ชัยชนะแรกของดิสก์เบรค

สัปดาห์ที่ผ่านมา ทอม โบเน็น และมาร์เซล คิทเทลนักปั่นชื่อดังจากทีม Quickstep Floors คว้าชัยชนะในรายการ Vuelta a San Juan และ Dubai Tour ได้สำเร็จรวม 3 ชัยชนะ

ดูพาดหัวข่าวเผินๆ อาจจะไม่มีอะไรน่าแปลกใจ โบเน็นซึ่งเป็นอดีตสปรินเตอร์ชื่อดัง เก็บชัยชนะในสเตจทางราบช่วงต้นฤดูกาลได้สบายๆ คู่แข่งของเขาก็ไม่ได้น่ากลัวเท่าไรนัก ส่วนคิทเทลนั้นก็เรียกได้ว่าแบเบอร์อยู่แล้วเรื่องการสปรินต์ แต่จะมีคู่แข่งระดับมาร์ค คาเวนดิชก็ตาม

แต่เมื่อสังเกตจักรยานที่ทั้งสองคนใช้คว้าแชมป์สเตจ ซึ่งเป็นเสือหมอบแอโรติดดิสก์เบรค (Specialized S-Works Venge ViAS Disc) แชมป์ครั้งนี้มีความหมายมากกว่าแค่ชัยชนะของหนึ่งทีมครับ เพราะมันเป็นครั้งแรกในโลกที่นักปั่นอาชีพคว้าแชมป์จักรยานถนนในสนามแข่งนานาชาติด้วยจักรยานติดดิสก์เบรค

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ กับแค่การเปลี่ยนจักรยานแข่งเสือหมอบในสนามอาชีพจากระบบริมเบรคมาเป็นดิสก์เบรคจะสร้างปัญหา ดราม่ากันได้ตลอดฤดูกาล ฝ่ายผู้ผลิตจักรยานก็อยากจะผลักดันให้โปรทีมหันมาใช้ดิสก์เบรคกันให้หมด (จะได้มีสินค้าใหม่ขาย) ในขณะที่นักปั่นอาชีพก็ต่อต้านบ้าง เห็นด้วยบ้าง หาข้อสรุปลงตัวกันไม่ได้ เพราะมีคนได้รับอุบัติเหตุจากดิสก์เบรคระหว่างแข่งจนทำให้นักกีฬาเสียขวัญกันก็มาก ทางสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) ก็ไม่ให้ข้อสรุป บอกให้ทีมทดลองใช้ก่อนอีกหนึ่งฤดูกาลแข่ง

ในสายตาคนที่ไม่ได้คลุกคลีกับวงการนักปั่นอาชีพ อาจจะสงสัยว่าทำไมมันเรื่องเยอะจัง? จักรยานดิสก์เบรคมีให้ใช้เต็มตลาด เสือภูเขาก็เป็นดิสก์เบรคหมดแล้ว ทำไมเสือหมอบจะเปลี่ยนบ้างไม่ได้? ทำไมจะต้องถกเถียงทดสอบกันมากมาย?

ปัญหาหลักๆ คือดิสก์เบรคกับการเแข่งเสือหมอบที่ปั่นกันเป็นกลุ่มนั้น ดูจะอันตรายพอสมควรตรงที่หากมีการล้มกลุ่ม (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา) อาการบาดเจ็บอาจจะรุนแรงกว่าปกติจากใบดิสก์ที่คมและร้อน ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนอุปกรณ์ของนักปั่นระหว่างแข่ง เช่นเปลี่ยนล้อในกรณียางรั่วก็จะลำบาก หากไม่ได้ใช้ดิสก์เบรคเหมือนกันหมด (ระหว่างนี้นักปั่นเลือกใช้ได้ทั้งริมเบรคและดิสก์เบรค) การจัดการสต็อกอะไหล่ก็จะวุ่นวายและสปอนเซอร์อุปกรณ์ของทีมก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกมาก

ชัยชนะของโบเน็นและคิทเทลเป็นสัญญาณที่ดีต่อผู้ผลิตสินค้าที่อยากจะผลักดันให้ดิสก์เบรคกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในเสือหมอบ เพราะมันพิสูจน์ให้เห็นว่าเทคโนโลยีที่ยังมีข้อถกเถียงและโต้แย้งว่าใช้งานแข่งจริงยังมีปัญหาอีกเยอะนั้น ก็แข่งชนะได้เหมือนกัน ทาง Specialized ผู้ผลิตรถรุ่นนี้ก็บอกว่า เฟรม Venge Vias Disc นั้นก็ไม่ได้เสียเปรียบรุ่นริมเบรคธรรมดานะ น้ำหนักเท่ากัน และไม่ได้ด้อยไปกว่าในเรื่องแอโรไดนามิกเสียด้วย ในขณะที่เบรคดีกว่าหลายขุม

ถึงกระนั้น ชัยชนะครั้งนี้เป็นการทดสอบในสนามเล็ก และมีนักปั่นจำนวนน้อยที่ใช้เสือหมอบติดดิสก์เบรคครับ เรื่องการจัดการอะไหล่สำรองของนักแข่งก็ยังไม่วุ่นวายนัก น่าสนใจว่าหากมีนักปั่นทดลองใช้ดิสก์กันครึ่งเปโลตองในรายการระดับแกรนด์ทัวร์ หรือสนามคลาสสิคที่โปรต้องตะลุมแก่งแย่งตำแหน่งน่ากลุ่มกันในเส้นทางแคบๆ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ปีนี้คงได้เห็นความเคลื่อนไหวในส่วนนี้กัน

เหตุผลที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึงนั่นก็เพราะ สินค้าและเทคโนโลยีในวงการจักรยานเสือหมอบส่วนใหญ่นั้นใช้วงการนักปั่นอาชีพเป็นตัวผลักดันมาตลอดครับ ถ้าโปรใช้อะไรแล้วชนะ ก็เป็นการสร้างอุปทานให้กับผู้บริโภคโดยตรง ผู้ผลิตสินค้าจึงพยายามผลักดันและสนับสนุนโปรให้ใช้อุปกรณ์ล่าสุดตลอดเวลา กลับกัน ถ้าโปรไม่ยอมใช้สินค้าใหม่ ด้วยปัญหาต่างๆ มันก็สร้างภาพที่ไม่ดีกับเทคโนโลยีนั้นๆ ผู้บริโภคก็ลังเลว่าจะใช้ตามดีหรือเปล่า ถึงแม้ว่าจริงๆ คนธรรมดาอย่างเราๆ สามารถซื้อเสือหมอบติดดิสก์เบรคมาใช้กันได้แล้ว แค่เอาไปลงแข่งสนาม UCI ไม่ได้เท่านั้นเอง (แต่จะมีกี่คนที่ได้ไปลงแข่งสนามทางการกัน?)

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ The Inside Line, 31 มกราคม 2560

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *