สนามแข่งหรือสนามรบ?

ในคาบเรียนวิชาปรัชญาสมัยมหาวิทยาลัย ผมจำได้ว่ามีชั่วโมงนึงที่เรานั่งถกเถียงกันในหัวข้อ “กีฬาเป็นตัวแทนของสงครามในสังคมสมัยใหม่จริงหรือเปล่า?”

ประเด็นที่คุยนั้นพุ่งเป้าไปที่ว่า ในสังคมมนุษย์ยุคใหม่ซึ่งห่างไกลจากสงครามแบบประจันหน้ากันตรงๆ (all out total war) เหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และที่ 2 นั้นใช้กีฬาเป็นตัวแทนของความขัดแย้งในกรอบที่สังคมยอมรับได้มั้ย?

ถ้าเราถอยกลับไปดูรากวัฒนธรรมของกีฬาหลายๆ ประเภท ก็จะพบว่ามันมีความผูกพันธ์กับการทหารและสงครามอยู่ไม่น้อยครับ ในวงการจักรยาน เราก็ใช้คำอย่าง ‘Peloton’ (เปโลตอง) แทนที่คำว่า “กลุ่มนักปั่น” ในการแข่งขัน คำว่าเปโลตองนั้นเป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า หมวดทหาร (Platoon) ยังมีคำว่า ‘Echelon’ (เอเชอลอน) ใช้เรียกเวลาที่นักปั่น ปั่นแบบเรียงแถวกันเป็นขั้นบันได ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้เวลาเจอกระแสลมตีจากด้านข้าง เอเชอลอนก็เป็นศัพท์ที่ยกมาจากการทหารอีกเช่น ใช้เรียกการจัดกำลังทหารเครื่องบินหรือยานพาหนะแบบขั้นบันได

เรายังใช้คำว่า ‘War of Attrition’ หรือ “สงครามแบบบั่นทอนกำลัง” ในการบรรยายกรูปแบบการแข่งแกรนด์ทัวร์ สนามแข่งจักรยานที่ต้องต่อสู้กันยาวนาน 3 สัปดาห์ เช่นใน Giro d’Italia, Tour de France และ Vuelta a Espana สามแกรนด์สแลมประจำปีที่ทุกคนชื่นชอบ มันเลยกลายเป็นประเด็นถกในกลุ่มนักรัฐศาสตร์และนักปรัชญาว่า การเติบโตของกีฬามีส่วนช่วยให้ความขัดแย้งที่ต้องเผชิญหน้ากันลดลงได้ไม่มากก็น้อย

ในประเด็นนี้มีทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ฝั่งที่สนับสนุนเชื่อว่าว่ากีฬาเข้ามาแทน และช่วยลดการประจันหน้าระหว่างและภายในประเทศ เราอาจเรียกสนามแข่งนานาชาติ และลีกกีฬาต่างๆ ว่าเป็นตัวแทนของสนามรบก็ได้ เพราะในอดีตการแข่งกีฬากลางแจ้งนั้นก็เป็นที่ฟักฟูมเด็กวัยรุ่นให้มีร่างกายกำยำแข็งแรงพร้อมเข้ารับใช้ชาติ

แม้แต่มิติของการยกย่องเชิดชูนักกีฬานั้นก็แทบไม่ต่างอะไรกับการยกย่องทหารผ่านศึกผู้กล้าที่คว้าชัยชนะให้กับประเทศ คุณลักษณะของนักกีฬาที่ดีนั้นใกล้เคียงกับนักรบที่ดี เป็นคนที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เด็ดขาด หนักแน่น และเป็นความสำเร็จของรัฐ ดั่งที่เราเห็นการสนับสนุนดูแลนักกีฬาที่คว้าเหรียญทองให้ประเทศไทยในเวทีโอลิมปิกและเอเชียนเกมส์

แต่แน่นอนว่าเรื่องสงครามและการเมืองนั้นจะมาสรุปง่ายๆ ด้วยการใช้กีฬาแทนความรุนแรงก็ดูจะโลกสวยไปหน่อย ทั้งนี้ถ้าเราลองหาความเชื่อมโยงมันอาจจะมีอะไรให้คิดมากกว่าประเด็นวิชาการก็ได้

 

อัตลักษณ์ของประเทศ​

สิ่งที่เหมือนกันระหว่างแชมป์ Giro d’Italia และทหารผ่านศึก

ในช่วงเวลาที่สังคมอ่อนแอ ขาดแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ผู้คนอ่อนล้าและผิดหวัง จะด้วยพิษเศรษฐกิจก็ดี หรือภัยภิบัติก็ดี มีสัญลักษณ์ไม่กี่อย่างที่สร้างความหวังให้ผู้คนได้ดีไปกว่าฮีโร่จากสงครามและนักกีฬาระดับแชมป์เปี้ยน

ในสมัยกรีกโบราณ​ รัฐขนาดใหญ่นิยมสร้างงานเทศกาล และมหกรรมกีฬาเพื่อยาใจและเบี่ยงเบนความสนใจผู้คนไปจากพิษเศรษฐกิจ อย่างน้อยความบันเทิงก็ช่วยเบาภาระให้ไม่ต้องคิดถึงความยากลำบากในการหาเลี้ยงครอบครัว ดังที่ผู้ปกครองอาณาจักรโรมันจัดแข่งการรบระหว่างผู้กล้ากลาดิเอเตอร์ในโคลีเซียม

หลายครั้งผู้ปกครองกรุงโรมใช้มันเพื่อสร้างความนิยมให้ตัวเองและปิดบังการฉ้อโกง กลาดิเอเตอร์คือฮีโร่และแฟนตาซีที่ผู้คนใช้เป็นตัวแทนความสำเร็จที่พวกเขาไม่มีทางไปถึง มันเป็นภาพสะท้อนของความหวังและความฝันที่มีพลังยากจะหาอะไรเทียบ
แม้แต่ในช่วงร้อยปีที่ผ่านมา แชมป์จักรยานก็ถูกใช้เป็นตัวแทนของรัฐในการมัดใจประชาชน จิโน่ บาร์ทาลี – นักปั่นยากจนจากครอบครัวในแคว้นทัสคานี่ ผู้ซึ่งเป็นแชมป์ Giro d’Italia สามสมัยระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เข้าไปคว้าแชมป์ Tour de France ในปี 1938

สำหรับมุสโสลินี ผู้นำอิตาลี ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการที่นักปั่นอิตาเลียนตัวแทนประเทศอักษะจะไปพิชิตรายการแข่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศฝั่งพันธมิตรอย่างฝรั่งเศสถึงที่

มุสโสลินีดึงเอาชัยชนะของบาร์ทาลีมาสร้างเป็นโฆษณาชวนเชื่อปลุกระดมผู้คน ชี้นำให้ชาวอิตาเลียนเชื่อในทิศทางการปกครองของเขา ถึงแม้มันจะขัดแย้งกับความถูกต้องชอบธรรมก็ตาม

 

สงครามและกีฬามีพลังที่คล้ายกันในการปลุกเร้าผู้คน

ในสภาวะสงคราม สภาพจิตใจของประชาชนจะตื่นตัวเป็นพิเศษ ด้วยความไม่มั่นใจในอนาคตและความหวาดกลัวต่อผลกระทบของสงคราม แต่ขณะเดียวกันก็เกิดความรู้สึกภักดีต่อรัฐ สงครามช่วยเฟ้นความรักพวกพ้อง ชาติพันธ์และพื้นถิ่น ได้ดียิ่งกว่าสภาวะไหนๆ เพราะเมื่อมีศัตรูพร้อมทำร้ายเราอยู่ตรงหน้า มนุษย์ย่อมมองหาแนวร่วม

ในด้านจิตใจ สงครามช่วยปลุกเร้าอารมณ์และนิสัยที่มนุษย์ส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องดี แต่อาจจะทำเองไม่ได้ เช่นวินัย ความกล้า การตัดสินใจที่เฉียบขาด ความเสียสละ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม
ชัดเจนว่าผู้คนไม่ต้องการความเสียหายและความโศกเศร้าที่เป็นผลพวงจากการต่อสู้ แต่จะมีอะไรที่มาทดแทนอารมณ์ ความรู้สึกเชิงบวกเหล่านี้ได้บ้าง?

กีฬาดูจะเป็นตัวเลือกอันดับต้น เพราะมันตอบโจทย์เดียวกันทั้งเชิงอารมณ์และสังคม มันกระตุ้นความเป็นพวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอล แฟนบาส แฟนเทนนิส แฟนจักรยาน ทุกคนหาจุดร่วมกันในทีมหรือไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบได้ ไม่ว่าตัวแทนของพวกเขาจะแพ้หล่นท้ายตารางหรือชนะในแมทช์ที่ไม่คาดฝัน พวกเขาก็พร้อมจะสนับสนุน ไม่ต่างอะไรกับการที่รัฐอยากให้ประชาชนเข้มแข็งและช่วยเหลือระหว่างภาวะสงคราม

กีฬายังมีมิติของความสนุกตื่นเต้นเร้าใจที่หาได้ยากในชีวิตประจำวัน เป็นสัญลักษณ์ของผู้กล้า ทักษะเหนือชั้น ความขยันหมั่นเพียร ความเร่งด่วนของการแข่งขันที่เดิมพันสูงกลับยังให้ความหมายกับชีวิตของนักกีฬาและผู้ชมมากกว่ากิจกรรมอื่นทุกชนิด
เช่นนั้นแล้ว ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความผูกพันของประชาชนที่รัฐต้องการก็เก็บเกี่ยวได้ไม่ยากจากการจัดการแข่งขันหรือสนับสนุนกีฬา ความรู้สึก “มีชีวิตอยู่” ความกล้าความท้าทายในสนามรบก็เลียนแบบได้ครบกลางสนามแข่งเช่นกัน

 

กีฬาทำให้สงครามลดลงจริงหรือ?

ถ้ากีฬาสามารถเข้ามาแทนการสู้รบได้ แล้วเรามีหลักฐานมาสนับสนุนหรือเปล่า? ในประเทศอังกฤษยุคปี 1800s ที่การต่อสู้ระหว่างแกงค์วัยรุ่นหัวรุนแรงกำลังเฟื่องฟู ในระดับที่การเดินเหินบนถนนเป็นเรื่องอันตรายนั้น รัฐแก้ปัญหาด้วยการสร้าง “สโมสรเด็กหนุ่ม” ซึ่งบรรจุกิจกรรมสันทนาการไว้หลายอย่าง เพื่อให้วัยรุ่นได้ระบายความโกรธเกรี้ยวและอารมณ์พลุ่งพล่านด้วยกีฬาและกิจกรรมที่ไม่ใช่การยกพวกตีกัน

มันจึงเป็นที่มาของความบ้าคลั่งสโมสรฟุตบอลของอังกฤษ สอดคล้องกับการกำเนิดของสโมสรฟุตบอลชื่อดังอย่าง Manchester City และ Manchester United นั่นเองครับ ผลก็คือเด็กวัยรุ่นลดการวิวาท และหันมาตั้งทีมสู้กันในแมทช์สตรีทฟุตบอลผ่านลีกที่จัดโดยสโมสรเด็กหนุ่มทั่วประเทศ

ในบราซิลและโคลอมเบียที่เจอปัญหาความขัดแย้งระหว่างกลุ่มค้ายาต่อเนื่องยาวนานก็ได้กีฬาอย่างฟุตบอลและจักรยานมาเป็นทางออก เด็กหนุ่มหลายคนหันมาเอาดีทางกีฬาอย่างฟุตบอล (ในบราซิล) และจักรยานแข่งขัน (ในโคลอมเบีย)​ เพราะมันเป็นประตูสู่ความสำเร็จสำหรับคนที่ไม่มีการศึกษาแต่มีพลังและความมุ่งมั่นเหลือล้น

นักปั่นอย่างริกโอเบอร์โต้ อูราน (ทีม Cannondale Drapac) พาตัวออกจากบ่วงการฆ่าล้างครอบครัวได้ก็เพราะเขาหันมาเอาจริงด้านการแข่งจนเลี้ยงครอบครัวได้

ตามการรายงานของ Human Security Report Project ในปี 2006 ปริมาณสงครามในโลกลดลงอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ถึงแม้ว่ากีฬาจะไม่ได้เป็น “ทางออก” โดยตรง ยังมีจัยอย่างเรื่องเศรษฐกิจ สังคมที่ดีขึ้นและการระหว่างประเทศ และกฏหมายระหว่างประเทศที่จัดให้ประเทศต่างๆ ดำเนินตามกรอบ แต่กีฬาก็มีส่วนช่วยอยู่ไม่น้อย

สิ่งที่เติบโตสวนทางกับสงครามก็คือการแข่งขันกีฬานานาชาติหลากหลายประเภท ทั่วโลกต้องประชันกันทุก 4 ปีในโอลิมปิก ยังมีลีกกีฬาอีกมากมายที่ผู้คนเฝ้ารอเช่นฟุตบอลโลก เทนนิสแกรนด์สแลม Super Bowl และแกรนด์ทัวร์สำหรับแฟนๆ จักรยาน
กีฬาเหล่านี้พร้อมที่จะเติมเต็มความรู้สึกที่ขาดหายไปในชีวิตประจำวันของสังคมสมัยใหม่ และช่วยประสานความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสังคมได้เป็นอย่างดี แถมฟรีคือเป็นที่ระบายอารมณ์และเคลียร์ปัญหาคาใจระหว่างกัน

แน่นอนว่ามันจะดูไร้ความรับผิดชอบเกินไปที่จะบอกว่าความขัดแย้งทุกประเภทแก้ได้ด้วยกีฬา มิเช่นนั้นเราคงไม่ต้องประสบกับสงครามอันโหดร้ายในซีเรีย ในตะวันออกกลาง ระหว่างรัสเซียและประเทศรอบข้าง ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนทั่วโลกที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับไม่ถ้วน แต่อย่างน้อยมันก็เป็นทางออกราคาไม่แพงที่สมควรได้รับการสนับสนุนมากกว่าที่เป็นอยู่ ❖

 

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *