ศักดิ์ศรีของที่โหล่

1

ลองนึกถึงวินาทีนี้ครับ วันที่คุณออกปั่นจักรยานตามเพื่อน ไปในเส้นทางทางใหม่ๆ มันอาจจะเป็นสนามแข่งที่คุณตั้งใจฝึกซ้อมมาหวังอันดับดีๆ หรือจะเป็นการนัดปั่นช่วงวันหยุดสนุกๆ ที่รับปากสัญญาว่าจะมาแบบไม่ทันคิด จะเป็นเหตุการณ์แบบไหนก็ดี แต่วันนั้นคุณรู้สึกว่าร่างกายมันไม่ยักกะตอบสนองได้อย่างใจคิด

เพื่อนคนแล้วคนเล่าปั่นแซงเราไป มันคือช่วงทางขึ้นเขาชันที่คุณคิดว่า “เอาอยู่” ยังไงก็น่าจะไปได้พร้อมๆ คนอื่น แต่กลับหลุดลงไปหลังกลุ่ม โดนแซงครั้งแล้วครั้งเล่า จนเหลียวหลังไปก็ไม่พบใครด้านหลังอีก

เวลาผ่านไปสักพัก คุณมองไม่เห็นใครข้างหน้า และไม่มีใครแซงขึ้นมาอยู่พักใหญ่แล้ว วินาทีนั้นคุณรู้ตัวว่าคุณคือคนสุดท้ายของกลุ่ม - วินาทีนี้เราเป็นคนที่ช้าที่สุด และเรารู้สึกไม่ดีเอาเสียเลย

ผมเชื่อว่าคนปั่นทุกคนต้องเคยผ่านจุดนี้ ในสังคมที่เชิดชูผู้ชนะ คนที่เร็ว แกร่ง พร้อม และกล้า คือคนที่ทุกคนต่างให้การยอมรับ มันอยู่ในสัญชาตญาณการเป็นมนุษย์ที่รหัสพันธุกรรมของเรายังให้ความสำคัญกับการ “อยู่รอด” เป็นอันดับหนึ่ง

เช่นนั้นแล้ว เราถูกออกแบบมาเพื่อยอมรับและสนับสนุนการกระทำที่แลดู ช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ ผู้ชนะก็เป็นเช่นเดียวกับนักรบในสมัยก่อน เขาคือคนที่เรา “พึ่งพาได้” และเป็นผู้นำที่พาพวกพ้องของเราให้อยู่รอด

การเป็นที่โหล่จึงไม่ใช่สภาวะที่ใครจะยอมรับได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดขึ้นกับตัวเราเอง เรากดดัน ต่อว่า และเกิดความ “อยาก” ที่จะเอาชนะตัวตนที่เป็นอยู่ในวินาทีนี้

ในการแข่งขันกีฬา ชัยชนะคือเป้าหมาย แต่เชื่อไหมครับว่าในการแข่งขันจักรยานที่เก่าแก่ที่สุดรายการหนึ่งอย่าง Giro d’Italia (Tour of Italiy) เคยมีช่วงเวลาที่เขามอบรางวัลให้กับนักปั่นที่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับสุดท้าย

‘Maglia Nera’ เป็นภาษาอิตาลี แปลได้ว่า “เสื้อเจอร์ซีย์สีดำ” คือรางวัลที่มอบให้กับนักปั่นที่ทำเวลารวมได้ช้าที่สุดในการแข่งขัน ตรงกันข้ามกับผู้ชนะรายการที่ได้รางวัล Maglia Rosa (เสื้อเจอร์ซีย์สีชมพู) สัญลักษณ์แห่งนักปั่นที่แข็งแกร่งที่สุดในอิตาลีในปีการแข่งขันนั้นๆ

Giro d’Italia ในยุคหลังสงครามโลก

2

ในช่วงปี 1946 ซึ่งอิตาลีเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สองมาหมาดๆ ในฐานะผู้แพ้สงคราม อิตาลีต้องการกิจกรรมที่จะจูงใจผู้คนให้หันกลับมาช่วยกันกู้ประเทศจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายในสงครามให้กับประเทศกลุ่มพันธมิตร ขวัญกำลังใจผู้คนก็หดหาย อิตาลีในช่วงเวลานั้นเป็นประเทศที่มองไม่เห็นอนาคต

รัฐบาลอิตาลีพยายามเป็นอย่างมากที่จะสร้างวิถีคิดใหม่หวังสร้างกำลังใจและประสานให้ผู้คนหันกลับมาทำงานฟื้นฟูประเทศอย่างแข็งขัน โดยใช้สโลแกนใหม่ สร้างเป็นแคมเปญหว่านไปทั่วประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญในชื่อ “อิตาลีของเราเป็นประเทศที่กำเนิดด้วยแรงงาน” (“Italy is a nation built on work”) และหันมาพัฒนาระบบคุณธรรมนิยมแทนที่ระบบอุปถัมภ์​ หวังให้ผู้คนมีความมุ่งมั่น

ไม่นาน การแข่งขันจักรยานก็ถูกอุ้มชูให้กลายเป็นกิจกรรมตัวอย่างของประเทศ​ เพราะมันเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่สะท้อนความสำเร็จของคนที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า เอาชนะอุปสรรคทั้งภายใน (จิตใจ) และภายนอก (คู่แข่ง เส้นทาง สภาพอากาศ)

ไม่มีกีฬาหรือกิจกรรมไหนที่จะสร้างแรงบันดาลใจได้ดีไปกว่าจักรยานถนน ที่คนธรรมดาสามัญระดับแรงงานก็กลายเป็นผู้ชนะและฮีโร่ระดับประเทศได้

ฮีโร่ของชาวอิตาลีสมัยนั้นคือฟาอุสโต้ คอปปี้ และจีโน่ บาร์ทาลี สองนักปั่นที่ครอบครัวยากไร้ แต่ทุ่มเทใจให้กับจักรยาน จนกลายเป็นแชมป์หลายสนาม สร้างแรงบันดาลใจให้นักปั่นจำนวนมากหันมาเอาดีทางจักรยานแข่งขัน

อิทธิพลของแคมเปญคุณธรรมนิยมของรัฐบาลอิตาลีลงรากลึกยิ่งกว่าการชื่นชมผู้ชนะ
ในสายตาของรัฐบาลอิตาลี อะไรที่เป็นการแข่งขันและกระตุ้นให้คนอยากมุมานะล้วนเป็นเรื่องดี ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่บนยอดโพเดี้ยมห้อมล้อมด้วยคำชมและเสียงปรบมือ หรือจะเป็นคนที่เข้าเส้นชัยคนสุดท้าย ที่เป็นภาพสะท้อนของความพยายามชั้นสูงสุด รางวัลสำหรับผู้แพ้หรือที่โหล่จึงเกิดขึ้น

ในยุคแห่งการสงคราม ทุกกิจกรรมที่จะทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลล้วนเป็นวัตถุดิบที่พร้อมจะถูกดัดแปลงมาเป็นโฆษณาชวนเชื่อ

3

ในปี ค.ศ. 1946 ลุยอิจี้ มาลาโบรค่า นักปั่นหน้าใหม่วัยกระเตาะทำทุกวิถีทางให้เขาได้ที่โหล่ในรายการ Giro d’Italia หวังจะครองเสื้อดำให้ได้ เขาเข้าเส้นชัยสเตจสุดท้าย ทำเวลารวมช้ากว่าผู้ชนะรายการ (จีโน บาร์ทาลี)​ ร่วม 4 ชั่วโมง แต่ที่น่าแปลกใจและดูย้อนแย้งกว่าคือชาวอิตาเลียนนั้นให้ความสำคัญกับ “ผู้แพ้” ไม่ได้น้อยไปกว่าผู้ชนะ

การได้ครองเสื้อดำใน Giro นั้นสร้างความนิยมได้อย่างแปลกประหลาด ผู้ชมและชาวบ้านสร้างธรรมเนียม “แจกเงิน” ให้กับ “ที่โหล่” เมื่อการแข่งขันผ่านหมู่บ้านของพวกเขา เพื่อให้เป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ครองเสื้อดำสู้ต่อไป พร้อมยังให้อาหาร ขนม เครื่องดื่มในแบบที่ตัวเต็งรายการได้แค่มองตาปริบๆ

ลุยอิจี้ มาลาโบรคค่าในเสื้อดำ

เข้าสู่ปี 1947 มาลาโบรค่ากลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ในเปโลตอง ในทุกวงสนทนา เมื่อมีคนถามว่าใคร “กำลังนำ” มักจะมีคำถามต่อทันทีว่า “ใครได้ที่โหล่อยู่” และในปี 1947 มาลาโบรค่าทำลายสถิติตัวเองด้วยการเข้าทำเวลารวมช้ากว่าแชมป์ ฟาอุสโต้ คอปปี้ร่วม 7 ชั่วโมง!

การชิงเป็นที่โหล่เข้มข้นต่อเนื่องจนถึงปี 1949 ที่มาลาโบรค่าต้องเจอ “ตัวเต็งที่โหล่” คนใหม่ ซานเต้ คาร์โรโล่ - กรรมกรก่อสร้าง ที่ถูกเรียกตัวมาแข่งแทนเพื่อนร่วมทีมกะทันหัน เจ้าตัวรู้ตัวว่าจะชิงแชมป์รายการคงเป็นไปไม่ได้ แต่จะชิงที่โหล่นั้นอาจจะง่ายกว่าที่คิด

คาร์โรโล่และมาลาโบรค่า ตีความคำว่า “มุมานะ” อย่างสุดโต่ง ทั้งคู่หาทางทำให้ตัวเองได้เวลาแย่ที่สุด เข้าเส้นชัยช้าที่สุด ไม่ว่าจะเป็นจอดทานข้าวเที่ยงนานๆ ระหว่างแข่ง หรือกระทั่งลงไปแช่น้ำคลายร้อนในถังน้ำของชาวนาริมทาง เรียกได้ว่าเสื้อดำนั้นเปลี่ยนมือกันแทบทุกวัน ตามที่ทั้งคู่ประดิษฐ์กลยุทธ์แข่งกันดูว่าใครถ่วงเวลาได้ดีกว่ากัน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับความตั้งใจที่จะแพ้ ผู้จัดแข่งลงความเห็นว่ามันเริ่มเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เมื่อผู้เข้าแข่งขันตั้งใจจะชนะที่โหล่อย่างจริงจัง พยายามถ่วงเวลาการแข่งสุดๆ เพราะจุดประสงค์ของเสื้อดำนั้นก็เพื่อปลอบใจคนที่ได้เวลาไม่ดีเท่านั้น

สเตจสุดท้ายของ Giro ปี 1949 มาลาโบรค่ามั่นใจว่าจะครองเสื้อดำได้เป็นปีที่สาม เขาทำเวลาช้า แต่สูสีกับคาร์โรโล่ไม่มากนัก แชมป์ที่โหล่สองสมัยแอบหนีหายตัวจากสนามแข่งไปกว่าสองชั่วโมง แต่ผู้จัดแข่งตัดสินให้มาลาโบรค่าได้เวลาสเตจสุดท้ายเท่ากับกลุ่มเปโลตอง เสื้อดำจึงตกเป็นของคาร์โรโล่ในที่สุด และรางวัลเสื้อดำก็ถูกยกเลิกในสองปีถัดมา ส่วนมาร์ลาโบรค่าก็เลิกแข่งจักรยานถนนในปีเดียวกัน

4

ถึงสุดท้ายมันจะไม่ใช่รางวัลที่ทุกคนพอใจ แต่ในช่วงเวลานั้นที่อิตาลียังล้มลุกคลุกคลานกับการเป็นผู้แพ้สงคราม อิตาลีต้องการฮีโร่ที่จะช่วยประสานรอยแผลของประเทศ และมาลาโบรค่าก็ทำหน้าที่นั้นได้ดีไม่แพ้คอปปี้หรือบาร์ทาลี

ศักดิ์ศรีของผู้แพ้ก็เยียวยาได้ไม่ด้อยไปกว่าศักด์ศรีของผู้ชนะ

ในฐานะกีฬาที่อยู่กับมนุษย์มาร่วมร้อยปี จักรยานแข่งขันสร้าง รื้อ เปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมและแนวคิด เอื้ออิ้งไปกับช่วงเวลาและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ในวินาทีที่สังคมมองไม่เห็นอนาคต ชัยชนะของผู้แพ้ก็มีความหมายในมิติที่ผู้คนสมัยนี้คาดไม่ถึง


รายชื่อผู้ชนะ Maglia Nera

1946, Luigi Malabrocca, Milan-Gazzetta, 69h 41′ 54″
1947, Luigi Malabrocca, Welter, 121h 47′ 27″
1948, Aldo Bini, Benotto, 128h 59′ 43″
1949, Sante Carollo, Wilier Triestina, 135h 22′ 57″
1950, Mario Gestri, Bartali, 122h 28′ 37″
1951, Giovanni Pinarello, Bottecchia, 124h 37′ 48″

เห็นชื่อผู้ชนะรางวัลที่โหล่คนสุดท้ายมั้ยครับ ชื่อนี้น่าจะคุ้นตานักปั่นทุกคน จิโอวานนี พินาเรลโล คือผู้ก่อตั้งบริษัทจักรยาน Pinarello นั่นเอง เขาเป็นนักปั่นคนสุดท้ายที่ชนะรางวัลเสื้อดำ และเงินรางวัลจากการเป็นที่โหล่วันนั้นก็ทำให้เขามีทุนในการสร้างเวิร์กช็อปผลิตเฟรมจักรยาน จนกลายมาเป็นแบรนด์จักรยานระดับโลกที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

จิโอวานนี พินาเรลโล่ จากนักปั่นที่โหล่สู่ผู้สร้างจักรยานที่คว้าแชมป์รายการ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *