“ตอนนั้นมันมีแค่สองอย่างให้เลือก ผมต้องเป็นนักปั่นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วยการปั่นจักรยานแข่งขัน…หรือต้องขายล็อตเตอรี่ไปตลอดชีวิต”
วันเด็กวันนี้ผมคิดอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี เพราะปีที่ผ่านมาเราได้เห็นนักปั่นอายุน้อยๆ ที่ขึ้นมามีผลงานดีเด่นกันหลายคนมาก ไม่ว่าจะเป็นแมธธิว แวน เดอ โพลล์, อีแกน เบอร์นาล, เรมโค เอเวนเนโพล และทาเดจ์ โพกาชา แต่ไม่มีวัยเด็กของนักปั่นคนไหนน่าสนใจ น่าหดหู่ และน่าทึ่งเท่ากับวัยเด็กของริกโอเบอร์โต้ อูราน นักปั่นชาวโคลอมเบีย (EF Education First) วัย 32 ปีคนนี้อีกแล้ว
กว่าที่อูรานจะไต่ขึ้นมาจนได้อันดับ 2 ใน Tour de France ปี 2017 หรือจุดสูงสุดที่นักปั่นจักรยานอาชีพคนหนึ่งจะทำได้ ชีวิตเขาผ่านความท้าทายในระดับที่เรายากจะจินตนาการ
อูรานเติบโตในเมืองอูราว ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งของประเทศโคลอมเบีย เมืองนี้ถูกแวดล้อมไปด้วยสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มกองโจร กลุ่มนักรบติดอาวุธไร้สังกัดและทหารจากทางรัฐที่ต้องการจะควบคุมความสงบ เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจน แต่พ่อของอูรานก็เป็นคนที่รักการปั่นจักรยานมาก พ่อของเขาเป็นคนขายล็อตเตอรี่ และแม่เป็นแม่บ้านธรรมดาๆ แต่พ่อของอูรานก็เก็บหอมรอมริบจนซื้อจักรยานให้ตัวเองและลูกชายได้ออกซ้อมด้วยกันบ่อยๆ
ไม่นานพ่อของอูรานก็พาเขาไปแข่งจักรยานครั้งแรก คำสั่งของจากพ่อนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่า “ปั่นให้ถึงเส้นชัยให้เร็วที่สุด” อูรานเชื่อฟังคำสั่ง และแน่นอนว่าเขาได้แชมป์รายการแรกที่ลงแข่งขัน
จากวันที่อูรานชนะไม่กี่สัปดาห์ พ่อของเขาออกซ้อมปั่นคนเดียว ในเมืองอูราวจะมีจุดเช็คพอยท์ของทหารกระจายอยู่ทั่วเพื่อคอยตรวจดักกลุ่มกองโจรติดอาวุธ แต่ขณะเดียวกันกองโจรก็หัวหมอ สร้างจุดเช็คพอยท์ลวงเพื่อลักพาตัวประชาชนในเมืองไปเป็นแรงงานเถื่อนและฆ่าทิ้งอย่างเลือดเย็นหลังใช้งานเสร็จแล้ว
พ่อของอูรานก็เป็นหนึ่งในผู้โชคร้ายในวันนั้น เรามารู้ทีหลังว่าพวกกองโจรต้องการแค่ที่จะหาคนไปไล่ต้อนวัว มันเป็นวันสุดท้ายที่อูรานได้เห็นพ่อของเขาบนจักรยาน เขากลายเป็นเด็กชายไร้พ่อในวัยแค่ 14 ปี
ด้วยที่อูรานเป็นลูกชายคนโตสุดของบ้าน และแม่เขาไม่มีความรู้ที่จะหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ อูรานต้องรับหน้าที่พ่อบ้านและสานต่องานของพ่อเขา นั่นคือการขายล็อตเตอรี่ ในโคลอมเบีย คนขายล็อตเตอรีจะเดินวนรอบๆ ชุมชน ใครที่อยากได้ล็อตเตอรี่ก็จะมาซื้อกับคนขาย ซึ่งจะถือเครื่องพิมพ์ตั๋วให้เหมือนในรูปของอูรานต้นบทความนี้
เขาต้องออกจากบ้านทุกวันตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า แต่กลับเข้าบ้านอีกทีก็เกือบเที่ยงคืน กิจกรรมแต่ละวันคือการออกขายตั๋วก่อนและหลังเลิกโรงเรียน ตามด้วยการซ้อมปั่นและเข้าแข่งขันจักรยานในสนามใกล้บ้าน แต่ก็ไม่ได้ท้อใจกับชะตาชีวิต เขาให้สัมภาษณ์:
“ผมไม่เคยคิดว่ามันเป็นทางหนี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเปลี่ยนชีวิตผม ตอนนั้นชีวิตมันลำบาก ผมต้องเรียนรู้ที่จะเลี้ยงดูคนรอบข้างและตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก ชีวิตของนักกีฬาไม่เหมือนชีวิตคนทั่วไปครับ”
ลำพังแค่เงินค่าล็อตเตอรี่นั้นไม่พอเพียงสำหรับเด็กวัยรุ่นที่มีความทะเยอทะยาน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการแข่งขันจักรยานที่ต้องใช้เงินทุนพอสมควร อูรานโชคดีที่ชมรมจักรยานที่เขาสังกัดใจกว้าง ชมรมนี้มีนักธุรกิจท้องถิ่นเป็นเจ้าของและเปิดบ้านให้เด็กๆ นักกีฬาที่ยากจนทุกคนเข้ามาทานอาหารเช้าได้ฟรี เพราะถ้าเขาไม่ให้เด็กพวกนี้ก็ไม่มีจะกิน อูรานก็ได้รับอานิสงค์จากเจ้าของชมรมอยู่เรื่อยๆ
โคลอมเบียในยุค 80s เป็นพื้นที่แห่งความมืด มันง่ายมากที่เด็กวัยรุ่นที่พ่อถูกฆ่าตายจะเลือกเดินทางอาชญากรรม จากการฆ่าล้างแค้นให้ครอบครัวตัวเอง ไม่เช่นนั้นก็ไปวิ่งยา ค้าอาวุธ หรือเป็นทหารรับจ้างให้กลุ่มมาเฟียท้องถิ่น แต่อูรานเลือกใช้กีฬาการแข่งขันจักรยานเป็นทางออกให้ชีวิตเขา
ด้วยความที่เขามีพรสวรรค์ติดตัวพอสมควรและมีความมุมานะขยันซ้อม อูรานไต่อันดับการแข่งจากระดับท้องถิ่นจนเข้าตาโค้ชทีมชาติจนได้แข่งในระดับประเทศ สิ่งที่เขาต้องการไม่ใช่การอยากเป็นซุปเปอร์สตาร์ แต่เป็นความประสงค์ง่ายๆ คือแค่ “มีจะกินและเลี้ยงดูครอบครัว”
แต่ด้วยวัย 16 ปี เขาไม่สามารถเซ็นสัญญาเป็นนักปั่นอาชีพได้เพราะนักปั่นอาชีพต้องมีอายุอย่างน้อย 18 ปีขึ้นไป อูรานกดดันทีมพร้อมยื่นคำขาดว่า “ถ้าคุณไม่ให้ผมเป็นโปร ผมก็จะต้องขายล็อตเตอรีไปตลอดชีวิต” แม่ของอูรานช่วยเซ็นใบยินยอมให้ลูกของเขาเป็นนักปั่นอาชีพก่อนอายุครบ 18 ปี
อูรานสร้างผลงานดีต่อเนื่องจนเข้าตาทีมที่ให้โอกาสเขาไปแข่งในยุโรป และหลังจากนั้นเขาก็ได้เข้าทีมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ พร้อมผลงานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ปี 2013 เขานำทีม Sky คว้าอันดับสองใน Giro d’Italia เป็นรองแค่วินเชนโซ นิบาลีเท่านั้น ปี 2012 เขาคว้าเหรียญเงินในลอนดอนโอลิมปิกประเภท Road Race ใครจะคิดว่าเด็กที่กำพร้าพ่อในเขตที่ยากจนที่สุดในโคลอมเบียจะมาได้ถึงจุดนี้
ถ้าจะบอกว่าอีแกน เบอร์นาลคงไม่มีวันนี้ที่เขาเป็นแชมป์ Tour de France ตั้งแต่อายุ 21 ปี ถ้าไม่มีอูรานก็คงจะไม่ใช่คำพูดที่ผิดนัก เพราะอูรานเป็นนักปั่นโคลอมเบียคนแรกที่ทำให้นักปั่นเยาชนจากโคลอมเบียได้ “เข้าใจ” ถึงความหมายของคำว่า “เป็นไปได้” ผลงานอันดับสองใน Tour de France 2017 อาจจะเป็นผลงานที่ดีที่สุดในฐานะนักปั่นของอูราน แต่ในฐานะมนุษย์แล้วเขาทำให้เด็กวัยรุ่นชาวโคลอมเบียที่ยากจนได้เห็นถึงโอกาสและทางออกใหม่ของชีวิตที่ไม่ใช่ความรุนแรง อาชญากรรม และสภาวะไร้ความหวัง
วลี “กีฬาเปลี่ยนชีวิต” อาจจะฟังดูเผินๆ สำหรับคนชนชั้นกลางทั่วไป แต่วัยเด็กของอูรานได้สะท้อนถึงความหมายของคำๆ นี้ได้ลึกซึ้งครบถ้วนในทุกมิติ และเป็นรูปธรรมที่ช่วยเปิดโอกาสทางความคิดและอาชีพให้เยาวชนอีกมากมายในประเทศกำเนิดของเขา มันคือวัยเด็กอันทรงพลังที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนนับไม่ถ้วน