ที่มาของกฏ 3 กิโลเมตร

มีกฏอยู่หนึ่งข้อในการแข่งขันเสือหมอบที่ว่า “ถ้าผู้เข้าแข่งขันประสบอุบัติเหตุหรือจักรยานมีปัญหาขัดข้องในระยะสามกิโลเมตรสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะได้เวลารวม (General Classification time) เป็นเวลาเดียวกับกลุ่มที่ปั่นมาด้วยกัน กฏนี้มันมีที่มาที่ไปอย่างไร? วันนี้ Ducking Tiger มีคำตอบครับ

กฏ 3 กิโลเมตร

ลองมาดูตัวอย่างกฏ 3 กิโลเมตร ข้อนี้ยกมาจาก ASO ผู้จัดการแข่งขัน Tour de France และรายการอื่นๆ อีกหลายรายการ

“In the event that a rider or riders suffer a fall, puncture or mechanical incident in the last 3 kilometres and such an incident is duly recognised, the rider or riders involved are credited with the same finishing time of the rider or riders they were with at the time of the incident.

They are attributed this ranking only upon crossing the finish line. If after a fall, it is impossible for a rider to cross the finish line, he is given the ranking of last in the stage and credited with the time of the rider or riders he was with at the time of the incident. For exceptional cases, the decision taken by the stewards committee is final.”

แปลอย่างง่ายๆ ก็หมายความว่า ถ้านักปั่นล้มหรือรถมีปัญหาในช่วงสามกิโลเมตรสุดท้าย ไม่สามารถปั่นต่อได้ นักปั่นคนนั้นๆ จะได้ตำแหน่งและเวลาในตาราง General Classification เท่าๆ กับนักปั่นคนอื่นๆ ในกลุ่มที่เขาปั่นมาด้วย(กฏนี้ไม่ใช้กับเสตจภูเขา)

ที่ไปที่มา

ย้อนเวลากลับไปปี 1937 ระหว่างการแข่งขัน Paris-Nice ในเสตจที่ยาวที่สุด (250 กิโลเมตรจากเมือง Nevers ไป St Etienne) นักปั่นนามว่า Roger Lapebie ออกยิงหนีกลุ่มตั้งแต่เริ่มการแข่งขันและได้คว้าอันดับผู้นำเวลารวม สองสามวันถัดมาในเสตจท้ายๆ ขบวน Peloton เคลื่อนเข้าเมือง Marseille เพื่อไปจบที่เส้นชัยใน Stade Velodrome ทว่า Lapebie ลื่นล้มระหว่างเข้าโค้งหน้าทางเข้าเวโลโดรมและเสียเวลาให้คู่แข่งคนอื่นๆ กรรมการผู้ดูแลการแข่งขันเห็นใจ Lapebie ตัดสินให้หยุดเวลาการแข่งที่หน้าเวโลโดรม แทนที่จะเป็นเส้นชัยข้างในอาคาร Lepebie ชนะ Paris-Nice ในปีนั้นและคว้าแชมป์ Tour de France ได้ในปีเดียวกัน…

ข้ามไปปี 1972 – Eddy Merckx ล้มคว่ำระหว่างที่เขาพยายามสปรินต์เพื่อชนะเสตจใน Paris-Nice เมิร์กซ์เสียเวลาให้คู่แข่งกว่า 47 วินาที แต่กรรมการผู้ตัดสินก็อะลุ่มอล่วย ยอมให้เมิร์กซ์ได้เวลาเทียบเท่ากับกลุ่มนักปั่นที่สปรินต์พร้อมๆ กับเขา จากจุดนี้กรรมการแข่งตั้งกฏให้นักปั่นที่ล้มหรือมีปัญหาในกิโลเมตรสุดท้ายได้เวลาเท่ากันกับกลุ่มที่ตนเองปั่นมาด้วย และยืดออกเป็นสามกิโลเมตรสุดท้ายในปี 2005

ถ้าย้อนไปดูในช่วงปี 1972 เป็นปีทองของเมิร์กซ์เลยก็ว่าได้ เขาคว้าแชมป์แทบจะทุกรายการที่เข้าแข่งขัน ชนะมากจนผู้ชมแทบจะไม่ต้องเดาเลยว่าใครจะได้แชมป์ ทำให้การแข่งขันดูจืดชืด ผู้จัดแข่งหลายๆ คนเริ่มหงุดหงิด  เจ้าของการแข่ง Paris-Nice, Jean Leulliot ถึงกับแอบไปบอก Raymond Poulidor คู่แข่งของเมิร์กซ์ว่าจะให้เงินโบนัส 10,000 ฟรังก์ ถ้าพูลิดอร์เอาชนะเมิร์กซ์ในเสตจ Time Trial สุดท้ายได้

เอ็ดดี้ เมิร์กซ์ ยอดมนุษย์

เมิร์กซ์มั่นใจว่าตนจะชนะอย่างแน่นอน ถึงกับไปถ่ายรูปคู่กับเรือแข่งซึ่งเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะก่อนที่จะเริ่มแข่งเสตจสุดท้ายเสียอีก แต่ในที่สุดพูลิดอร์ก็พลิกเอาชนะเมิร์กซ์ ทำเวลาเพียงแค่ 20.04 นาทีในการปั่น Time Trial ขึ้นเขา Col d’Eze เอาชนะเสตจสุดท้ายและคว้าแชมป์รายการได้ตามหวัง 

Fair game

สมัยก่อนนั้นคนฝรั่งเศสเขามีคำพูดที่ว่า “un incident de course” หรืออุบัติเหตุก็เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน นักปั่นต้องยอมรับสภาพหากพ่ายแพ้เพราะหกล้มหรือยางรั่วก็ตาม ถึงแม้กรรมการในปี 1937 จะอะลุ่มอล่วย ไม่ตัดเวลา Lapebie แต่ที่มาของกฏนี้จริงๆ แล้วคือความปลอดภัยและให้ความเป็นธรรมกับนักปั่นทุกคนครับ ถ้าเราครองเสื้อผู้นำการแข่งอยู่แล้วดันไปยางแตกใกล้ๆ เส้นชัยจนทีมคู่แข่งเข้าเส้นชัยไปก่อนทำเวลานำไปได้เป็นสิบนาทีอย่างนี้ก็คงไม่แฟร์กับนักปั่นที่ยางแตกเท่าไร เพราะไม่ใช่การชนะกันด้วยฝีมือจริงๆ อีกอย่าง ปรกติหน้าเส้นชัยจะเป็นสนามรบของสปรินเตอร์ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการชนกันอยู่แล้ว ถ้าเกิดล้มลงไปกองกันแล้วพานักปั่นที่ตามสปรินเตอร์ข้างหลังมาล้มไปด้วยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ก็ถือว่าไม่แฟร์กับคนข้างหลังที่ต้องเสียเวลาแข่งไปหลายนาที

ปัจจุบันกฏ 3 กิโลถือเป็นมาตรฐานของการแข่งขันทุกรายการ ช่วยให้นักปั่นอุ่นใจหากจะต้องมีอุบัติเหตุในช่วงโค้งสุดท้ายอย่างน้อยก็ยังมีสิทธิคว้าแชมป์รายการ กฏข้อนี้จำเป็นมากสำหรับนักปั่น GC ตัวเต็งรายการแข่งเสตจเรซทั้งหลาย เพราะนักปั่น GC ต้องพยายามเข้าเส้นชัยในกลุ่มต้นๆ ทำเวลาทิ้งคู่แข่งให้ได้มากที่สุด

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *