Tour Focus: Mavic และรถซัพพอร์ทกลางที่ไม่มีใครสนใจ

เคยสงสัยไหมครับว่ารถซัพพอร์ทคันสีเหลืองๆ ที่มีโลโก้ Mavic ในงานแข่งขันจักรยานอาชีพหลายๆ รายการเขามีไว้เพื่ออะไร? คำถามนี้เป็นเรื่องที่มีคนถามเราเยอะที่สุดในช่วงการแข่ง Tour de France

ก็จะมีรถซัพพอร์ท “กลาง” ไปทำไมในเมื่อแต่ละทีมก็มีขบวนรถเซอร์วิสของตัวเองตามอยู่ตั้งหลายคันอยู่แล้ว? แต่ถึงจะมีรถทีมช่วยหลายคัน ก็ใช่ว่าจะตามนักปั่นได้ทุกคนและทุกสถานการณ์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ในการแข่งขันจักรยานอาชีพต้องมี “ซัพพอร์ทกลาง” ที่ไม่ขึ้นกับทีมไหน เป็นบริการจากผู้จัดแข่ง

ถึงแม้ 99% ของการแข่งนักปั่นจะไม่ได้ขอใช้บริการ (ส่วนใหญ่เลือกรอจักรยานหรือล้อสำรองจากทีมตัวเอง)​ แต่หากรถทีมติดอยู่หลังขบวนเปโลตอง หรือเกิดนักปั่นตัวเต็งของทีมที่อยู่ในเบรคอเวย์ดันรถพังบนทางขึ้นเขาสูงชัน ที่รถทีมยังไปไม่ถึง ก็มีรถซัพพอร์ทกลางนี่หละครับที่จะคอยช่วย เรียกได้ว่ามีไว้อุ่นใจกว่า

ลองนึกถึง Tour de France ปีที่แล้วที่คริส ฟรูม (Sky) ริชีย์ พอร์ท (BMC) และเบาเก้ โมเล็มม่า (Trek-Segafredo) ชนกันล้มบนทางขึ้นเขา Mt. Ventoux จนฟรูมจักรยานพัง ต้อง “วิ่ง” แทน เขาก็ได้จักรยานสำรองจาก Mavic ใช้ชั่วคราว เพราะรถเซอร์วิสทีม Sky อยู่ห่างกลุ่มไปมาก ถ้าฟรูมมัวแต่รอรถสำรองทีมตัวเองก็คงเสียเวลามากกว่านี้

ถามว่า Mavic เริ่มทำซัพพอร์ทกลางตั้งแต่เมื่อไร เราก็ต้องย้อนไปปี 1972 ในสนาม Criterium du Dauphine ซึ่งตอนนั้นประธานบริษัท Mavic บรูโน กอค์มังด์ ต้องให้โค้ชทีมหนึ่งในรายการนั้นยืมรถยนต์ส่วนตัว เพราะรถซัพพอร์ทของทีมพังกะทันหัน กอค์มังด์เลยได้ไอเดียว่ามันคงดีถ้าในทุกสนามแข่งจะมีรถเซอร์วิสกลางที่คอยช่วยเหลือเวลาที่นักปั่นคับขันและรถทีมตัวเองมาช่วยไม่ทัน

Mavic เริ่มทำซัพพอร์ทกลางตั้งแต่ตอนนั้นโดยตั้งชื่อทีมว่า “Mavic Special Service Course” นอกจากจะช่วยในสนามอาชีพแล้ว Mavic ยังไปซัพพอร์ทสนามแข่งระดับสมัครเล่นทั่วโลกปีละหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็น Etape du Tour, La Marmotte, Haute Route, Tour De L’Avenir, Tour du Hokkaido, งานแข่งกีฬามหาวิทยาลัยประจำปีของญี่ปุ่น และอีกนับสิบรายการ

และการเป็นซัพพอร์ทกลางในงานแข่งนั้น ก็เป็นที่มาของโลโก้สี เหลือง-ดำ ด้วย ถึง Mavic จะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1889 แต่ไม่ได้ใช้โลโก้ เหลือง-ดำจนปี 1973 ที่เขาเริ่มทำเซอร์วิสให้งานแข่ง

เหตุผลในการทำโลโก้เป็นสีเหลือง-ดำ ก็น่าสนใจไม่น้อยครับ ระหว่างที่ทำเซอร์วิสปีแรก กอค์มังด์ถามตากล้องประจำงานแข่งว่า

“สีอะไรให้คอนทราสต์จัดที่สุดในทีวี”?

ตากล้องตอบว่า

“เหลืองและดำ”

นอกจากจะมองเห็นได้ชัดในสนามแข่งแต่ไกลแล้ว สีเหลืองดำนี้ยังโดดเด่นเป็นพิเศษในทีวีด้วย! มันจึงเป็นต้นกำเนิดอัตลักษณ์เหลือง-ดำ ของ Mavic ตั้งแต่นั้นมา

งานที่ไม่มีใครขอบคุณ

การจะเป็นซัพพอร์ทกลางในงานแข่งนั้นไม่ง่าย ช่างเซอร์วิสต้องมีประสบการณ์ในการแข่งขัน นักปั่นและทีมแข่งคาดหวังว่าซัพพอร์ทกลาง (และทีมตัวเอง)​ ต้องทำหน้าที่ได้รวดเร็ว ถ้ายางรั่วก็ต้องเปลี่ยนล้อให้เสร็จในเวลาไม่กี่วินาที การประสานงานระหว่างรถมอเตอร์ไซค์เซอร์วิส รถยนต์ และผู้จัดแข่งเพื่อเลือกตำแหน่งและจังหวะในการออกตามนักปั่นที่กระจายตัวห่างกันหลายสิบกิโลเมตรก็ต้องแม่นยำพร้อมรับทุกสถานการณ์

ทางฝั่งผู้ขับมอเตอร์ไซค์ก็ไม่ได้มีแค่เตรียมอะไหล่สำรองให้นักปั่น แต่ยังต้องดูแลตากล้องที่รับหน้าที่บันทึกภาพการแข่งสดด้วย

ในวินาทีที่นักปั่นต้องการความช่วยเหลือกะทันหัน ความพร้อมของทีมเซอร์วิสเป็นตัวชี้วัดผลการแข่งขัน ในปี 2007 ที่สจ๊วต โอ’เกรดี้ เอซรายการคลาสสิคจากทีม CSC ยางแตกกลางป่าอาเรนเบิร์กในสนาม Paris-Roubaix เขาได้ทีม Mavic เข้าเปลี่ยนล้อให้อย่างรวดเร็ว จนเริ่มปั่นต่อและหนีไปคว้าแชมป์รายการได้สำเร็จ

ไม่ใช่แค่ล้อที่ Mavic เตรียมไว้ให้นักปั่น แต่ยังมีจักรยานด้วย ในสเตจ 16 Tour de France ปี 2010 จักรยานสำรองจาก Mavic ช่วยให้เยนส์ โฟ้ก (SaxoBank) แข่งต่อจนจบสเตจ – เขาล้มระหว่างทางลงเขาช่วงปลายสเตจ จนจักรยานพัง รถเซอร์วิสของทีมคันหน้าก็ดูแลแอนดี้ ชเล็ค เอซประจำทีมอยู่หน้ากลุ่ม ในขณะที่รถอีกคันตามเพื่อนร่วมทีมอยู่หลังเปโลตอง Mavic ตามมาหลังกลุ่มและเปลี่ยนจักรยานให้เยนส์ จนเขาปั่นต่อได้จนเข้าเส้นชัย (นักปั่นไม่สามารถลงแข่งวันต่อไปได้ถ้าปั่นไม่จบสเตจ)​

Mavic เตรียมอะไรให้นักแข่งบ้าง?

ในการแข่ง Tour de France ครั้งที่ 104 ปีนี้ Mavic ยังคงเป็นพาร์ทเนอร์กับ ASO เพื่อบริการช่วยเหลือนักแข่งทุกทีมในการแข่งขัน สิ่งที่ซัพพอร์ทกลางต้องเตรียมพร้อมก็จะมี

  • รถแฮทช์แบ็ค Skoda x3
  • รถมอเตอร์ไซค์ x1
  • จักรยานสำรอง Mavic (Canyon Ultimate CF SL) 6 คันต่อรถยนต์ 1 คัน (รวม 18 คัน)​
  • ล้อสำรอง 6 วงต่อรถยนต์ 1 คัน (รวม 18 วง)
  • ล้อสำรองจะคละกันระหว่างรุ่น Cosmic Ultimate, Cosmic Pro Carbon SL และ Comete Pro Carbon SL
  • ถ้ามีการใช้ดิสก์เบรคใน Tour de France, Mavic ก็มีล้อดิสก์ให้ใช้ และ

  • ในจักรยานสำรองทุกคันจะใช้หลักอานแบบ dropper post (ลดหรือเพิ่มความสูงได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหลักอาน หลักอานที่ใช้เป็นรุ่น KS Lev Integra 272 สามารถปรับความสูงขึ้น-ลง ได้ 65 มิลลิเมตร ช่วยลดเวลาในการปรับจูนรถสำหรับนักปั่นที่จำเป็นต้องใช้รถสำรองจาก Mavic
  • จากจักรยานสำรอง 6 คันในรถเซอร์วิสแต่ละคัน 3 คันจะถูกเซ็ตในฟิตของนักปั่นที่ได้อันดับเวลารวมดีที่สุด 3 คนแรกในสเตจนั้นๆ
  • รถสำรองอีก 3 คันจะติดตั้งบันได Look, Speedplay และ Shimano ถ้าจำเป็นต้องใช้บันไดอื่นก็เลือกจากรถอีก 3 คันที่เหลือ
  • ระหว่างการแข่งขัน ถ้ามีการใช้อะไหล่สำรองแล้ว รถแฮทช์แบ็ค หรือมอเตอร์ไซค์ อะไหล่หมด จะมีรถแวนของ Mavic อีกหนึ่งคันที่พร้อมเติมอะไหล่สำรองให้ครบพร้อมใช้ตลอดทั้งสเตจ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *