สิ่งที่คนถือเสื้อเหลืองต้องแบกไว้

“ผมรู้ว่าผมไม่มีทางได้แชมป์ Tour de France”

คือคำพูดของจูเลียน อลาฟิลลิป ผู้นำเวลารวม หรือคนที่ทำเวลาได้เร็วที่สุดในการแข่งขัน Tour de France ตอนนี้

ความรู้สึกของอลาฟิลลิปคงเป็นสิ่งที่เราเข้าใจได้ยาก ในมุมหนึ่ง เขาคือนักปั่นที่เป็นเหมือนฮีโร่ของชาวฝรั่งเศส ประเทศที่เป็นผู้จัดงานแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับไม่มีแชมป์รายการจากประเทศตัวเองมากว่าสามสิบปีแล้ว

สิ่งที่เขาแบกไว้คือความหวังของคนทั้งประเทศ

แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาก็เป็นนักปั่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดในปี 2019 เขามีคะแนนสะสมในการแข่งขันเยอะที่สุด และเป็นคนเดียวที่ชนะรายการใหญ่ที่สุดหลายรายการติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี แต่อลาฟิลลิปกลับยืนกรานว่าจะขี่ให้ตายเขาก็ไม่มีทางได้แชมป์ Tour de France ปีนี้

ทั้งๆ ที่ตอนนี้เขาคือคนที่ทั้งโลกกำลังจับตามอง เพราะเสื้อสีเหลืองที่เขาสวมใส่อยู่ บ่งบอกฐานะ “ผู้นำ” การแข่งจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นักปั่นอาชีพแทบทุกคนฝันว่าอยากจะเป็นแชมป์ Tour de France ให้ได้สักครั้ง มันคือรายการที่ทรงเกียรติที่สุด เป็นผลงานสูงสุดในชีวิตที่นักปั่นอาชีพจะคว้าได้ ไม่มีอะไรสูงส่งไปกว่านี้อีกแล้ว

แต่ด้วยธรรมชาติของกีฬาจักรยานทางไกล ทุกคนก็รู้ตัวเช่นกันว่าคนที่จะมีโอกาสได้สวมใส่เสื้อเหลืองในวันสุดท้ายของการแข่งขันนั้นมีแค่หยิบมือเดียว และจูเลียน อลาฟิลลิป ไม่ใช่หนึ่งในนักปั่นประเภทนั้น

“สเตจนี้ก็ผ่านไปด้วยดีครับ เราปล่อยให้กลุ่มหนีเขาหนีไปได้ห่างพอสมควร เพื่อที่จะบอกว่า เราตั้งใจจะไม่ไล่นะ เรารู้ว่าช่วงท้ายสเตจมันยาก แล้วการโจมตีของบาเดต์ก็ทำให้ทุกคนล้าไปหมด”

“แต่นี่ยังไม่ใช่วันที่ยากที่สุด ผมได้ไปลองปั่นเส้นทางในสัปดาห์สุดท้ายมาบ้างแล้ว ภูเขาแต่ละลูกชันมาก สูงมาก ครึ่งหลังของ Tour de France ปีนี้มันยากกว่าปีก่อนๆ เยอะมากครับ ผมรู้ว่าผมไม่มีหวัง”

แมท ไวท์ หัวหน้าโค้ชทีม Mitchelton-Scott เคยกล่าวว่า แชมป์แกรนด์ทัวร์ทุกสนาม ไม่มีคำว่าฟลุ้ก จะชนะได้คุณต้องเป็นคนที่แข็งแกร่งที่สุด

“ที่เกอเรนท์ โทมัส (ทีม Ineos) ได้แชมป์ตูร์ปีที่แล้วมันไม่ใช่เรื่องฟลุ้กนะ มันไม่ใช่ว่าคริส ฟรูมทำพลาดหรืออะไร ความจริงที่ชัดเจนที่สุดก็คือ โทมัสคือคนที่แข็งแกร่งที่สุดในปีที่แล้ว”

แล้วทำไมคนอย่างอลาฟิลลิปที่เป็นนักปั่นเบอร์หนึ่งของโลกตอนนี้จะชนะ Tour de France บ้างไม่ได้?

คำถามนี้คนที่ไม่ได้ติดตามการแข่งขันจักรยานจริงจังอาจจะไม่เข้าใจ

การจะเป็นแชมป์สเตจเรซ (แข่งติดต่อกันหลายวัน) เรานับจากคนที่ทำเวลารวมจากวันแรกถึงวันสุดท้ายได้น้อยที่สุด ซึ่งก็หมายความว่าเขาคือคนที่เร็วที่สุดในการแข่งขัน 21 วัน

การจะไปถึงจุดที่เป็นคนที่ปั่นจบ 21 วันได้เร็วที่สุด แข่งกับนักปั่นที่ฟิตและแข็งแรงที่สุด 175 คนจากทั้งหมด 22 ทีมไม่ใช่เรื่องง่าย

ในการแข่งจักรยาน จุดที่จะทำเวลาห่างกันได้เยอะคือการขึ้นภูเขา นักปั่นที่จะเป็นแชมป์รายการต้องทำเวลาขึ้นเขานับสิบๆ ลูกตลอดการแข่งขันได้เร็วกว่าคนอื่นทั้งหมด นั่นหมายความว่าเขาต้องรับการโจมตีของคนอื่น หรือออกรุกโจมตีเอง ทิ้งห่างคนอื่น ในสเตจทางราบที่ไม่มีการขึ้นเขา นักแข่งก็ต้องเกาะกลุ่มไม่เสียเวลาให้คนอื่น ปั่นได้อย่างปลอดภัย ไม่อับโชค ไม่ล้ม ไม่โดนคนอื่นพาล้ม อุปกรณ์ไม่พังระหว่างแข่ง และไม่ป่วย

ในสเตจปั่นจับเวลาเดี่ยว เขาก็ต้องทำเวลาให้ได้ดีกว่าหรือใกล้เคียงคู่แข่ง “ตัวเต็ง” คนอื่นๆ ถ้าจับเวลาแบบทีม ทีมเขาทั้งทีมก็ต้องช่วยให้หัวหน้าทีมไม่เสียเวลาให้คู่แข่งอีก

ถ้าสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ตลอด 21 วัน รวมระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร และปีนเขาอีกนับไม่ถ้วน เขาก็จะเป็นคนที่ควรค่าแก่การครองเสื้อเหลือง ในฐานะแชมป์รายการ

กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ ก็ต้องผ่านการฝึกซ้อมหนักหนาสาหัส

สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือ ชีวิตนักกีฬาจักรยานอาชีพนั้นไม่ได้มีความหรูหราเหมือนกีฬาอาชีพอื่นๆ เลย จะฟิตร่างกายให้เป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์ได้ ก็ต้องซ้อมและแข่งตลอดทั้งปี ระหว่างการซ้อมก็ต้องคุมอาหารและน้ำหนักตัวอย่างเข้มงวด เข้าค่ายเก็บตัวบนภูเขาสูงชันที่ไม่มีความบันเทิง ออกซ้อมปั่นวันละ 5-6 ชั่วโมงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อให้ร่างกายพร้อมมาลงสนามที่อาจจะต้องถอนตัวตั้งแต่วันแรก เพียงเพราะอุบัติเหตุที่เขาไม่ได้เป็นคนทำ ก็มีมาให้เห็นนักต่อนัก

แล้วก็รอไปอีกหนึ่งปี เก็บตัวใหม่ เพื่อแค่ให้ได้พร้อมมาลงแข่งอีกรอบ

ทั้งหมดนี้แลกกับค่าตัวที่น้อยเกือบที่สุดในบรรดานักกีฬาอาชีพระดับโลก

การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่เคยทำได้เป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์หลายคน ก็ไม่คิดจะกลับมาเป็นแชมป์ซ้ำสอง เพราะพวกเขารู้ว่ามันร้องขอสิ่งต่างๆ ในชีวิตของพวกเขามากเกินไป เซอร์แบรดลีย์ วิกกินส์ที่เคยได้แชมป์ Tour de France ปี 2012 ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนที่จะได้ร่างกายและจิตใจที่พร้อมลงแข่งตูร์ มันคือช่วงเวลาที่เขารู้สึกเครียดและแย่ที่สุดในชีวิต

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่คนถือเสื้อเหลืองต้องแบกไว้

ถ้าแบกไม่ไหว ก็ต้องปล่อยเสื้อไปในที่สุด

จูเลียน อลาฟิลลิปและทีม Quickstep รู้ดีว่า เขาไม่ใช่นักปั่นที่เรียกว่า “ตัวเต็งแกรนด์ทัวร์” เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญการแข่งแบบวันเดียวจบ การแข่งเพื่อเอาแชมป์แกรนด์ทัวร์ ไม่ใช่สิ่งที่เขาฝึกมา และถึงฝึก ก็อาจจะไม่มีโอกาสทำได้

สำหรับคนที่ไม่ได้ฝึกมาเพื่อเป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์
การได้สวมใส่เสื้อผู้นำเพียงไม่กี่วัน ก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เขาจะทำได้เช่นกัน

“สิ่งเดียวที่ผมทำได้คือรักษาเสื้อตัวนี้ไว้ให้ได้นานที่สุด ก่อนที่มันจะหลุดมือไป”

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!