่ได้ร้อนเหมือนประเทศไทย ปัญหาใหญ่ที่เจอคืออุณหภูมิช่วงกลางคืนและกลางวันนั้นต่างกันหลายสิบองศาเซลเซียส และคนไทยก็ไม่เคยชินกับสภาพอากาศเย็นๆ ทำให้ปั่นได้ไม่ดีเท่าที่ควร เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายระหว่างปั่นก็ไม่พอช่วยป้องกันความหนาวเย็น

อาหาร: ก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรค ไม่ใช่ว่าอาหารหรือเสบียงไม่พอ แต่อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารฝรั่งจำพวกขนมปังและพาสต้า ก็ไม่ใช่อย่างที่เราคุ้นเคย ยิ่งเวลาที่ต้องกินเพื่อตุนพลังไปปั่นด้วยแล้วยิ่งเป็นเรื่องยากเข้าไปใหญ่

น้ำหนัก: เพื่อนนักปั่นหลายคนให้สัมภาษณ์ว่า ทีมไทยขนของไปเยอะ (มาก) ทั้งเสบียงและของใช้จำเป็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยางนอก ยางใน อะไหล่ โซ่สำรอง สูบลมจิ๋ว และอาหารติดตัว เสื้อกันลม เสื้อสะท้อนแสง ซึ่งเยอะเกินไป จนน้ำหนักลายเป็นภาระเมื่อต้องขึ้นเนินชันเกือบตลอดเส้นทาง ถ้าสังเกตพวกนักปั่นที่ทำเวลาได้เร็วๆ ส่วนใหญ่พวกนี้แทบจะไม่ขนอะไรเลย มีกระเป๋าสะพายหลังใบเดียว นั่นคือครั้งหน้าถ้าเป็นไปได้ ลดสัมภาระบางอย่างแต่ขนเงินมาแทน (!)

สภาพร่างกาย: ไม่ใช่ทุกคนที่เคยปั่นทางไกลต่อเนื่องให้จบในรวดเดียว กลุ่มนักปั่นที่ทำเวลาได้ดีที่สุดในรายการนี้ ใช้เวลาเพียง 42 ชั่วโมง 26 นาทีเท่านั้น แต่เขาทำโดยการแทบไม่หยุดปั่นและไม่นอนพักเลย เพื่อนนักปั่นชาวไทยบอก DT ว่า อุปสรรคใหญ่ในการปั่นรายการนี้ไม่ใช่แค่ระยะทางเท่านั้น แต่เป็นเรื่อง Pacing Strategy หรือการกะเวลาปั่นและเวลาพัก หลายคนบอกว่านอนเยอะเกินไป ทำให้เสียเวลาไปมาก บางทีช่วงแรกก็พยายามตามกลุ่มเร็ว (ที่สัมภาระน้อยและแข็งแรง) ทำความเร็วสูงตั้งแต่เริ่ม ซึ่งเป็นภูเขาสูงชันทั้งหมด!

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *