เมื่อไม่กี่วันก่อน ช่อง UCI (สหพันธ์จักรยานนานาชาติ) ทาง YouTube ได้เผยแพร่วิดิโอแนะนำการแข่งขันจักรยานลู่เพื่อโปรโมตการแข่งขัน UCI Track Cycling World Championships ที่จะถึงในวันที่ 2-6 มีนาคมนี้ที่ Lee Valley VeloPark กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
แต่ละคลิปจะอธิบายวิธีการแข่งขันและวิธีตัดสินผลแพ้ชนะของจักรยานลู่ประเภทต่าง ๆ DT เห็นว่าจักรยานลู่นั้นเป็นกีฬาพี่กีฬาน้องของจักรยานถนน โปรจักรยานถนนที่เก่ง ๆ หลายคนก็โตมาในเวโลโดรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรอังกฤษกับโปรออสเตรเลีย เพราะเป็นประเทศที่จักรยานลู่เป็นที่นิยมและได้รับการสนับสนุนมาก แต่เพื่อน ๆ ผู้อ่านบางคนอาจจะยังไม่รู้จักกีฬานี้มากนัก และอาจจะไม่เข้าใจถึงกฏและวิธีการแข่งขันในแต่ละแบบ ในแต่ละคลิปที่ UCI ทำมานั้นอธิบายได้เข้าใจง่ายและกระชับ เราเลยนำวิดิโอดังกล่าวมาบอกต่อพร้อมขยายความเป็นภาษาไทยครับ
1. Individual Sprint หรือ Match Sprint
คือการแข่งจักรยานลู่แบบคลาสสิค และเป็นหนึ่งในรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด ระยะแข่งขัน 750 เมตร หรือ 3 รอบ โดยออกสตาร์ทจากที่เดียวกัน ใครถึงเส้นชัยก่อนชนะ
ฟังดูเหมือนง่ายและอาศัยแต่พละกำลังอย่างเดียว แต่สปรินต์เป็นการแข่งชิงไหวชิงพริบพอ ๆ กับแข่งแรงขา เพราะจักรยานลู่ต่างจากกรีฑาประเภทลู่อื่น ๆ ตรงมีปัจจัยเรื่องแอโรไดนามิกส์มาเกี่ยวข้องด้วย ใครโดนล็อกอยู่หลังล้อก็จะโดนแซงหน้าเส้นได้ง่าย ๆ ดังนั้นจะไม่ค่อยเห็นผู้เข้าแข่งขันพุ่งตัวออกจากเส้นสตาร์ทให้เร็วที่สุด ในทางกลับกัน นักกีฬาทั้งสองฝ่ายจะปั่นช้ามากและพยายามไล่บี้ให้อีกฝ่ายปั่นนำหน้า เพื่อหวังเร่งจากด้านหลังไม่ให้ทันตั้งตัว หรือให้อยู่ด้านในของลู่ เพื่อจะอาศัยความชันของลู่ด้านนอกเพิ่มอัตราเร่งหน้าเส้น บ่อยครั้งที่การเล่นไล่จับนี้จะช้าจนทั้งสองฝ่ายหยุดปั่นเพื่อดูเชิงฝ่ายตรงข้าม อันเป็นที่มาของทริกแทร็กสแตนด์นั่นเอง การสปรินต์จริง ๆ จะเริ่มในรอบสุดท้าย หรือประมาณ 200 เมตรหน้าเส้น
สำหรับการคัดเลือกผู้แข่งเข้ารอบนั้นอาศัยการปั่นจับเวลา 200 เมตรทีละคน เรียกว่า Flying Lap คือไม่ได้เริ่มจากหยุดนิ่ง แต่จะให้สะสมความเร็วก่อน 1-3 รอบ แล้วค่อยจับเวลาระยะ 200 เมตรสุดท้าย คนที่ปั่นได้เร็วที่สุด 16 คนจะได้เข้ารอบน็อกเอาท์ จากนั้น 16 คนนี้จะจับคู่กันโดยเอาที่ 1 แข่งกับที่ 16 และที่ 2 แข่งกับที่ 15 และไล่ลงไปเรื่อย ๆ และตั้งแต่รอบก่อนรองชนะเลิศเป็นต้นไป (8 คน) เมื่อจับคู่กันแล้วจะเปลี่ยนมาแข่งเอาชนะ 2 ใน 3 ตาแทนตาเดียว
2. Individual Pursuit
เป็นการแข่งระหว่างสองคนที่เริ่มตรงข้ามฝั่งสนามกัน โดยมีระยะแข่งขัน 4 กม. (16 รอบ) สำหรับประเภทชาย หรือ 3 กม. (12 รอบ) สำหรับประเภทหญิง ผู้ชนะคือคนที่ไล่จับฝ่ายตรงข้ามได้ หรือปั่นครบระยะได้เร็วกว่า
individual pursuit เป็นการแข่งขันสั้น ๆ ที่อาศัยการออกแรงมหาศาลทั้งแบบแอโรบิคและแอนแอโรบิค คุณสมบัตินี้เองทำให้นักกีฬาที่เก่งเพอร์ซูต์มักจะเก่งจักรยานถนนด้วย เช่น เจ้าของสถิติโลกในปัจจุบันคือ Jack Bobridge (Trek-Segafredo) จากออสเตรเลีย ซึ่งใช้เวลา 4 นาที 10 วินาที ซึ่งคิดเป็นความเร็วถึง 57.6 กม./ชม. เป็นเวลากว่า 4 นาที แชมป์โลกคนปัจจุบันคือ Stefan Küng (BMC) จากสวิตเซอร์แลนด์ และแชมป์โอลิมปิกคนล่าสุดคือ Sir Bradley Wiggins (2008)
Edit 2021: เจ้าของสถิติโลกปัจจุบันคือ ฟิลิปโป แกนนา ด้วยเวลา 4 นาที 1.934 วินาที ส่วนแจ็ค บ็อบบริดจ์ตอนนี้เข้าคุกไปแล้วเพราะหลังรีไทร์ถูกจับข้อหาเสพยาเสพติดเช่นโคเคนและยาอี ส่วนแบรดลีย์ วิกกินส์ จะเป็นแชมป์โอลิมปิกคนสุดท้ายของประเภทนี้ไปอีกนานแสนนาน เพราะ individual pursuit ถูกถอดออกจากโอลิมปิกตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา (เหลือเฉพาะในชิงแชมป์โลก)
3. Team Pursuit
กติกาและระยะทางเหมือนกับอินดิวิดวล เพอร์ซูต์ ต่างกันแค่แข่งกันเป็นทีม ทีมละ 4 คน และประเภทหญิงเพิ่มระยะทางมาเป็น 4 กม. เท่าประเภทชาย เวลาเข้าเส้นจะนับที่ล้อหน้าของคนที่สาม ดังนั้นในทีมจะมีหัวลากหนึ่งคนที่ออกแรงมากในช่วงแรกและไม่ได้เข้าเส้นพร้อมอีกสามคนที่เหลือ
สำหรับสถิติโลกทีมเพอร์ซูต์ในปัจจุบันคือ 3 นาที 51 วินาที สร้างไว้โดยทีมชาติอังกฤษซึ่งประกอบด้วย Ed Clancy, Steven Burke, Peter Kennaugh (Sky), และ Geraint Thomas (Sky)
Edit 2021: สถิติโลกประเภทชายปัจจุบันคือ 3 นาที 42.032 วินาที โดยทีมชาติอิตาลี ขณะแข่งชิงเหรียญทองโอลิมปิก 2020 ที่อิซุเวโลโดรม สมาชิกทีมประกอบด้วย ซิโมน คอนซอนนิ, ฟิลิปโป แกนนา, ฟรานเชสโก ลาโมน, และ โจนาธาน มิลาน
สถิติโลกประเภทหญิงปัจจุบันคือ 4 นาที 7.307 วินาที โดยทีมชาติเยอรมนี ขณะแข่งชิงเหรียญทองโอลิมปิกเช่นกัน หนึ่งวันก่อนหน้าประเภทชาย สมาชิกทีมประกอบด้วยฟรานซิสกา เบราเซอ, ลิซา เบรนเนาเออร์, ลิซา ไคลน์, และ มีเคอ เครอเกอร์
4. Team Sprint
ชื่อคล้ายแมตช์สปรินต์ แต่จริง ๆ แล้วกติกาไม่เหมือนกัน โดยทีมสปรินต์นั้นใช้ 2 ทีม ทีมละ 3 คนแข่ง 3 รอบ (ชาย) หรือ 2 คนแข่ง 2 รอบ (หญิง) สำหรับประเภทชายคนที่หนึ่งนั้นต้องฉีกออกข้างเมื่อครบ 1 รอบ คนที่สองเมื่อครบ 2 รอบ และคนที่สามเข้าเส้นชัยคนเดียว ส่วนประเภทหญิงก็คนที่หนึ่งฉีกออกข้างเมื่อครบ 1 รอบ และคนที่สองเข้าเส้นชัยคนเดียว แต่ละทีมจะเริ่มสตาร์ทจากคนละฝั่งสนามกันเหมือนการแข่งเพอร์ซูต์ ทีมที่ชนะคือทีมที่ใช้เวลาน้อยกว่า
5. Time Trial
เป็นการแข่งจับเวลาตรงไปตรงมาครับ โดยมีระยะแข่งขัน 1 กม. (ชาย) หรือ 500 ม. (หญิง) แข่งทีละ 1 คน ผู้ชนะคือคนที่ใช้เวลาน้อยที่สุด
6. Keirin
เป็นการแข่งที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อการพนันในประเทศญี่ปุ่นคล้ายการแทงม้า คำว่าเคริน (競輪) แปลตรงตัวว่า “แข่งล้อ” โดยมีระยะแข่งขันคือ 2 กม. (8 รอบ) ผู้เข้าแข่งขัน 6-9 คน (ญี่ปุ่น) หรือ 3-7 คน (นานาชาติ) เริ่มออกสตาร์ทโดยมีจักรยานติดมอเตอร์ (derny) หรือมอเตอร์ไซค์นำขบวน ในระยะ 1400 ม.แรก จักรยานนำขบวนจะค่อย ๆ เพิ่มความเร็วจาก 30 เป็น 50 กม./ชม. (ชาย) หรือ 25 เป็น 45 กม./ชม. (หญิง) เมื่อครบ 1400 ม. (ประมาณ 5 รอบครึ่ง) แล้วผู้นำขบวนจะหลบออกข้างลู่และให้ผู้แข่งแข่งกันสปรินต์เข้าเส้นอีก 600 ม. ที่เหลือ ในระดับโลก ความเร็วเข้าเส้นจะอยู่ที่ประมาณ 70 กม./ชม.
7. Madison
เป็นการแข่งที่ถือกำเนิดขึ้นที่ Madison Square Garden ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ดั้งเดิมแข่งกันทั้งวันทั้งคืน ทีมละ 2-3 คน แต่ผลัดกันแข่งทีละคน อีกคนที่ไม่ได้แข่งสามารถไปหาอะไรกินหรือนอนหลับข้างสนามได้เลย
แต่ในรูปแบบที่แข่งกันในโอลิมปิกหรือชิงแชมป์โลกจะกระชับกว่านั้น มีระยะแข่งขันคือ 50 กม./200 รอบ (ชาย) และ 30 กม./120 รอบ (หญิง) ส่วนผู้เข้าแข่งขันแข่งเป็นทีม (สูงสุดทีละ 18 ทีม) ทีมละ 2 คน แต่นับเวลาทีละ 1 คนเท่านั้น คนที่พักอยู่จะปั่นช้า ๆ อยู่ด้านบนของแบงกิ้งเพื่อรอลงมาเปลี่ยนตัว ผู้เข้าแข่งขันต้องตกลงกันเองว่าแต่ละคนจะปั่นกี่รอบ การเปลี่ยนตัวต้องสัมผัสกัน มักใช้การจับมือและเหวี่ยงเพื่อนร่วมทีมไปข้างหน้า (เรียก handsling; ทำได้เฉพาะเวลาแข่ง Madison ห้ามทำเวลาแข่งจักรยานถนน ผิดกติกา) แล้วคนก่อนหน้าก็ขึ้นไปพักด้านบนของลู่แทน
ในทุก ๆ 10 รอบจะมีแข่งสปรินต์กัน โดย 4 ทีมแรกจะได้ 5, 3, 2, 1 แต้มตามลำดับ นอกจากนี้การน็อครอบกลุ่มแล้วกลับมาต่อท้ายแถวจะทำให้ทีมนั้นได้ 20 แต้ม การแข่งขันจะสิ้นสุดลงเมื่อมีทีมที่ปั่นครบ 200 รอบ และการสปรินต์ครั้งสุดท้าย แจกแต้มคูณสอง ผู้ชนะคือทีมที่ปั่นได้จำนวนรอบมากที่สุด หากจำนวนรอบเท่ากันให้ตัดสินด้วยจำนวนแต้ม หากแต้มเท่ากันให้ตัดสินที่ลำดับเข้าเส้นในรอบสุดท้าย
การที่กติกาแจกแต้มได้สองแบบ คือสปรินต์หน้าเส้น กับน็อครอบกลุ่ม ทำให้สูตรสร้างทีม Madison ที่ดีคือการเอากับสปรินเตอร์เก่ง ๆ มาจับคู่กับนักปั่นไทม์ไทรอัลเก่ง ๆ เช่น ทีมอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากคือ มาร์ค คาเวนดิช (แข่งสปรินต์) จับคู่กับ แบรดลี่ วิกกินส์ (พยายามน็อครอบกลุ่ม) หรือทีมเดนมาร์กที่ก็ประสบความสำเร็จมากเช่นกันคือ ไมเคิล เมอร์เคิว (สปรินต์) จับคู่กับ ลารส์ นอร์มัน ฮันสเซน (นักปั่นไทม์ไทรอัล)
8. Scratch Race
เป็นการแข่งที่คล้ายจักรยานถนนมากที่สุด โดยมีระยะแข่งคือ 15 กม. (ชาย) หรือ 10 กม. (หญิง) แข่งแบบบุคคลเดี่ยวสูงสุด 24 คนพร้อมกัน ใครเข้าเส้นชัยก่อนชนะ นักปั่นประเภทเอนดิวรานซ์มักพยายามเบรคอเวย์เพื่อโซโล่เข้าเส้น ส่วนนักปั่นประเภทสปรินเตอร์มักเกาะกลุ่มรอรอบสุดท้าย
9. Points Race
เป็นการแข่งที่ลักษณะคล้ายแข่ง intermediate sprint ในไครทีเรี่ยมของจักรยานถนน คือมีระยะแข่ง 40 กม. (160 รอบ) สำหรับประเภทชาย และ 25 กม. (100 รอบ) สำหรับประเภทหญิง ทุก ๆ 10 รอบจะดวลสปรินต์กัน ลำดับที่ 1-4 ได้แต้ม 5, 3, 2, 1 ตามลำดับ ใครที่น็อกรอบกลุ่มได้จะได้โบนัส 20 แต้ม การแข่งขันจะสิ้นสุดลงเมื่อมีผู้ปั่นครบระยะ โดยคนที่แต้มสะสมมากที่สุดเป็นผู้ชนะ
การมีแต้มโบนัสทำให้แทคติกการแข่งนั้นหลากหลาย เพราะนอกจากการหมกกลุ่มเพื่อรอสปรินต์แล้ว ผู้เข้าแข่งขันบางคนอาศัยการเบรคอเวย์ร่วมกัน 4-5 คนเพื่อเก็บโบนัสแทน
10. Omnium
มาจากภาษาละตินแปลว่า “สำหรับทุกคน” เป็นการแข่งคล้ายทัวร์นาเมนต์เก็บแต้ม ใช้เวลาแข่ง 2 วัน โดยประกอบด้วยการแข่งย่อยแบบต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นรวมกัน 6 แบบ ดังนี้
- Scratch Race (เหมือนด้านบน)
- Individual Pursuit (เหมือนด้านบน)
- Elimination: ทุก ๆ 2 รอบ ใครที่เข้าเส้นช้าสุด จะถูกคัดออกทีละ 1 คน ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือไม่กี่คนแล้วให้แข่งกันสปรินต์เข้าเส้น เป็นการแข่งที่ใช้ไหวพริบมากเพราะปั่นอยู่หน้าสุดตลอดเวลาก็เปลืองแรงเปล่า ปั่นอยู่ท้าย ๆ ก็เสี่ยงโดนคัดออก ดังนั้นต้องอยู่ตรงกลาง ๆ ให้ได้ตลอด ซึ่งยากมาก
- Flying Lap: ปั่นจับเวลา 200 เมตร โดยให้สะสมความเร็วมาก่อน วิธีเดียวกับที่ใช้คัดเลือกผู้เข้ารอบ match sprint (อ่านด้านบน)
- Time Trial (เหมือนด้านบน)
- Points Race (เหมือนด้านบน)
ผู้ที่ชนะแต่ละรายการย่อยได้ 40 แต้ม ลำดับที่สองได้ 38 แต้ม ลำดับที่สามได้ 36 แต้ม และลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อจบ 6 รายการ คนที่สะสมแต้มได้มากที่สุดเป็นผู้ชนะ ซึ่งมักเป็นคนที่ปั่นได้ดีในทุกรูปแบบ ไม่มีจุดอ่อน แต่ไม่โดดเด่นไปทางใดทางหนึ่ง
Edit 2021: ออมเนียมเปลี่ยนไปเยอะมากในปี 2021 มีสามรายการถูกถอดออก คือ individual pursuit, flying lap, และ time trial และมีหนึ่งรายการใหม่ถูกใส่เข้ามา เรียก Tempo Race กติกาดังนี้
แข่งกัน 10 กม./40 รอบ (ชาย) และ 7.5 กม./30 รอบ (หญิง) ตั้งแต่รอบที่ 5 ไปจนถึงรอบสุดท้าย คนที่เข้าเส้นคนแรกจะได้ 1 คะแนน ว่าง่าย ๆ คือ 1 รอบแจก 1 คะแนน และระหว่างแข่งถ้าใครน็อครอบกลุ่มได้ จะได้ 20 คะแนน ถ้าใครหลุดกลุ่มแล้วโดนกลุ่มน็อครอบ จะเสีย 20 คะแนน คะแนนเหล่านี้ไม่เอาไปรวมกับแต้มออมเนียม มีไว้คำนวณลำดับนักปั่นสำหรับรายการย่อยนี้เฉย ๆ เช่นถ้าคนชนะที่ 1 ได้ 9 คะแนน ก็ได้ 40 แต้ม ไปรวมกับแต้มรายการย่อยอื่น ๆ เป็นต้น
นั่นหมายความว่า การแข่งออมเนียมในปี 2021 ไม่มีรายการที่ปั่นคนเดียวแล้วสักรายการเดียว ทั้ง 4 รายการเป็นการปั่นกลุ่มทั้งหมด
* * *