[dropcap letter=”จ”]บจาก Dubai Tour ปุ๊บ เราก็มี Tour of Qatar ให้ชมกันต่อเลย รายการนี้จะแข่งกันวันที่ 8–13 กุมภาพันธ์ ถามว่าต่างจาก Dubai Tour ยังไง? ต้องบอกว่าคล้ายๆ กันครับ Tour of Qatar เริ่มจัดมาก่อนนานพอสมควร ปีนี้จะแข่งกันเป็นครั้งที่ 14 แล้ว สไตล์การแข่งจะเป็นลักษณะสนามตะวันออกกกลางจริงๆ คือมีทางราบเป็นหลัก มีลมขวางรุนแรง และมักจะจบด้วยการสปรินต์ แถมมี time bonus ที่เส้นชัยด้วย เพราะงั้นน่าจะเป็นสนามที่สู้กันสนุก เพราะตัวเต็งส่วนใหญ่ที่มาลงเป็นนักแข่งสนามคลาสสิคครับ
เส้นทาง
รายการนี้แข่งกัน 6 สเตจ เป็นสเตจทางราบ 5 สเตจ และสเตจ Time Trial 1 สเตจ (สเตจ 3) และมี Time bonus ให้อันดับ 1–2–3 ของสเตจ 10–6–4 วินาที ส่วนที่จุดสปรินต์กลางสเตจ 3 คนแรกได้ 3–2–1 วินาที
จุดเด่น (มาก) ของรายการนี้ก็คือ crosswind หรือลมตีข้างที่ซัดเอากลุ่ม peloton แตกขบวนกันทุกปี เพราะงั้นถึงจะเป็นสเตจสปรินต์ แต่เบรคอเวย์ก็มีโอกาสชนะบ่อยทีเดียวถ้า peloton คำนวนเวลาจับพลาดหรือประมาทกระแสลม ผู้ชนะ 2 สเตจแรกปีที่แล้วก็ชนะด้วยการเบรคอเวย์
ดูแล้วคล้ายๆ การแข่งสนามคลาสสิคที่อากาศไม่หนาวครับ
ส่วนสเตจ Time Trial มีระยะทางแค่ 10.9 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งว่ากันแล้วอาจจะไม่เหมาะสำหรับเอซ TT ตัวโหดอย่างเซอร์วิกกินส์ ระยะสั้นขนาดนี้พวกสปรินเตอร์สายแข็งจะทำเวลาได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าจะให้นัก TT ตีกินสเตจเดียวแล้วหวังแชมป์รายการคงเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเรื่อง Time Bonus ที่สปรินเตอร์จะได้เปรียบในสเตจอื่นๆ โดยรวมแล้วถ้าอยากชนะรายการนี้ ก็ต้องเป็นคนที่มีลูกสปรินต์ Time Trial ได้บ้าง สู้กับกระแสลมได้ดี (หรือมีทีมที่มีประสบการณ์การแข่งในกระแสลมทั้งสวนและข้าง) ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวเต็งรายการคลาสสิควันเดียวครับ
ไม่แปลกใจว่าทำไม ทอม โบเน็นถึงได้แชมป์รายการนี้มา 4 ครั้งและเป็นแชมป์สเตจถึง 22 ครั้ง! และทำไมรายการนี้ถึงเต็มไปด้วยนักแข่งที่หวังแชมป์สนามคลาสสิคเดือนมีนา-เมษา! เพราะสนามนี้เป็นสนามวัดฟอร์มที่สำคัญมากสำหรับตัวเต็งครับ
ใครมีลุ้นชนะ? / Startlist
1. Etixx-Quickstep
ที่ใส่ชื่อทีม ไม่ใส่ชื่อคนก็เพราะว่าทีมนี้มีหัวหน้าสองคนที่เคยชนะรายการนี้มาแข่งด้วยกันครับ Quickstep เป็นแชมป์ Qatar 3 ปีซ้อน และเป็นแชมป์คนล่าสุดโดยนิกี้ เทิร์ปสตรา ซึ่งจะมานำทีมคู่กับทอม โบเน็น
รายการนี้เป็นเหมือนสวนหลังบ้านของโบเน็น เพราะเขาลงแข่งมาหลายต่อหลายครั้งและเป็นเจ้าของสถิตินักปั่นที่มีชัยชนะเยอะที่สุดในรายการนี้ ปีที่แล้วเทิร์ปสตรา เบรคอเวย์ชนะตั้งแต่สเตจ 1 และไม่เคยเสียเสื้อผู้นำเลยจนวันสุดท้าย อย่างไรก็ดีทั้งคู่อาจจะมีจุดอ่อนในสเตจ 3 ที่เป็นการแข่งจับเวลา ถ้าจะทำเวลาตรงนี้ได้ไม่ดี ทั้งโบเน็น และเทิรป์สตราต้องคุม peloton ให้อยู่หมัดทุกวัน ห้ามไม่ให้เบรคอเวย์ชนะ และต้องสปรินต์ติดโพเดี้ยมเก็บ Time Bonus
2. ปีเตอร์ ซากาน (Tinkoff-Saxo)
ว่ากันตามสเป็คแล้วซากานเป็นได้ถึงว่าที่แชมป์รายการครับ เพราะมีลูกสปรินต์ที่น่าจะเหนือกว่าทุกคนยกเว้น มาร์เซล คิทเทล และปั่น Time Trial ระยะสั้นได้ ดีมาก คุมรถเก่ง ไม่กลัวลม และอ่านเกมดี แถมปีนี้มีทีม Tinkoff ที่ขนผู้เชี่ยวชาญสนามคลาสสิคมาช่วย ซากานมากับแรงกดดันเพราะปีนี้เขาจำเป็นต้องชนะสนามคลาสสิคระดับ Monument ให้ได้ (Flanders, Roubaix) เพราะเรียกค่าตัว tinkoff ค่อนข้างแพง
คู่แข่งคนสำคัญของซากาน มาลงสนามนี้กันหมด ถ้าเขาได้อันดับดีก็จะช่วยสร้างความมั่นใจก่อนลงสนามคลาสสิคของจริงครับ ถึงเวลาแข่งจริงเขาอาจจะสปรินต์ไม่สู้ คิทเทล แต่ถ้าติดโพเดี้ยมทุกวัน แล้วทำเวลานำโบเน็น / เทิรป์สตราในสเตจ Time Trial ก็มีสิทธิคว้าแชมป์รายการได้ไม่ยาก
3. เซอร์วิกกินส์ (Sky) !
เหตุผลที่วิกกินส์เป็นคนที่นักปั่นทั้ง peloton ต้องให้ความเคารพ และจับตามอง ในทุกๆ ครั้งที่เขาประกาศเป้าหมาย ก็เพราะเมื่อเขาพูดแล้ว และตั้งใจแล้ว มีน้อยครั้งมากที่เขาจะทำไม่ได้ ยกตัวอย่างฤดูกาล 2012 ที่เขากวาดแชมป์ตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี รวมถึงแชมป์ Tour de France และเหรียญทองโอลิมปิก
ปีนี้วิกกินส์บอกว่าจะเอาแชมป์ Paris-Roubaix DT ว่าโบเน็นและแคนเชอลารานี้เหลียวหลังก่อนเพื่อนเลย ถ้าวิกกินส์ลงสนามด้วยฟอร์มที่ค่อนข้างดี เขาน่าจะชนะสเตจ 3 ได้ไม่ยาก และน่าจะทิ้งห่างเวลาคู่แข่งได้เยอะด้วย แต่อย่างว่า สนามนี้เป็นสนามแรกของวิกกินส์ในฤดูกาลนี้ ฟอร์มก็อาจจะยังไม่ถึงกับ 100% และถ้าเจอสปรินเตอร์ชิง time bonus ได้ทุกสเตจ แชมป์รายการคงไม่ง่ายครับ
4. ฟิลลิป จิลแบร์ (BMC), ลาร์ส บอม (Belkin), เฟเบียน แคนเชอลารา (Trek), บอสซัน ฮาเกน (MTN)
ทั้ง 4 คนไม่ได้มีคาแรคเตอร์เด่นที่เหมาะกับการชนะรายการเหมือนโบเน็น และเทิรป์สตราเพราะไม่มีลูกสปรินต์ (ยกเว้นบอสซัน ฮาเก็น) และไม่ได้มีผลงานเด่นในสนามนี้มาก่อน
แต่ทุกคนที่กล่าวชื่อมีศักยภาพพอที่จะชนะรายการได้ครับ จิลแบร์สปรินต์ได้ระดับหนึ่ง TT สั้นๆ ได้ดี (เขาเคยเป็นแชมป์ TT เบลเยี่ยมสมัย) บอมก็ดูฟอร์มดี ส่วนแคนเชอลารามักจะเริ่มเห็นฟอร์มแน่นๆ ประมาณกลางเดือนมีนาคม
4. The EBH Factor
คนที่น่าจับตามองน่าจะเป็นเอ็ดวาลด์ โบสซัน ฮาเก็น (MTN) นักปั่นจากนอร์เวย์ ที่เพิ่งย้ายมาจาก Sky เรื่องของ EBH (ชื่อย่อเขา) นี่เศร้าครับ EBH เป็นคนที่ถูกขนานนามว่าเป็น The New Eddy Merckx เพราะสปรินต์ได้ แข่งคลาสสิคได้ และไต่เขาก็ไม่แย่ แถมมีผลงานยอดเยี่ยมตอนเริ่มเปิดตัว เก็บแชมป์สเตจ Tour de France ให้ Sky ถึงสองสเตจ เรียกได้ว่าเหมาะกับ Tour of Qatar สุดๆ
ถ้าคุ้นๆ กับนักปั่นลักษณะนี้ก็ไม่แปลก เพราะเขามีสไตล์การแข่งแบบเดียวกับปีเตอร์ ซากาน เพียงแค่ว่า ซากานประสบความสำเร็จกลายไปเป็นหัวหน้าทีม แต่ EBH กับฟอร์มแย่ลงทุกวัน และเป็นได้แค่ซุปเปอร์ โดเมสติกในทีม Sky
จนในที่สุด Sky ตัดสินใจไม่จ้างเขาต่อ จน EBH ต้องเลื่อนลงมาอยู่ดิวิชันสองกับทีม MTN-Qhubeka ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าฟอร์มเขาเป็นยังไง แข่งกันสักสองสเตจแล้วคงเห็นชัด แต่เป็นคนที่ผมอยากรู้ว่าเขาจะ “ รีเทิร์น” กลับมาเป็นนักปั่นที่โดดเด่นที่สุดใน peloton ได้เหมือนเมื่อ 4 ปีก่อนหรือเปล่า
5. แล้วสปรินเตอร์หละ?
พอบอกว่าทุกสเตจเป็นทางราบ ก็ต้องนึกถึงสปรินเตอร์กันก่อน แต่เพียวสปรินเตอร์มักไม่ค่อยชนะรายการนี้ ติดตรงที่ต้องสู้กับกระแสลม ซึ่งถ้าไม่มีทีมที่เชี่ยวชาญก็อาจจะมีพลาดหลุดกลุ่มเสียเวลาให้คู่แข่งได้ครับ อย่างไรก็ดี สนามนี้ถือว่ารวมดาวสปรินเตอร์เหมือนกัน
มาร์เซล คิทเทล (Giant), ซาชา โมโดโล (Lampre), อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha), เนเซอร์ บูฮานี (Cofidis) และอาร์นอดร์ด เดอแมร์ (FDJ) คือตัวเต็งที่น่าจับตามอง คิทเทลอาจจะมีภาษีดีกว่าตรงที่สปรินต์ได้ไวกว่าเพื่อน และ Time Trial สั้นๆ ได้ไม่เลวครับ Giant ก็น่าจะยก A Team เทพลีดเอาท์มาด้วย ผิดกับที่ส่งไปช่วยเดเกนโคลบ์ใน Dubai Tour ที่นำเอซได้ไม่ดีเลย
หมอดู DT
ใครจะได้แชมป์? DT เดาว่าคงเป็นใครคนหนึ่งจาก Quickstep หรือไม่ก็ปีเตอร์ ซากานครับ คิทเทลอาจจะมีลุ้นถ้าหัวลากเป็นงาน แต่อย่าประมาทคริสทอฟ, บอม, EBH และวิกกินส์ละกัน ☺
ถ่ายทอดสด
เช็คลิงก์และตารางถ่ายทอดสดได้ที่ www.duckingtiger.com/live ครับ รายการนี้ Eurosport ไม่ถ่าย เพราะงั้นต้องดูผ่านเน็ตอย่างเดียว (สำหรับคนที่ดู Eurosport ผ่านเคเบิลท้องถิ่น) จะแข่งกันประมาณ 19:00–21:30 ทุกวันครับ
***