ทำไมชนะแล้วต้องสาดแชมเปญ?

“ปอดบวมเพราะโดนสาดแชมเปญ”

เช้าวันหนึ่งเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมตื่นเช้ามาอ่านข่าวจักรยานตามปกติ แล้วไปเจอพาดหัวที่เห็นแล้วก็ได้แต่คิดว่า เอออะไรแบบนี้ก็มีด้วย!

“โอลิเวอร์ เนเซ็นปอดบวมเพราะโดนสาดแชมเปญ, มีสิทธิไม่ท็อปฟอร์มทันลงสนาม Tour of Flanders”

เวลาชมถ่ายทอดสด หลังที่นักแข่งเข้าเส้นชัยกันเรียบร้อยแล้วก็จะมีพิธีมอบรางวัลบนโพเดียม หลังรับรางวัลแชมป์แล้ว ผู้จัดแข่งก็จะมีธรรมเนียมแจกแชมเปญให้นักกีฬาได้เขย่าและสาดกันอย่างสนุกสนาน ดูผ่านๆ ก็คุ้นตาจนไม่ได้นึกถึงว่าทำไมเขาต้องสาดกันด้วย? ก็คงสนุกดีเหมือนสาดน้ำสงกรานต์อะไรอย่างนี้หรือเปล่า?

แต่พอเห็นข่าวว่ามีคนป่วยเพราะสาดแชมเปญกันหนักไปหน่อย (มันคือโพเดียมในสนาม Gent-Wevelgem ที่อเล็กซานเดอร์ คริสตอฟชนะ และเนเซ็นได้ยืนโพเดียม) ก็เลยอยากรู้ว่าจริงๆ แล้วพิธีการสาดแชมเปญนี่มันมาจากไหน?

ค้นไปค้นมาก็พบว่า ต้นเรื่องนี่ต้องย้อนไปเกือบ 70 ปีครับ สมัยช่วงปี 1950s ในฝรั่งเศส ที่ตอนนั้นเวลาแข่งรถกรังด์ปรีซ์ก็จะมีการแจกรางวัลจากเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน มีปีนึงที่จัดในเมือง Reims แหล่งผลิตแชมเปญชื่อดัง เขาก็มอบแชมเปญให้ผู้ชนะการแข่งขันในปีนั้น จนกลายมาเป็นธรรมเนียมว่าถ้าแข่งรถชนะต้องได้แชมเปญหนึ่งขวด แชมเปญหลายยี่ห้อก็เริ่มมาเป็นผู้สนับสนุนงานแข่งมอเตอร์สปอร์ต อย่าง Moet et Chandon แบรนด์แชมเปญดังก็มาเป็นสปอนเซอร์ให้ ​Le Mans

แต่ได้เป็นรางวัลเฉยๆ นะยังไม่เขย่าขวดสาดกัน

กรอเทปมาข้างหน้าอีก 10 กว่าปีที่ Dan Gurney นักแข่งชาวอเมริกันได้แชมป์สนามเลอมังส์ปี 1967 ทีมของ Gurney ใช้รถ Ford GT40 Mk.II ซึ่ง Henry Ford ผู้ก่อตั้งบริษัท Ford และครอบครัวก็มาชมการแข่งขันถึงข้างสนามพอดี เขาเลยเขย่าขวดแชมเปญแล้วเปิดฝาสาดให้ทุกคนบนโพเดียม รวมถึงครอบครัว ฟอร์ดด้วย

Dan Gurney และ AJ Foyt ใน Le Mans 1967 / Photo: Ford Archive

ช่างภาพหลายคนถ่ายจังหวะที่แชมป์รายการสาดแชมเปญและคนรอบข้างก็ดูสนุกไปด้วย จนกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ชนะการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตตั้งแต่นั้นมา Gurney ให้สัมภาษณ์ทีหลังว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะสาดแชมเปญ แต่คิดว่ากว่าจะแข่งชนะเลอมังส์ 24 ชั่วโมงได้นี่มันทรหดมากๆ อยากจะให้ช่วงเวลาฉลองชัยชนะบนโพเดียมมันพิเศษหน่อย พอเห็นแชมเปญพุ่งมันก็ดูสนุกกันทุกคน

สำหรับวงการจักรยานอาชีพก็รับธรรมเนียมการสาดแชมเปญมาจากมอเตอร์สปอร์ตเหมือนกัน นอกจากจะเป็นกิจกรรมสนุกๆ ให้ผู้ชนะแล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่ผู้จัดแข่งจะขายสปอนเซอร์ให้ผู้ผลิตไวน์ เป็นรายได้เข้างานอีกทาง อย่างใน Giro d’Italia ก็มี Astoria เป็นผู้สนับสนุนแชมเปญติดต่อกันมาหลายปีแล้ว

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!