ทางจักรยานแห่งอนาคต

หากเราเอยถึงชื่อ BMW สิ่งแรกที่คิดคงเป็นรถยนต์ยุโรป มอเตอร์ไซค์ และเครื่องยนต์ไฮเทค แต่ในอนาคต BMW มีเป้าหมายใหม่ที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึง เมื่อบริษัทโชว์ผลงานออกแบบทางจักรยานลอยฟ้า

 

BMW E3 Way

สัปดาห์นี้ BMW เผยโปรเจ็คใหม่จากแผนก Research, New Technologies, Innovations division นำเสนอคอนเซปต์ทางจักรยานลอยฟ้า ในชื่อ E3 Way (Elevated, Electric, Efficient) ซึ่งว่าจะช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดในเมืองใหญ่และลดปัญหามลภาวะไปในตัว

แต่ถึงจะชื่อว่าทางจักรยานลอยฟ้านั้นจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ทางปั่นเสียทีเดียว เพราะออกแบบมาให้ “จักรยานไฟฟ้า” เท่านั้น ซึ่งจะมีการจำกัดความเร็วที่ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คุณอาจจะสงสัยว่าทำไมจักรยานธรรมดาขึ้นทางนี้ไม่ได้ นั่นก็เพราะ BMW ไม่ได้ผลิตจักรยานธรรมดาครับ แต่ผลิตสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเช่น BMW Motorrad X2 City ตามวิดีโอข้างล่าง

นอกจากสกูตเตอร์แล้ว BMW ยังมี E-Bike ที่เดินทางได้ไกลถึง 100 กิโลเมตรเมื่อชารจ์แบตเต็มที่ ความเร็วสูงสุด 26 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ราคาประมาณ 110,000 บาท) และถ้าทางสร้างเสร็จจริง BMW จะให้ผู้ใช้เช่าจักรยานและสกูตเตอร์ไฟฟ้าดังกล่าว

แล้วทางจักรยานไฮเทคนี้จะมีอะไรบ้าง? BMW เสนอว่าจะมีกล้องวงจรปิดและระบบ AI ที่คอยมอนิเตอร์สภาพจราจร ทางจักรยานจะมีหลังคาแก้วคลุมตลอด ไม่ต้องห่วงฝนและแดด พร้อมระบบทำความเย็นไอน้ำเพื่อให้สัญจรได้อย่างเพลิดเพลินแม้อยู่ในเมืองที่ร้อนที่สุด

งานชิ้นนี้ BMW ทำร่วมกับมหาวิทยาลัย Tonogji ในเซี่ยงไฮ้ และอยากให้เซี่ยงไฮ้เป็นเมืองตัวอย่าง โดยมีแผนสร้างขั้นต้นอย่างน้อย 20 กิโลเมตรตัดข้ามตัวเมือง BMW มั่นใจว่าทางจักรยาน (ไฟฟ้า) ลอยฟ้านี้จะช่วยให้คนสัญจรข้ามเมืองได้เร็วกว่าช่องทางการขนส่งอื่นๆ ทั้งหมด

 

แรงกระตุ้น

คุณอาจจะสงสัยว่าทำไม BMW ถึงอยากทำทางจักรยานลอยฟ้า (นอกจากจะได้ขายจักรยานไฟฟ้า) ฟังดูมันไม่น่าจะมีกำไรอะไรมากมายเทียบกับการขายรถยนต์หรูๆ แต่ช้าก่อนครับ มันมีเหตุผลที่เขามาทำโปรเจ็คนี้ร่วมกับจีน นั่นก็เพราะว่าประเทศจีนกำลังอยู่ในภาวะจราจรติดขัดขั้นวิกฤติ กับมลภาวะในเมืองใหญ่ที่ร้ายแรงขนาดสูดอากาศเฉยๆ ก็ป่วยได้

และสำคัญที่สุดจีนเป็นชาติที่มีการใช้จักรยานไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก ปัจจุบันมีผู้ใช้จักรยานไฟฟ้ากว่า 250 ล้านคนแล้ว แค่ในเซี่ยงไฮ้นั้น การเดินทาง 20% ของผู้อยู่อาศัยใช้จักรยานไฟฟ้า และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ภาพคอนเซปต์จาก BMW ทางจักรยาน E3 มีชื่อเล่นว่า Hyperloop ล้อกับโปรเจ็คระบบขนส่งความเร็วสูงผ่านท่อสูญญากาศของอีลอน มัสก์

ฟังดูเป็นโปรเจ็คขายฝันที่น่าสนใจ แต่ BMW ก็ไม่ได้บอกชัดว่าว่าใครจะเป็นผู้ลงทุน หรือจะทำเมื่อไร บอกไว้แค่ว่าโครงสร้างทางลอยฟ้านี้ “เป็นระบบ Modular ซึ่งทำให้ต่อขยายได้ไม่จำกัดและใช้งบประมาณไม่มากนักในการสร้าง” มหาวิทยาลัย Tongji ช่วยคิดวิธีสร้างทางลอยฟ้าอย่างประหยัดและสะดวกนั่นคือ ถ้าได้สร้างจริง ทีมช่างและวิศวกรจะสร้างโครงสร้างให้เสร็จก่อนแล้วนำมาประกอบ ซึ่งจะลดเวลาการก่อสร้างได้เยอะ เทียบกับการสร้างทางด่วนหรือทางรถไฟฟ้าที่ต้องใช้เวลานาน

 

ทำได้จริงหรือเปล่า?

แต่ในความเป็นจริง BMW ไม่ใช่รายแรกที่เสนอไอเดียทำทางจักรยานลอยฟ้าครับ ในปี 2014 นอร์แมน ฟอสเตอร์สถาปนิกชื่อดังเสนอทำโปรเจ็คทางจักรยานลอยฟ้าตัดข้ามกรุงลอนดอนในชื่อ SkyCycle โดยหวังว่าจะมีระยะทางยาวถึง 225 กิโลเมตร และกว้าง 15 เมตร รองรับนักปั่นได้หกล้านคน

Norman Foster ‘SkyCycle’

โปรเจ็คนี้จะใช้งบราวๆ 325,800,000,000 บาท (สามแสนสองหมื่นห้าพันแปดร้อยล้านบาท) กำลังดำเนินการแต่ยังไม่มีกำหนดสร้าง

ทางจักรยานลอยฟ้าที่ทำสำเร็จแล้วใช้งานได้จริงแล้วก็พอมีอยู่บ้าง แต่โดยมากมีระยะทางสั้น เดือนมกราคมปีนี้เมืองเซี่ยเหมินในประเทศจีนเปิดใช้ทางจักรยานลอยฟ้าความยาว 7.6 กิโลเมตร สูงจากพื้นถนน 5 เมตร อยู่ใต้ทางเดินรถบัส BRT และเชื่อมต่อจุดสำคัญในเมืองหลายจุด รองรับนักปั่นได้ราวๆ 2,000 คนพร้อมๆ กัน

Xiamen Skyway

ในเนเธอร์แลนด์มี Hovenring วงเวียนจักรยานลอยฟ้าที่ช่วยให้นักปั่นข้ามแยกได้อย่างปลอดภัย ตั้งอยู่ในเมือง Eindhoven แต่ก็ไม่ใช่ทางจักรยานระยะยาวเหมือนในเซี่ยเหมิน เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2012

Eindhoven ‘Hovernring’

ในกรุงโคเปนเฮเกน มีทางจักรยานสั้นๆ 220 เมตรที่ชื่อว่า Cykelslangen ตัดข้ามน้ำในย่านการค้ากลางเมือง ช่วยให้นักปั่นไม่ต้องแหวกฝูงชนที่พลุกพล่านตลอดเวลา

Copenhagen “Cykelslangen”

จะเห็นว่าโครงการทางจักรยานในเขตเมืองใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ส่วนใหญ่จะได้ผลดีก็ต่อเมื่อใช้แก้ปัญหาในจุดเล็กๆ อย่างในกรณีของ Eindhoven และโคเปนเฮเกน แต่ถ้าจะทำแบบตัดข้ามเมืองเหมือนในลอนดอนและ BMW นั้นนอกจากจะต้องได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐ ประชาชนที่อาศัยอยู่แนวโครงการ ​แล้วยังต้องการเงินมหาศาลในการสร้างด้วย

ตัวอย่างใกล้ตัวก็มีให้เห็นในกรณีโครงการถนนจักรยานเลียบเจ้าพระยากับงบประมาณ 14,000 ล้าน และยังเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตั้งแต่มีการเสนอโครงการ เพราะหากสร้างเสร็จก็จะส่งผลกระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนริมน้ำ รวมถึงสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศด้วย

 

ทางจักรยานลอยฟ้า…เมื่อ 117 ปีที่แล้ว

แนวคิดการสร้างถนนจักรยานลอยฟ้าถ้าย้อนประวัติศาสตร์กันจริงๆ แล้วมีคนคิดกันมานับร้อยปี คนแรกที่เคยคิดชื่อคุณโฮเรซ ดอบบินส์จากเมืองพาซาเดน่า ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เคยเสนอว่าจะสร้างทางจักรยานลอยฟ้าที่ทำจากไม้สนข้ามไปถึงลอสแองเจลิสรวม 18 กิโลเมตร) และจะคิดค่าบริการ 10 เซนต์ต่อครั้ง

ส่วนหนึ่งของทาง California Cycleway ที่สร้างเสร็จในปี 1900

โฮเรซสร้างทางปั่นได้ราวๆ 1.7 กิโลเมตร แต่ก็ต้องล้มเลิกโครงการไป ทำกำไรไม่ได้และผู้คนหันไปนั่งรถไฟแทน ทางที่สร้างเสร็จแล้วถูกรื้อถอน ไม้ที่ใช้สร้างก็ถูกนำไปขายถอนทุนการก่อสร้างแทน

เขามั่นใจว่าหากทางจักรยานสร้างเสร็จ ผู้คนจะเดินทางข้ามเมืองได้เร็วกว่ารถบัสและรถยนต์ โฮเรซสรุปไว้ในปี 1900 กับนิตยสาร Los Angeles Times ว่า “อนาคตของเรามาถึงช้าเกินไป”​

แต่ถึงจะผ่านมากว่าร้อยปี อนาคตที่โฮเรซฝันไว้ก็ยังมาไม่ถึง การที่ BMW ผู้ผลิตรถยนต์ออกมาเสนอแนวคิดทางจักรยานข้ามเมืองลอยฟ้าแบบนี้อาจจะสะท้อนระดับสภาวะวิกฤติของการเดินทางด้วยรถยนต์ จนผู้คนต้องหาวิธีการสัญจรรูปแบบใหม่ครับ

ถึงโปรเจ็คทางจักรยานลอยฟ้าจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเราได้เห็นหัวเมืองใหญ่ในประเทศที่มีทุนจะสร้างเริ่มทำ ก็น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ประเทศอื่นๆ สามารถใช้เป็นตัวอย่างได้ด้วย ไม่แน่ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นผู้คนเลือกใช้จักรยานไฟฟ้าเดินทางในรัศมีไม่เกิน 15 กิโลเมตร อย่างที่ BMW ฝันไว้ก็เป็นได้ครับ

* * *

อ้างอิง

Digital Trends: BMW imagines elevated tubes for speedy, comfortable ebike commutes 

Wikipedia: California Cycleway

สยามรัฐ: กทม.แจงโครงการทางเลียบเจ้าพระยาทำอย่างรอบคอบแล้ว

Hovernring Official

Wired: Copenhagen’s New Bike Skyway Makes Commuting Look Fun

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *