สองปีที่เสียเปล่าของโทนี มาร์ติน

โทนี มาร์ตินหายไปไหน?

คนที่ติดตามวงการจักรยานอาชีพมาตั้งแต่ช่วงที่จักรยานคึกคักมากๆ ในบ้านเราคงไม่มีใครที่ไม่รู้จักโทนี มาร์ติน นักปั่นชาวเยอรมันที่เป็นแชมป์โลกการแข่งขัน Time Trial ถึงสี่สมัย เป็นนักปั่นทรงพลังที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยไม่น้อยครับ แต่อยู่ดีๆ ชื่อของมาร์ตินก็หายไปจากรายชื่อผู้ชนะ ตลอดสามปีที่ผ่านมาเขามีผลงานชนะในสนามแข่งแค่ครั้งเดียว

แต่วันนี้เรารู้แล้วครับ สาเหตุที่เขาตกหลุมดำไป สาเหตุหลักๆ ก็เพราะทีมที่เขาสังกัด
เช่นเดียวกับทุกๆ กีฬา ต่อให้จะเป็นทีมระดับโลกก็มีทั้งทีมที่จัดการบริหารได้ดี และทีมที่ทำได้ไม่ดี สำหรับ Katusha-Alpecin ที่โทนี มาร์ตินสังกัด ดูจะเป็นแบบหลัง

บทสัมภาษณ์ของโทนี มาร์ตินใน Cyclingnews ทำให้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่มาร์ตินคนเดียวที่เหมือนเสียปีที่ดีที่สุดของชีวิตไป แต่มันอาจจะอธิบายต่อด้วยว่าทำไมนักปั่นเก่งๆ อย่างมาร์เซล คิทเทล, อิลเนอร์ ซาคารินและ อเล็กซ์ ดาวเซ็ตต์ ก็ไม่ perform เลยระหว่างที่อยู่ทีมนี้

โทนี มาร์ตินออกจาก Katusha-Alpecin และย้ายเข้ามาอยู่กับ Jumbo-Visma ในฤดูกาล 2019 ในตำแหน่งผู้ช่วยของทีมและ Road Captain ที่คอยช่วยทีมอ่านเกมและสั่งการแผนการต่างๆ ระหว่างแข่ง ด้วยอายุ 34 ปี เขามีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่าต้องคุมเกมในเปโลตองยังไง และก็รู้ตัวว่าฟอร์มไม่สดพอที่จะไล่คว้ารางวัลแชมป์ Time Trial ได้เหมือนแต่ก่อน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่มาร์ตินได้ค้นพบระหว่างที่มาอยู่กับทีมใหม่ก็คือ “ความต่าง” ระหว่างทีมที่จัดการนักกีฬาได้ดี และทีมที่ทำได้ไม่ดี

เมื่อถูกถามว่า “อะไรที่ Jumbo-Visma ให้เขาได้ แต่ Katusha-Alpecin ให้ไม่ได้” เขาตอบว่า “ทุกอย่างครับ”
“มันไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยตั้งแต่ระดับผู้บริหารทีมที่ไม่สามารถให้ทิศทางกับนักกีฬาได้ ไม่มีแผนการแข่งและซ้อมที่ดี และไม่มีการกระตุ้นให้นักปั่นอยากทำผลงาน”

“สำหรับนักปั่นอาชีพ ทิศทางและเป้าหมายของทีมเป็นอะไรที่สำคัญมากนะครับ เราอยากรู้ว่าทีมมีความฝันอะไร อยากจะพิชิตอะไร เป้าหมายเป็นยังไง ถ้าเปรียบให้เราเป็นทหาร เราก็ต้องการแม่ทัพที่สามารถชี้นิ้วบอกเราได้ว่า เราจะไปรบที่ไหน และเราต่อสู้ไปเพื่ออะไร”

“มันอาจจะเป็นสองปีที่เป็นเหมือนตกหลุมดำในฐานะนักปั่นอาชีพ แต่ผมนึกย้อนกลับไปผมก็มีช่วงเวลาดีๆ ที่ได้อยู่กับ Katusha นะ ได้เพื่อนสนิทหลายคน และมันทำให้ผมได้รู้ว่าทีมที่บริหารไม่ดีมันเป็นยังไง”

“บอกตามตรงว่าตั้งแต่มาอยู่กับทีม Jumbo-Visma มันเหมือนผมได้เกิดใหม่เลยครับ”

“ตอนที่ผมอยู่กับ Quickstep และ HTC ผมชนะเยอะมาก แต่พอมาอยู่กับทีมนี้ผมมีความคาดหวังที่ต่างออกไป ผมอายุเยอะขึ้น ผมไม่สามารถคว้าชัยชนะให้ทีมได้บ่อยๆ เหมือนเมื่อก่อน มันเหมือนเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของการเป็นนักปั่นอาชีพน่ะครับ ต่อให้ผมชนะไม่ได้ ผมก็พบว่าตัวเองยังสามารถช่วยเหลือเอซของทีมได้หลายอย่าง การเป็นโดเมสติกจึงเป็นอะไรที่เหมาะกับผมมากในช่วงเวลานี้ ซึ่งต่อให้ผมเองจะไม่ชนะ แต่ผมกลับมีความสุขและพอใจกับผลงานที่ได้ช่วยเหลือทีมมากๆ”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผมกลับมาสนุกกับการปั่นได้อีกครั้ง”​

การบริหารทีมว่ายากแล้ว แต่การบริหารนักปั่นซึ่งเป็นหัวใจหลักของทีมนั้นอาจจะยากกว่า เมื่อคุณมีนักปั่นระดับโลกที่มีความทะเยอทะยานและเป้าหมายส่วนตัวที่บางครั้งก็อาจจะทับซ้อนหรือขวางกับเป้าหมายของทีมและนักปั่นคนอื่น คุณจะจัดการพวกเขายังไง? จะให้พื้นที่และหน้าที่เขาแบบไหน​? จะทำยังไงให้ทุกคนแฮปปี้ แต่ขณะเดียวกันก็สามัคคีพอที่จะต่อสู้เพื่อเป้าหมายร่วมได้ ซึ่งหมายความว่ามีบางคนที่จะต้องเสียสละความต้องการของตัวเอง?

การบริหารนักปั่นได้ดีจะช่วยสร้างความชัดเจนให้กับทุกๆ คน และความชัดเจน (clarity) นี้เองที่อาจจะเป็นสิ่งที่นักปั่นมากความสามารถอย่างมาร์ตินต้องการที่สุด

“ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าหน้าที่ของผมคืออะไร ตอนผมย้ายมา Jumbo-Visma ผมและทีมเองก็ไม่รู้ว่าเราจะอยู่ด้วยกันแบบไหน ตอนแรกทีมต้องการผมมาเป็นตัวช่วยหลักในการแข่ง Team Time Trial แต่สำหรับผมนะ มองจากข้างนอก ทีมเขาก็ทำได้ดีมากอยู่แล้วในด้านนี้”​

“แต่พอได้เข้ามาอยู่ในทีมจริงๆ ผมเริ่มเห็นว่าทีมยังมีช่องโหว่อยู่ไม่น้อย ที่ผมคิดว่าผมจะเข้าไปช่วยได้ งานอย่างการคุมเปโลตองทีต้องการความเป็นผู้นำและประสบการณ์ ผมดีใจที่ทีมให้ผมเข้ามาเติมช่องว่างตรงนี้”​

จากคำเปรียบเทียบของมาร์ตินก็ไม่แปลกใจว่าทำไมมาร์เซล คิทเทล กัปตันทีมหลักของ Katusha-Alpecin ถึงไม่สามารถทำผลงานได้ดีเหมือนสมัยที่อยู่ Quickstep หรือแม้แต่อเล็กซ์ ดาวเซ็ตต์ที่เป็นตัวเต็ง Time Trial ก็ด้วย คิทเทลซึ่งเติบโตมากับทีมที่การจัดการเป๊ะและเนี้ยบมากอย่าง Skil-Shimano (ปัจจุบันคือ Sunweb) ที่วางแผนให้นักกีฬาแบบละเอียดยิบ และมีผู้บริหารที่กำหนดทิศทางทีมได้ชัด คงช่วยแบ่งเบาภาระทางความคิดให้กับนักกีฬาไปไม่น้อย

ขณะเดียวกันมันเป็นเหมือนกระจกสะท้อนว่าทีมอย่าง INEOS, Quickstep, Jumbo-Visma และ Bora-Hansgrohe นั้นมีทีมบริหารที่เก่งกาจขนาดไหน โดยเฉพาะสองทีมแรกที่เรียกได้ว่ามีแต่นักปั่นตัวเทพ แสงออกเท้า ปีกออกหลัง เดินชนกันทั้งทีม การจะบริหารอีโก้และความทะเยอทะยานนักปั่นระดับคริส ฟรูม, ฟิลลิป จิลแบร์, เอเลีย วิวิอานี, เกอเรนท์ โทมัส และปีเตอร์ ซากานโดยที่ยังให้โอกาสนักปั่นคนอื่นๆ ได้โชว์ความาสามารถ และรู้สึกเติมเต็มในฐานะนักกีฬาอาชีพได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เราเห็นในกรณีของ Katusha แต่ทีมเหล่านี้ก็ทำได้ยอดเยี่ยมกว่าทีมอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

อย่างที่นิโคลาส พอร์ทาล หนึ่งใน​โค้ชและฝ่ายบริหารของทีม INEOS เคยให้สัมภาษณ์ไว้:

“สิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จไม่ใช่เงินหรอกครับ ถ้าแค่หว่านเงินซื้อนักกีฬาตัวท็อปใครๆ ก็ทำได้ แต่การสร้างทีมที่ชนะสม่ำเสมอ มันต้องมีอะไรมากกว่านั้นอีกเยอะ”​

แล้วอนาคตของมาร์ตินจะเป็นยังไง? เขาบอกลงท้ายในบทสัมภาษณ์ว่า เขาจะไม่ลงแข่งโอลิมปิกเหมือนที่ตัวเต็งหลายๆ คนลงแข่งกัน แต่จะเลือกลง Tour de France และมุ่งเป้าไปที่การคว้าแชมป์โลกไทม์ไทรอัลสมัยที่ 5 ในสวิสเซอร์แลนด์

“ว่าตามตรง ผมเองก็ไม่ได้ฟอร์มตกมากนะครับ แค่เด็กรุ่นใหม่ๆ เขาแข็งแรงและสดกว่า แต่ถ้าเส้นทางมันเข้าทางผม ผมก็ยังทำเวลาได้ดูสูสีกับคนที่เร็วที่สุด เพราะงั้นชิงแชมป์โลก TT ปีนี้จะเป็นเป้าหมายหลักของผม ถึงจะไม่ได้แชมป์แต่อย่างน้อยผมอยากได้อันดับโพเดียม”

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!