เส้นทาง Tour de France ปีนี้ยากแค่ไหน?

Editor’s Note: โพสต์นี้เป็นตอนที่ 1 ของพรีวิว Tour de France โดย Ducking Tiger จากทั้งหมด 6 ตอนครับ ซึ่งจะประกอบด้วย

  1. พรีวิวเส้นทางการแข่งขัน
  2. กฏการแข่งขันที่ควรรู้ เงินรางวัล และเสื้อผู้นำทั้ง 4 ประเภท (เพื่อความสนุกในการติดตามรับชม!)
  3. วิธีการรับชมถ่ายทอดสด / ไฮไลท์
  4. วิเคราะห์ตัวเต็งแชมป์รายการ (GC Contender)
  5. วิเคราะห์ตัวเต็งสปรินเตอร์
  6. วิเคราะห์ตัวเต็งเจ้าภูเขา

กำหนดการแข่งขัน Tour de France: 2–24 กรกฏาคม

ตารางแข่งและลิงก์ถ่ายทอดสด: www.duckingtiger.com/live

* * *

พรุ่งนี้แล้วที่การแข่งขัน Tour de France ครั้งที่ 103 จะเริ่มเปิดฉากแข่งขันกัน มันคือสนามแข่งที่ทรงเกียรติที่สุดและเต็มไปด้วยนักปั่นชื่อดังระดับโลกหลายคน เป็นรายการที่พวกเรารอชมมากที่สุดก็ว่าได้

คริส ฟรูม (Sky) จะคว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 3 ได้หรือเปล่า? หรือจะเป็นไนโร คินทานา (Movistar) ที่เปลี่ยนอันดับ 2 สองสมัยเป็นอันดับ 1 ของรายการได้ในที่สุด หรือว่าคอนทาดอร์ (Tinkoff) เจ้าของผลงานแชมป์แกรนด์ทัวร์ 7 รายการจะกลับมาโชว์ฟอร์มแกร่งในตูร์ได้อีกครั้ง?

ในซีรีย์พรีวิวการแข่งขันของ Ducking Tiger ตอนแรกนี้เราจะมาวิเคราะห์เส้นทางทั้ง 21 สเตจที่นักปั่นต้องเผชิญครับ

Tour de France 2016: 2-24 กรกฏาคม
ระยะทาง 3,535 กิโลเมตร

TDF16_CARTE_1000

ภาพรวม

  • ตูร์ปีนี้เริ่มในประเทศฝรั่งเศส แต่เส้นทางจะผ่านสามประเทศเพื่อนบ้าน: ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ผู้จัดตูร์ เดอ ฟรองซ์ จัดสเตจแรกของการแข่งขันในประเทศเพื่อนบ้านถึง 5 ครั้ง สำหรับปี 2016 นี้ ASO กลับมาเริ่มการแข่งขันในฝรั่งเศสในแคว้นนอร์มังดี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
  • สเตจ 1 เริ่มกันที่ Mont-Saint-Michel เกาะเล็กๆ ที่งดงามในนอร์มังดี จากนั้นก็ลงไปทางใต้ผ่านเทือกเขาพีรานีส แล้วแวะไปสเปนและอันดอร์รา จากนั้นก็โยกเส้นทางไปทางตะวันออกเพื่อขึ้นเทือกเขาแอลป์และผ่านสวิสเซอร์แลนด์ สุดท้ายก็วนกลับเข้าปารีสเพื่อจบการแข่งขัน
  • ไฮไลท์ของรายการอยู่ที่ เส้นชัยบนยอดเขา 4 สเตจ และสเตจ Time Trial จับเวลาบุคคล 2 สเตจ: แน่นอนว่าสเตจที่ใช้ตัดสินเวลาผู้ชนะมักจะเป็นสเตจที่จบบนยอดเขา สัปดาห์แรกนักปั่นจะเจอเส้นชัยบนยอดเขาที่สเตจ 9 ในอันดอร์รา, สเตจ 12 บน Mont Ventoux, สเตจ 17 และสเตจ 19 ในเทือกเขาแอลป์
  • ส่วนสเตจจับเวลาเดี่ยวนั้นอยู่ที่สเตจ 13 และ สเตจ 18 ซึ่งเป็น TT แบบมีเนินเขาพอสมควรทั้งสองสเตจ 
  • จากทั้งหมด 21 สเตจ มี 7 สเตจทางราบ
  • 6 สเตจภูเขาสูงชัน (4 เส้นชัยบนยอดเขา)
  • 6 สเตจภูเขาปานกลาง
  • 2 สเตจจับเวลาบุคคล
  • 2 วันพัก (rest day)

 

แต่ละสเตจเส้นทางเป็นยังไงบ้าง?

Ducking Tiger จะพรีวิววิเคราะห์เส้นทาง Tour de France ทุกวันเหมือนที่เราทำมาตลอดสามปีที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้า เรามาวิเคราะห์เส้นทางกันแบบ stage by stage เพื่อดูเส้นทางโดยรวมครับ

Stage 1

Stage 1:

เริ่มด้วยเขาสองลูกสั้นๆ เพื่อชิงเสื้อ KOM ตัวแรกของรายการ ที่เหลือเป็นเส้นทางเลาะชายฝั่งนอร์มังดี และจบด้วยการสปรินต์ เป็นวันที่เครียดพอสมควรเพราะสปรินเตอร์อยากได้เสื้อเหลือง และตัวเต็ง GC ต้องป้องกันตัวเองสุดชีวิตไม่ให้ล้มตั้งแต่วันแรก

Stage 2

Stage 2:

อีกหนึ่งโอกาสในการแย่งชิงเสื้อเหลืองสำหรับคนที่ไม่ใช่สปรินเตอร์ ช่วงสุดท้ายมีเนินชัน สั้น 2 ลูกต่อๆ กันเหมาะกับนักปั่นสายคลาสสิคและสายระเบิดเนินเป็นอย่างดี เนินหน้าเส้นชัยยาว 700m สเตจนี้น่าดูครับ

Stage 3

สเตจ 3: ยาว แต่ไม่มีอะไรมากมาย น่าจะจบด้วยการสปรินต์

Stage 4

Stage 4:

สเตจนี้ยาวที่สุดในรายการ แต่ไม่มีอะไรมากเช่นกัน ช่วงสุดท้ายเป็นเนิน แต่ elevation ทั้งหมดไม่เกิน 270 เมตร และเป็นทางลงเขาให้สปรินเตอร์ได้โชว์ทีมลีดเอาท์กัน

Stage 5

Stage 5:

วันแรกของสเตจภูเขาในรายการนี้ ช่วงสุดท้ายนักปั่นต้องเจอเขาต่อๆ กันหลายลูก อารมณ์คล้ายๆ Liege-Bastogne-Liege และผ่านของฮีโร่ตูร์ในตำนานอย่างเรย์มอนด์ พูลิดอร์ด้วย (nerd check :D)

Stage 6

Stage 6:

อยู่บนเนินกันตั้งแต่เริ่ม เป็นทางโรลลิ่งนิดหน่อย แต่ก็น่าจะจบด้วยการสปรินต์ ค่อนข้างเรียบง่ายไม่หวือหวา

Stage 7

Stage 7:

แรงกดดันในตูร์สำหรับ GC เริ่มกันครั้งแรกในสเตจนี้ กับ Col d’Aspin ที่ยาว 12 กิโลเมตรและชันเฉลี่ย 6.5% เป็นเขาโหดลูกหนึ่งในพีรานีส และจบด้วยการลงเขาที่ GC ต้องโชว์ทักษะทั้งการปีนและการบังคับรถ

Stage 8

สเตจ 8:

สเตจนี้เคยใช้ใน Tour 2014 และนักปั่นจะได้ปีน Tourmalet อันโด่งดันกันด้วย เสียดายว่ามันดันเป็นเขาลูกแรกของวัน

Stage 9

Stage 9:

เราข้ามมาที่ประเทศอันดอร์ราและสเปนกับเขาระดับ Hors Category ที่เป็นเส้นชัย ที่สูงถึง  2,240 เมตร สเตจนี้เวลา GC จะเริ่มชัดเจนขึ้นแน่นอน

Stage 10

Stage 10:

สเตจแรกหลังวันพักและนักปั่นทิ้งพีรานีสไว้เบื้องหลัง เป็นวันพักขา หรือจะเป็นวันของสปรินเตอร์?

Stage 11

Stage 11:

จากการ์กาซอนไปมงเปลิเยร์ เส้นทางสุดคลาสสิคของตูร์ (ที่ไม่มีอะไรเลยระหว่างทาง) จบด้วยการสปรินต์ แต่ระหว่างทางนักปั่นอาจจะเจอกระแสลมแรงตัดกลุ่มได้เหมือนกัน

Stage 12

Stage 12:

อีกหนึ่งความคลาสสิค สเตจวันนี้ขึ้นมง วองตู หนึ่งในเขาที่ยากที่สุดในการแข่งขัน เราไม่ค่อยได้เห็นสเตจนี้ใช้บ่อยนักในตูร์ แต่มาเมื่อไรก็มีดราม่าให้ดูทุกปี

Stage 13

Stage 13:

Time Trial แรกของการแข่งขัน ที่น่าจะเหมาะกับทั้ง GC Contender และ TT Specialist แต่ไม่ใช่ทางราบสนิทนะ เพราะมีระยะปีนตั้ง 300 เมตร

Stage 14

Stage 14:

เข้าสู่แคว้นโรน ทางตะวันออกของฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อเรื่องไวน์ คงจบด้วยการสปรินต์ครับ

Stage 15

Stage 15:

โปรไฟล์ชันเป็นฟันปลาเลยทีเดียว เป็นสเตจขึ้นๆ ลงๆ ทั้งวันและน่าจะเหมาะกับเบรคอเวย์

Stage 16

Stage 16:

เข้าสู่สวิสเซอร์แลนด์ในเมือง Berne บ้านเกิดของเฟเบียน แคนเชอลารา! แต่เราเริ่มในเทือกเขาจูรา แต่ก็น่าจะจบด้วยการสรปินต์หละนะ

Stage 17

Stage 17:

วันนี้อยู่ในสวิสทั้งวัน เป็นเส้นชัยของ Criterium du Dauphine ในปี 2014 บนสันเขื่อน Emosson โหดหินแน่นอน

Stage 18

Stage 18:

Time Trial ครั้งที่สอง ขึ้นภูเขาเกือบทั้งสเตจ เป็นการจัดอันดับ GC ครั้งใหญ่อีกครั้งก่อนนักปั่นจะขึ้นเทือกเขาแอลป์

Stage 19

Stage 19:

อีกหนึ่งในสเตจเขาที่ยากพอสมควร ถึงจะไม่มีชื่อภูเขาที่เราคุ้น แต่วันนี้ไม่หมูแน่นอน เป็นวันที่จะมีผลกับอันดับ GC มากๆ ครับ

Stage 20

Stage 20:

สเตจภูเขาวันสุดท้ายของการแข่งขัน ซึ่งเป็นสเตจที่คินทานาเคยชนะใน Dauphine ตั้งแต่ปี 2012 ในเมือง Morzine ปีนี้เขาจะทำได้อีกครั้งมั้ย?

Stage 21

สเตจ 21:

สุดท้ายกลับเข้าสู่ปารีสเพื่อเฉลิมฉลองผู้ชนะเวลารวม และค้นหาสปรินเตอร์ที่เร็วที่สุดในรายการ (ถ้ายังมีแรงเหลืออยู่ lol)

โดยรวมแล้วเส้นทางตูร์ปีนี้ค่อนข้างบาลานซ์ ไม่หนักเขาเกินไปและไม่หนักสเตจทางราบเกินไป และมีสเตจ TT ที่ดูจะเหมาะกับคริส ฟรูมเป็นอย่างมาก ส่วนใครมีลุ้นได้แชมป์ DT จะมาวิเคราะห์กันต่อ แยกเป็นตัวเต็งสปรินเตอร์ นักไต่เขา และผู้ชิงอันดับเวลารวม

 

สเตจที่ไม่ควรพลาด

Stage 9: สเตจที่มีระยะปีนเขา 5,000 เมตร และจบในอันดอร์รา

Stage 12: จบบนยอดมง วองตู แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะดูตั้งแต่เริ่มจนจบกับภูเขาที่โด่งดังเป็นอันดับต้นๆ ในโลกนักปั่น คริส ฟรูมเคยชนะสเตจนี้ในปี 2013 ปีนี้เขาจะทำได้อีกหรือเปล่า?

Stage 15: วันโหดในเทือกเขาแอลป์ ภูเขาหกลูกกับระยะปีน 4,000 เมตร

Stage 17: สเตจที่จบบนยอดสันเขื่อน Emosson อีกหนึ่งสเตจเขาที่น่าจะมีผลกับอันดับเวลารวมพอสมควร

Stage 19: อีกหนึ่งสเตจที่ต้องปีนเขากันกว่า 4,000 เมตร โดยเฉพาะลูกสุดท้ายยาวกว่า 10 กิโลเมตร

Stage 20: สเตจภูเขาสุดท้ายที่จะใช้เฟ้นหาผู้ชนะการแข่งขัน ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

ติดตามชมถ่ายทอดสดได้ทุกวันพร้อมตารางแข่งที่ Duckingtiger.com/live ครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *