UCI เชิญซากานออกจาก Tour de France และเราคิดว่ามันไม่แฟร์

เป็นประเด็นใหญ่ประจำวันเมื่อปีเตอร์ ซากาน แชมป์โลก 2 สมัยจากทีม Bora-Hansgrohe ถูกเชิญออกจากการแข่งขัน จากเหตุการณ์อุบัติเหตุหน้าเส้นชัยในสเตจ 4 Tour de France วันนี้ ซึ่งทางคณะกรรมการ UCI ให้เหตุผลว่าซากานทำให้นักปั่นคนอื่นๆ ได้รับอันตราย

ก่อนจะเข้าสู่บทวิเคราะห์เรามาดูลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้กันครับ

1. คำตัดสินของคณะกรรมการ UCI

หลังจากคาเวนดิชล้มและนักปั่นทยอยเข้าเส้นชัยได้ไม่นาน คณะกรรมการ UCI มีคำตัดสินแรกให้ลงโทษซากานด้วยการตัดเวลารวม 30 วินาที, ตัดคะแนนเจ้าความเร็ว 80 คะแนนจากการที่เขาเบี่ยงไลน์สปรินต์จนทำให้นักปั่นคนอื่นได้รับบาดเจ็บ

ฟิลลิป มาเรียน ประธานคณะกรรมการ UCI กล่าว:

“เรามีมติให้ซากานออกจาการแข่งขัน Tour de France 2017 ด้วยที่ว่าเขาทำให้นักปั่นคนอื่นๆ ได้รับบาดเจ็บในการสปรินต์สุดท้ายของวันนี้”

“เราคิดว่าการกระทำของซากานเป็นการละเมิดกฏที่รุนแรงมาก เรายืนยันว่าการตัดสินของเราถูกต้องและชอบธรรม”

มาเรียนยกกฏข้อ 12.104 ของ UCI ที่อนุญาตให้คณะกรรมการสามารถเชิญนักปั่นออกจากการแข่งขันได้ถ้า “ถ้ากรณีที่เกิดขึ้นรุนแรง” โดยไม่ต้องรอกระทำผิดครั้งที่สองและปรับเงินได้ ซากานออกจากการแข่งขันพร้อมโดนปรับเป็นเงิน 200 สวิสฟรังก์

การเบียด หรือเกี่ยวล้มในจังหวะสปรินต์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยในการแข่งขันที่มีเดิมพันสูง แต่ปีนี้ UCI เตือนทีมที่ร่วมลงแข่งขัน Tour de France เป็นพิเศษ และพยายามเพิ่มกฏที่จะช่วยให้การแข่งขันปลอดภัยมากขึ้น เช่นการเพิ่มระยะห่างหน้าเส้นชัยเป็น 3 วินาที นั่นคือนักปั่นสามารถเข้าเส้นชัยห่างกันได้ 3 วินาที (จากเดิม 1 วินาที) แต่ก็จะยังได้เวลารวมเท่ากัน ซึ่งจะช่วยลดอาการเบียดเสียดกันเข้าเส้นชัยพร้อมๆ กันซึ่งเกิดขึ้นบ่อยเพราะกลุ่มตัวเต็งไม่อยากเสียเวลาให้คู่แข่ง

สำหรับปีนี้มาเรียนกล่าวว่า

“ปีนี้เราจะจับตามองทีมสปรินเตอร์เป็นพิเศษในทุกๆ การสปรินต์ และกำชับก่อนแข่งว่าอย่าสปรินต์ในลักษณะที่จะก่อให้เกิดอันตราย บทลงโทษจะหนักกว่าทุกปี”

“มันไม่ใช่การตัดสินใจง่ายๆ ครับ แต่มันเป็นช่วงสัปดาห์แรกของตูร์และเราต้องสร้างบรรทัดฐานให้ชัดเจน มันไม่ใช่ตัวตนของซากาน แต่มันเป็นการกระทำของเขาที่เราพิจารณา”

“โดยธรรมชาติของการสปรินต์เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่ในเคสนี้เรามองว่าเขา (ซากาน) กระทำโดยเจตนา ดูคล้ายกับการโจมตีคู่แข่ง มันไม่เกี่ยวกับซากานหรือคาเวนดิช กรณีแบบนี้จะเกิดกับใครก็ได้ ชื่อเสียงนักปั่นไม่ใช่ประเด็น แต่เราเห็นว่าสิ่งที่นักปั่นคนอื่นๆ ทำในการสปรินต์วันนี้ไม่ร้ายแรงเท่าที่เกิดขึ้นระหว่างซากานและคาเวนดิช”

การตัดสินของคณะกรรมการ UCI ไม่ได้มาจากมาเรียนเพียงคนเดียว แต่เป็นการตัดสินร่วมของ Race Commissaires ที่อยู่ในการแข่งขันหลายคน

 

2. Bora-Hansgrohe ประท้วงผลการตัดสิน

จากนั้นไม่นานหลังจากที่ทีม Bora คอนเฟิร์มว่าคาเวนดิชออกจากการแข่งขันแล้ว จากที่กระดูกไหปลาร้าร้าว ทีม Bora ออก press release ยื่นประท้วงการตัดสินของคณะกรรมการ UCI ซึ่งอ่านได้จากลิงก์นี้

“แชมป์โลกจักรยานถนน ปีเตอร์ ซากานถูกเชิญให้ออกจากการแข่งขันตามกฏข้อ 12.1.040 / 10.2.2 (irregular sprint) แต่ทีมเราไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของกรรมการและขอประท้วงผลการตัดสินอย่างเป็นทางการ”

“ปีเตอร์ ซากานปฏิเสธว่าไม่ได้ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และไม่ได้มีเจตนาใดๆ ที่จะทำให้มาร์ค คาเวนดิชบาดเจ็บในช่วงสองร้อยเมตรสุดท้ายของสเตจ ปีเตอร์ไม่ได้เบี่ยงไลน์สปรินต์ของตัวเอง และมองไม่เห็นคาเวนดิชที่พุ่งมาจากทางขวา”

“ทีม Bora ขอยื่นให้คณะกรรมการแก้ไขผลการแข่งขันของปีเตอร์ ซากาน และผลการตัดสินในสเตจ 4”​

อย่างไรก็ดีการประท้วงของทีม Bora อาจจะไม่เป็นผลครับ เพราะในกฏของ UCI เมื่อคณะกรรมการมีมติตัดสินใดๆ แล้วไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ตามกฏข้อ 12.2.007 ซึ่งกล่าวว่า “การตัดสินใดๆ จากคณะกรรมการการแข่งขัน (race commissaires) ถือเป็นเด็ดขาด สิ้นสุด และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้”

 

DT: การตัดสินรุนแรงไปหรือเปล่า?

ส่วนนี้จะเป็นบทวิเคราะห์ของ Ducking Tiger และเป็นความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ ผมมองว่าคำตัดสินของ UCI ไม่เป็นธรรมต่อซากานเท่าไร

ประการแรก ผมมองว่ามันบอกไม่ได้ชัดเจนว่าใครเป็นคนผิด หรือกระทั่งที่ว่ามีคนผิดหรือเปล่าเพราะหากเรามองภาพจากวิดีโอไฮไลท์หลายๆ มุมก็จะเห็นว่าซากานไม่ได้ชักศอกไปฟาดคาเวนดิช ซึ่งดูจะเป็นพื้นฐานคำตัดสินของ UCI ว่าแชมป์โลกมีเจตนาโจมตีคู่แข่ง (เขาใช้คำว่า hit the other rider) ซึ่งคณะกรรมการก็ยกระดับคำตัดสินจากโทษปกติที่เกิดจากการทำให้คนอื่นล้มหรือบาดเจ็บ (เช่นตัดเวลา หักคะแนน) กระเถิบไปเป็นไล่ออกจากสนามแข่ง

ประการที่สอง จังหวะเกิดเหตุนี่มองได้จากกล้องสองมุม เรามีภาพจากกล้องที่ถ่ายจากหน้าเส้นชัย มองจังหวะที่นักปั่นกำลังสปรินต์เข้าหากล้อง และกล้องที่สองจากเฮลิคอปเตอร์ที่มองจากมุมบน ภาพจากมุมบนดูเหมือนจังหวะที่ซากานกางศอกออกจะกระทบกับคาเวนดิชพอดี แต่จุดที่นักปั่นปะทะกันครั้งแรกคือใต้ต้นไม้ซึ่งเรามองไม่เห็นภาพชัดเท่าไรว่าเกิดอะไรขึ้นครับ

กล้องแรก

กล้องสอง

ทีนี้ถ้ามองภาพสโลว์จากมุมด้านหน้า – และต้องขอบคุณหลายๆ คอมเมนต์ในเพจ Ducking Tiger ที่ช่วยแคปหน้าจอมาให้ดูกันแบบช็อตต่อช็อต เราจะเห็นว่าคาเวนดิชปะทะตัวซากาน และเริ่มเซจนน่าจะล้มแน่ๆ จากการมุดแหวกช่องก่อนที่ซากานจะตั้งศอกขึ้น

เราก็ไม่มีทางรู้ว่าตั้งขึ้นเพื่ออะไร อาจจะเป็นปฏิกิริยาที่ตั้งศอกเพื่อบาลานซ์ตัวเองที่ความเร็วสปรินต์ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือเพื่อกันไม่ให้คนข้างหลังขึ้นมา (ในคำพูดของซากาน เขาบอกว่าไม่มีเจตนาโจมตีคาเวนดิช) มันเป็นปฏิกิริยายังไง ลองจินตนาการจังหวะที่คุณกำลังสปรินต์ครับ ถ้ามีอะไรมากระแทกด้านข้างลำตัวจากด้านหลังเราจะทำยังไง ศอกมันต้องตั้งขึ้นมาก่อน เพื่อเป็นการรักษาสมดุล ถ้าดูมุมหน้าช้าๆ จะเห็นว่าซากานก็เบี่ยงมาทางซ้ายหลังจากคาเวนดิชมุดมาปะทะ นั่นคือเขาเสียสมดุลและกำลังจะล้มเหมือนกันเลย อาจจะต้องตั้งศอกเพื่อทรงตัว?

เช่นนั้นแล้วเคสนี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับศอกของซากาน ถ้าคาเวนดิชกระทบลำตัวของซากานก่อนจริง อย่างไรก็ดีซากานก็มีความผิดเรื่องการเบี่ยงไลน์สปรินต์ครับ ถ้าดูภาพมุมสูงจะเห็นว่าซากานเบี่ยงจากกลางถนนไปทางขวาจนสุดขอบถนนเพื่อตามล้อเดอมาร์ซึ่งคาเวนดิชนั้นตามล้อของเดอมาร์อยู่ก่อนแล้ว จนไม่มีพื้นที่ให้คาเวนดิชไปต่อ

จะบอกว่าการสปรินต์นี้ “ผิด” ทั้งกลุ่มก็ว่าได้ ถ้าสังเกตตั้งแต่เริ่มสปรินต์ มันเริ่มจากที่ไกรเปิลออกจากล้อลีดเอาท์ของตัวเอง เบี่ยงไปตามล้อของคริสทอฟจนไปเบียดไลน์ของบูฮานี (บูฮานีและคริสทอฟเป็นสองคนที่สปรินต์ตรงที่สุดในสเตจเมื่อวานนี้) ไกรเปิลเซจนเกือบจะกระแทกบูฮานีล้ม แต่บูฮานีประคองรถอยู่ ซากานเองตามล้อบูฮานีอยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนใจไปตามล้อเดอมาร์ ซึ่งคาเวนดิชตามก่อนอยู่แล้ว แล้วเดอมาร์เองก็ขึ้นตามล้อคริสทอฟ โดยที่ปาดหน้าบูฮานีมาทางซ้ายด้วย (ซึ่งที่บูฮานีไม่ล้มนี่ถือว่าสกิลดีและเป็นปาฏิหารย์ประจำวันก็ว่าได้)​ ปกติแล้วกรรมการจะบังคับใช้กฏเรื่องการเปลี่ยนไลน์สปรินต์ไม่บ่อย เพราะทุกการสปรินต์ต้องมีดีกรีของความมั่วอลหม่านอยู่แล้วตามธรรมชาติ ผมว่าถ้าบูฮานีล้มอีกคนเคสคงไม่จบแบบนี้

โดยรวมแล้วศอกซากานขึ้นมาใกล้เคียงกับเวลาที่คาเวนดิชเริ่มล้มพอดี และดูเหมือนว่าศอกจะไม่กระทบคาเวนดิช แต่จะกระทบหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นเพราะคำตัดสินของกรรมการกล่าวว่าเป็นเจตนาทำร้ายและสมควรได้รับโทษสูงสุด

ทีนี้คำตัดสินที่ว่าสิ่งที่ซากานกระทำนั้นเป็น “กรณีร้ายแรง” สมเหตุสมผลหรือเปล่า? ปกติการเบี่ยงไลน์สปรินต์นั้นเป็นความผิดอยู่แล้ว ซึ่ง DT คิดว่าการตัดสินแรกของ UCI เหมาะสม (ปรับให้เข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้าย, ตัดคะแนนรวม 80 คะแนน และปรับเพิ่มอันดับเวลารวม 30 วินาที) แต่คำตัดสินของ UCI นั้นมาจาก “เจตนา” ซึ่งขาดความชัดเจน และภาพในวิดีโอก็บอกเรื่องราวอีกแบบครับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็เป็นแค่บทวิเคราะห์และความเห็นของเรา คำตัดสินกรรมการถือเป็นเด็ดขาดและสิ้นสุด และซากานก็คงไม่ได้กลับเข้าแข่ง (ไม่ได้สำคัญว่าเป็นซากานหรือเปล่า ถ้าเป็นคนอื่นผมก็ยังคิดเหมือนที่อธิบายไปข้างต้นอยู่ดี)​ การแข่งขันยังต้องดำเนินต่อ และเราคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้

 

โปรคิดยังไง?

แน่นอนว่าเรื่องนี้ปะทุประเด็นในโลกออนไลน์มากมายครับ และอดีตสปรินเตอร์และโปรชื่อดังหลายคนก็ออกความเห็นกันได้น่าสนใจ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่ต้องไล่ซากานออกจากการแข่งขัน

เริ่มจากบาเด็น คุก หุ้นส่วนจักรยาน Factor Bike และอดีตเจ้าของเสื้อเขียวตูร์ปี 2003 เขาบอกว่าซากาน “ไม่ได้เจตนา”

ร็อบบี้ แม็คอีเว็น อดีตเจ้าของเสื้อเขียวตูร์ในปี 2002, 2004, 2005 และเป็นหนึ่งในสปรินเตอร์ที่สปรินต์ได้เดือดมากคนหนึ่ง (เขาเคยโดนปรับให้เข้าเส้นชัยเป็นที่โหล่ หลังจากที่เอาหัวโขกสจ๊วต โอเกรดี้ในตูร์ปี 2005) แม็คอีเว็นคิดว่าซากานควรรับโทษเรื่องการเบี่ยงไลน์แล้วปรับให้เข้าที่สุดท้ายก็สมเหตุสมผลแล้ว แต่ไม่ควรออกจาการแข่งขัน

อเลซานโดร เพทัคคี อดีตเพื่อนร่วมทีมคาเวนดิชและหนึ่งในสปรินเตอร์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเปโลตองก็เห็นด้วย

เยนส์ โฟ้ก เจ้าของวลีเด็ด “Shut Up Legs” ก็ออกความเห็นชุดใหญ่ เขากล่าวว่า “ค่อยๆ ดูภาพช้านะ ลืมซากานกับคาเวนดิชไปก่อน คุณจะเห็นว่าเดอมาร์เป็นคนแรกที่เปลี่ยนไลน์ เพราะงั้นก่อนจะตัดสินลงโทษใครก็ควรจะพิจารณาเดอมาร์ก่อน จากนั้นซากานก็ออกมาทางขวา ซึ่งไม่เหลือที่ให้ใครแทรกตัวมาเพิ่มได้แล้ว แบบนี้มันจบได้แค่ ‘เบรคเพื่อไม่ชนกับคนข้างหน้าแล้วก็แพ้สเตจ หรือเสี่ยงไม่ชนก็ชนะ’ เพราะงั้นในความเห็นส่วนตัว ผมว่าการไล่ออกมันหนักเกินไป ผมรับได้ กับการตัดแต้มเสื้อเขียวและปรับเวลารวม

นักปั่นคนสุดท้ายที่ถูกเชิญออกจากตูร์เดอฟรองซ์ต้องย้อนไปปี 2010 ที่มาร์ค เรนชอว์เพื่อนร่วมทีมคาเวนดิชเอาหัวโขกจูเลี่ยน ดีนในจังหวะที่ลีดเอาท์พาคาเวนดิชเข้าเส้นชัยในสเตจ 11

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *