พาเที่ยวงาน Tokyo Cycle Mode 2022

หลังจากต้องงดจัดไปสองปีเนื่องจากสถานการณ์โควิด งานแสดงจักรยานที่ใหญ่ที่สุดขงญี่ปุ่นก็กลับมาจัดได้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 2-3 เมษายนที่ผ่านมา กลับมาครั้งนี้สเกลงานเล็กลงเล็กน้อย อาจจะเพราะผู้ออกบูธจากนานาชาติยังเดินทางเข้าญี่ปุ่นไม่ได้ ภายในงานจึงเป็นการจัดแสดงโดยบริษัทผู้นำเข้า หรือบริษัทต่างชาติที่มีสาขาในญี่ปุ่นเท่านั้น (เช่น Wahoo เป็นต้น) ในทางกลับกัน ข้อดีคือสถานที่จัดงานย้ายมาที่โอไดบะในโตเกียว แทนที่จะไปจัดไกลถึงจิบะเพราะงานใหญ่ เดินทางสะดวกกว่ากันมากครับ

ปีนี้ DT ก็ไม่พลาด เก็บภาพบรรยากาศงานบางส่วนมาแบ่งปันให้กับท่านผู้อ่านเหมือนเช่นเมื่อสองปีก่อนครับ

เริ่มบูธแรก Shimano ซึ่งมาจัดแสดง Dura-Ace กับ Ultegra ตัวใหม่
เพิ่งเคยเห็น Dura-Ace R9200 ตัวจริงเป็นครั้งแรก
จัดแสดงแบบเต็มชุดพร้อมจักรยานยี่ห้อ Dura-Ace ซึ่งจริง ๆ แล้วคือ Giant Propel
ที่บูธมีจัดแสดง Dura-Ace วินเทจด้วย ล้อมเชือกไว้ไม่ให้เข้าใกล้อีกต่างหาก (ของใหม่ล่าสุดยังหยิบมาพลิกดูเล่นได้)
Dura-Ace FC-7400
นวัตกรรมใหม่จาก Lazer เพื่อกระจายแรงเฉือน ออกมาเพื่อแข่งกับ MIPS และ SPIN มีชื่อว่า KinetiCore ซึ่งไม่ได้ใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติยืดหยุ่นเหมือนคนอื่น แต่เป็น EPS เดิม ๆ ที่ขึ้นรูปเป็นบล็อกแบบนี้ เวลาล้มกระแทกแล้วมีแรงเฉือน บล็อกจะล้มเพื่อซับและกระจายแรงเฉือนนั้นออกไป
เวลาเอา KinetiCore มาใช้จริงภายในหมวกก็จะเป็นแบบนี้
ส่วนนี่หมวกแอโร่รุ่นใหม่ล่าสุดจาก Lazer ชื่อ Lazer Vento KinetiCore รุ่นเดียวกับที่ Wout van Aert ใส่แข่งทุกวันนี้นั่นเอง แค่ของเวาต์เป็นลาย Red Bull
แผงด้านข้างไม่ได้ตัน ถึงแม้ดูเผิน ๆ จะเหมือนตัน มีช่องระบายลมให้เข้าสู่ศีรษะของผู้สวมใส่อยู่
ระบบปรับกระชับ ScrollSys ขนาดใหญ่มาก ถ้าปรับระหว่างปั่นน่าจะง่ายมากเพราะเอื้อมมือไปยังไงก็จับโดนแน่ ๆ สังเกตว่าด้านล่างของ ScrollSys มีรูรูปทรงรีอยู่
มันมีไว้เพื่อติดไฟท้ายครับ คิดมาดีมาก ๆ ให้คะแนนเต็ม เนื่องจากผู้เขียนเองเป็นคนชอบติดไฟท้ายสองดวง หนึ่งดวงที่หมวก อีกหนึ่งดวงที่หลักอาน การที่ผู้ผลิตคิดฟังก์ชั่นนี้มาให้ตั้งแต่แรกก็ช่วยให้ติดตั้งไฟท้ายได้ง่าย ไม่ต้องใช้สายตีนตุ๊กแกให้เกะกะ
Vento KC สีขาว
BMC TeamMachine SLR สังเกตว่าตรงแกนปลดฝั่งขาจาน ไม่มีโผล่มาให้เห็นเลย น็อตตัวเมียฝังอยู่ด้านในตะเกียบและไม่ทะลุมาอีกด้านหนึ่ง
BMC Urs จักรยานกราเวล/ทัวริ่ง
มี elastomer ช่วยซับแรงกระแทกเล็กน้อย แต่ไม่มีโช้คใด ๆ
ร้าน Corsa Corsa Tokyo ซึ่งน่าจะเป็นร้านจักรยานวินเทจที่ดังเป็นอันดับต้น ๆ ของญี่ปุ่น มาออกบูธพร้อม Masi Faema แบบเดียวกับที่ Eddy Merckx ขี่ตอนอยู่กับ Team FAEMA (1968)
สปอนเซอร์ของทีมที่ชื่อ FAEMA เป็นบริษัทผลิตเครื่องชงเอสเปรสโซจากอิตาลี ซึ่งร้านก็ได้นำเครื่อง Faema E61 Legend มาตั้งและชงกาแฟแจกในงานด้วย ใครที่เป็นสายกาแฟอาจจะทราบว่านี่คือต้นแบบของกรุ๊ปเฮด E61 ที่ยังคงมีผลิตโดยบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน แม้ดีไซน์จะอายุเกิน 60 ปีแล้วก็ตาม
แก้วเอสเปรสโซจาก Campagnolo ก็มีขายนะ
มาที่บูธจักรยานแฮนด์เมดกันบ้าง จักรยานคันนี้เป็นผลงานแฮนด์เมดจากผู้ผลิตชื่อ Equilibrium ซึ่งเป็นจักรยานคาร์บอน-ไทเทเนียม
ท่อไทเทเนียมจาก Deda ท่อคาร์บอนจาก ENVE
นอกจากท่อสำเร็จรูปจากสองผู้ผลิตดังกล่าวแล้ว ส่วนที่มีรูปทรงซับซ้อนนั้นใช้วิธีการพิมพ์สามมิติในการผลิต
อย่างเช่นส่วนจุดเชื่อมต่อระหว่างท่อบนกับตะเกียบหลังนี้ ใช้การพิมพ์สามมิติ ในภาพนี้เป็นขั้นตอนที่เพิ่งออกจากเครื่องพิมพ์ ก่อนนำไปขัดและเชื่อม
เทคโนโลยีอย่างการพิมพ์สามมิติช่วยให้จักรยานโลหะมีอิสระในการออกแบบและผลิตรูปทรงยาก ๆ มากขึ้นมาก
อย่างการเชื่อมต่อกันสามทางระหว่างท่อนั่ง-ท่อบน-ตะเกียบโซ่ที่เห็นอยู่นี้
จุดยึดเบรคหลังก็ใช้การพิมพ์สามมิติช่วยในการขึ้นรูปเช่นกัน
มาที่บูธของ OGK Kabuto บ้าง มีหมวกใหม่คือ Aero R2 ซึ่งจะมาแทน Aero R1 ยังคงมีแว่นไวเซอร์ให้เช่นเดิม
สังเกตรูตรงกลางที่อยู่สูงกว่ารูอื่น ๆ
เมื่อพลิกเข้าดูด้านในจะเห็นว่ามีแผ่นพลาสติกกั้นไว้ ให้อากาศไหลผ่านจากด้านหน้าแล้วออกไปด้านหลังเลยโดยไม่กระทบกับศีรษะผู้สวมใส่ (ไม่ระบายความร้อน ช่วยให้ลู่ลมอย่างเดียว) Kabuto อ้างว่าเทคโนโลยี Air Path นี้ช่วยลดแรงต้านอากาศไป 4 วัตต์เมื่อเทียบกับ Aero R1 เมื่อทดสอบในอุโมงค์ลม แต่แผ่น Air Path นี้ถอดออกได้เพื่อให้ระบายความร้อนดีขึ้น ถึงเอาออกแล้วก็ยังลู่ลมกว่า Aero R1 อยู่ 2 วัตต์อยู่ดี (เขาเคลมว่างั้น)
ระบบปรับกระชับใช้ปุ่ม BOA เสียด้วย
มาที่บูธ Pinarello มีจัดแสดง Dogma F สี midnight blue สวยงามทีเดียว
Fulcrum Racing Zero สีแดง แรงสามเท่า แต่น่าจะแมตช์กับเฟรมจักรยานยากหน่อย คู่สีดูจับคู่ยาก
กรุ๊ปเซ็ต 1×13 สปีดจาก Campagnolo ชื่อ Ekar
เฟืองท้าย 13 สปีดของ Ekar
เพิ่งเคยเห็นขาจาน Super Record แบบที่ยังไม่ได้นำไปประกอบเป็นจักรยานเต็มคันครั้งแรก
จึงได้เห็นว่าขาจานระบบ Ultra Torque ของ Campagnolo นั้นเลือกเอาลูกปืนมาสวมกับแกนขาจานแบบ shaft fit แทนที่จะไปอัดไว้ในกะโหลกเหมือนเจ้าอื่น ๆ (housing fit) รวมถึงการใช้ข้อต่อแบบ Hirst joint ด้วย
น้ำมันหยอดโซ่แรงเสียดทานต่ำพิเศษ Ludicrous AF จาก Muc-Off ออกมาแข่งกับ UFO Drip ของ CeramicSpeed ราคาก็มหัศจรรย์ตามค่าแรงเสียดทานที่ลดไป
หมวกใหม่จาก Giro ที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่วันก่อนงานแสดง หลังจากมีให้นักแข่งทีม Groupama-FDJ, Jayco-BikeExchange และ Canyon//SRAM ใช้มาก่อนหน้าแล้วประมาณปีนึง Giro เคลมว่าแอโร่ที่สุดตั้งแต่ทำหมวกมา ลู่ลมยิ่งกว่า Vanquish เสียอีก เหตุผลหลักของความลู่ลมคือขนาดเล็กลง พื้นที่หน้าตัดก็น้อยลง แต่ความปลอดภัยไม่ลดลง ผ่านทุกการทดสอบความปลอดภัยแน่นอน
มาพร้อมกับเทคโนโลยี Spherical MIPS คือหมวกมีสองชั้น เชื่อมกันด้วยหนังยางที่แข็งแรงและยืดหยุ่นได้เล็กน้อยหลาย ๆ จุด การที่หมวกสไลด์ได้ระหว่างชั้นในกับชั้นนอกช่วยรับแรงเฉือนเวลาล้ม
สายวัดฮาร์ตเรตใหม่จาก CatEye ใช้เทคโนโลยีการวัดแบบ optical เหมือนสมาร์ทวอตช์ต่าง ๆ และไม่ได้วัดจากกระแสไฟฟ้าเหมือนชนิดที่คาดอกทั่ว ๆ ไป
Panaracer เปิดตัวแบรนด์ย่อยแบรนด์ใหม่เพื่อยางจักรยานถนนโดยเฉพาะ ชื่อ Agilest ซึ่งจะมาแทน Panaracer Race Evo A, L, D เดิม โดยสามรุ่นย่อยนั้นก็ยังคงอยู่ตามเดิม (ออลราวน์, เบาพิเศษ, ทนพิเศษ) ที่สำคัญมีรุ่นทิวบ์เลสแล้วด้วย (TLR, กล่องซ้ายสุด)
ผลิตในญี่ปุ่น
Chapter2 Koko จักรยานแอโรใหม่จาก C2 ที่มาแทน Rere ลักษณะสำคัญคือท่อล่างไม่เป็นรูปทรงตัว V แล้ว กลายเป็นรูปทรง Kammtail ตามสมัยนิยมแทน
แบรนด์ Chapter2 ได้รับโลโก้ Fernmark จากรัฐบาลนิวซีแลนด์ด้วยนะ สัญลักษณ์นี้บริษัทที่จัดตั้ง ทำการ หรือผลิตในนิวซีแลนด์จะสามารถขอรัฐบาลใช้ได้ เมื่อได้มาแล้วจะสามารถแสดงความเป็นกีวี่ได้อย่างภาคภูมิ
ลาย Te Waihou ซึ่งเป็นภาษาเมารีแปลว่า “บินไป”
กะโหลก T47 internal
DMT KR1 รองเท้าของแชมป์ TdF (ของโพกาชาเป็นรุ่นผูกเชือก KRSL)
สวยและเบาและดูน่าจะใส่สบาย
เด็ก ๆ โรงเรียนโซโฮคุมาโปรโมตการท่องเที่ยวโดยจักรยานจังหวัดจิบะครับ
มีเส้นทางแนะนำสำหรับปั่นเที่ยวในจังหวัดจิบะ มีบอกระดับความยากง่าย
แบรนด์เสื้อผ้า Isadore ก็มาออกบูธด้วย บูธกระจกสวยงามเป็นเอกลักษณ์กว่าใคร
palette สีสวยงาม
เนื้อผ้าก็ดูดีเลย (ไม่ได้พลิกดูราคา)
Isadore มาออกบูธพร้อมแว่นกันแดด Alba Optics
Wahoo Speedplay Nano หยิบขึ้นมาแทบไม่รู้สึกถึงน้ำหนัก นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นบันได Speedplay ใหม่หลังจากที่ Wahoo มาซื้อกิจการไปและปรับปรุงดีไซน์เล็กน้อย คิดว่าการมีแผ่นโลหะครอบคลุมรอบบอดี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี เพราะบันไดเก่าผมพังก็เพราะบอดี้พลาสติกตรงใกล้แกนบันไดสึก พอมีโลหะกันไว้น่าจะสึกช้าลงมากครับ
Wahoo POWRLINK ZERO บอดี้หนาขึ้นกว่าแบบไม่มีพาวเวอร์แค่นิดเดียว ใช้งานจริงอาจจะไม่รู้สึกเลยก็ได้ ถือว่าเป็นงานวิศวกรรมที่น่าทึ่งทีเดียวครับเพราะบันได Speedplay แต่เดิมมันก็อันนิดเดียว จะใส่ strain gauges หรือวงจรอะไรเข้าไปก็คงไม่ง่ายนักล่ะ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott