GCN ซับไทย: 10 สุดยอดเทคโนโลยีจักรยาน

เช้านี้ช่อง GCN โพสต์วิดีโอ 10 สุดยอดเทคโนโลยีจักรยาน ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียวครับ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

1. STI Lever (Shimano Total Integration)

ชิมาโนเป็นบริษัทแรกรวมเอามือเบรคและก้ามเบรคเข้าด้วยกัน ทำให้เราไม่ต้องเอื้อมมือลงไปสับเกียร์เหมือนเสือหมอบสับถังสมัยก่อน แคมปัญโญโล่ ไม่รอช้าาร่วมมือกับวิศวะจากเยอรมันผลิตมือเกียร์/เบรค คล้ายๆ กันออกมา ระบบนี้ก็ยังใช้มาจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง

2. Clipless Pedals

บันไดแบบคลิปเลสจริงๆ แล้วมีคนผลิตมาตั้งแต่ปี 1900! เกือบร้อยปีแล้ว แต่ที่มาเริ่มใช้กันในวงกว้างก็ในปี 1984 ที่บริษัท Look ผลิตบันไดคลิปเลสอย่างจริงจัง Look สปอนเซอร์ Bernard Hinault ให้แกใช้บันไดคลิปเลส คว้าแชมป์ Tour de France ในปี 1985 จากนั้นทุกคน ทุกค่ายก็หันมาใช้บันไดคลิปเลสกันถ้วนหน้า..

3. แกนปลดไว (Quick Release Skewers)

เป็นนวัตกรรมจากแคมปัญโญโล่ สมัยก่อนจะเปลี่ยนถอดล้อต้องใช้ประแจมาไขออก Tullio Campagnolo ผู้ก่อตั้งแคมปัญโญโล่ เข้าใจถึงความยากลำบากของนักแข่งที่ต้องเสียเวลามากมายกว่าจะเปลี่ยนล้อได้ ((Tullio เองก็เป็นนักแข่งจักรยาน)) คิดค้นประดิษฐ์แกนปลดไวจนสำเร็จ

4. Power Meter

สมัยนี้นักกีฬา Endurance แทบทุกประเภทใช้ Heart Rate Monitor ในการฝึกซ้อม แต่สำหรับนักปั่นจักรยานแล้ว อุปกรณ์ตัวหลักที่เปลี่ยนแนวคิดการฝึกซ้อมและเตรียมตัวแข่งก็คือ Power Meter เจ้าแรกที่ผลิตคือ SRM ตั้งแต่ปี 1998 และเป็น Power Meter ที่โปรแทบทุกทีมใช้แข่งครับ Power Meter ใช้ strain guage ในการวัดพลังนักปั่นแบบ real time ในปัจจุบันหลายๆ ทีมใช้ Power Meter อย่างจริงจังและได้ผลดีในการแข่งขันเช่นทีม Sky และท่าปั่นก้มมองหน้าจออันโด่งดังใน Tour de France ปีที่แล้ว

5. GPS

ระบบชี้พิกัดผ่านดาวเทียมหรือ GPS เริ่มใช้ในกองทัพสหรัฐตั้งแต่ปี 1973 และก็ถูกพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคหาซื้อใช้ได้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันครับ เดี๋ยวนี้เรามี GPS ตัวเล็กๆ ติดจักรยานก็สามารถสร้างเส้นทางการปั่นเอง แชร์ข้อมูลการปั่นกับผู้อื่น รวมไปถึงเทียบเวลา ความเร็ว ความชัน และสภาพอากาศได้อย่างง่ายดาย ถ้าหลงทางก็ใช้เป็นแผนที่หากลับบ้านได้ด้วย

6. ไฟ LED

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องขำนะครับว่าไฟ LED เป็นยอดนวัตกรรมจักรยาน แต่ประโยชน์ของมันคงจะมากกว่าอุปกรณ์ชิ้นอื่นๆ เป็นไหนๆ เพราะมันช่วยเซฟชีวิตนักปั่นทั่วโลกได้ดีกว่าหมวกจักรยานเสียอีก! ไฟ LED เดี๋ยวนี้หาซื้อง่าย ราคาถูก แบตเตอรี่ทนนาน เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะขาดไม่ได้สำหรับเสือที่ชอบปั่นตอนกลางคืนครับ

7. Time Trial Bar

Greg Lemond เป็นนักปั่นคนแรกๆ ที่หันมาใช้ Time Trial Bar ในการแข่งขัน ด้วยท่านั่งเวลาจับ Bar ที่ลดแรงต้านลมได้มากกว่าจับบาร์ / ดรอปธรรมดา ทำให้ Lemond ปั่นทำเวลาเอาชนะ Lorent Fignon ได้ Tour de France ปี 1989 Lemond ใช้ Time Trial Bar ลดเวลาห่างระหว่างเขากับ Fignon ได้เกือบ 50 วินาที และเฉือนคว้าแชมป์ด้วยเวลาที่ต่างกันเพียงแค่ 8 วินาที! เป็น Tour de France ที่สูสีที่สุดในประวัติศาสตร์ และในการแข่ง TT ปีนั้น Lemond ทำความเร็วเฉลี่ยที่ 54.545 km/h เร็วที่สุดในประวัติการแข่งขัน Tour de France และยังไม่มีใครพิชิตได้!

8. ผ้า Lycra

ในอดีตเสื้อผ้านักปั่นจะทำมาจากผ้าวูล แต่ข้อเสียมันก็ค่อนข้างเยอะครับ ไม่ว่าจะไม่อมเหงื่อ ระบายอากาศไม่ค่อยดีและใส่แล้วร้อนง่ายมากๆ นักเคมีชาวอเมริกันคิดค้นผ้าสังเคราะห์ที่ทำจาก Polyurethane ซึ่งมีคุณสมบัติยืดตัวได้สูง ซับเหงื่อระบายอากาศได้ดี จึงเป็นที่นิยมใช้ในเสื้อผ้ากีฬาประเภทต่างๆ

9. คาร์บอนไฟเบอร์

ผู้ผลิตจักรยานเริ่มทดลองใช้คาร์บอนขึ้นท่อสร้างจักรยานมาตั้งแต่ปี  1970s แต่สมัยก่อนเทคโนโลยีคาร์บอนยังไม่ก้าวหน้าทำให้วัสดุมีราคาแพงและผลิตได้ยาก จนกระทั่งอุตสาหกรรมคาร์บอนเริ่มบูมในช่วงปี 2000 เป็นต้นมาทำให้ผู้ผลิตจักรยานและอะไหล่ต่างๆ เริ่มเลือกใช้คาร์บอนมากขึ้น ข้อดีคาร์บอนคือมันสามารถขึ้นรูปเป็นรูปอะไรก็ได้ตามที่ต้องการ ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยการเชื่อมท่อโลหะเหมือนสมัยก่อน น้ำหนักเบา แข็งแรง และซับกระจายแรงกระเทือนได้ดี ผู้ผลิตจึงเริ่มออกแบบจักรยานคาร์บอนที่เบาขึ้น ลู่ลมมากขึ้น และปั่นได้นุ่มสบายมากขึ้น จักรยานคาร์บอนคันแรกๆ ที่โด่งดังน่าจะเป็นรถ Time Trial ของ Lotus ที่คริส บอร์ดแมนใช้คว้าแชมป์โอลิมปิกในบาร์เซโลน่าปี 1992 ปัจจุบันที่เราไม่เห็นจักรยานทรงไฮเทคในการแข่งก็เพราะว่าสหพันธ์จักรยานนานาชาติหรือ UCI มีกฏตายตัวว่าจักรยานที่ใช้แข่งได้นั้นต้องมีหน้าตายังไง (สามเหลี่ยมสองรูปประกบกัน) จักรยานเสือหมอบส่วนใหญ่เลยมีหน้าตาไม่ต่างกันมากครับ จะต่างบ้างก็แค่รูปทรงท่อและดีไซน์เล็กๆ น้อยๆ ที่แต่ละค่ายเลือกใช้

 

Published
Categorized as Machine

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

2 comments

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *