สิ่งที่ทำให้ Sky ต่างจากทีมอื่น

“Sky จะเลิกสนับสนุนทีม Sky”

ผมว่าใครอ่านเจอประโยคนี้ก็ต้องมีงง ตามข่าวล่าสุดเมื่อวานที่เรารู้แล้วว่าบริษัท Sky จากอังกฤษจะหยุดสปอนเซอร์ทีมจักรยานในชื่อตัวเองหลังจบฤดูกาล 2019

ทำไมสปอนเซอร์ถึงจะเลิกสนับสนุนทีมตัวเองล่ะ?

นี่เป็นอีกเรื่องที่ทำให้วงการจักรยานเป็นอะไรที่เข้าใจยากครับ ปกติแล้วเนี่ย การทำทีมจักรยาน มันจะเริ่มจาก คนกลุ่มหนึ่ง อาจจะเป็นผู้จัดการทีม หุ้นส่วน ฝ่ายบริหาร management ของทีมไม่กี่คน ตั้งบริษัทขึ้นมาร่วมกัน

คนกลุ่มนี้คือเจ้าของทีมที่แท้จริง แต่เป็นเจ้าของทีมที่ไม่มีเงินจะทำทีมเองนะ มีวิชชัน มีฝัน มีคอนเนคชัน และสำคัญสุดคือ มีไลเซนส์ให้ทีมแข่งขันได้ถูกต้องจาก UCI

แต่ไม่มีเงิน

ก็เหมือนเจ้าของกิจการ อยากทำธุรกิจก็ต้องระดมทุน ทีมจักรยานก็เป็นธุรกิจแบบหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำกำไรให้เจ้าของทีม

แต่ละทีมก็มีเป้าหมายต่างกันไป บ้างอยากแค่ทำทีมจักรยาน บ้างอยากเป็นที่หนึ่งของโลก แต่ทุกสิ่งที่ทีมต้องมีคือเงิน และโมเดลการหาเงินของทีมจักรยานก็คือใช้สปอนเซอร์ เพราะอย่างที่ทราบกัน กีฬานี้ไม่สร้างรายได้ให้ตัวทีมหรือองค์กร เงินสนับสนุนทั้งหมดปกติจะใช้เป็นรายจ่าย ไม่มี return of investment ให้ผู้สนับสนุนแต่อย่างใด นอกจากชื่อเสียง (หรือชื่อเสียก็เป็นได้เหมือนกัน) รายจ่ายเกือบทั้งหมดของทุกทีมคือค่าตัวนักปั่น

โมเดลการสนุบสนุนทีจักรยานก็คือต้องมี title Sponsor นั่นคือผู้สนับสนุนรายใหญ่สุด จะถือสิทธิใช้ชื่อบริษัทตัวเองเป็นชื่อทีม ไม่เหมือนในวงการอื่นเช่น ฟุตบอลหรือบาสที่มีชื่อสโมสรชัดเจน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อได้ title sponsor มาแล้ว เจ้าของทีมตัวจริงที่เป็นคนบริหารทีม ก็ต้องกำหนดว่าจะเอาเงินเดือนเท่าไร นั่นคือ รายได้ของกิจการของเขาเนี่ย มาจากสปอนเซอร์เหมือนนักปั่น ไม่ได้มีอะไรนอกเหนือกว่านั้น ถ้าสปอนเซอร์หาย เจ้าของทีมก็ตกงาน ถ้าอยากทำทีมต่อก็ต้องเวียนหาสปอนเซอร์กันไป เปลี่ยนชื่อทีมกันไป แต่ไส้ในยังเป็นทีมบริหารชุดเดิม พูดง่ายๆ คือบริษัทเจ๊ง

แต่ทั้งนี้ ในวงการโปรก็มีทีมจักรยานบางทีม ที่เจ้าของคือตัวสปอนเซอร์เอง และ Sky ก็เป็นหนึ่งในทีมแบบนั้นครับ บริษัท Sky เป็นเจ้าของทีม 100% พูดให้เข้าใจอีกแบบ ทีม Sky ก็เหมือนมาสคอตของบริษัท มีฟังก์ชันเป็นมาร์เก็ตติ้ง ทำหน้าที่โปรโมทแบรนด์ Sky ไปทั่วโลก เพราะงั้นวิธีรันทีมมันจะต่างจากทีมอื่นๆ

อดีตประธานและซีอีโอบริษัท Sky เป็นแฟนจักรยาน และเชื่อใจเซอร์เดฟ เบรลส์ฟอร์ด ผู้อำนวยการและผู้จัดการทีม อยากทำอะไรจ่ายให้หมด ทำให้ Sky เป็นทีมที่มีงบทำทีมเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์จักรยาน (อย่าไปเทียบกับกีฬาอื่นนะครับ) ใช้ของที่ดีที่สุดที่เงินจะซื้อได้ หาโค้ชที่ดีที่สุด จ้างนักปั่นผู้ช่วยที่ดีที่สุด

Sky เป็นทีมเดียวที่จ้างโดเมสติกค่าตัวเกิน ล้านยูโรมากกว่าสิบคน ค่าจ้างล้านยูโรต่อปีคือระดับรองหัวหน้าทีมหรือเอซของทีมที่สามารถการันตีผลงานให้ทีมได้ แต่ทีมจ้างได้ก็เพราะเจ้าของทีม คือบริษัท Sky เองเห็นชอบ และไม่หวงงบ

ถ้าเป็นทีมอื่นอยากทำแบบนี้ ต่อให้สปอนเซอร์จะชอบไอเดีย แต่เมื่อสปอนเซอร์เองไม่ใช่เจ้าของทีมที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียในระยะยาว ก็อาจจะต้องคิดหนักที่จะยอมลงทุนมากๆ เพราะจ่ายเงินแล้วก็ใช่ว่าจะได้ return of investment ถ้านักปั่นราคาแพงคนนี้ป่วยหรือเจ็บแข่งไม่ได้ทั้งปี ทีมก็ยังต้องจ่ายเงินตามสัญญา คือกำแพงการจะจ่ายเงินกับอะไรสักอย่างของสปอนเซอร์นี่เยอะมากครับ

และแทบเป็นไปไม่ได้ที่ทีมนึงจะมีสปอนเซอร์ใหญ่รายเดียว Sky แบกรับงบพันล้านในการทำทีมเอง ทีมอื่นยังต้องมี co sponsor เช่น Bora-Hansgrohe และ Trek-Segafredo เป็นต้น ยังไม่รวมสปอนเซอร์เล็กๆ น้อยๆ รายอื่นๆ อีกที่ต้องเจรจาขอเงินมา

แน่นอนว่าเมื่อสปอนเซอร์เป็นเจ้าของทีมเอง จะทำอะไร เสนออะไรมันก็สะดวก และทำให้สร้างทีมได้อย่างมั่นคงในระยะยาวครับ ไม่ต้องเปลี่ยนสปอนเซอร์ ไม่ต้องเปลี่ยนผู้บริหาร ไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องจุกจิกที่มีโอกาสเปลี่ยนทุกปี

อย่างที่เราเห็นนักปั่นหลายๆ คนมักผลงานตกลงหลังย้ายทีม เช่นมาร์เซล คิทเทล ปีนี้ดับแบบความระยิบระยับในปี 2017 หายไปเลย จากกวาดแชมป์สเตจ Tour de France แบบรัวๆ จนปีนี้แทบไม่เห็นโผล่หน้าขบวนสปรินต์ ไหนจะต้องเวิร์กกับสมาชิกทีมใหม่ อุปกรณ์ใหม่ และภาระหน้าที่อื่นๆ ในฐานะคนดังของทีม สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการแข่งขันแน่นอน

นั่นคือทีม Sky สามารถสร้างทีมที่มั่นคงได้ตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา อัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่า มันไม่ธรรมดานะ ที่จะมีสปอนเซอร์คอมมิทถึง 1 ทศวรรษ แม้แต่ตัวเขาเองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในปฐพีในยุคสมัยของเขา ก็ยังไม่สามารถหาทีมที่อยู่ได้อย่างมั่นคงเกิน 4-5 ปีได้

จากฐานความมั่นคงนี้ก็ทำให้ Sky ได้ต่อยอดพัฒนาวงการหลายๆ อย่างด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้หลายทีมต้องปรับตัวตาม ทั้งในด้านการฝึกซ้อม อุปกรณ์ และการดูแลนักปั่น

มองอีกมุมหนึ่ง ภายใต้โครงสร้างรูปแบบกีฬานี้ การที่ Sky อยู่ยาวถึงสิบปีนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาและน่าชื่นชม เพราะเอาเข้าจริงแล้ว องค์กรเอกชนอย่าง Sky ไม่จำเป็นต้องแบ่งเงินปีละพันล้าน (บาท) มาทำทีมจักรยานก็ได้ งบขนาดนี้เอาไปทำโฆษณา ทำแคมเปญอะไรได้อีกมากมาย

ถ้าเราสังเกตก็พอมีสปอนเซอร์ที่ยอมอยู่ยาวเกือบหรือเกินสิบปี แต่มีไม่เยอะ และไม่ใช่เจ้าของทีม แค่เชื่อในสิ่งที่ทีมทำ (และเชื่อในตัวเจ้าของทีม/บอร์ดบริหาร) เช่น Movistar กับ ผจก. ยูเซบิโอ้ อุนสึ (8 ปี) และ Quickstep กับ ผจก. แพททริค เลอแฟร์ (16 ปี)

แต่ด้วยที่ทั้ง Movistar และ Quickstep ไม่ใช่เจ้าของทีมจริงๆ การจะระดมงบแบบไม่อั้นมาทำทีมอย่าง หรือเอามาเร่งนวัตกรรมต่างๆ ที่จะทำให้ทีมมีผลงานดีขึ้นอย่าง Sky ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

การที่ทีเศรษฐีตะวันออกกลางเข้ามาถือหุ้นเป็นเจ้าของทีมแบบ Bahrain-Merida ที่ประกาศเมื่อวานนี้, ทีม UAE Emirates และล่าสุด EF Education First Drapac ที่บริษัท Education First เข้ามาซื้อทีมไปเลย ไม่ได้เป็นสปอนเซอร์เฉยๆ ก็น่าจะส่งผลบวกให้กับวงการ เพราะมันจะสร้างสภาพแวดล้อมที่มั่นคงให้เป็นฐานในการสร้างชุดนักปั่นได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องคอยกังวลเรื่องงบ

ผมจำได้ว่า ตอนที่โอเล็ก ทิงคอฟเลิกทำทีม TInkoff-Saxo บิยาร์น รีส์ เจ้าของทีมตัวจริงที่ควบตำแหน่งผู้จัดการและโค้ชด้วย บ่นอุบว่า จริงๆ แล้วเขาควรจะเอาเวลามาคุมทีมแข่ง หรือมาโค้ชให้นักปั่นที่ทำผลงานได้ไม่ดีตามคาด ไม่ใช่ไปวิ่งหาสปอนเซอร์ทั้งปี ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นว่าการที่ทีมไม่มีเงินทุนที่มั่นคงมันส่งผลกระทบได้มากขนาดไหน

คอนทาดอร์เคยถูกถามว่า สมัยที่เขายังแข่งอยู่ เขากลัวใครบ้าง เขาบอกว่า กลัวนิบาลี คินทานา และกลัวฟรูม แต่ต้องเป็นฟรูมที่อยู่กับ Sky นะ ถ้าเป็นฟรูมจากทีมอื่น เขาไม่กลัวเลย

และนั่นบอกเราว่าทีมที่ดีมันช่วยนักปั่นได้ขนาดไหนครับ ◈

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *