คุยกับน้องฟี่ ตุลธร โสสลาม หลังคว้าแชมป์เสือหมอบเอเชียรุ่นเยาวชนหมาด ๆ

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีดาวรุ่งเยาวชนทีมชาติไทยแจ้งเกิดบนเวทีสากลหนึ่งคน ด้วยการเป็นถึงแชมป์จักรยานถนนเอเชีย เอาชนะยักษ์ใหญ่ในวงการอย่างเอเชียกลางและเอเชียตะวันออกไกลได้ทั้งหมด น้องคนนี้ชื่อว่า “น้องฟี่ ตุลธร โสสลาม”

หลังคว้าแชมป์กลับมาจากทาชเคนต์ เมืองหลวงของประเทศอุซเบกิซถาน ทาง Team Bike สปอนเซอร์จักรยานของน้องฟี่ ก็รีบชวนมาแห่เสื้อแชมป์รอบสกายเลนโดยไม่รอช้า พร้อมชวนเราไปพูดคุยและทำความรู้จักกับดาวรุ่งคนเก่งอนาคตไกลคนนี้ทันที

แต่เมื่อไปถึงสนาม เรากลับต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าคนที่พาน้องฟี่มานั้นคือ “พี่บัง บัณฑิตย์ โสสลาม” ผู้เป็นทั้งคุณพ่อและอดีตแชมป์สเตจ Tour of Thailand ในวันวานที่พี่บังยังเป็นนักแข่งอาชีพอยู่ เราจึงไม่รอช้า สัมภาษณ์ทั้งคุณพ่อคุณลูกเสียเลย

เมื่อได้พูดคุยกัน จึงได้ทราบว่าน้องฟี่นั้นเป็นลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นจริง ๆ เพราะนอกจากคุณพ่อเคยเป็นนักจักรยานอาชีพแล้ว คุณแม่ของฟี่เองก็เป็นนักจักรยานเช่นกัน การที่น้องเติบโตในครอบครัวแบบนี้ ยีนดียืนหนึ่งแน่นอน การันตีด้วยเหรียญทองเอเชียแบบหลุดเดี่ยว เข้าเส้นคนเดียวถึง +33″ แถมยังได้เหรียญเงินประเภทไทม์ไทรอัล (รุ่นเยาวชน) อีกด้วย

“เท่าที่รู้ ประเทศไทยเราไม่เคยได้โพเดี้ยมเยาวชนเอเชียเลยนะ นี่เหรียญแรก แล้วเป็นเหรียญทองเลย” พี่บังเล่าอย่างอดยิ้มไม่ได้ ฟังแล้วก็คิดตามว่าถ้าเป็นตัวเอง ก็คงยิ้มกว้างไม่แพ้พี่แน่ ๆ

“ตั้งแต่เล็ก ๆ ผมก็ชวนปั่นจักรยานตั้งแต่ ป.4 เห็นว่าพอปั่นได้ บวกกับเห็นมันติดเกมมาก พอม.1 ผมเลยส่งมันไปหาโค้ชจอร์จที่กาฬสินธุ์ซะเลย” (โค้ชจอร์จ คือ ดาบตำรวจสุริยันต์ พลอาจทัน คุณพ่อของคุณโชเอะ ปฐมภพ พลอาจทัน)

แล้วเราก็หัวเราะกันร่า

“เรื่องการฝึกซ้อมนี่ผมเชื่อใจและยกให้โค้ชจอร์จดูแลไปเลย ผมจะเจอมันเฉพาะตอนมันกลับมาบ้านจากการเก็บตัวแค่นั้น ก็จะช่วยเซอร์วิสจักรยานให้”

หลังจากนั้นผมถามพี่บังถึงเส้นทางชีวิตนักจักรยานในบ้านเรา ทั้งตัวพี่บังเองและอนาคตของฟี่จนปั่นครบสองรอบ เราก็มานั่งพักคุยกับน้องฟี่กันต่อ

DT: แนะนำตัวกันอีกทีครับ
ฟี่: ผมชื่อ ตุลธร โตสลาม บ้านอยู่คลอง 10 ปทุมธานี แต่ปัจจุบันเก็บตัวอยู่ที่กาฬสินธุ์ครับ

DT: ตอนนี้เรียนที่ไหน
ฟี่: ที่โรงเรียนเหล่ากลางพิทยาคมครับ

DT: เล่าสนามชิงแชมป์ที่อุซเบให้ฟังหน่อย
ฟี่: รอบแรกถึงรอบสาม ผมอยู่ในกลุ่มกับทีม พยายามตามไปให้ได้ก่อน มีทีมอื่นพยายามยิงหนี หลุดไปได้สามสี่คน แต่ก็ตามรวบได้รอบที่สี่ (รอบก่อนสุดท้าย) แล้วตอนรอบสุดท้าย ผมหนีได้ หลุดไปกันสี่คน มีญี่ปุ่น มีอุซเบ 2 คน แล้วก็มีผม จน 2 กิโลสุดท้าย ญี่ปุ่นกับอุซเบหลุดไปคนนึง เหลืออุซเบอีกคนเกาะผมมา เค้าเกาะผมอยู่อย่างนั้น ให้ขึ้นก็ไม่ขึ้น ผมก็เลยเร่งขึ้นอีก เร่งขึ้นอีก จนเค้าหลุดไปเอง ผมก็เลยเข้าเส้นคนเดียว เข้าก่อนเค้าประมาณ 30 วิครับ

สนามแข่งเสือหมอบรุ่นเยาวชน เป็นเส้นตรงจาก A ไป B ยาว 10 กม. แล้วยูเทิร์นกลับที่เดิม (เป็น 20 กม.) วนซ้ำ 5 รอบ รวมระยะทาง 105.6 กม. elevation gain ถึง 665 เมตร ไม่น้อยเหมือนกัน

DT: ก่อนที่จะปั่นจักรยานเคยเล่นกีฬาอื่นมาก่อนไหม ทำไมถึงหันมาปั่นจักรยาน
ฟี่: ไม่เคยครับ ปั่นจักรยานเป็นกีฬาแรกครับ

DT: ใครเป็นคนชวนให้ปั่นจักรยานจริงจัง
ฟี่:คุณพ่อครับ ปั่นมาตั้งแต่ป.4

DT: เล่าชีวิตแต่ละวันเวลาเก็บตัวนักกีฬาให้ฟังหน่อย
ฟี่:ตื่นตีห้า กินข้าวหกโมง ประมาณเจ็ดโมงครึ่งก็เริ่มออกซ้อม 90–160 กิโล แล้วแต่วันครับ

DT: เป็นนักกีฬามากี่ปีแล้ว
ฟี่: ประมาณหกปีครับ

DT: มีนักกีฬาในดวงใจไหม
ฟี่: พี่โชเอะ ปฐมภพ ชอบตั้งแต่ติดตามผ่านข่าวสารแข่งขัน ก่อนจะได้เจอตัวจริง พอไปอยู่กาฬสินธุ์ ได้เจอตัวจริง ก็เขินเลย เขินม้วนไปโน่นเลย ชอบเค้าตรงที่เค้าล้มแล้วลุกขึ้นมาสู้ใหม่ทุกครั้งครับ

DT: สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นนักกีฬาจักรยาน
ฟี่: ไม่ชอบเวลาต้องซ้อมหนัก ๆ ต่อ ๆ กันหลาย ๆ วันครับ มันจะเบื่อครับ ถ้าหนักสลับเบายังพอไหว

DT: การปั่นจักรยานให้ข้อคิดอะไรกับชีวิตฟี่บ้าง
ฟี่: ถ้าเราแพ้ เราก็เริ่มใหม่ได้ ไม่ต้องไปซีเรียสกับมันมาก อย่าไปยึดติดกับรางวัล มันยังมีครั้งต่อไปให้พยายามอีก

DT: อนาคตในเส้นทางนักจักรยาน ฝันไว้ถึงจุดไหน
ฟี่: อยากเป็นตัวแทนทีมชาติไปแข่งชิงแชมป์โลกครับ

DT: สุดท้ายนี้อยากขอบคุณใครบ้าง
ฟี่: ขอบคุณโค้ชจอร์จ ที่คอยฝึกฝนผมมาจนถึงจุดนี้ ขอบคุณจริง ๆ ครับ

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott