ในทุกความก้าวหน้าย่อมมีแรงเสียดทานเสมอ
เอริค ชมิดท์ อดีต CEO ของ Google พูดในหนังสือ How Google Works ว่า บริษัท Google ถือคติการมองเทคโนโลยีในแง่บวก (Technological Optimism) แทนที่จะคิดว่าในอนาคต เทคโนโลยีและหุ่นยนต์จะครองโลกทำลายล้างเผ่าพันธ์มนุษย์ Google กลับมองว่าเทคโนโลยีจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ชีวิตมนุษย์สะดวกสบายขึ้น (Making the world a better place) เราจึงเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการ IT ผุดขึ้นมาตลอดเวลาครับ ทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ product cycle มันสั้นเหลือเกิน
คุณอาจจะสงสัยว่ามันเกี่ยวอะไรกับจักรยาน? ในโลกที่เคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยี อุตสาหกรรมจักรยานเสือหมอบ กลับเป็นวงการที่พัฒนาช้า ในตลาดเสือหมอบ Innovation และ R&D มันถูกปิดด้วยกรอบของ “กฏการแข่งขัน” ที่ UCI ตั้งไว้ เพื่อให้การแข่งขันมีความเท่าเทียม ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันจนเกินไป (ในสายตาของ UCI) เช่นนั้นแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ผลิตเฟรมจักรยานจะต้องทำรถทั้งคันให้เบากว่า 6.8 กิโลกรัม จักรยานยังต้องเป็นยานพาหนะที่มีรูปทรงสามเหลี่ยมสองชิ้น มันมีข้อจำกัดเยอะมากในการพัฒนาอะไรใหม่ๆ ออกมา
ถ้าเราถอยหลังออกมาดูห่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการจักรยานเสือหมอบและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็คือ ความขัดแย้งระหว่างคุณค่าทางจิตใจ (ความอยากที่จะให้จักรยานยังดูบริสุทธิ์ ขับเคลื่อนด้วยแรงมนุษย์ มีรูปร่างไม่ต่างไปจากเมื่อร้อยปีก่อน) และกฏการแข่งขันที่เข้ามาปิดช่องทางการพัฒนาเทคโนโลยีจักรยานและจินตนาการของนักประดิษฐ์และวิศวกรทำให้ output ที่ออกมาเป็นจักรยานหน้าตาเดิมๆ ที่อาจจะเบากว่าเดิม แอโรกว่าเดิม สติฟกว่าเดิม blah blah blah bloody blah.
จริงครับว่าการสร้างข้อกำหนดเพื่อให้ hardware ในการแข่งขันมีความเท่าเทียมกันที่สุดนั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล แต่ราวกับว่าผู้ผลิตก็ติดอยู่ใน mindset ที่ต้องทำจักรยานเพื่อการแข่งขันเท่านั้น (ด้วยข้อกำหนดในตลาดและทางธุรกิจ ถ้าผู้ผลิตลงทุนทำรถแข่ง สนับสนุนโปรทีมซะเต็มที่แล้ว จะเอาเงินไหนไปทำโปรเจ็คในฝันเหมือนอย่างที่ Google ทำโปรเจ็ค Loon สร้างบอลลูนยิงอินเตอร์เน็ตฟรีไปในพื้นที่ๆ สัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง) และจะดันเทคโนโลยีให้ดีที่สุดเท่าที่กฏจะเอื้ออำนวย แต่ไม่มีพื้นที่และงบประมาณในการผลักดันขอบเขตความเป็นจักรยาน ข้อจำกัดทำให้เราสร้างนวัตกรรมที่เยี่ยมยอด
Apple สร้างสินค้าติดตลาดจากการลดฟังก์ชันที่ไม่จำเป็น (สร้างแรงเสียดทานขึ้นมา) เพื่อคงไว้แค่สิ่งที่จำเป็นที่สุด แต่ในวงการจักรยาน แรงเสียดทานมันมากจนเคลื่อนไปข้างหน้าได้ลำบาก
แต่จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเรายกข้อกำหนดพวกนี้ออก? เมื่อนักประดิษฐ์ได้ออกจากกรง ผมว่า innovation ที่จะเกิดขึ้นมันคงน่าตื่นตาตื่นใจเต็มไปหมด จักรยานอย่างโปรเจ็ค BMC Impec ในงาน Eurobike เมื่อปีที่แล้วเป็นตัวอย่างที่ดีครับ บางทีก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าวิศวกรที่เจ๋งที่สุดรวมตัวกันสร้างจักรยานแห่งอนาคต ไม่ต้องคิดถึงเรื่องกฏการแข่ง ถึงความสวยงาม ถึงความบริสุทธิ์ว่ามันจะต้องเป็นจักรยานหน้าตาเหมือนที่เราเคยเห็นกัน ขอแค่มันขับเคลื่อนด้วยพลังมนุษย์ ไม่ใช้มอเตอร์ไม่ใช้ไฟฟ้า มันจะออกมาเป็นยังไง จะขี่ดีแค่ไหน? (ไม่เอาแบบ recumbent หรือ landspeed นะ ^^”)
วันหยุดแบบนี้ คิดอะไรเพลินๆ ครับ ^^