ไม่ว่าวงการจักรยานจะโตไปอย่างไร ยังไงก็ยังมีนักปั่นที่พยายามแหกกฏ ใช้สารกระตุ้นเพื่อรีดความสามารถให้เหนือคนอื่นอยู่ดี ทางสหพันธ์จักรยนานนานาชาติหรือ UCI ก็ทราบดีว่ากฏต่อต้านการโด้ปที่ใช้อยู่นั่นไม่เคร่งเท่าที่ควร ปีนี้เขาเลยเปลี่ยนกฏใหม่ให้เคร่งขึ้นครับ ข้อหลักๆ ที่เปลี่ยนไป DT ไฮไลท์ 5 ข้อสำคัญมาให้อ่านกันครับ
1. โทษแบนพักการแข่งขั้นต่ำคือ 4 ปี
จากปกติที่หากจับได้จะให้พักแข่งเพียง 2 ปีเท่านั้น กฏข้อนี้ใช้กับนักปั่นที่โดนตรวจจับว่าใช้สารโด้ปขั้นร้ายแรงอย่างสเตียรอยด์ โด้ปเลือด ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต และ EPO นักปั่นที่ไม่ยอมให้ตรวจเลือด จะหลบหนีหรือไม่มีเหตุผลที่ดีในการไม่เข้าตรวจก็จะโดนแบน 4 ปีเช่นกัน
2. นักปั่นมีสิทธิโดนระงับแข่งหากพบว่ามีความเกี่ยวโยงกับบุคคลที่ UCI หรือหน่วยงานต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของชาติต่างๆ เคยสั่งระงับแข่งมาแล้ว
และ UCI ปรับเพิ่มให้อายุความของนักปั่นที่เคยต้องโทษยาวขึ้นตจาก 8 เป็น 10 ปี เพื่อที่จะได้สอบสวนคดีย้อนหลังได้สะดวกขึ้น UCI จะเก็บตัวอย่างเลือดเพิ่มเป็น 10 ปีเช่นกัน
3. ทีมก็มีสิทธิโดนแบน ไม่ใช่แค่นักปั่น
ถ้านักปั่นในทีมที่ขึ้นทะเบียนกับ UCI โดนแบน 2 คน UCI มีสิทธิพิจารณาไม่ให้ทีมลงแข่งขันในระยะเวลา 15–45 วัน แต่ถ้ามีคดีที่ 3 ทีมอาจะะโดนระงับแข่งยาวนานถึง 12 เดือน!
4. ทีมในระดับดิวิชัน 1 และ 2 ต้องจ่ายค่าปรับหากนักปั่นในทีมต้องโทษ ค่าปรับคิดเป็น 5% ของรายจ่ายทีมทั้งปี
ทีมส่วนใหญ่มีรายจ่ายราว 8 ล้านยูโรต่อปี (ยกเว้นทีมใหญ่อย่าง Sky, Astana, Tinkoff, BMC) ซึ่ง 5% ของรายได้คิดเป็น 400,000 ยูโร หรือประมาณ 15 ล้านบาท มากพอที่จะจ้างนักปั่นเก่งๆ หนึ่งคนเข้าทีมเลยทีเดียว
5. UCI จัดตั้งศาลต่อต้านการโด้ป
ปกตินักปั่นที่โดนจับโด้ปจะต้องไปแก้คดีกับหน่วยงานต่อต้านการโด้ปของประเทศบ้านเกิดของตน หากคดีมีปัญหา ก็อาจจะต้องไปต่อความกันที่ศาลกีฬาโลก (CAS) ซึ่งกระบวนการนี้ใช้เวลานานและมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน ทำให้ขาดความยุติธรรม
เช่นในกรณีของโรมัน ครอยซิเกอร์ ที่ทางหน่วยงานต่อต้านการโด้ปเช็คตัดสินว่าเขาไม่ผิด แต่คดีไม่จบเพราะ UCI อุทรณ์ผลต่อศาลกีฬาโลก ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป กระบวนการที่ยาวนานร่วมสองปี ทำให้ทุกฝ่ายเสียเงิน เสียเวลา และนักปั่นก็ไม่สามารถแข่งต่อได้
การจัดตั้งศาล UCI หมายความว่าต่อไปนี้หน่วยงานต่อต้านการโด้ปของแต่ละประเทศจะไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินคดีนักกีฬาติดโทษโด้ปในขั้นเบื้องต้น ผู้พิพากษาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการโด้ปของทาง UCI เอง
กฏใหม่ของ UCI จัดว่าโหดใช้ได้ และน่าจะทำให้นักปั่นหลายคนต้องคิดนานก่อนที่จะทำอะไรผิดครับ เพราะโทษพักแข่ง 4 ปีนั้นนานพอที่จะจบอาชีพนักปั่นได้เลย แถมยังมีผลกระทบต่อทีมด้วยที่ต้องจ่ายค่าปรับราคาแพง