วิเคราะห์เส้นทางตูร์เดอฟรองซ์ 2019: “สูงเทียมเมฆ”

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ทาง ASO ได้ประกาศเส้นทางที่จะใช้แข่งตูร์ปีหน้า ระหว่างวันที่ 6–28 ก.ค. 2019 โดยจะเป็นการฉลองครบรอบ 100 ปีของเสื้อผู้นำสีเหลือง หรือ มาโย โชน อีกด้วย

พาดหัวที่สำคัญของเส้นทางปีหน้าคือ ภูเขาเยอะมาก, ไทม์ไทรอัลน้อยมาก, และไทม์ไทรอัลมาก่อนสเตจปีนเขา คงออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นนอกจาก คริส ฟรูม กับ ทอม ดูมูลาน ได้ลุ้นแชมป์กันบ้าง จะได้ไม่แบเบอร์กันเกินไป

พิพิธภัณฑ์อะตอเมี่ยม กรุงบรัสเซลส์
Photo by David Bruyndonckx on Unsplash

ในปี 2019 นี้ ตูร์จะไปออกสตาร์ทที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของฝรั่งเศส สเตจน่าจะจบด้วยการสปรินต์โดยมีแบ็คดร็อปเป็นแกรนด์ พาเลซ หรือจัตุรัสกลางเมืองบรัสเซลส์ คงสวยงามมากทีเดียว จากนั้นก็ต่อด้วยทีมไทม์ไทรอัลความยาว 27 กม. ในสเตจที่ 2 ซึ่งเส้นชัยอยู่ที่พิพิธภัณฑ์อะตอเมี่ยม อีกหนึ่งแลนด์มาร์คของกรุงบรัสเซลส์ แล้วเปโลตองค่อยปั่นข้ามชายแดนกลับสู่ฝรั่งเศสในสเตจที่ 3

สเตจ 6

สเตจภูเขาสเตจแรกจะมาในสเตจ 6 ซึ่งเริ่มที่เมืองมูลูส (Mulhouse) และจบบนยอดเขาลา พล็องช์ เด เบล ฟีล์ (La Planche des Belles Filles) ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกในตูร์เมื่อปี 2012 นี้เอง แต่จากนั้นก็ถูกใช้เป็นภูเขาลูกแรกของตูร์อีกบ่อยมาก หากใครจำได้ เมื่อปี 2012 นั้นคริส ฟรูม ชนะสเตจบนเขาลูกนี้ ส่วนแบรดลีย์ วิกกินส์ได้ถือครองเสื้อเหลืองจากที่นี่ไปจนถึงปารีส ปรกติที่ 100 เมตรก่อนถึงเส้นชัยของภูเขาลูกนี้จะชันประมาณ 20% แต่ดูเหมือนปีหน้ากรมทางหลวงของฝรั่งเศสจะตัดถนนให้ขึ้นสูงไปอีก ถนนน่าจะตัดตรงบริเวณที่แต่เดิมเป็นเส้นทางปีนเขา พอตัดเสร็จคงมี 20%++ มากกว่าแค่ 100 เมตรอย่างปีก่อน ๆ เป็นแน่

คริส ฟรูมเมื่อปี 2012 จังหวะก่อนเข้าเส้นชัยที่ยอดเขาลา พล็องช์ เด เบล ฟีส์ ไม่กี่วินาที

จากนั้นเปโลตองก็จะเดินทางลงใต้ไปเรื่อย ๆ ด้วยสเตจแบบโรลลิ่งและแบนราบสลับ ๆ กัน จนเข้าสู่วันพักที่ 1 หลังสเตจ 10

สเตจ 12

สเตจ 12 เส้นทางเข้าสู่หุบเขาไพรีนีสเป็นสเตจแรก เปิดมาด้วยโคล ดี เพรีซอร์ด (Col de Peyresourde) แต่ไม่ใช่เส้นชัย ต้องไปขึ้นเขาฮัวเค็ต ดองซิซอง (Hourquette d’Anzican) อีกลูกหนึ่งก่อน เมื่อกล่าวถึงเพรีซอร์ด ก็ต้องกล่าวถึง คริส ฟรูม อีกครั้ง เพราะเมื่อปี 2016 นี่คือภูเขาที่ฟรูมโจมตีตอนทางลง ด้วยการนั่งปั่นบนท่อบนอันโด่งดัง ก่อนจะคว้าเสื้อเหลืองที่ตีนเขาแล้วใส่ไปจนปารีสในปีนั้น อย่างไรก็ดี เส้นทางครั้งนี้ปั่นย้อนขึ้นเส้นที่ฟรูมปั่นลงมาได้แชมป์วันนั้น แต่ก็ไม่แน่ว่าฟรูมจะมีลูกเล่นอะไรมาแสดงให้เราดูได้อีก (ถ้าถึงตอนนั้นตกลงกับโธมัสได้แล้วว่าใครจะนำทีมนะ)

สเตจ 13

สเตจ 13 เป็นไทม์ไทรอัลเดี่ยวเพียงสเตจเดียวของตูร์ ระยะทาง 27 กม. เท่า TTT สเตจ 2 เส้นทางโรลลิ่งไม่มีภูเขาลูกใหญ่อะไร ฟอร์มตัวเต็งน่าจะยังค่อนข้างสดอยู่ทุกคน เพราะไม่ได้วางไว้สเตจ 19, 20 เหมือนปีก่อน ๆ ดังนั้นแชมป์สเตจไม่น่าพ้นบรรดาตัวปั่นไทม์ไทรอัลเก่ง ๆ ที่เรารู้จักกัน

สเตจ 14

สเตจ 14 คือเส้นทางร่วมสมัยอันเป็นที่นิยมสำหรับแกรนด์ทัวร์ในยุคหลัง ๆ คือเอาภูเขาหลาย ๆ ลูกมาอัดไว้ในสเตจสั้น ๆ ด้วยระยะทางเพียง 117 กม. เปโลตองจะต้องขึ้นเขาถึงสองลูก คือโคล ดู ซูลอร์ (Col du Soulor) และโคล ดู ทูร์มาเลต์ (Col du Tourmalet) หนึ่งในไอคอนตลอดกาลของตูร์เดอฟรองซ์ เส้นชัยสเตจนี้จบที่ยอดทูร์มาเลต์

สเตจ 15, 16, 17 เป็น “สเตจเปลี่ยนผ่าน” หรือ transitional stages ที่เปโลตองเคลื่อนจากไพรีนีสไปเทือกเขาแอลป์ สเตจเหล่านี้ก็มักตกเป็นของเบรคอเวย์เสียส่วนใหญ่

สเตจ 18

สเตจ 18 คือไฮไลต์และควีนสเตจของตูร์ครั้งนี้ ด้วยระยะทาง 207 กม. กับภูเขาระดับ hors categorie (HC) 3 ลูกซ้อนกัน คือโคล ดี วารส์ (Col de Vars), โคล ดีซวาร์ด (Col d’Izoard), และโคล ดู กาลิบิเอร์ (Col du Galibier) ทุกลูกล้วนสูงกว่า 2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เส้นทางนี้ย้อนรอยหนึ่งในสเตจตำนานเมื่อปี 2011 ที่ แอนดี้ ชเล็ค โจมตีกลุ่มตั้งแต่โคล ดีซวาร์ด ที่ 60 กม. จากเส้นชัย อาศัยเพื่อนที่เบรคอเวย์ไปก่อนหน้า 2 คนคอยรับส่งไม้ผลัดไปเรื่อย ๆ จนชนะสเตจที่ยอดกาลิบิเอร์ในที่สุด และแย่งชิงเสื้อเหลืองมาได้จากโธมัส โฟกแลร์ในตอนนั้น แม้ในปี 2019 เส้นชัยจะอยู่ที่ตีนเขากาลิบิเอร์ แต่การลงเขา 16 กม.นี้ไม่ได้ซับซ้อนนัก พริบตาเดียวก็จบ ดังนั้นใครที่ถึงยอดก่อนก็น่าจะชนะสเตจได้ไม่ยาก เว้นแต่จะดวงตกแบบอดัม เยทส์ปีนี้

แอนดี้ ชเล็ค โซโล่เดี่ยวตั้งแต่ 60 กม.จากเส้นชัย ข้ามเขาดีซวาร์ด จนมาชนะบนยอดเขากาลิบิเอร์เมื่อปี 2011
สเตจ 19

ต่อด้วยสเตจ 19 ซึ่งไม่ปล่อยให้นักปั่นได้พักแม้แต่น้อย ระยะทางเพียง 123 กม. แต่ไต่ระห่ำขึ้นโคล ดีเซรอง (Col d’Iseran) ซึ่งเป็นถนนตัดผ่านช่องเขาที่สูงที่สุดในยุโรป มีฉายาว่าราชันย์แห่งแอลป์ด้วยความสูงถึง 2,770 เมตรและอากาศที่เบาบาง เมื่อถึงยอดแล้วลงมา ก็ยังต้องไต่ขึ้นเมืองทิงญ์ (Tignes) ซึ่งอยู่สูงจากตีนเขาไปอีกประมาณ 600 เมตร หากสเตจเมื่อวานยังคัดคนออกได้ไม่ดีนัก ถึงวันนี้ใครที่ไม่ฟิตจริงน่าจะหลุดหลายนาที

สเตจ 20

คอมโบเทือกเขาแอลป์จบที่สเตจ 20 ซึ่งก็สั้นมากและไต่ไม่หยุดอีกครั้ง ด้วยระยะทางเพียง 131 กม. กับเขา 3 ลูก จบที่ยอดเขาวัล โธรังส์ (Val Thorens) ที่ความสูง 2,365 เมตร ระยะทางยาวถึง 33 กม. และชันเฉลี่ย 5.5% ก่อนที่สเตจ 21 จะเป็นพาเหรดเข้าสู่ปารีสครับ

สรุป

ตูร์เดอฟรองซ์ปี 2019 คือเส้นทางตูร์แบบคลาสสิค ภูเขาระดับไอคอนิคตบเท้ามากันหลายลูก แต่ปรับให้เข้ากับยุคสมัยด้วยสเตจสั้น ๆ และเร้าใจ เหมือนอัลบั้ม B5NOW15 สมาชิกเดิม เพลงคุ้นหู แต่เอามาคัฟเวอร์ใหม่ด้วยซาวน์ทันสมัย เช่นนั้นเราจึงเห็นแต่ภูเขาสูง ๆ ถนนดี ๆ และปลอดกิมมิคใด ๆ เหมือนปีที่ผ่านมาที่มีทั้ง grid-start, สเตจสั้นกุด 70 กม., ถนนหินรูเบซ์, และทางกรวดแบบสตราเดอะบิอังเค

เส้นทางผ่านภูเขาสูงเยอะมาก มีภูเขาที่สูงกว่า 2,000 เมตรถึง 7 ลูกด้วยกันซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ (ปรกติ 2–3 ลูก) ดูเอาอกเอาใจนักไต่เขามากกว่านักปั่นไทม์ไทรอัลพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอมโบเทือกเขาแอลป์ในสเตจ 18, 19, 20 ที่แทบไม่มีอารัมภบทใด ๆ คือธงลงปุ๊บ ระเบิดขึ้นเขาปั๊บ ทั้งสามวัน ไม่มีการวอร์มใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อรวมกับว่าระยะไทม์ไทรอัลเดี่ยวก็สั้นมากเพียง 27 กม. เท่านั้น จะเห็นได้ว่าครั้งนี้บรรดาตัวไต่เขามีลุ้นเสื้อเหลืองมากที่สุดในรอบหลายปี เพราะในช่วง 6–7 ปีมานี้ (ตั้งแต่ Team Sky ครองบัลลังก์) นักไต่เขาตัวเล็ก ๆ เสียเปรียบพวกนักไทม์ไทรอัลที่ขึ้นเขาได้อย่างมาก เพราะสเตจภูเขา นักไทม์ไทรอัลเอาเพื่อนร่วมทีมมาพาลากขึ้นไปได้ นักไต่เขาถ้าจะชิงเวลาได้ ก็ได้แค่หลักวินาที ในขณะที่สเตจจับเวลาเดี่ยว ต้องปั่นเองคนเดียว นักไต่เขาอย่าง คินทานา บาร์เดต์ พี่น้องเยทส์ ฯลฯ เสียเวลากันเป็นหลักนาที ยิ่งสเตจ TT ยาวเท่าไรก็ยิ่งเข้าทาง ฟรูม โธมัส ดูมูลาน โรจลิค ฯลฯ มากเท่านั้น

ทางขึ้นทูร์มาเลต์ สังเกตความคงที่ของสโล้ป

ปัญหาอีกอย่างคือภูเขาในฝรั่งเศสนั้น จะไพรีนีสก็ดี หรือเทือกเขาแอลป์ก็ดี ทางมักจะไม่ชันมาก และความชันค่อนข้างนิ่ง เช่น 5–7% และคงที่ เข้าทางนักปั่นไทม์ไทรอัลและการตั้งขบวนลากตามแบบ Sky อยู่แล้ว ไม่เหมือนเขาในอิตาลีกับสเปนที่เดี๋ยวชันเดี๋ยวไม่ชัน มี 10, 15, 20% เป็นช่วง ๆ ซึ่งจะเข้าทางพวกนักไต่เขาที่ถนัดยิงแล้วผ่อนแล้วยิงซ้ำมากกว่า

นวัตกรรมใหม่ครั้งนี้อีกอย่างคือ ASO เอาเวลาโบนัสไปไว้บนยอดเขาหรือยอดเนิน 8 ลูก จากที่แต่เดิมเวลาโบนัสจะอยู่ที่เส้นชัย ไม่ก็อยู่ระหว่างทางในสเตจทางราบ (intermediate sprint) ซึ่งทางผู้จัดก็คาดหวังว่าการเอาเวลาโบนัสไปไว้ยอดเขาที่ไม่ใช่เส้นชัยนี้จะกระตุ้นให้คนออกโจมตีกันแต่เนิ่น ๆ มากขึ้น เวลาโบนัสนี้จะมีให้ในสเตจ 3, 6, 8, 9, 12, 15, 18, และ 19

เห็นเส้นทางแล้วก็บอกได้ว่าน่าสนุกและน่าลุ้นครับ ใครจะลงจิโร ใครจะลงตูร์ แต่ผู้ชนะน่าจะเปิดกว้างกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา แถมต้องมาดูว่าสกายจะทำยังไงกับแชมป์ทั้งสองคนคือฟรูมกับโธมัสด้วย เพราะตอนนี้ทั้งสองคนก็ยืนยันแล้วว่าอยากลงตูร์ทั้งคู่ จึงขอให้ผู้จัดการทีมเป็นคนตัดสินใจ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *