นี่คือท่าปั่นลงเขาที่เร็วที่สุด: ยืนยันโดยนักวิทยาศาสตร์พร้อมผลการทดลอง

Chris Froome Tour de France 2016 Etape 8 Descent 84km/h

ยังจำท่าปั่นลงเขาสุดสยิวกิ้วของคริส ฟรูม (Sky) ใน Tour de France ปีที่แล้วได้มั้ยครับ? วันนั้นเขาได้แชมป์สเตจจากการโจมตีคู่แข่งแบบเซอร์ไพรส์ระหว่างทางลงเขา จนกลายเป็น talk of the town เพราะนอกจากจะลงด้วยท่าก้มมุด นั่งแบนราบไปกับท่อนอนแล้วเขายังควงขาปั่นต่อเนื่องด้วย

ท่านี้ใช้เป็นครั้งแรกโดยมาเทจ์ โมโฮริค (Cannondale Drapac) ตอนที่เขาได้แชมป์โลกจักรยานถนระดับเยาวชนในปี 2013

จนกลายเป็นท่าลงเขาไวรัลไปทั่วเปโลตอง ที่แม้แต่แชมป์โลก ปีเตอร์ ซากานยังใช้ตาม

ความแปลกประหลาดของมันไปกระตุ้นต่อมความสงสัยของนักวิทยาศาสตร์หลายคนครับ จนเขาทำวิจัยกันจริงจังเพื่อค้นหาว่าท่าปั่นลงเขาของฟรูมนั้นเร็วจริงหรือเปล่า และถ้าไม่เร็วสุด ท่าไหนถึงจะเร็วที่สุดที่มนุษย์จะทำได้?

 

For Science!

ศาสตราจารย์ Bert Blocken, นักศึกษาปริญญาเอก Thujs van Druenen, Yasin Topalar จากมหาวิทยาลัย Eindhoven และผู้อำนวยการอุโมงค์ลมมหาวิทยาลัย Liege ในเบลเยียม ฟอร์มทีมกันศึกษาวิจัยและทดลองเพื่อหาคำตอบครับ

คำตอบสั้นๆ คือท่าของฟรูมที่นอนปั่นบนท่อนอนนั้น ไม่ใช่ท่าที่เร็วที่สุด 

จริงๆ ทีมนี้เคยทดลองมาก่อนแล้วโดยใช้ซอฟต์แวร์ CFD แต่รอบนี้เป็นการศึกษาเพิ่มเติมที่ใช้อุโมงค์ลมคู่กับโมเดล 3D ย่อส่วนจำลองท่าปั่นลงเขาในแบบต่างๆ ครับ

ท่าไหนเร็วที่สุด?

งานวิจัยทำแบบจำลองท่าปั่น 6 ท่า คือ

  1. ท่าฟรูม: นอนก้มราบและปั่นบนท่อนอน
  2. ท่าซากาน (1): นอนก้มราบบนท่อนอน แต่ไม่ปั่น
  3. ท่าซากาน (2): มือจับดรอป หลังแบขนานพื้นแต่ไม่แตะท่อนอน
  4. ท่านิบาลี: นั่งบนเบาะแต่ก้มจนลำตัวต่ำติดแฮนด์/ท่อนอน
  5. ท่าแคนเชอลารา: จับดรอปธรรมดา หลังโค้ง
  6. ท่าพานทานี: ยกก้นทิ้งน้ำหนักหลังเบาะ

หุ่นจำลองทำในสเกล 1:4 และนำไปทดสอบในอุโมงค์ลมที่ความเร็ว 54km/h ซึ่งผลที่ได้นั้นก็ยืนยันการทดลองโดยซอฟต์แวร์ CFD ที่ทีมศึกษาไว้เมื่อปีที่แล้วครับ นั่นคือ ท่าลงเขาของฟรูมไม่ได้แอโรไปกว่าท่าของซากาน แต่ท่าที่เร็วที่สุดคือท่าของซากาน (นอนราบบนท่อนอน มือจับดรอป)

  • ท่า Back upwards หรือท่าลงเขาปกติ(แคนเชอลารา) ช้าที่สุด
  • ท่า Back horizontal (ซากาน) เร็วกว่าท่าปกติ 8%
  • ท่า “ฟรูม” เร็วกกว่าท่าปกติ 9%
  • ท่า “Back downwards” (นิบาลี) เร็วกว่าท่าปกติ 12%
  • ท่า “พานทานี่” เร็วกว่าท่าปกติ 14%
  • ท่า “Top tube safe” (ซากาน) เร็วกว่าท่าปกติ 17%

ทีมนักวิจัยสรุปว่า ที่ฟรูมชนะสเตจนั้น ไม่ใช่เพราะเขาลงเขาด้วยท่าที่ลดแรงต้านลมได้มากที่สุด แต่ชนะเพราะเขาทำเวลานำจากการโจมตีก่อนถึงยอดเขาต่างหาก ส่วนเวลาที่นำได้ห่างจากจังหวะลงเขานั้นน้อยมาก ฟรูมอาจจะประหยัดเวลาได้กว่า 1:07 นาที จากการคำนวนของทีม คิดสัดส่วนประหยัดเวลาได้ตามนี้

  • Position “back upwards”: (+0:01:17)
  • Position “back horizontal”: (+0:0:08)
  • Position “Froome”: (descent time 14:24) (+0)
  • Position “back down” (-0:0:23)
  • Position “Pantani” (-0:0:46)
  • Position “Top tube safe”(-0:01:07)

 

ท่าซากานปลอดภัยกว่าท่าฟรูม

จุดน่าสนใจคือ ทีมพบว่าท่าที่เร็วที่สุดที่ซากานใช้ (นอนราบบนท่อนอน มือจับดรอป) เป็นท่าที่ลงเขาได้ปลอดภัยกว่าท่าของฟรูมด้วย เพราะการกระจายน้ำหนักไม่กระจุกตัวอยู่หน้ารถ (เสี่ยงคว่ำตีลังกา) และการปั่นในขณะที่อยู่บนท่อนอนนั้นออกแรงได้แย่กว่าการนั่งอยู่บนเบาะ

ในสเตจสุดท้ายของ Paris-Nice 2017 ปีนี้ที่คอนทาดอร์พยายามโจมตีกลุ่มเพื่อทำเวลาให้ชนะเซอร์จิโอ้ เฮนาว (Sky) แต่สุดท้ายคอนทาดอร์พ่ายไปแค่ 2 วินาที ระหว่างการหนี คอนทาดอร์ก้มลงปั่นบนท่อนอนเหมือนฟรูม แต่ทีมวิจัยแนะนำว่า ถ้าคอนทาดอร์ลงเขาด้วยท่าซากานธรรมดาๆ ไม่ต้องปั่น เขาอาจจะชนะการแข่งขันก็ได้! เพราะประหยัดเวลาได้มากกว่า

 

ไม่ปลอดภัยต่อมือสมัครเล่น

สุดท้าย ทีมวิจัยสรุปเตือนนักปั่นสมัครเล่นไว้ได้ดีทีเดียวครับ เขาบอกว่า “สำหรับคนที่อ่านงานวิจัยนี้แล้ว จะเป็นนักปั่นสมัครเล่นหรือนักปั่นอาชีพก็ดี เราไม่แนะนำให้ลงเขาด้วยท่าปั่นอันตรายแบบที่สาธิตในการทดลองนี้ เพราะมันอาจจะทำให้คุณแพ้ หรือเสี่ยงเสียชีวิตก็เป็นได้ มันไม่คุ้มที่จะเสี่ยงกับการประหยัดเวลาไม่กี่วินาที”

อ่านเปเปอร์ผลการทดลองตัวเต็มได้ที่: Linkedin

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *