โปรสมัยใหม่โด้ปกันยังไง? 

[dropcap letter=”ถ้”]าใครติดตามเรื่องการเมืองในวงการนักปั่นอาชีพมาสักพักหนึ่ง น่าจะพอจำได้ว่าหลังจากที่ ไบรอัน คุ๊กสันเข้ามาเป็นประธานสหพันธ์จักรยานนานาชาติ แทนที่ แพท แม็คเควดปลายปี 2013 งานชิ้นแรกที่เขาสั่งคือ ตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องการโด้ปของนักปั่นอาชีพ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

คณะกรรมการนี้ชื่อย่อว่า CIRC หรือ Cycling Independent Reform Comission (คณะกรรมการอิสระปฏิรูปวงการจักรยาน) และเมื่อคืนนี้ หลังจากที่สืบสวนมานานหลานเดือน CIRC ได้ปล่อยรายงานความยาว 227 หน้า (อ่านได้ที่ลิงก์นี้) เกี่ยวกับการโด้ปและการบริหารงานของ UCI

ประเด็นสำคัญในรายงานนั้นอ่านแล้วเครียดทีเดียวครับ บทสรุปคือยังมีการโด้ปในหมู่นักปั่นอาชีพอยู่ด้วยวิธีการใหม่ๆ ที่ตรวจจับยาก นักปั่นยังสั่งซื้อยาโด้ป หมอโด้ปยังขาย ทีมทำเพิกเฉย ไม่สนใจนักปั่นที่โกงเพราะอยากได้ผลงาน และแย่ที่สุดคือ UCI เลือกที่จะปิดบังการโด้ปของนักปั่นชื่อดัง แทนที่จะรัดกุมการตรวจจับ

หลายประเด็นน่าสนใจ และน่าเศร้าใจ เรามาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Amgen Tour of California 2013 (2.HC) stage-8

1. “โปรกว่า 20–90% ยังโด้ปอยู่”

ในการสอบสวนของ CIRC คณะกรรมการได้สัมภาษณ์นักปั่นอาชีพหลายคนที่ยังแข่งอยู่ (รายชื่ออยู่ด้านล่างสุด) โปรคนหนึ่งที่เป็นที่เคารพใน peloton เชื่อว่านักปั่นราว 90% “น่าจะยังโด้ปอยู่” ส่วนโปรอีกคนเชื่อว่าน่าจะเหลือแค่ประมาณ 20% อย่างไรก็ดี ทั้งคู่เชื่อว่าการโด้ปแบบสมัยก่อนที่สมรู้ร่วมคิดกันทั้งทีมมีน้อยมากแล้วเพราะการตรวจจับเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม

สิ่งที่ช่วยทำให้การโด้ปน้อยลงคือการบังคับใช้ Athelthe Biological Passport (ABP) ซึ่งใช้เก็บข้อมูลผลเลือด ผลปัสสาวะและค่าทางกายภาพต่างๆ ของนักกีฬา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ใช้วิเคราะห์ได้ว่านักปั่นได้แอบใช้สารโด้ปหรือเปล่า CIRC รายงานว่า

“ก่อนที่เราจะเริ่มใช้ ABP นักปั่นแค่ 3 คนถูกตรวจจับโด้ปเลือด แต่หลังจากปี 2008 ที่เราบังคับใช้ เราจับนักปั่นโด้ป EPO ได้ถึง 26 คน 20 คนที่โดนจับมีโปรไฟล์ผลเลือดผิดปกติใน ABP


2. วิธีโด้ปเปลี่ยนไป

  • แทนที่จะใช้การโด้ปสารอย่าง EPO หรือสเตียรอยด์ หรือโด้ปเลือดที่ช่วยทำให้ร่างกายพักฟื้นได้เร็วขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการปั่นกว่า 15–20% โปรสมัยใหม่เปลี่ยนมาโด้ปในปริมาณน้อยๆ ที่เรียกว่า Microdosing ถึงจะเพิ่มประสิทธิภาพได้น้อย แต่ก็ตรวจจับได้ยากว่าเดิมหลายเท่า วิธี Microdosing ช่วยให้โปรไฟล์ Biopassport ไม่ผิดปกติ
  • นักปั่นคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ CIRC ว่า หลังจากที่ Biopassport บังคับใช้ หมอโด้ปของเขาให้ลดปริมาณการโด้ปเลือด* ลงจากราว 500ml เหลืออย่างมากไม่เกิน 15–200ml (โด้ปเลือดคือการถ่ายเลือดของตัวเองเก็บไว้แล้วแช่แข็ง เพื่อนำกลับมาฉีดเข้าร่างกายอีกครั้งหลังจากแข่งขันในสเตจที่ยากๆ หรือตามเวลาที่หมอโด้ปกำหนดแล้วว่าจะช่วยให้ร่างกายพักฟื้นได้เร็วขึ้น การโด้ปเลือดช่วยให้นักปั่นมีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงมากขึ้น ผลก็คือมีอ๊อกซิเจนหมุนเวียนในระบบได้ดีกว่าเลือดเก่าที่ผ่านการใช้งานแข่งขันมาหลายวัน ทำให้สดชื่น พักฟื้นเร็ว ปั่นได้เร็วกว่าคนอื่นๆ”)
  • ขณะเดียวกัน CIRC บอกว่า EPO Microdosing ก็ยังทำได้ และน่าจะหลบหลีกระบบตรวจจับของ Biopassport ได้ด้วย
  • การที่นักปั่นไม่ถูกเรียกตรวจจับช่วงกลางคืน (ห้าทุ่ม-หกโมงเช้า) ก็เป็นอีกหนึ่งช่องว่างให้นักปั่นแอบ microdose สารโด้ปได้ เพราะถ้าใช้ปริมาณน้อย และมีระยะเวลาหลายชั่วโมงให้สารเข้าไปในร่างกาย ก็จะตรวจจับได้ยาก ถึงตอนเช้าที่มีคนมาตรวจเลือด โปรไฟล์ Biopassport ก็กลับเป็นปกติแล้ว

3. โด้ปผ่านช่องโหว่กฏหมาย?

  • CIRC รายงานว่านักปั่นหลายคนใช้ช่องโหว่ของ TUE (Therapeutic Use Exemption) หรือ “การใช้ยาเพื่อการรักษา” ในที่นี้หมายถึงนักปั่นที่ป่วย ไม่สบาย สามารถขออนุญาต UCI ใช้ยาบางประเภท เช่นยาพ่นขยายหลอดลม ยาแก้ปวด ในกรณีที่ป่วย โดยต้องยื่นเอกสารก่อนแข่ง มีใบรับรองแพทย์และต้องได้รับการอนุญาตจาก UCI
  • อย่างไรก็ดี มีหลายทีมที่ใช้ช่องโหว่ระบบ TUE ในการแจกยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนักปั่นในทีม โดยเฉพาะยา Corticosteroids (สเตียรอยด์แก้อาการหอบหืด ส่วนมากใช้เป็นยาพ่น) และ Tramadol (ยาแก้ปวด)
  • CIRC รายงานว่า นักปั่นคนหนึ่งที่ถูกสัมภาษณ์เชื่อว่า TUE นั้นไม่ได้ใช้เพื่อแก้อาการเจ็บป่วย แต่นักปั่นกว่า 90% ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปั่น
  • CIRC ยังวิจารณ์ UCI ว่า “ออกใบอนุญาต TUE ง่ายเกินไป” และ “นักปั่นที่ป่วยขนาดต้องขอใช้ยาผ่าน TUE ก็ไม่ควรจะลงแข่งขันด้วยซ้ำ”
  • แม้แต่ในกลุ่มนักปั่นหญิงก็มีการโด้ปผ่านระบบ TUE “นักปั่นบางคนมาถึงสนามแข่งพร้อมกับแฟ้ม TUE หนึ่งตั้ง” CIRC เชื่อว่าในวงการนักปั่นหญิงที่เงินรางวัลน้อย การโด้ปเพื่อเอาชนะคู่แข่งเพื่อให้ได้เงินรางวัล และถ้าวงการหญิงเติบโตเท่าวงการชาย ก็จะเจอปัญหาโด้ปมากไม่แพ้กัน
pelotonmagazine_2557-Dec-08
ยอดหมอโด้ปแห่งวงการ: มิเคลี เฟอร์รารี

4. วิธีโด้ปสมัยใหม่ และยาที่ WADA ไม่อนุญาต

  • นอกจากสารต้องห้ามที่ตรวจจับได้ง่ายแล้ว ยังมีวิธีการโด้ปอีกหลายชนิดที่โปรยังแอบใช้ หรือหาทางใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้เพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางร่างกาย
  • หนึ่งในนั้นคือการโด้ปโอโซน (ลิงก์ http://en.wikipedia.org/wiki/Ozone_therapy) นักปั่นคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า “การโด้ปโอโซนได้ผลลักษณะเดียวกับการใช้ EPO แต่ประสิทธิภาพแย่กว่าเกือบครึ่ง”
  • วิตามิน อาหารเสริม ยาที่ไม่ได้รับอนุญาต (แต่ตรวจจับไม่ได้) ก็ใช้กันแพร่หลาย CIRC รายงานว่าบางทีม “แจกยานักปั่นมากเกิน 30 เม็ดต่อวัน” นอกจากนั้นยังใช้ยาแก้อาการเจ็บปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้เครียด ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้ใช้ยาเกิดอาการวูบ หน้ามืด ขาดสติ จนนักปั่นบางคนที่คุยกับ CIRC เชื่อว่า เหตุผลที่เกิดอุบัติเหตชน เกี่ยวล้มกันระหว่างแข่งขันบ่อยๆ ก็เพราะนักปั่นขาดสติจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด
  • อย่างไรก็ดี CIRC เชื่อว่าการโด้ปแบบเป็นทีมเหมือนสมัยก่อนนั้นหายไปหมดแล้ว เหลือแค่การโด้ปแบบบุคคลที่ทีมไม่รู้เห็น หรืออาจจะรู้แต่ไม่สนใจ

5. นักปั่นหลบหลีกการตรวจโด้ปยังไง?

  • CIRC เชื่อว่าการที่นักปั่นสามารถเช็ค Biopassport ของตัวเองได้ทำให้เขาสามารถโกงระบบได้ ด้วยการโด้ปแต่ไม่ให้ผล Biopassport เข้าขั้น “น่าสงสัย”
  • บางคนใช้วิธีไปค่ายซ้อมเก็บตัวบนเขาสูง หรือใช้เตนท์อ๊อกซิเจนจำลองการใช้ชีวิตบนเขาสูง เพื่อปิดบังค่า Biopassport ที่อาจจะสูงเกินจริงจากการใช้สารโด้ป

6. “UCI ทำงานหละหลวม”

  • นอกจาก CIRC จะตรวสอบเรื่องการโด้ปแล้ว คณะกรรมการยังตรวจสอบการทำงานของ UCI เองอีกด้วย มีหลายกรณีที่ UCI หละหลวมและควรปรับปรุง เช่น
  • สองมาตรฐาน: CIRC รายงานว่า UCI สมัยก่อนปฏิบัติไม่เป็นธรรมกับนักปั่น เอื้อประโยชน์ให้นักปั่นชื่อดังอย่างแลนซ์ อาร์มสตรองและอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ โดยการไม่เคร่งครัดการตรวจโด้ป โดยเฉพาะในปี 2002 ที่ผลเลือดของแลนซ์ เข้าข่าย “น่าสงสัย” UCI กลับตั้งคำถาม “กระบวนการการตรวจโด้ป” แทนที่จะสงสัยนักปั่น
  • ส่วนเคสของคอนทาดอร์ พนักงานของ UCI ถึงกับบินไปหาคอนทาดอร์ถึงที่พักส่วนตัวเพื่อรายงานว่าผลเลือดใน Tour de France 2010 ของเขามีสาร Clenbuterol ปนอยู่ ตามกระบวนการปกติแล้ว UCI จะไม่ส่งคนไปแจ้งผลโด้ปของนักปั่นถึงที่ และต่อมา UCI ลังเลที่จะส่งเรื่องคอนทาดอร์ต่อให้หน่วยงานอื่นๆ ทั้งๆ ที่ควรจะปฏิบัติต่อคอนทาดอร์เหมือนนักปั่นคนอื่นที่โดนตรวจโด้ป
  • แม้แต Lon Schattenberg — หัวหน้าที่ดูแลเรื่องการตรวจโด้ปของ UCI เองก็ปฏิบัติตัวได้น่าสงสัย เพราะพฤติกรรมที่ CIRC รายงานคือ เขาช่วยเหลือให้นักปั่นหลุดพ้นการตรวจโด้ป ด้วยการแอบบบอกขั้นตอนกระบวนการตรวจเลือดและปัสสาวะของ UCI ให้นักปั่นเตรียมวิธีหลบหลีกระบบล่วงหน้า!
20130304CY9018

7. แล้วเราจะปรับปรุงยังไงได้บ้าง?

  • CIRC ลงท้ายรายงานด้วย “ข้อเสนอ” หลายประการเช่น
  • นักปั่นหรือหมอโด้ปที่เคยโดนจับโด้ป ควรจะออกมาให้การเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคดีในอนาคต
  • ต้องพิจารณาการตรวจเลือดในช่วงกลางคืน (ซึ่งตอนนี้ห้ามไว้ เพื่อให้นักปั่นได้พัก) นักปั่นหลายคนใช้ช่วงเวลานี้ในการ Microdose doping
  • ยาบางตัวอาจจะไม่อยู่ในรายชื่อต้องห้าม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักปั่น “ควรใช้” ยาอย่าง Tramadol ยาและแก้เครียดส่งผลเสียต่อนักปั่นระหว่างแข่ง ซึ่งอาจจะเกิดอันตรายกับเพื่อนร่วมสนามได้ และแทนที่จะให้ทีมขออณุญาตใช้ยาผ่านระบบ TUE ผู้จัดแข่งควรมีเภสัชกรประจำสนาม อนุญาตให้ใช้ยาเป็นรายๆ ไปแทนที่ทีมจะขนมาเอง ซึ่งเราไม่รู้ว่าทีมใช้เยอะแค่ไหน และมีผลต่อการแข่งหรือเปล่า
  • ห้องแล็บในการตรวจผลโด้ปมีมาตรฐานไม่เท่ากัน UCI ควรจะใช้ห้องแล็บที่ประสิทธิภาพดีที่สุดเพื่อผลตรวจโด้ปที่เท่าเทียมกัน

8. สรุป: หนังเก่า เล่าใหม่

เท่าที่อ่านรายงานดูคร่าวๆ ผมคิดว่าแทบไม่มีเรื่องไหนที่เราไม่รู้มาก่อน ทุกประเด็นที่ CIRC นำเสนอนั้นเคยออกสื่อมาหมดแล้วครับ แต่บางเรื่องอาจจะยังไม่ได้รับการคอนเฟิร์ม เช่นการใช้ Tramadol เกินปริมาณที่กำหนด และการโกงระบบด้วยขออนุญาตใช้ยาผ่าน TUE

เรื่องการจัดการของ UCI ก็แย่อย่างที่คิดไว้: CIRC พบว่า UCI ไม่ได้รับสินบนเพื่อปิดบังคดีโด้ปของนักปั่นชื่อดัง แต่ก็เพิกเฉิยต่อ “ผลเลือดที่น่าสงสัย” และไม่ตั้งใจตรวจจับอย่างจริงจัง รวมถึงการใช้อำนาจเกินขอบเขตของประธาน UCI คนเก่า

เห็นได้ชัดว่าการโด้ปอย่างเป็นระบบระหว่างทีมและนักปั่นนั้นลดน้อยหายไปหมดแล้ว เมื่อระบบตรวจจับเข้มงวดมากขึ้น คนที่อยากโกงก็ต้องหาวิธีโกงระบบใหม่ ซึ่งในยุคนี้คือการทำ Microdosing และการโด้ปผ่านยาที่ได้รับอนุญาต ผ่านระบบ TUE

แล้วเราจะเดินหน้าต่อไปยังไง? เมื่อ UCI โดยการนำของประธานคนใหม่ ไบรอัน คุ๊กสัน ลงทุนฟื้นฝอยหาตะเข็บองค์กรของตัวเอง ด้วยการตั้งคณะกรรมการอิสระมาตรวจสอบกันแบบนี้แล้วเราก็ได้แต่หวังว่า UCI ทีม และนักปั่นจะนำข้อเสนอของ CIRC มาปรับปรุง ช่วยกันทำให้กีฬานี้สะอาดขึ้นในที่สุด

ถ้าดูทิศทางเรื่องการโด้ปในวงจักรยานจากมุมกว้างแล้ว ก็เห็นได้ชัดว่ามันมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แน่นอนอาจจะยังมีวิธีโกงใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่การโด้ปแบบโต้งๆ ฉาวโฉ่ อัดยากันทั้งรถบัสเหมือนสมัยก่อนก็หายไปหมดแล้ว ผู้ชมอย่างเราได้แต่ติดตามกันต่อไป สงสัยกันต่อไป หรือสนุกกันต่อไป สุดแล้วแต่ความเห็นส่วนตัวของคุณครับ


นักปั่นและสตาฟที่ให้การกับ CIRC (บางส่วน)

  • Chris Froome (Team Sky)
  • Nicole Cooke (former pro rider)
  • Lance Armstrong (former pro rider)
  • Tyler Hamilton (former pro rider)
  • Scott Mercier (former pro rider)
  • Riccardo Ricco (former pro rider)
  • Michael Rasmussen (former pro rider)
  • Bobby Julich (team personnel/former pro rider)
  • Bjarne Riis (team personnel/former pro rider)
  • Alexander Vinokourov (team personnel/former pro rider)
  • Jonathan Vaughters (team personnel/former pro rider)
  • Brian Cookson (UCI president)
  • Hein Verbruggen (former president)
  • Pat McQuaid (former president)
  • Dick Pound (Wada)
  • David Walsh (journalist)

อ่านเพิ่มเติม

Velonews: CIRC REPORT EXECUTIVE SUMMARY
Cyclingweekly: UCI hindered anti-doping efforts but no corruption charges
Inrng: CIRC REPORT
Cyclingtips: CIRC Independent Commission report severely critical of past UCI practices

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *