เทรนด์พฤติกรรมนักปั่นทั่วโลก (ที่ใช้ Strava) เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

ทุกๆ ปี Strava หรือบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเก็บข้อมูลการฝึกซ้อมกีฬาจะรวบรวมข้อมูลจาก Big Data พฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้ใช้ระบบ แปลงออกมาเป็นเทรนด์ให้เราเห็น ซึ่งในปี 2019 นี้ Strava ก็มีฐานข้อมูลนักกีฬามากถึง 48 ล้านคนจาก 195 ประเทศทั่วโลก แปลงออกมาเป็นรีพอร์ทโชว์พฤติกรรมการปั่นได้น่าสนใจทีเดียวครับ

คนทั่วโลกนิยมออกปั่นเวลากี่โมง? ตั้งเป้าหมายการซ้อมช่วยให้ทำเวลาดีขึ้นหรือเปล่า? จักรยานรุ่นไหนทำความเร็วเฉลี่ยสูงสุด? และอีกหลายๆ คำถามที่น่าสนใจ ลองมาดูกันที่ละข้อครับ

1. นักกีฬาและ BIG Data

ปีนี้ครบรอบ 10 ปีของบริษัท Strava และทุกๆ ปีบริษัทก็มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องครับ ล่าสุดมี ผู้ใช้มากเกือบ 50 ล้านคน และเพิ่มต่อนื่องเดือนละล้านคน เล่นกีฬาต่างๆ กันไป 33 ชนิด และมีผู้ใช้จาก 195 ประเทศทั่วโลก รวมระยะทางที่มีการปั่นทั้งหมดจากเดือนตุลาคม 2018 ถึงกันยายน 2019 คิดเป็น 5.6 พันล้านกิโลเมตร!

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ผู้ใช้ทุกคนที่อัปโหลดข้อมูลการออกกำลังกาย จริงๆ แล้วมีผู้ใช้ (user) แค่ราวๆ 15% จากจำนวนผู้ใช้ทั้งหมดเท่านั้นที่อัปโหลดข้อมูลขึ้น Strava เป็นประจำ

 

2. พวกมากลากไป

สไลด์นี้อาจจะเป็นข้อมูลที่น่าสนใจที่สุดจาก Strava Report ปีนี้ครับ เพราะในแต่ละ acitivity (กิจกรรม) ที่เราอัปโหลดขึ้นไปใน Strava จะบันทึกช่วงเวลาที่เราออกกำลังกายนั้นๆ เมื่อเราเอาข้อมูลของคนทั้งโลกมารวมกันก็ทำให้เรารู้ว่าคนปั่นหรือวิ่งในช่วงเวลาไหนของวันมากที่สุด

ข้อมูลปี 2019 บอกเรา 4 อย่าง

  1. คนใช้ Strava นิยมออกไปปั่นและวิ่งในช่วง 06:00-08:00 มากที่สุด
  2. แต่คนที่ไปปั่นหรือวิ่งกับเพื่อน จะออกสตาร์ทเช้ากว่า โดยเฉพาะกลุ่มปั่นที่มักเริ่มสตาร์ทกันตอนตีห้า
  3. นักปั่นที่มีชมรมหรือกลุ่ม จะอัปโหลดข้อมูลการปั่นมากกว่าคนที่ไม่มีกลุ่มถึง 10% (ออกไปปั่นบ่อยครั้งกว่า)
  4.  คนที่ออกปั่นเป็นกลุ่ม โดยเฉลี่ยแล้วออกปั่นไกลกว่าผู้ใช้ที่ปั่นคนเดียว 2 เท่า

นั่นหมายความว่าคนที่ออกไปปั่นกับเพื่อน/กลุ่ม จะเริ่มปั่นเช้ากว่า ปั่นบ่อยครั้งกว่า และระยะทางไกลกว่านักปั่นเดี่ยวๆ นั่นเอง สะท้อนว่าการไปปั่นร่วมกับคนอื่นก็เป็นแรงบันดาลใจและแรงกระตุ้นที่ดีมากให้ออกกำลังกายสม่ำเสมอนั่นเองครับ

 

3. Indoor cycling มาแรงมาก

ข้อมูล Strava พบว่ามีผู้ใช้ปั่นจักรยาน indoor กันมากขึ้น ไม่ว่าจะมาจากการใช้จักรยานตัวเองกับเทรนเนอร์ หรือจะเป็น indoor cycling class ตามยิมต่างๆ

เราทราบกันดีว่า 2-3 ปีที่ผ่านมานี้มีสินค้าจำพวกสมาร์ทเทรนเนอร์หรืออุปกรณ์การฝึกซ้อมจักรยานอินดอร์ออกมาเยอะมาก และมีซอฟต์แวร์การฝึกซ้อม รวมถึงเกมการปั่นออนไลน์ออกมารองรับ เปิดโอกาสให้หลายๆ คนได้ปั่นจักรยานในบ้านได้อย่างมีความสุขไปจนถึงขั้นเสพติด!

สิ่งที่น่าสนใจคือผู้ใช้ Strava ปั่น indoor มากขึ้นทั้งในฤดูหนาวที่อากาศไม่เอื้ออำนวย และในฤดูร้อนด้วย อย่างเดือนกรกฏาคมซึ่งเป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดในการปั่นนอกบ้านสำหรับคนส่วนใหญ่ในโลก (เป็นช่วงฤดูร้อนพอดี) ก็ยังมีอัตราการเติบโตของ indoor cycling activity ขึ้นมาเกือบ 5% เทียบกับเมื่อ 4 ปีก่อน ส่วนช่วงฤดูหนาวอย่างเดือนมกราคมไม่ต้องพูดถึง อัตราการเติบโตของการปั่นจักรยาน indoor เพิ่มขึ้นเกือบ 10%

ตรงนี้สะท้อนหลายอย่างครับ เช่นอุปกรณ์การปั่น indoor ได้มีการพัฒนาขึ้นมามากจนใช้งานได้ง่าย ราคาถูกลง รองรับ online software ที่ช่วยเก็บข้อมูลการปั่น เปรียบเทียบกับคนอื่นๆ และปั่นไปพร้อมกับคนอื่นๆ ทั่วโลกเหมือนเล่นเกมหรือแข่งขันกันจริงๆ ทำให้การปั่น indoor ได้รับความนิยมต่อเนื่อง ในญี่ปุ่นมีคนที่ปั่นจักรยาน indoor ปีละเกือบห้าพันกิโลเมตรเลยทีเดียว

นอกจากนี้ Strava ยังโชว์ข้อมูลว่า สำหรับคนที่ได้ลองปั่นเส้นทางจำลองของเส้นทางจริง เช่นเอาข้อมูล GPS ของรูทจริงมาลองปั่นกับเทรนเนอร์ก่อน โดยมีการจำลองความชันและระยะทางเหมือนจริงทุกอย่าง จะช่วยให้ทำเวลาในรูทนั้นได้ดีขึ้นด้วย คนที่ซ้อมปั่นเส้นทางภูเขา Alpe d’Huez ชื่อดังในฝรั่งเศสอย่างน้อยห้าครั้ง จะช่วยให้เขาทำเวลาได้ดีขึ้นเมื่อไปปั่นขึ้นเขานั้นจริงๆ โดยเฉลี่ย 2 นาที

 

4. กีฬาเดียวไม่เปรี้ยวพอ

อีกหนึ่งเทรนด์ที่ข้อมูล Big data จาก Strava ค้นพบก็คือ ผู้ใช้เริ่มเล่นกีฬามากกว่าหนึ่งประเภท โดยกีฬาใหม่ที่เล่นและอัปโหลดข้อมูลขึ้น strava นั้นมักเป็นกีฬาที่ช่วยให้เขาเล่นกีฬาหลักได้ดีขึ้น

จำนวนผู้ใช้ที่อัปโหลดข้อมูลกีฬาประเภทเดียวลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 67.9% ในปี 2015 เหลือแค่ 47.2% ในปี 2019 นั่นหมายความผู้ใช้ Strava เริ่มออกกำลังกายหลายประเภทมากขึ้นและมีการอัปโหลดข้อมูลการออกกำลังกายที่หลากหลายมากขึ้นทุกปีๆ ครับ

แล้วเขาเล่นอะไรเพิ่มกันบ้าง?

  • การเดินเพิ่ม 67%
  • เล่นโยคะเพิ่ม 74%
  • Weight training เพิ่ม 289%!!

ซึ่งกิจกรรมเสริมเหล่านี้ก็ช่วยให้ประสิทธิภาพการปั่นดีขึ้นด้วย สะท้อนอีกว่าความรู้เรื่องการพัฒนาศักยภาพการปั่นก็มีความเป็นองค์รวมมากขึ้น คนเข้าถึงแหล่งความรู้เรื่องการซ้อมมากขึ้น

 

5. จักรยานที่เร็วที่สุดจากกลุ่มผู้ใช้ Strava?

จากที่ผู้ใช้สามารถระบุรุ่นอุปกรณ์ที่เราใช้ออกกำลังกายได้ ทำให้ Strava มีข้อมูลว่าจักรยาน หรือรองเท้าวิ่งไหนมีคนใช้เยอะที่สุด และรุ่นไหนทำความเร็วเฉลี่ยได้มากที่สุด (จากการใช้งานของคนทั้งโลก) เป็นข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียวครับ แต่ก็คงไม่สามารถเอามาบอกได้ว่าเป็นจักรยานที่เร็วที่สุด objectively แบบนั้น เพราะเป็นแค่ข้อมูลจากคนที่ใช้ Strava เท่านั้น แม้แต่ในกลุ่มคนใช้ Strava เองก็มีหลายคนที่ไม่ได้ไปเซ็ตว่าตัวเองใช้จักรยานอะไร หรือในแต่ละประเทศจำนวนคนใช้จักรยานแต่ละยี่ห้อก็ต่างกันไป ยากจะบอกว่าจักรยานรุ่นไหนเป็นที่นิยมสูงสุด

สำหรับจักรยานผู้ใช้เอาออกไปปั่นแล้วทำความเร็วเฉลี่ยได้สูงสุดจาก activity ทั้งหมดในฐานข้อมูล Strava เป็นจักรยาน Time Trial หรือไตรกีฬาทั้งหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไล่จาก Canyon Speedmax, Cervelo P5, Giant Trinity, Trek Speed Concept, Specialized Shiv

ส่วนจักรยานที่มีข้อมูลว่าผู้ใช้ ออกปั่นแต่ละครั้งได้ระยะทางเฉลี่ยสูงสุดคือ Colnago C64 (49.3km) ต่อด้วย Bianchi Specialissima (48.9km), Trek Emonda SLR (47.4km), Pinarello Dogma F10 (46.5km) และ Specialized S-Works Tarmac (46.2km)

 

6. การตั้งเป้าหมายช่วยให้ปั่นได้ดีกว่าเดิม

อะไรที่ทำให้เรามีแรงกระตุ้นไม่เลิกออกกำลังกายง่ายๆ? ข้อมูลของ Strava พบว่า ผู้ใช้ที่มีการตั้งเป้าหมายระยะยาวชัดเจน เช่นตั้งจำนวนระยะทางที่อยากปั่นให้ได้ หรือจำนวนชั่วโมงที่อยากจะซ้อมให้ถึงในแต่ละเดือนจะออกกำลังกายต่อเนื่องตลอดทั้งปีกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งเป้าอย่างเห็นได้ชัด (ฟีเจอร์การตั้งเป้าระยะทางหรือชั่วโมงซ้อมใช้ได้เฉพาะกับคนที่ซื้อ Strava Summit)

95% ของคนที่ตั้งเป้าในเดือนมกราคม ยังออกกำลังต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน ในขณะที่ คนที่ไม่ได้ตั้งเป้าไว้ลดปริมาณการออกกำลังกายลงต่อเนื่องทุกเดือน

 

7. จำนวนคนวิ่งมาราธอน (ที่ใช้ Strava) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก Strava พบว่าในประเทศใหญ่ๆ ทั่วโลกเช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่นมีจำนวนคนวิ่งที่จบระยะมาราธอนหรืออัลตร้ามาราธอนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (และอัปโหลดข้อมูลการวิ่งเข้าระบบ Strava) โดยในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนคนที่จบทั้งสองระยะนี้เพิ่มขึ้นถึง 23.8% เทียบกับปี 2018

ข้อมูล: Strava.com

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!