การเดินทางบนสองล้อนานเจ็ดวันของเราจบลงแล้ว . . .
ดูเหมือนข้อเท็จจริงข้อนี้ยังต้องอาศัยเวลาอีกสักหน่อยที่จะซึมลงไปในความคิดของทั้งผมและพัด เราวางแผนทริปจักรยานนี้กันร่วมครึ่งปี และวันนี้เราทำสำเร็จตามเป้าหมายในที่สุด แม้ระยะทางราว 450 กม. อาจฟังดูไม่มากนัก แต่ด้วยจักรยานที่หนักกว่ายี่สิบกิโลกรัม เส้นทางในต่างแดน อุปสรรคทางธรรมชาติ และนานาปัญหาที่เกิดกับอุปกรณ์ของแล้ว เราก็อดภูมิใจกับความสำเร็จครั้งนี้ไม่ได้จริง ๆ ครับ
เนื่องจากวันนี้มีนัดกับเพื่อนวิศวกรอีกคนหนึ่งที่โตเกียวตอนบ่ายโมง เราจึงต้องรีบมาขึ้นชินคังเซนให้ทันเวลาก่อนสิบโมง ตั๋วรถไฟที่พัดจองไว้ตั้งแต่วันแรกที่ผมมาถึง กำลังจะทำให้การเดินทางเจ็ดวันเจ็ดคืนของเรากลับสู่จุดเริ่มต้นภายในหนึ่งร้อยสี่สิบนาที
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผมจะได้ขึ้นรถไฟหัวกระสุนโนโซะมิ และแน่นอนว่าก่อนขึ้นต้องเก็บจักรยานใส่ถุงผ้าร่มให้เรียบร้อย เมื่อเข้าไปด้านในตู้ขบวนแล้ว จะมีพื้นที่แคบ ๆ แต่ยาวที่ด้านหลังของที่นั่งแถวสุดท้ายให้พอเก็บจักรยานเข้าไปได้สองคันพอดิบพอดี ในตู้ขบวนที่เราจองไว้บังเอิญมีสัมภาระของผู้โดยสารชาวญี่ปุ่นที่นั่งแถวสุดท้ายวางไว้อยู่ก่อนแล้ว จึงต้องขออนุญาตและขอโทษผู้โดยสารท่านนั้น ขอให้เขานำสัมภาระนั้นขึ้นไปวางบนชั้นวางเหนือที่นั่งแทน เนื่องจากพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่เดียวที่เราจะวางจักรยานได้บนรถไฟแต่ละตู้ หลังจากรถไฟจอดเทียบชานชาลาได้เพียงสามนาที ประตูทุกตู้ก็ปิดพร้อมกันเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายต่อไป
ผมขอใช้เวลาระหว่างเดินทางด้วยรถไฟ สรุปข้อแนะนำที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่น ๆ ที่ต้องการวางแผนทริปปั่นที่ญี่ปุ่นดังนี้ครับ
คำแนะนำทั่วไป
- เคารพกฎจราจรเสมอ คนญี่ปุ่นเมื่อเจอไฟแดง แม้ถนนจะโล่งก็จะรอจนไฟเขียวจึงจะขับต่อไป / ข้ามทางม้าลาย
- ประเทศญี่ปุ่นเป็นมิตรกับจักรยานมาก ริมถนน >90% จะมีทางเท้าที่เรียบและปั่นจักรยานได้อยู่แล้ว ในทางทฤษฎี กฎหมายกำหนดให้จักรยานเพื่อการกีฬาปั่นบนถนน และทำตามกฎจราจรแบบเดียวกับรถยนต์ และสามารถปั่นบนทางเท้าได้ก็ต่อเมื่อมีป้ายสัญลักษณ์คนเดินและจักรยานอยู่ (มักเป็นทางเท้าในเขตเมือง) อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ หากมีคนเดินเท้าจำนวนมากเวลาเลิกงานก็อาจปั่นบนถนน ในทางกลับกันบนถนนเลนเดียวที่แคบและห้ามแซง (เส้นทึบคู่) เราก็อาจมาปั่นบนทางเท้าแทน
- หากใช้ภาษาญี่ปุ่นได้บ้างจะเป็นประโยชน์มาก เพราะน้อยคนมากครับ ที่จะพูดภาษาอังกฤษได้
- อย่าลืมวางแผนเรื่องการนำจักรยานจากสนามบินไปที่พักที่แรกก่อนไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้กล่องลัง เนื่องจากเคลื่อนย้ายด้วยคนคนเดียวลำบาก จะยกกล่องอย่างไร และจะเก็บกล่องไว้ที่ไหนจนกว่าจะกลับมา หรือหากจะบินกลับจากปลายทาง จะส่งกล่อง/กระเป๋าจักรยานไปที่ปลายทางด้วยบริการขนส่งอย่างคุโระเนะโกะก็ได้เช่นกัน
- ควรมี GPS นำทางไว้ติดตัวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนหรือ Garmin ก็ตาม หากใช้สมาร์ทโฟนก็อย่าลืม power bank และ data plan ครับ สำคัญมาก
- วางแผนเส้นทางและระยะทางต่อวันล่วงหน้า ประเมินกำลังตัวเองและเพื่อนร่วมทริปให้ดี สำหรับการคำนวณความสูงที่ต้องปีนในแต่ละเส้นทางที่ไป แนะนำใช้ … ทีแรกผมคิดกับเพื่อนว่าวันละไม่เกินหนึ่งร้อยกิโล ปั่นสามสี่ชั่วโมงก็ถึง แค่ 20-25km/h นี่หวานเย็นมาก ปรากฏว่าคิดผิดถนัด เพราะขนของพ่วงท้ายกันคนละ 10+ กก. ทั้งกล้อง ขาตั้งกล้อง เสื้อผ้า ฯลฯ แค่ปั่นธรรมดาก็หนักแล้ว พอเจอทางขึ้นเขานี่ถึงกับสบถครับ จักรยานเสือหมอบที่ติดสัมภาระแล้วหนัก 20+ กก. เอาเข้าจริงก็ไม่ต่างจากเฟสสัน / คร็อกโคไดล์คุณลุงเท่าไร ! ไหนจะเรื่องอุปกรณ์ที่ไม่รู้จะมีปัญหาที่ชิ้นไหนและเมื่อไร ถ้าจะขนของไปเยอะ ก็ไม่ควรวางระยะทางไกลมาก ถ้าถึงปลายทางเย็นค่ำ สถานที่ท่องเที่ยวก็จะปิดกันหมดก่อนครับ
- เที่ยวญี่ปุ่นไม่ต้องนำสบู่กับแชมพูไปครับ พักที่ไหนก็มีให้ ยิ่งถ้าพักบิซิเนสโฮเทลทั้งหมด ชุดนอน แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ก็ไม่ต้องเอาไปด้วยครับ ถ้าเป็นเกสต์เฮาส์ / โฮสเทล มักจะมีให้แค่สบู่ แชมพู และคอนดิชันเนอร์
- หากใช้คลีตและบันไดเสือภูเขา หรือไม่ใช้บันไดคลีตเลย จะประหยัดน้ำหนักรองเท้าไปหนึ่งคู่ และประหยัดเวลาเปลี่ยนรองเท้าไปได้หลายนาที ผมใช้สปีดเพลย์ เวลาเดินเข้าร้านอาหารมันเต๊าะแต๊ะมาก หลัง ๆ ก็เปลี่ยนก่อนเข้าครับเพราะเขินคนมอง
- ของหลายอย่างที่ใช้ร่วมกันได้ เช่นเครื่องมือซ่อมจักรยาน สูบลมพกพา ขาตั้งกล้อง ครีมกันแดด ฯลฯ นัดแนะกันให้ดี ๆ จะได้ไม่ต้องเอาไปซ้ำกันให้หนักเปล่า
- นัดแนะกันก่อนว่าถ้าฝนตกจะปั่นต่อหรือไม่ ถ้าจะเตรียมอุปกรณ์กันฝนไปจะได้เตรียมไปทุกคน
สิ่งที่ต้องนำไป
- จักรยาน จะทัวร์ริ่งหรือเสือหมอบก็แล้วแต่ถนัด
- ยางในสำรอง เอาไปเท่าที่จะทำให้อุ่นใจ อย่างน้อยสองเส้นขึ้นไป
- สูบลมพกพา
- ไม้งัดยาง
- ชุดปะยาง
- ประแจหกเหลี่ยม อย่างน้อยเบอร์สี่และห้า
- เทปพันสายไฟ สารพัดประโยชน์ ประยุกต์ใช้ได้หลายกรณีมาก
- สายยางรัดของที่ปลายเป็นขอเกี่ยว
- เสื้อผ้าตามภูมิอากาศช่วงที่จะไป
- เคาน์เตอร์เพน / โวลทาเรน
- ไฟหน้าที่สว่างพอจะปั่นในที่มืดสนิทได้ และไฟท้าย
- สายชาร์จอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ ประเทศญี่ปุ่นใช้ปลั๊กแบบขาแบนสองขาและไม่มีสายดินครับ ไฟ 120V
สิ่งที่ควรนำไป
- กล้องถ่ายรูป แบตสำรอง เมมโมรี่สำรอง
- ครีมกันแดด
- ครีมชามัวร์
- สเปรย์เย็นบรรเทาปวด
- สายล็อกจักรยาน ไม่ต้องหนา / หนักมาก ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างปลอดภัยครับ
ขอให้ทุกท่านเดินทางโดยสวัสดิภาพ
いらっしゃいませ。
17 มีนาคม 2015
ที่ใดที่หนึ่งบนรางรถไฟระหว่างเกียวโตและโตเกียว