ชิงแชมป์โลก Team Trial ครั้งสุดท้าย

วันนี้เป็นวันเปิดสนามชิงแชมป์โลกจักรยานถนนครับ

และรายการแรกที่เปิดสนามก็คือการแข่ง Team Time Trial ทั้งชายและหญิง หรือการปั่นจับเวลาแบบทีม

แต่บางคนอาจจะไม่รู้ว่า ปีนี้เป็นปีสุดท้ายแล้วที่จะมีการแข่งขัน TTT ชิงแชมป์โลกที่ใช้โปรทีมแข่ง โดย UCI ยังไม่คอนเฟิร์มว่าปีหน้าจะมีแข่ง TTT อีกหรือเปล่า หรือเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน 

ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายครับ ในบรรดาลักษณะการแข่งจักรยานถนนทั้งหมด DT คิดว่า Team Time Trial เป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงว่า กีฬานี้คือ Team sport ในการแข่ง Road Race เราทราบว่านักปั่นแข่งเป็นทีมก็จริง แต่ก็มีผู้ชนะแค่คนเดียว และส่วนใหญ่คนพูดถึงผู้ชนะมากกว่าพูดถึงทีม

กลับกัน จะปั่น TTT ให้ได้แชมป์นั้นต้องอาศัยความสามัคคีขั้นสุดจริงๆ จะอาศัยคนเก่งที่สุดในทีมคนเดียวไม่ได้ เราไปได้เร็วที่สุดแค่ความเร็วของคนที่ช้าที่สุดในทีม ไม่กี่ปีมานี้ในไทยจัดแข่ง TTT บ่อยขึ้นทั้งในสนามแข่งใหญ่ๆ และรายการอย่าง Club Race Thailand ที่มี TTT เป็นสเตจสำคัญ คนที่เคยลงแข่งขันคงจะรู้ดีว่าการจะเลี้ยงความเร็วให้ต่อเนื่องโดยที่นักปั่นในทีมมีทักษะ ประสบการณ์ ความแข็งแรงต่างกันนั้นมันท้าทายขนาดไหน


กว่าจะมาเป็น Team Time Trial

รู้ไหมครับว่าแรกเริ่มเดิมทีเลยเนี่ยผู้สร้างงานแข่ง Tour de France เป็นคนคิดวิธีแข่ง Team Time Trial ขึ้นมา ก่อนหน้าปี 1925 อองรี เดอกรานจ์ เจ้าของ TDF ห้ามไม่ให้ผู้เข้าแข่งขัน “บังลม” ให้คนอื่น นั่นคือต้องขี่ใครขี่มัน! ขี่เป็นเปโลตองแบบสมัยนี้ไม่ได้ แต่พอทำแบบนี้สเตจทางราบส่วนใหญ่มักจบด้วยการแข่งสปรินต์แบบ drag race ซึ่งเจ้าของงานบอกว่าน่าเบื่อ

ระหว่างปี 1927-28 เจ้าของงานเลยเปลี่ยนกฏการแข่งครับ ให้สเตจทางราบทุกสเตจเป็นการแข่งแบบ TTT!!! ทุกทีมต้องปล่อยตัวห่างกัน 15 นาที เจ้าของงานคิดว่า ถ้าแต่ละทีมไม่เห็นคันข้างหน้า ทุกทีมคงต้องพยายามปั่นให้ถึงเส้นชัยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะกลัวจะเสียเวลารวม พูดง่ายๆ คือแข่ง TTT กัน 80% ของจำนวนสเตจทั้งหมด 

เส้นทาง Tour de France 1927 แข่งกัน 24 สเตจ เป็นสเตจ TTT 16 สเตจ! 

แต่แล้วผู้จัดก็เปลี่ยนใจ กลับมาจัดแข่งรูปแบบเดิม (แบบที่เราเห็นทุกวันนี้) ในปี 1929 เป็นต้นมา เพราะว่าพอเป็น TTT แทบทุกวัน ผู้ชมก็เบื่อครับ ดูข้างสนามไม่สนุก เพราะเห็นแค่เป็นทีมๆ ผ่านข้างทางไป ไม่มีดราม่าเปโลตอง

แล้วเราก็ไม่เห็นการแข่ง TTT มาอีกนานมาก จนถึงปี 1962 ที่เริ่มมีการจัดแข่ง TTT ชิงแชมป์โลกเป็นครั้งแรก สมัยนั้นนี่ฮาร์ดคอร์มาก รูปแบบคือแข่งกันเป็นประเทศ ชาตินึงมีนักปั่นได้ 4 คน และต้องแข่งระยะทาง 100 กิโลเมตร!

คิดดู TTT 4 คน 100 กิโลเมตร จะโหดขนาดไหน ว่ากันว่ามันคือรูปแบบการแข่งจักรยานที่ยากและทรมานที่สุดในโลก อิตาลีเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จที่สุด เป็นแชมป์โลกไป 7 สมัย รองลงมาคือสหภาพโซเวียต 5 สมัยและสวีเดน 4 สมัย

โปรทีมส่งแมวมองมาเลือกหาตัวโดเมสติกเก่งๆ ก็จากรายการ TTT นี่หละครับ เพราะคนที่ขี่ 100 โลแบบสุดตรีนได้นี่จะเป็นลีดเอาท์ที่ดีมากๆ ฟอร์แมตนี้แข่งจนถึงปี 1994 ก็เลิกจัดไป จน UCI เอามาจัดอีกครั้งในปี 2012 นี้เอง และกำลังจะหยุดอีกแล้วในปีนี้


ทำไมถึงเลิกจัด Team Time Trial? 

TTT ชิงแชมป์โลกรูปแบบปัจจุบันคือมีนักแข่งทีมละ 6 คน แต่ไม่ได้ใช้ทีมชาติแข่งแล้ว ใช้ทีมอาชีพแข่งแทนครับ ที่ผ่านมา Quickstep ประสบความสำเร็จที่สุด เป็นแชมป์โลกไป 3 สมัย รองลงมาคือ BMC 2 สมัย และ Sunweb 1 สมัย

เหตุผลที่ UCI เลิกจัด TTT (แบบที่ใช้โปรทีมแข่ง) ก็เป็นเพราะว่า เอาเข้าจริงแล้วก็มีไม่กี่ทีมในโลกที่ “มีโอกาส”​ ชนะการแข่งประเภทนี้ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทีมใหญ่อย่าง Sky, Quickstep, BMC ที่มีผู้เชี่ยวชาญการแข่ง TT อยู่เยอะ ซ้อมเยอะและเงินเยอะจริง

มันทำให้ทีมเล็กและทีมดิวิชัน 2 หมดโอกาสชนะ แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งก็ว่าได้ครับ เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายๆ ทีมเลือกที่จะไม่มาลงแข่ง เพราะถึงมาก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เปลืองเวลาซ้อม เปลืองเงินค่าเดินทาง เปลืองแรง สู้เก็บแรงไว้ไปลุ้นเสื้อรุ้งในประเภท Road Race ดีกว่า เพราะแข่งเสือหมอบชิงแชมป์โลก ต่อให้เป็นนักปั่นโนเนม หรือทีมเล็ก ถ้าหนีเข้ากลุ่มเบรคอเวย์ไปได้ โอกาสชนะก็ยังไม่ใช่ศูนย์

แต่ก็ใช่ว่า TTT ชิงแชมป์โลกจะยุติไปเลย มันอาจจะกลับมาอีกครั้งในอนาคตก็ได้ เหมือนที่มันเคยหยุดแข่งไปแล้วกลับมาอีกในปี 2012 ครับ แต่อาจจะกลับมาใหม่ในรูปแบบที่น่าสนใจ และเปิดโอกาสให้ทีมอื่นได้ลุ้นกว่ารูปแบบปัจจุบันก็เป็นได้ครับ

ข้อมูลล่าสุดจากผู้บรรยาย Eurosport กล่าวว่า UCI อาจจะจัดแข่ง TTT แบบใช้ทีมชาติแข่ง ลิมิตทีมละ 4 คน แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน


ใครจะเป็นแชมป์โลก 2018 Team Time Trial

TTT ชิงแชมป์โลกชายปีนี้เส้นทางโหดทีเดียวครับ ระยะทาง 62.8 กิโลเมตร แต่มีเขาขั้นระหว่างกิโลเมตร 40-45 ที่ความชันเฉลี่ยประมาณ 5% ท้าทายผู้เข้าแข่งขันไม่น้อย เพราะอย่าลืมว่าสเตจ TTT ส่วนใหญ่มักยาวไม่เกิน 40-50 กิโลเมตรครับ เมื่อยาว 62.8 แล้วมีภูเขาขั้นด้วยนี่ หลายทีมอาจจะพังเอาได้ในจังหวะขึ้นเขา เพราะก่อนถึงทางขึ้นเขาน่าจะปั่นกันแบบเต็มสตรีมมาอย่างน้อยๆ 35-40 นาทีแล้ว 

รายชื่อทีมและผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดดูได้ที่ลิงก์นี้ ดูคร่าวๆ แล้วทีมตัวเต็งก็ยังเป็น Quickstep, Sunweb, Sky, BMC ม้ารองเป็น Mitchelton-Scott และ Movistar ครับ 

ถ่ายทอดสดดูได้ที่ http://tiz-cycling.live

ประเภทหญิงเริ่มแข่งขันแล้ว ประเภทชายเริ่มแข่งประมาณ 20:00 ครับ


By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!