รีวิว: Vision Trimax 25KB

Note: ขอขอบคุณ Vision Asia (สำนักงานไต้หวัน) ที่อุตส่าห์ส่งล้อ Vision Trimax 25KB ข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ และขอขอบคุณ Vittoria Thailand ที่ส่งยาง Corsa G2.0 TLR มาให้ลองครับ


ผมได้รับล้อ Vision Trimax 25KB มาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปีเศษ ปัจจุบันใช้งานมาแล้วกว่า 2,000 กิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วยการขึ้นและลงเขาเกือบ 50,000 เมตร คิดว่าได้เวลาอันสมควรที่ผมจะบอกเล่าประสบการณ์การใช้ล้อคู่นี้ละครับ

ผมได้ล้อคู่นี้มาพร้อม ๆ กับยางทิวบ์เลส Vittoria Corsa G2.0 TLR 25mm สองเส้น ซึ่งผมใช้มันคู่กันมาตลอดโดยไม่มียางใน ส่วนล้อคู่เดิมที่ใช้ก่อนหน้า คือ Shimano Dura-Ace C24 WH–9000-CL กับยาง Michelin Power Competition 25mm ซึ่งเป็นยางงัดครับ ความรู้สึกที่บรรยายออกมาก็จะอิงความต่างที่สัมผัสได้ระหว่างสองชุดนี้ และเนื่องจากผมเปลี่ยนทั้งล้อ ทั้งยี่ห้อยาง และทั้งประเภทยางในคราวเดียว ความรู้สึกที่บรรยายออกมาจะไม่ได้เทียบระหว่างล้อ Vision ใหม่กับล้อ Shimano เดิมโดยตรง แต่เป็นภาพรวมของทั้งระบบที่เปลี่ยนไปมากกว่าครับ

ตั้งแต่ผมซื้อจักรยานเสือหมอบคันแรก จนปัจจุบันก็ครบสิบปีพอดี แม้จำนวนชั่วโมงปั่นในแต่ละปีไม่ได้สูงมากนักด้วยภาระชีวิตหลาย ๆ อย่าง แต่ก็ดีใจที่ไม่เคยมีปีไหนหยุดปั่นไปดื้อ ๆ ครับ รู้สึกว่าได้เห็นเทคโนโลยีจักรยานเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยหลายอย่าง สำหรับล้อและยางนั้น ล้อคู่แรกผมคือ Mavic Aksium กับยางซ้อมขอบลวด 23mm มาจนคู่ปัจจุบันคือ Vision คู่นี้ก็ถือว่าอะไร ๆ เปลี่ยนไปเยอะทีเดียวในช่วงเวลานั้น จากยาง 23 มม. ขอบใน 15 มม. ลม 120 ปอนด์ ยางในบิวทิล มาจนปัจจุบัน ยาง 25 มม. ขอบใน 17 มม. ลม 75 ปอนด์ ไม่มียางใน มองย้อนไปแล้วก็ว่าเรามาไกลทีเดียวครับ

ลองมาดูสเป็คของ Vision Trimax 25KB ซึ่งออกมาเมื่อปี 2018 โดยเทียบกับ Shimano Dura-Ace C24 WH–9000–CL (ปี 2013) กันครับ จะช่วยให้เห็นความแตกต่างของเทคโนโลยีล้อได้ชัดเจนขึ้น

Trimax 25KB DA C24
น้ำหนักล้อหน้า รวมเทปรอง (ชั่งจริง) 608g 601g
น้ำหนักล้อหลัง รวมเทปรอง (ชั่งจริง) 837g 820g
น้ำหนักรวมหน้า-หลัง ไม่รวมแกนปลด 1,445g 1,421g
น้ำหนักพร้อมยาง+ยางใน หรือ ยาง+น้ำยากันรั่ว* 2,112g 2,029g
น้ำหนักแกนปลด 125.6g 126.2g
ความกว้างขอบใน 17mm 15mm
ความสูงขอบล้อ (หน้า/หลัง) 20mm/24mm 21mm/23mm
ซี่ล้อ (หน้า/หลัง) 20/24 ซี่ตรง รีดแบน 16/20 ซี่ตรง รีดแบน
ขอบเบรค อลูมิเนียมเคลือบดำโดย Keronite อลูมิเนียมขัดเงา
ยางนอก ยางงัดหรือทิวบ์เลส ยางงัดเท่านั้น
แกนดุม (หน้า/หลัง) 17mm/17mm 15mm/14mm
ระบบลูกปืนในดุม ลูกปืนตลับ 6803 x2 (หน้า),

ลูกปืนตลับ 6803 x2 และ 7903 (เม็ดกลมสัมผัสเชิงมุม) x2 (หลัง)

ลูกปืนเรียงเม็ด (หน้า, หลัง)

*แสดงเป็นตัวอย่างเท่านั้นว่า การไม่มียางใน ไม่จำเป็นต้องเบากว่ามี เพราะยางทิวบ์เลส (ที่ไม่ใช่ยาง TT) มักจะหนักกว่ายางงัดนิดหน่อย อยู่ที่ประมาณ 260–300g บวกกับน้ำหนักจากน้ำยากันรั่วอีกนิดหน่อย

สิ่งที่ชัดเจนที่สุดจากตารางด้านบน จะเห็นว่า Trimax 25KB ขอบในอ้วนกว่าและรองรับยางทิวบ์เลส ซึ่งทั้งสองเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งมาฮิตเอาหลัง ๆ นี้ และทั้ง ๆ ที่ขอบในกว้างกว่าและซี่ล้อมากกว่าข้างละ 4 ซี่ แต่กลับมีน้ำหนักมากกว่าเพียง 24 กรัมเท่านั้น จะบอกว่าไม่มีนัยสำคัญก็คงไม่ผิด

รูปลักษณ์ภายนอก

แกะกล่องออกมาก็จะเห็นล้อสีดำขลับทั้งสองวง บริเวณขอบเบรคสีดำเงา ส่วนบริเวณขอบล้อที่เหลือเป็นสีดำที่อ่อนกว่าเล็กน้อยและผิวด้าน ว่ากันตรง ๆ แล้วขอบเบรคของล้อคู่นี้มีสีดำที่เข้มกว่าล้อคาร์บอนเสียอีก หากใครที่ชอบลุคของล้อคาร์บอนเพราะความดุดัน ปราศจากสีเงินของโลหะ น่ารับไว้พิจารณาครับ

ขอบเบรคสีดำนั้น Vision ใช้บริการเคลือบผิวของบริษัท Keronite จึงเป็นที่มาของชื่อล้อ 25KB ซึ่งย่อมาจาก “Keronite Black” และเป็นบริษัทเดียวกับที่เคลือบดำให้กับขอบ Exalith ของ Mavic ด้วย ข้อต่างของ Vision คือขอบเบรคเรียบ ในขณะที่ Mavic Exalith นั้นสากเหมือนตะไบ ซึ่งเบรคหนึบกว่าจริง แต่ก็ต้องแลกมากับเสียงที่ดังกว่า แถมเป็นเสียงแหลมที่ไม่ค่อยน่าฟังเท่าไรนัก อีกประการหนึ่งคือ Mavic กำหนดว่าต้องใช้ผ้าเบรคเฉพาะของเค้า ส่วน Vision บอกชัดเจนว่าใช้กับผ้าเบรคอะไรก็ได้

วงล้อที่อยู่ระหว่างจุดยึดซี่ล้อถูกเจียออกเพื่อลดน้ำหนักให้มากที่สุดโดยยังคงความแข็งแรงของโครงสร้างเอาไว้ รายละเอียดเล็กน้อยที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ในทิศตรงข้ามกับแกนวาล์วนั้น Vision จงใจคงขอบล้อไว้นิดหน่อย ไม่ได้เจียออก เพื่อถ่วงน้ำหนักกับแกนวาล์ว เวลาล้อหมุนที่ความเร็วสูง ๆ จะได้เสถียรยิ่งขึ้น แนวคิดเดียวกับ Campagnolo RIM Dynamic Balance และ Silca Speed Balance Kit

สติกเกอร์ที่แปะมากับล้อ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อหรือรุ่นล้อ ดูไม่ค่อยทนทานเท่าไร และก็เป็นเช่นนั้นจริงเพราะปัจจุบันเริ่มหลุดบริเวณขอบแล้วนิดหน่อย แต่ก็เป็นเรื่องหยุมหยิม ถ้าวันนึงหลุดหมดจริง ๆ และซีเรียสกับจุดนี้ Vision มีเซ็ตสติกเกอร์ขายให้มาแปะใหม่ครับ (ฮา)

ทิศตรงข้ามวาล์วถูกถ่วงน้ำหนักเอาไว้เพื่อให้เกิดสมดุลเวลาล้อหมุนเร็ว ๆ

เริ่มต้นใช้งาน

แม้ชุดล้อ Vision Trimax 25KB จะมีรูปทรงที่รองรับยางทิวบ์เลส แต่ตอนแกะกล่องออกมาจะมาพร้อมเทปรองยางสำหรับยางงัดเท่านั้น ส่วนการเปลี่ยนมาใช้ระบบทิวบ์เลสนั้นต้องแกะเทปเดิมก่อน แล้วซีลขอบล้อให้มิดชิดด้วยเทปใหม่เสียก่อน เพื่อไม่ให้อากาศออกได้ สำหรับวิธีทำ ผมเคยเขียนเล่าไว้อย่างละเอียดในบทความก่อนหน้านี้ครับ

จากนั้น เมื่อซีลขอบล้อเรียบร้อย ก็ขึ้นยาง อัดให้เข้าร่องด้วยปั๊มอัดอากาศ พอได้ยินเสียงดัง เป๊าะ! ก็ปล่อยลมแล้วไขไส้วาล์วออก เติมน้ำยากันรั่วเข้าไปสัก 25–40 มล. เป็นอันเสร็จสิ้น ยุ่งยากกว่ายางงัดจริง แต่ก็เป็นความยุ่งยากตอนอยู่ที่บ้าน มีโค้กเย็น ๆ วางข้าง ๆ ตอนติดตั้ง และหวังว่ามันจะช่วยอุดรูรั่วให้เราตอนปั่น ไม่ต้องไปนั่งงัดยางปะยางอยู่ข้างถนนตอนทุ่มนึงกับแสงไฟสลัว ๆ และแมลงบินว่อนครับ

ความรู้สึกเวลาใช้งาน

น้ำหนักผมประมาณ 57–58 กก. เมื่อใช้ยาง Vittoria 25 มม. กับล้อนี้แล้ว วัดจริงได้หน้ากว้าง 27 มม. จึงเติมลมล้อหน้า 75 ปอนด์ ล้อหลัง 80 ปอนด์ (เซ้ตอัพก่อนหน้านี้เติม 90/90 ปอนด์) ความรู้สึกแรกที่ได้ก่อนเลยคือความนิ่มนวลแต่ยังซิ่งอยู่ เมื่อเทียบกับล้อเดิมที่ขอบในกว้าง 15 มม. แล้วรู้สึกได้ทันทีว่าขอบในที่กว้างขึ้นเพียง 2 มม. เป็น 17 มม.ซึ่งทำให้ปริมาตรอากาศเพิ่มขึ้น นั้นมีผลให้แรงสะเทือนน้อยลงโดยไม่รู้สึกว่าหน่วงหรือกินแรงมากขึ้นเลย

ความนิ่มนวลนั้นรู้สึกได้เป็นอย่างแรกก็จริง แต่ไม่ใช่จุดเด่นที่สุดครับ มันเป็นคุณสมบัติของขอบในที่กว้างขึ้นตามยุคสมัย ดังนั้นล้อรุ่นใหม่ ๆ ที่ขอบในกว้าง 17–21 มม.ก็จะให้ความรู้สึกนี้ได้หมด

สิ่งที่เด่นที่สุดของล้อคู่นี้คือตอนขึ้นเขาต่างหาก ด้วยซี่ล้อที่มากกว่า Dura-Ace 4 ซี่ต่อข้าง และแกนดุมที่ใหญ่กว่า มันจึงเป็นล้อที่ยืนโยกขึ้นเขาได้ติดเท้าดีสุด ๆ แม้น้ำหนักทั้งระบบมากกว่าเดิมนิดหน่อยประมาณ 90 กรัม แต่จังหวะยกขึ้นโค้งหักศอกชัน ๆ นี่เป็นความรู้สึกที่มันส์จริง เสพติดมาก ๆ และต่างกับของเดิมชัดเจน มันตึ้บ มันแน่น มันพุ่งขึ้นเขาดีจริง ทั้งนี้ทั้งนั้น เร็วขึ้นจริงหรือเปล่า เวลาดีขึ้นจนได้ PR เลยไหม อาจไม่เสมอไปครับ แต่ขี่สนุกแน่นอน อันนี้ชัวร์ และแน่นอนว่า ภูเขาทุกลูก ขึ้นแล้วก็ต้องลง ตอนลงเขาก็ดีเยี่ยมไม่แพ้กัน ด้วยขอบในที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ทำให้หน้ายางจริงกว้างกว่าเดิม และแรงดันลมลดลงจากเดิม ทำให้ลงเขาได้มั่นใจมากขึ้นอีก สาดโค้งด้วยความเร็วที่สูงกว่าเดิมได้โดยไม่รู้สึกว่าจะแหกโค้งเลยแม้แต่น้อย ความแน่นปึ้กของล้อก็มีส่วนช่วยให้ทั้งเฟรม ทั้งล้อ ทั้งคนขี่ เป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น ล้อหน้าชี้ไปไหน ล้อหลังลากเส้นตามได้เป๊ะ ๆ แม้ช่วงทางลงเขาที่เป็นทางตรงยาว ๆ จะลง 70, 75 กม./ชม. ก็ไม่รู้สึกว่ามันส่ายหรือสั่นอะไรเลย แน่นอนมากครับ

ส่วนขอบเบรคที่เคลือบดำด้วยกระบวนการ plasma electrolytic coating โดย Keronite นั้น ผมใช้ผ้าเบรคเดิมจากล้อคู่ก่อน คือ SwissStop BXP และคิดว่าความหนึบในการเบรคเท่ากับอลูมิเนียมเดิมแหละ ไม่มากกว่าไม่น้อยกว่า และไม่หนึบเท่าขอบเบรคตะไบของ Mavic แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือไม่มีเสียงหวีดแหลมตอนเบรคตามมาเช่นกัน และที่สำคัญที่ทุกคนทราบกันดี ขอบเบรคอลูมิเนียมมันก็ดีอยู่แล้ว และดีกว่าขอบคาร์บอนส่วนใหญ่ในตลาดครับ ส่วนการเบรคเวลาฝนตกถนนเปียก ความหนึบก็ไม่ได้ต่างจากตอนแห้งมากนัก ไม่ได้ทำให้การลงเขากลางฝนเป็นเรื่องน่ากลัวเกินกว่าที่ควรจะเป็น แต่การลงเขาตอนถนนเปียกก็ลงช้าอยู่แล้วเพราะยางไถลง่าย จึงต้องบอกว่าคอขวดอยู่ที่ยางกับผิวถนนมากกว่าขอบเบรคกับผ้าเบรคครับ

ส่วนเรื่องการทำความเร็วทางราบ ก็ไม่ต่างอะไรจากล้อขอบต่ำอื่น ๆ ครับ

ความทนทาน

สิ่งที่ทำให้ประทับใจมากอีกอย่างคือ ความทนของเคลือบผิวสีดำที่ขอบเบรคครับ อย่างที่กล่าวไปว่า ล้อคู่นี้ขึ้นเขามาแล้วเกือบ 50,000 เมตร ซึ่งก็แปลว่าต้องลงเขาจำนวนเท่ากันด้วย แต่แม้ใช้งานมานานขนาดนี้ ขอบเบรคก็ยังดำสนิทดีเหมือนเพิ่งแกะกล่อง มีรอยขูดเพียงแค่ 1 รอยเท่านั้นจริง ๆ จากขอบเบรค 4 ข้าง ซึ่งได้มาตอนขึ้น ๆ ลง ๆ เขาท่ามกลางฝน ในวันที่ฝนตกทั้งวันครับ เป็นข้อดีที่ประทับใจมาก ๆ เพราะก่อนใช้ล้อคู่นี้เคยได้ยินมาว่าขอบเบรครมดำไม่ค่อยทน แต่ใช้มาขนาดนี้มีรอยแค่นี้ ส่วนตัวว่าเกินความคาดหมายไปมาก อีกอย่างคือ การเคลือบผิวพวกนี้มันหนาไม่กี่ไมครอนเอง ขึ้นลงเขามาขนาดนี้ขอบเบรคยังดำสนิทอยู่ ก็แปลว่าขอบเบรคยังสึกไม่พ้นความหนาของชั้นเคลือบแค่ไม่กี่ไมครอนนี่เลย ดังนั้นปัญหาขอบเบรคสึกจนล้อหมดอายุการใช้งานน่าจะอีกนานมาก น่าจะต้องลงเขาเป็นหลักแสน ๆ เมตรครับ

ในระยะเวลาและระยะทางเดียวกัน ล้อหน้ามีดุ้งซ้ายนิดดดดดดนึง ซึ่งไขหัวซี่ลวดนิดเดียวก็ตรงเหมือนเดิม ส่วนล้อหลังยังเที่ยงเหมือนตอนแกะกล่องครับ

จุดตำหนิมีแค่สติกเกอร์ชิ้นนี้ที่เผยอออกมานิดนึง นอกนั้นยังดีครับ

ใช้มาก็นาน ขอบเบรคถลอกแค่นี้เอง

สรุป

สเป็คดีตามทันยุคสมัย ขึ้นเขาลงเขาสติฟสะใจ ทางขรุขระซับแรงได้สบาย ราคาขายเป็นมิตร สวยงามดุดัน ขอบเบรคทนเหลือเฟือ แถมเป็นล้อที่ขอบเบรคดำและใช้กับยางทิวบ์เลสได้แค่ไม่กี่รุ่นในตลาด ว่าแต่เมื่อไหร่จะมีตัวแทนในไทยเอาเข้ามาขายเสียทีหนอ

สำหรับท่านที่ไม่ได้เป็นชาวเขาเหมือนผม (จังหวัดนากาโนะ ประเทศญี่ปุ่น แทบไม่มีทางราบเลยครับ) ล้อ Vision Trimax 30KB ก็น่าสนใจ ขอบสูง 30 มม. ทั้งหน้าและหลัง ภาคตัดขวางเป็นทรงหยดน้ำ ไม่เหมือนคู่นี้ที่เป็นทรงเหลี่ยม ๆ จึงน่าจะทำความเร็วทางราบได้ดีกว่า แถมขอบในยังกว้างถึง 19 มม. ช่วยให้ยางไม่บานเป็นดอกเห็ด ช่วยเรื่องความลู่ลมด้วยอีกทางครับ ขอบเบรคสีดำทนทานเหมือนกัน

By ธันยวีร์ ชินสุวรรณ

วี - นักวิจัยลั้ลลา ถ้าไม่เลี้ยงเซลล์อยู่แล็บก็อยู่ร้านกาแฟ ว่างไม่ว่างก็ปั่นจักรยาน หลงรักหมอบทุกคันที่ไม่มีแหวนรองสเต็มและใช้ริมเบรค เป็นแฟนคลับทีม Mitchelton-Scott