จักรยานเขา เราไม่ต้องการ

ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในถ้ำตลอดสามปีที่ผ่านมา คงสังเกตเห็นได้มายากว่าพลวัตรตลาดจักรยานกลุ่ม entry-level ในไทยนั้นเปลี่ยนไปมาก…

ใช่แล้วครับ การเข้ามาของจักรยานแข่งขัน (เสือหมอบ) แบรนด์จีนที่ผู้นำเข้าไทยดึงเข้ามาตีตลาดจักรยานยุโรปและอเมริกาจนชนะขาดลอย ด้วยราคาต้นทุนที่ถูกกว่าและสเป็ค “ดีกว่า” ในบ้างด้าน ทำให้ยอดขายถล่มทลาย กินส่วนแบ่งจักรยานระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับกลาง

“แบรนด์จีน” ในที่นี้หมายถึงจักรยานที่ผลิตในและส่งออกจากประเทศจีนครับ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น มันก็ทำให้ผู้นำเข้าจักรยานยุโรป/อเมริกา เดือดร้อนพอสมควร เพราะราคาต้นทุนนำเข้าและทำตลาดสูงกว่า แถมยังได้อะไหล่ไม่เทียบเท่าจักรยานจีนในราคาเท่ากัน แน่นอนว่าผู้บริโภคก็สนใจจักรยานสเป็คดีราคาไม่แพงมากกว่าเป็นธรรมดา

ผู้นำเข้าหลายรายต้องออกมาทำโปรโมชันชนราคา ลดแลกแจกแถม หรือผ่อนฟรี ผ่อนสบายไร้ดอกเบี้ยก็มีให้เห็นบ่อยไป หลายรายยอมขาดทุนโละสต็อกสินด้วยราคาเหลือเชื่อ เพราะก็ยังต้องรับนำเข้าสินค้าปีใหม่เข้ามาขายต่อเนื่อง ครั้นจะเก็บของเก่าไว้ก็มีแต่จะขายไม่ออก

แต่เชื่อไหมครับว่าเหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้น (มากนัก) ในตลาดยุโรป
ในปี 2013 สหภาพยุโรปได้มีมติต่ออายุนโยบายการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping) ให้กับสมาคมโรงงานผลิตจักรยานยุโรปหรือ European Bicycle Manufacturers’ Association (EBMA) ยาวไปจนถึงปี 2018 โดยจัดเก็บภาษีนําเข้าจักรยานจากจีนที่ 48.5% !

นโยบายนี้จริงๆ ใช้มาร่วม 20 ปีแล้วตั้งแต่ปี 1993 และออกแบบมาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมจักรยานภายในยุโรปจากการโจมตีของผู้ผลิตจักรยานจากจีนที่เคยส่งจักรยานเข้ามาขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของผู้ผลิตยุโรป เล่นเอาผู้ผลิตท้องถิ่นแทบจะปิดกิจการกันไปหลายราย และด้วยที่ยุโรปยังคงเป็นทวีปที่มีวัฒนธรรมการปั่นและจับจ่ายซื้อสินค้าจักรยานมาต่อเนื่องยาวนาน รวมถึงมีอุตสาหกรรมจักรยานที่แข็งขัน ก็เข้าใจได้ว่าทำไมสมาคม EMBA ถึงต้องออกมาล็อบบี้นโยบายนี้อย่างแข็งขัน

จีนหาทางส่งออกจักรยานไปยุโรปด้วยเส้นทางอื่น โนมินีในประเทศตูนิเซีย อินโดนีเซีย มาเลเซียและศรีลังกา จนสหภาพยุโรปต้องใช้กำแพงภาษีเดียวกันกับประเทศดังกล่าว

แต่จีนไม่ได้ยอมสงบศึกง่ายๆ จีนเป็นผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่ที่สุดในโลก ผลิตมากถึง 83 ล้านคันในปี 2011 และส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศถึง 70% ของจำนวนดังกล่าว แถมยุโรปก็เป็นกลุ่มประเทศที่จับจ่ายซื้อสินค้าจักรยานมากเป็นอันดับสองของโลก อุปสงค์มี อุปทานก็พร้อม แต่เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมจักรยานยุโรปพังพินาศไปเสียก่อน ทางสหภาพจึงต้องตั้งกำแพงภาษีอย่างที่เราเห็น

(Note: ถึงแบรนด์จีนจะส่งออกจักรยานเข้ายุโรปโดยตรงไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าลูกค้าจะซื้อไม่สะดวกครับ พ่อค้าคนกลางและโรงงานจักรยานจีนมากมายใช้อินเทอร์เน็ตในการแก้ปัญหา ด้วยการเปิดหน้าร้านออนไลน์ใน Ebay และเว็บไซต์ e-commerce อีกมากมาย โอเค มันอาจจะขายเป็นล็อตใหญ่ๆ ไม่ได้เหมือนเวลาผู้นำเข้าสั่งของมาขาย แต่มันก็ยังเป็นช่องทางหนึ่งในการขายครับ)

ปัญหาหลักของการทุ่มตลาด (Dumping) คือการแย่งส่วนแบ่งการตลาดในแบบที่ผู้ผลิตท้องถิ่นไม่สามารถสู้ราคาได้ แถมยังเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าชนิดนั้นภายในประเทศผู้นำเข้า เนื่องจากผู้บริโภคสินค้านำเข้าสามารถบริโภคสินค้าได้ในราคาต่ำกว่าการบริโภคสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตภายในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตสินค้า ในประเทศผู้นำเข้าขายสินค้าได้น้อยลงและอาจถูกขจัดออกจากตลาดไปในที่สุด และในระยะยาวผู้ส่งออกสามารถสร้างอำนาจการผูกขาดสินค้าจากการทุ่มตลาด และสามารถโก่งราคาสินค้าได้ในภายหลัง

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมตลาดจักรยานยุโรปถึงไม่เจอสภาวะเหมือนตลาดจักรยานไทยที่แบรนด์จีนเข้ามาทุบหม้อข้าวกันแบบไม่ต้องกลัวหน้าอินทร์หน้าพรหม ที่ไทยไม่ออกนโยบายตอบโต้การทุ่มตลาดนี้ก็อาจเป็นได้ว่าไทยไม่ใช่ผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่ด้วย มันไม่ใช่อุตสาหกรรมหลักของประเทศเหมือนและเราไม่ได้มีองค์กรอย่าง EMBA ที่จะมาช่วยล็อบบี้รัฐบาล เรามีบริษัทผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่ระดับส่งออกไม่กี่ราย

แต่กระนั้น การไหลทะลักของจักรยานจีนก็มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการจักรยานไทยไม่น้อยครับ ทั้งคนที่ทำแบรนด์เองและผู้นำเข้าแบรนด์ต่างประเทศ ถึงตอนนี้จักรยานจากจีนอาจจะมีประสิทธิภาพและ/หรือ ภาพลักษณ์ไม่เทียบเท่าจักรยานยุโรป/ อเมริกัน แต่แนวโน้มมันชัดเจนว่าประสิทธิภาพรถจีนจะดีขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตลาดสินค้าอิเล็คทรอนิคส์

เชื่อว่าอีกสักสองปีเราคงเห็นสมดุลส่วนแบ่งตลาดที่ชัดเจนกว่านี้ และน่าสนใจว่าผู้นำเข้าจักรยานยุโรปจะมีมาตรการตอบโต้แบรนด์จีนยังไง

//

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ พฤษจิกายน 2559

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *