กำแพงแห่งความเจ็บปวด

“Pain is temporary, Quitting Lasts forever” – Lance Armstrong

ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประโยคข้างต้นที่ Lance Armstrong อดีตแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ 7 สมัยได้กล่าวไว้ก็ตาม ความจริงที่นักปั่นหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือกีฬาประเภท Endurance อย่างการวิ่งมาราธอนและการปั่นจักรยานทางไกล เป็นกีฬาที่คุณต้องยอมรับและโอบกอดความเจ็บปวดเพื่อที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น โดยคำนิยาม ‘Endurance Sport’ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกีฬาที่เราต้อง “อดทน”  ไม่ใช่ว่านักกีฬาประเภทอื่นเขาไม่อดทน แต่การที่จะต้องปั่นจักรยานกว่า 6-7 ชั่วโมง ข้ามเส้นทางกว่า 3,000 กิโลเมตรเป็นเวลา 3 อาทิตย์ มันยกระดับความเจ็บปวดขึ้นไปอีกหลายระดับ จิตใจของนักปั่นเขารับมือกับความเจ็บปวดอย่างไร? ร่างกายเขาเป็นคนเหล็กเหนือสามัญชนอย่างพวกเราหรือเปล่า?

 

‘ใจเกิน 100’

ในภาษาอังกฤษมีคำคุณศัพท์ที่เหมาะจะนำมาใช้บรรยายคุณลักษณะนักปั่นฝีเท้าดี คำนั้นคือ “Grit” ครับ “กริท” แปลว่าความทรหด แต่ในอีกมุมหนึ่งมันจะแปลว่า การทำเสียงบด หรือการกัดฟันจนดังกรอดๆ ก็ได้ นักกีฬา Endurance sport ที่ประสบความสำเร็จมักจะมีความทรหดมากกว่าคู่แข่ง

ความทรหดไม่ใช่แค่เรื่องความแข็งแกร่งของร่างกายและการฝึกซ้อมเพียงอย่างเดียว แต่ครึ่งนึงนั้นคือความทรหดทางใจ หลายต่อหลายครั้งแชมป์เปี้ยนไม่ใช่คนที่ฟิตที่สุดในการแข่งขัน แต่เป็นคนที่พร้อมจะกัดฟันอดทนความเจ็บปวดได้มากที่สุด

เราได้เห็นนักปั่นอาชีพทนทานต่อความเจ็บปวดที่เราแค่ได้ยินก็อยากจะพับรถกลับบ้านทันที Tyler Hamilton คว้าแชมสเตจป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ด้วยสภาพกระดูกไหปลาร้าหัก Geraint Thomas ปั่นตูร์ปีล่าสุดจนจบการแข่ในขณะที่กระดูกสะโพกร้าว ในขณะที่ Tony Martin คว้าแชมป์สเตจ Time Trial พร้อมบาดแผลทั่วที่เจ็บปวดขนาดทำให้เขาหมดสติไปชั่วคราว

Martin อาบเลือดหลังจากที่ล้มใน Tour de France สเตจ 1 เจ็บจนหมดสติ แต่ประโยคแรกที่เขาพูดออกจากปากหลังฟื้นคือ "พรุ่งนี้ ผมลงแข่งต่อได้ใช่ไหม?"
Martin อาบเลือดหลังจากที่ล้มใน Tour de France สเตจ 1 เจ็บจนหมดสติ แต่ประโยคแรกที่เขาพูดออกจากปากหลังฟื้นคือ “พรุ่งนี้ ผมลงแข่งต่อได้ใช่ไหม?”

คำถามที่เกิดขึ้นคือนักกีฬาอาชีพเขารู้สึกเจ็บปวดน้อยกว่าคนธรมดาสามัญชนหรือเปล่า?

ในงานวิจัยเรื่องความเจ็บปวด Higher pain tolerance in atheletes may hold clues for pain management สรุปว่านักปั่นก็รู้สึกถึงความเจ็บปวดเหมือนคนทั่วไป แต่สิ่งที่ต่างกันคือโดยส่วนใหญ่นักกีฬาสามารถอดทนต่อความเจ็บปวดได้มากกว่า พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านก็คือ ใจถึงกว่านั่นเองครับ นอกจากนี้ในการศึกษาเดียวกันยังพบว่านักกีฬาประเภท endurance sport สามารถอดทนต่อความเจ็บปวด (pain tolerance and treshold) สูงมากกว่านักกีฬาประเภทอื่นๆ ด้วย

 

Living with pain

Jens Voigt - The Master of pain
Jens Voigt – The Master of pain

ในบล๊อกที่ Jens Voigt เขียนให้ Bicycling Magazine เขาบอกว่า “If you are not riding with your old friend pain, you are not training. You are going too easy!” – ถ้าคุณปั่นแล้วไม่รู้สึกว่าตัวเองเหนื่อยหรือเจ็บปวด แสดงว่าคุณไม่ได้ซ้อมเต็มที่!

ทุกครั้งที่เราพยายามกดเพิ่มเกียร์ให้หนักขึ้นอีกสักเกียร์ ไปให้ได้เร็วขึ้นอีกสัก 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือพยายามต่อสู้กับลมต้านที่ดูเหมือนจะพัดเราให้ตกจากจักรยานเสียให้ได้ เสียงเรียกภายในใจก็มักจะบอกให้เราหยุด ให้เราปั่นให้ช้าลง! ขามันเจ็บไม่ไหวแล้ว! คนส่วนใหญ่ยอมพ่ายให้กับเสียงกระซิบ ลดความเร็วลงเพื่อให้ปั่นสบายขึ้น… แน่นอนว่าการฝืนเกินเหตุนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกาย เราต้องขยันซ้อมพอสมควรจนจะเข้าใจร่างกายดีพอว่าว่าเส้นกั้นบางๆ ที่ไม่ให้เราซ้อมเกินกำลังมันอยู่ที่ตรงไหน Voigt บอกว่าเรามักจะถอดใจก่อนที่จะก้าวข้ามเส้นอันตรายด้วยซ้ำ “Most people quit to soon than push too hard”

ในเวลาแข่งจริง ยิ่งคุณเจ็บปวดมากก็แสดงว่าคุณกำลังปั่นอย่างเต็มที่ คนที่สามารถรับความเจ็บปวดได้มากที่สุดมักจะเป็นผู้ชนะเสมอ อย่างน้อยก็ปั่นทำอันดับได้ดีกว่าคนอื่นหละ Eddy Merckx นักปั่นระดับตำนานสอนรุ่นน้องไว้ว่า

 

“When a race feels easy everyone can attack, but when you’re in awful pain that’s the moment an attack really matters, because all the others are hurting as much as you.”

“ในช่วงที่การแข่งยังช้าๆ ใครๆ ก็ออกโจมตีหนีกลุ่มได้ แต่พอถึงจุดที่คุณเจ็บปวดจนอยากจะเลิก นั่นคือเวลาที่การโจมตีกกลุ่มสำคัญที่สุด เพราะทุกคนก็เจ็บปวดไม่แพ้คุณ และช่วงเวลานั้นคือจุดตัดสินผู้ชนะ”

 

สิ่งที่ Jens Voigt และ Merckx สอนเรานั้นแสดงให้เห็นวิธีคิดของนักปั่นอาชีพครับ เราจะเห็นว่าเขาไม่ได้ปฏิเสธความเจ็บปวด ไม่ได้ต่อต้าน แต่เขาเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ในบางครั้ง – โอบกอดมันด้วยซ้ำ ซึ่งก็สอดรับกับผลวิจัยของ Jeffery Kress และ Traci Starler จากมหาวิทยาลัย Calofirnia State University ที่เขาศึกษาวิธีการจัดการความเจ็บปวดของนักกีฬาจักรยานโอลิมปิกที่พบว่าแทนที่นักปั่นจะต่อต้านความเจ็บปวด หรือพยายามลืมและอดทนให้มันผ่านไป แต่เขากลับยอมรับ และปรับตัวให้เข้ากับความเจ็บปวด นำมันมาเป็นแรงกระตุ้นและเครื่องมือในการวัดสมรรถภาพร่างกายและฝีเท้าของตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ว่ากันว่าการแข่งจักรยานลู่ประเภท Team Pursuit ที่นักปั่นต้องเอาชนะเวลาของทีมคู่ต่อสู้ ในระยะทาง 4000 เมตร เป็นการแข่งที่ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดให้ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับกาแข่งจักรยานลู่ประเภทอื่นๆ
ว่ากันว่าการแข่งจักรยานลู่ประเภท Team Pursuit ที่นักปั่นต้องเอาชนะเวลาของทีมคู่ต่อสู้ ในระยะทาง 4000 เมตร เป็นการแข่งที่ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดให้ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับกาแข่งจักรยานลู่ประเภทอื่นๆ

แน่นอนว่าลำพังเป็นคน “ใจถึง” อย่างเดียวก็คงจะปั่นได้ดีกว่าคู่ต่อสู้ไม่ได้แน่ๆ สภาพร่างกายคุณก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความเจ็บปวดด้วย ผลวิจัยเมื่อปี 2012 เกี่ยวกับการรับรู้ความเจ็บปวดระหว่างนักกีฬาและคนธรรมดากว่า 900 คนพบว่ามนุษย์เราสามารถยกระดับกำแพงแห่งความเจ็บปวด (pain treshold) ได้ด้วยการฝึกซ้อมร่างกาย

พูดง่ายๆ การฝึกจิตใจให้รับความเจ็บปวดก็ไม่ต่างอะไรกับการยกน้ำหนักเพิ่มกล้ามเนื้อแขน ขา สำหรับคนที่ปั่นจักรยานนั้นยิ่งซ้อมเยอขึ้นจนระบบหายใจ ระบบเลือดและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะรู้สึกเจ็บปวดน้อยลงตามลำดับ

 

เจ็บแต่ดี

ฟังหัวข้อแล้วอาจจะงงๆ และขัดแย้งกับความรู้สึกว่าอาการเจ็บปวดมันดีตรงไหน? แต่ลองดูสิ่งที่ Voigt สอนนักปั่นหน้าใหม่ในโพสต์เดียวกันครับ ผมขอยกมาคร่าวๆ

1. อาการเจ็บปวดเป็นสิ่งที่บอกว่าเรายังมีชีวิตอยู่ Voigt ล้มคว่ำในตูร์ปี 2009 เขาบอกว่าสิ่งแรกที่ทำหลังจากฟื้นก็คือพยายามขยับร่างๆกาย มือ เท้า แขน ขา ถึงแม้จะเจ็บมาก เขาก็ยังควบคุมมันได้ ยังรู้ว่ามันใช้งานได้ ไม่แตกหักเสียหายอะไรมาก มันทำให้เขารู้ว่าเมื่อาการบาดเจ็บมันหายดีแล้ว ร่างกายเขายังใช้งานได้ครบ 32 ประการ

2. ความเจ็บปวดทำให้เรารู้จักระมัดระวังตัว ในระหว่างที่ Voigt พยายามซ้อมหลังอุบัติเหตุ บางครั้งเขาก็พยายามมากเกินไปทำให้เจ็บมากจนต้องลดความหนักหน่วงลงบ้าง ความเจ็บปวดทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยระวังไม่ให้เราฝืนจนเกินเหตุ

3. หลังจากที่ Voigt พักฟื้นได้ดีจนเกือบเป็นปรกติ เขาพยายามซ้อมตามคอร์สที่โค้ชกำหนดให้แต่กลับพบว่าตัวเองปั่นได้ช้ามากในขณะที่รู้สึกเจ็บปวดมากกว่าตอนที่ยังไม่ล้ม ความเจ็บปวดมันเตือนใจ Voigt ว่าตอนนี้ร่างกายเราก็ยังไม่กลับมา 100% นะ ไม่ควรจะฝืนเกินจุดนี้ มันสอนให้เราใจเย็น ค่อยๆ พักฟื้นให้หายดีเสีนก่อน

 

เพื่อนของเราชื่อความเจ็บปวด

โดยสรุปแล้ว การที่เราจะเป็นนักปั่นฝีเท้าดี ไม่ว่าคุณอยากจะแข่งกับตัวเองหรือกับคนอื่นก็ตาม – สภาพร่างกายที่ฟิตสมบูรณ์นั้นเป็นคำตอบแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งนั้นต้องมาจากสภาพจิตใจที่พร้อมจะยอมรับความเจ็บปวดด้วย

บางคนอาจจะมีจิตใจที่แกร่ง ทรหดมากกว่าคนอื่นๆ แต่จากผลวิจัยเราจะเห็นว่าทุกคน “รู้สึก” เจ็บปวดเท่าๆ กันครับ คนที่ชนะ และคนที่ไปข้างหน้าได้เร็วกว่าก็คือคนที่อยู่กับความเจ็บปวดได้มากกว่า แทนที่เราจะปฏิเสธและต่อต้านมัน ลองเปลี่ยนมุมมองเหมือนที่นักปั่นอาชีพอย่าง Voigt และ Merckx สอน – เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และสนุกกับมัน ขอจบท้ายโพสต์นี้ด้วยโคว้ทของ Jens Voigt อีกรอบครับ

 

“I would not exactly call pain a friend. But it is a constant companion in my life. Sometimes I say that pain is my favorite enemy.”

“ผมคงไม่เรียกความเจ็บปวดว่าเพื่อนได้เต็มปาก แต่มันก็เป็นคู่ชีวิตที่อยู่กับผมตลอดเวลา ในบางครั้ง มันเป็นศัตรูคนโปรดของผมเลยด้วยซ้ำ”

Reference

Jens Voigt, My Favourite Enemy, Bicycling Magazine 30th July 2013

A Naturalistic Investigation of Former Olympic Cyclists’ Cognitive Strategies for Coping With Exertion Pain During Performance

Higher pain tolerance in athletes may hold clues for pain management

Pain tolerance and perception in athletes and non athltes

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

5 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *