Eddy Merckx 525: ออกแบบเสือหมอบยังไงให้ดีพอสำหรับโปร

“น้องรู้มั้ยว่าใครคือนักกีฬาที่ดังที่สุดในประเทศนี้?”
“ไม่รู้ครับ นักฟุตบอลเหรอ?”
“ไม่ใช่ เป็นนักปั่น”
“ยังแข่งอยู่?”
“รีไทร์นานแล้ว แต่ที่นี่ไม่มีใครไม่รู้จักเขา”

กลางเดือนกรกฏาคมปีนี้ผมได้ไปร่วมช่วง 3 สเตจแรกของ Tour de France ซึ่งเขาเปิดสนามที่บรัสเซลเมืองหลวงของประเทศเบลเยียม ผมโชคดีได้เข้าไปในโซน VIP ช่วงสัก 2-3 ชั่วโมงก่อนสเตจเริ่มแล้วก็เห็นรถเก๋งสีดำมาจอดเทียบส่งคนสองคน เป็นผู้ชายร่างท้วมแต่สีหน้ามีความจริงจัง มากับภรรยาของเขา

เมื่อลงจากรถ สายตาของคนทั้งงานหันมองไปรวมกันที่จุดเดียว ราวกับว่านี่คือคนใหญ่คนโตของประเทศนี้

[letsinfoup] ถึงจะใส่แว่นดำแต่ผมก็จำหน้าได้ เขาคือเอ็ดดี้ เมิร์กซ์ นักปั่นระดับพระกาฬที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และยังไม่มีใครล้มสถิติชัยชนะของเขาได้ พี่คนเบลเยียมที่สะกิดผมเมื่อสักครู่ให้บริบทเพิ่มเติมว่า ความโด่งดังของเมิร์กซ์จะเป็นรองก็แค่สมเด็จพระราชาธิบดีฟีลิป รัชการที่ 7 หรือกษัตรย์ปัจจุบันของเบลเยียมก็เท่านั้น เรียกได้ว่าทั้งประเทศจากเด็กเล็กถึงคนแก่ ไม่มีใครไม่รู้จักเมิร์กซ์ พูดอีกนัยหนึ่ง เขาคือสมบัติของประเทศก็คงจะไม่ผิด

ชื่อของเมิร์กซ์เป็นตำนานที่คนเจเนอเรชันนี้ยากจะเข้าใจ เพราะเขายังคงเป็นนักปั่นที่ครองสถิติมีชัยชนะในการแข่งขันจักรยานอาชีพเยอะที่สุดในโลกรวมกัน 525 ชัยชนะ และเป็นชัยชนะของนักปั่นที่สมบูรณ์แบบ เพราะเขาชนะทุกประเภทรายการที่ลงแข่งขัน ทั้งการสปรินต์ การเบรกอเวย์ ไทม์ไทรอัล ทั้งในแกรนด์ทัวร์และสนามคลาสสิคแบบ one day race

ถ้าจะเปรียบเปรยให้เข้าใจง่ายกว่านั้น เราต้องเอายอดชัยชนะ การสปรินต์ของ อังเดร ไกรเปิล, มาร์ค คาเวนดิช, ปีเตอร์ ซากาน, และเกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (455 ครั้ง), ยอดชัยชนะแกรนด์ทัวร์ของคริส ฟรูม, วินเชนโซ นิบาลี และไนโร คินทานา (12 สนาม), ยอดชัยชนะสนามคลาสสิคระดับ Monument) ของทอม โบเน็น, เฟเบียน แคนเชอลารา และฟิลลิป จิลแบร์ (19 รายการ) เอาทั้งหมดมารวมกันถึงจะได้ยอดผลงานของเมิร์กซ์

 

น้ำหนักของความคาดหวัง

เมิร์กซ์อำลาวงการในช่วง 1978 สองปีให้หลังเขาก่อตั้งแบรนด์จักรยาน Eddy Merckx เพื่อเป็นโจทย์ความท้าทายใหม่ในชีวิต ระหว่างที่เมิร์กซ์เป็นนักปั่นเขาโด่งดังเรื่องความ “เรื่องมาก” และ “เยอะ” ในจักรยานที่ตัวเองใช้ เพื่อนร่วมทีมถึงกับบอกว่าบางคืนก่อนแข่งเมิร์กซ์นอนไม่หลับเพราะยัง “เซ็ตรถ” ไม่ได้ตามที่ตัวเองต้องการ จนต้องจอดข้างทางระหว่างลงแมทช์ใหญ่อย่าง Paris-Roubaix และสนามชิงแชมป์โลกเพื่อปรับความสูงของเบาะไม่กี่มิลลิเมตร

เขาเป็นนักปั่นไม่กี่คนในยุคนั้นที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการผลิตและออกแบบจักรยานที่ทีมตัวเองใช้ ไม่ว่าจะเป็น Colnago, De Rosa และ Masi ไม่ใช่เพราะแบรนด์เหล่านี้ต้องการความเห็นของโปร แต่เพราะโปรอย่างเมิร์กซ์ต้องได้จักรยานที่ตัวเองชอบใจที่สุด

เอ็ดดี้ เมิร์กซ์กับชัยชนะใน Milan-San Remo 1972 ระหว่างที่เขาเป็นแชมป์โลกจักรยานถนน

แต่การเป็นคนใช้จักรยาน กับการเป็นคนสร้างจักรยานที่ขายให้กับคนทั่วไปไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ในจักรยานที่ต้องลงชื่อนักปั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกไว้ที่ท่อนอน แน่นอนว่าความคาดหวังจากแฟนๆ ของเมิร์กซ์และนักปั่นทั้งโลกนั้นมากมายมหาศาล เมิร์กซ์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ถึงจะไม่เคยผลิตจักรยานมาก่อน แต่พอเลิกแข่งแล้วเขาก็ไปเรียนทำจักรยานกับอูโก้ เดอโรซ่า ผู้ก่อตั้งจักรยาน De Rosa และขึ้นชื่อว่าเป็นช่างจักรยานที่ฝีมือดีระดับหัวแถวในยุคนั้น

เมิร์กซ์ลงทุนและลงแรงกับแบรนด์ของตัวเองกว่า 33 ปี เริ่มจากการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเสือหมอบโครโมลี และพัฒนามาใช้อลูมิเนียมตามยุคสมัย จนล่าสุดจักรยานทุกคันของเมิร์กซ์ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์

ด้วยอายุที่มากขึ้น เมิร์กซ์เริ่มถอดบทบาทของตัวเองจากบริษัทและขายหุ้นทั้งหมดของบริษัทในปี 2013 จนปัจจุบันอยู่ใต้การดูแลของบริษัท Belgian Cycling Factory ที่ถือแบรนด์ Ridley, HJC Europe และเป็นหุ้นส่วนผู้พัฒนา Bike Valley แหล่ง R&D ด้านจักรยานและวิทยาศาสตร์การกีฬาในเบลเยียมที่มีทั้งอุโมงค์ลมและห้องแล็บสำหรับทดสอบนักกีฬาและอุปกรณ์ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทีมอย่าง Jumbo-Visma และ Lotto-Soudal นั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ความคาดหวังในชื่อจักรยานแบรนด์ Eddy Merckx ก็ไม่ได้น้อยลง ถึงชื่อเสียงและความโด่งดังจักรยาน Merckx จะลดลงไปบ้างในช่วง แต่ตัวแบรนด์เองก็พยายามถีบตัวกลับมาเข้าสู่โลกแห่งการแข่งขันระดับสูงสุดอีกครั้งด้วยการเข้าสปอนเซอร์ทีม AG2R ในฤดูกาล 2019 และพยายามพัฒนาเฟรมใหม่ๆ ให้ถูกใจโปรอีกครั้ง จนออกมาเป็น Eddy Merckx 525 ที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ครับ จะบอกว่ามันเป็นจักรยานที่ต้องการจะรีบูทความเป็น Merckx ก็ได้ ลองมาดูกัน

 

คันเดียวเอาให้จบ

Perfectly In balance

ถามว่า Merckx 525 เป็นจักรยานอะไร? เป็นรถแอโร เป็นรถ all around รถไต่เขา หรือรถเอนดูรานซ์? ถ้าจะให้นิยามหมวดใดหมวดหนึ่งคงไม่ได้ เพราะแบรนด์ตั้งใจออกแบบมาให้เป็นรถแข่งประสิทธิภาพสูงแบบคันเดียวจบ มีทั้งความลู่ลม น้ำหนักเบาเพียงพอจะแข่งขันในระดับสูงสุด ในรูปแบบเดียวกับจักรยานอย่าง Pinarello Dogma หรือ Basso Diamante นั่นเองครับ

การเข้ามาของกลุ่ม Belgian Cycling Factory ช่วยให้แบรนด์ Merckx ได้กลับมาใช้เทคโนโลยีการผลิตจักรยานคาร์บอนไฟเบอร์ในระดับแถวหน้าของวงการอีกครั้ง สำหรับ Merckx 525 ตัวนี้ใช้การเลย์อัปคาร์บอนใกล้เคียงกับ Ridley NOAH Fast รุ่นล่าสุด แต่ปรับให้มีคาแรคเตอร์ดุดันและ racy กว่าพอสมควร Merckx เคลมว่าเฟรม 525 เป็นเฟรมที่สติฟฟ์ที่สุดที่บริษัทผลิตออกมา (รวมจักรยาน Ridley ด้วย)

เฟรม Merckx 525 มีให้เลือกทั้งแบบดิสก์เบรกและริมเบรก น้ำหนักก็ถือว่า competitive กับเฟรมแข่งขันในระดับเดียวกัน

525 ริมเบรก เฟรมหนัก 860 กรัม ในไซส์ S (น้ำหนักรวมสี) ตะเกียบหนัก 330 กรัม
525 ดิสก์เบรก เฟรมหนัก 925 กรัม ในไซส์ S ตะเกียบหนัก 360 กรัม

และเมื่อเทียบกับเฟรมดิสก์เบรกอิตาเลียนแบรนด์อื่นๆ:

แท่งสีน้ำตาลเข้มคือน้ำหนักเฟรม ส่วนสีน้ำตาลอ่อนคือตะเกียบ เทียบกับเฟรมดิสก์ Colnago C64, Pinarello F12 Disc, De Rosa Protos และ Basso Diamante ในไซส์ S เฟรมลงสีแล้ว

บริเวณตะเกียบหน้ารื้อออกแบบใหม่หมด เป็นตะเกียบทรง ด้านลึกไม่ยาวมากนักเหมือนพวกตะเกียบรถแอโร เพราะต้องการเซฟน้ำหนักตรงจุดนี้ในขณะที่เพิ่มความแข็งแรงบริเวณจุดที่ยึดดิสก์เบรกโดยไม่ให้เกิดฟีลลิงการปั่นที่ตายด้าน ตะเกียบหน้าและหลังรองรับยางกว้างสุด 28mm

ส่วนตะเกียบหลังมีขนาดเล็ก เรียว และมีความโค้งงอตรงกลางซึ่ง Merckx เรียกว่า Special Flex Zone หรือเป็นจุดที่ให้ตัวได้ดีเป็นพิเศษเพื่อช่วยลดความสะเทือน ถึงจะเป็นจุดที่ช่วยลดความสะท้าน แต่การเรียงวางคาร์บอนออกแบบให้มันไม่มีผลต่อการส่งถ่ายแรงของนักปั่น นั่นคือมันจะไม่ย้วยเวลาเราจะกระชากออกแรงเค้นนั่นเอง

 

ไหลไปกับลม

Aerodynamic

นอกจากน้ำหนักจะต้องสูสีกับคู่แข่งแล้ว จักรยานแข่งขันสมัยนี้ก็ต้องมีความลู่ลมเพื่อประหยัดแรงนักแข่งด้วย เป็นฟีเจอร์ที่แม้แต่จักรยาน all around รุ่นใหม่ๆ ก็หันมาให้ความสำคัญ อย่างน้อยๆ ต้องมีรูปทรงท่อที่ลู่ลมพอประมาณ หรือมากับชุดแฮนด์และเสต็มแอโร เก็บซ่อนสายเกียร์และเบรก ใน Eddy Merckx 525 ก็เช่นกัน

ส่วนหน้าสุดของรถมากับชุดแฮนด์และสเต็มแบบชิ้นเดียว โดยที่ยังถอดรื้อได้ง่ายถ้าต้องการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรือซ่อมบำรุง Merckx อ้างว่าค็อกพิทชิ้นเดียวนี้ช่วยเพิ่มความลู่ลมได้ 14% เทียบกับแฮนด์สเต็มแบบแยกชิ้นที่ไม่ใช่รูปทรงแอโร เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับที่แบรนด์อื่นๆ อ้างอิง

ตัวแฮนด์มีให้เลือกหลายขนาด ตั้งแต่ความกว้าง 38 ไปจนถึง 44 เซนติเมตร ส่วนสเต็มมีให้เลือกตั้งแต่ 90-140 มิลลิเมตร

ชุดแฮนด์ใช้คู่กับซางทรง D-Shape เพื่อที่จะให้ส่วนหน้าของรถทำรูปทรงแอโรได้มากที่สุด ในขณะที่ยังมีพื้นที่ให้ซ่อนสายเบรกและเกียร์หมดจดด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุดขับ mechanical หรือไฟฟ้า

ส่วนท่อล่างออกแบบด้วยรูปทรง Kamntail เหมือนเสือหมอบแอโร โดยผสมการใช้คาร์บอน 3 รูปแบบจาก Torayca ระหว่าง 60T, 40T, 30T เพื่อให้สมดุลระว่างความสติฟฟ์ น้ำหนัก และความทนทาน

หลักอานก็เป็นทรง D shape เช่นกัน และใช้การยึดหลักอานแบบซ่อนจุดยึดไว้ด้านในเฟรม

ต่ำลงจากหลักอานเป็นท่อนั่งทรงแอโรที่ช่วงบนลึกกว่าช่วงล่างเพื่อความลู่ลม แต่จุดที่อยู่ใกล้กับกะโหลกและล้อหลังนั้นเล็กลงเพื่อช่วยลดน้ำหนักและช่วยให้รองรับยางขนาดใหญ่ขึ้นด้วย

เชนสเตย์ขนาดใหญ่เพื่อช่วยการส่งแรง แต่มีความโค้งและแฟลร์ออกด้านหลังเพื่อช่วยซับแรงสะเทือน เป็นดีไซน์ที่เราเห็นได้ในจักรยานเอนดูรานซ์หลายๆ คันที่อยู่ในสนาม Paris-Roubaix

 

คืนสังเวียนโปรทัวร์

Modern Heritage

เช่นเดียวกับแบรนด์จักรยานยุโรปขนาดเล็กหลายรายที่ต้องต่อสู้กับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีการออกแบบและผลิตที่ดีกว่า Eddy Merckx เองก็ผ่านจุดที่ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะช่วงที่เปลี่ยนผ่านระหว่างยุคอลูมิเนียมมาเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ที่ต้องการการวิจัยและพัฒนาแบบทวีคูณ​ จนพอได้วิศวกรจากทาง Belgian Cycling Factory มาช่วยก็ทำให้แบรนด์สามารถออกแบบจักรยานประสิทธิภาพสูงโดยที่ยังคงเอกลักษณ์ภายนอกและคาแรคเตอร์ของรถแบบเมิร์กซ์ไว้ได้

จริงว่าช่วงกลางปีเราได้ยินข่าวที่นักกีฬาทีม AG2R บอกว่าอยากได้รถที่สติฟฟ์กว่าเดิม และมีช่วงที่เปลี่ยนไปใช้จักรยาน Ridley เพนท์สีทับเป็น Eddy Merckx แต่ก็ต้องเข้าใจว่าแบรนด์​ Merckx เอง (ที่มีเจ้าของเดียวกับ Ridley) เข้ามาสปอนเซอร์ทีมระหว่างที่ยังพัฒนารถรุ่นใหม่ไม่เสร็จ และไม่ได้หมายความว่า Eddy Merckx จะอยู่เฉยๆ ไม่พัฒนารถที่ตอบโจทย์นักปั่น จนสุดท้ายก็ออกมาเป็น Eddy Merckx 525 ที่เราเห็นนี่เองครับ ซึ่งถ้าว่ากันตามฟีเจอร์จริงๆ แล้วก็ต้องบอกว่าครบเครื่องทีเดียว

นอกจากเฟรม Eddy Merckx 525 แล้ว ปี 2020 ทีม AG2R ก็จะมีรถอีกคันนั่นคือ Eddy Merckx Stockeau69 ซึ่งเป็นเฟรมที่เน้นน้ำหนักเบา เป็นรถไต่เขาอย่างแท้จริง และข่าวที่เราทราบตอนนี้คือทีมน่าจะหันไปใช้เฟรมดิสก์เบรกทั้งหมดด้วย

ราคาฟรมเซ็ต Eddy Merckx 525 ทั้งดิสก์และริมเบรกอยู่ที่ 139,500 บาท ซึ่งมากับหลักอาน และชุดแฮนด์อินทิเกรต เฟรมมีรับประกัน crash replacement 5 ปีสนใจติดตามหรือติดต่อได้ที่เพจ Champion Cycle ครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!