4 วันกับเสือหมอบดิสก์เบรก

ผมมีคำถามคาใจกับจักรยานเสือหมอบติดดิสก์เบรกที่ไม่มีโอกาสได้ลองหาคำตอบสักที

นั่นคือในเสือหมอบรุ่นเดียวกันระหว่างคันที่ใช้ริมเบรกธรรมดา กับดิสก์เบรก มันจะขี่ต่างกันมากน้อยแค่ไหน?

ดิสก์เบรกกับเสือหมอบยังเป็นเรื่องที่ใหม่ ฟังดูก็แปลกดีที่เรานั่งคุยกันเรื่องนี้ในปี 2017 ที่จักรยานและยานพาหนะประเภทอื่นใช้ดิสก์เบรกกันไปหมดแล้ว

มีเพื่อนหลายคนทั้งนักปั่นด้วยกัน และเพื่อนที่เปิดร้านจักรยานถามเราบ่อยๆ ว่าดิสก์เบรก “จะมาจริงมั้ย?”

คำถามนี้มีหลายมิติครับ สำหรับคนปั่นทั่วไป การที่จะได้รู้ว่ามาตรฐานใหม่ของวงการคืออะไรช่วยให้เขาวางแผนเรื่องการซื้อหรือแต่งรถได้ง่ายขึ้น เช่นจะรอรุ่นใหม่เป็นเฟรมดิสก์มั้ยหรือถ้ามัน “ไม่มา” ก็จะขี่เสือหมอบริมเบรกต่อไป

จักรยานเสือหมอบไม่ใช่อุปกรณ์ราคาถูก รถระดับไฮเอนด์นั้นว่ากันที่ตัวเลขหกหลัก ไม่ใช่ว่าซื้อกันได้บ่อยๆ ใช้คันนึงก็ต้องคิดนาน

สำหรับร้านจักรยาน ก็ต้องคิดว่าจะเลือกสั่งรถรุ่นไหนมาสต็อกดี คิดผิดทีนึงมีผลกระทบหลายอย่าง ถ้าดิสก์ “ไม่มา” นั่นแปลว่าเขาจะจมทุนขายไม่ออก แต่ถ้าเกิดติดตลาดขึ้นมาแล้วไม่ได้สั่ง ก็ไม่มีของขาย ผิดใจกับลูกค้าอีก

ทุกครั้งที่ DT ได้เจอคนออกแบบจักรยาน หรือเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ที่เรามีโอกาสได้สัมภาษณ์ เราถามทุกคนว่าคุณคิดยังไงกับเสือหมอบและดิสก์เบรก

คำตอบที่ได้นั้นก็ต่างกันไปครับ คนเก่งๆ หลายคนไม่เชื่อว่าดิสก์เบรกเป็นของจำเป็น ในขณะที่บางคน บางแบรนด์ก็มั่นใจกับมันเต็มที่ 100% พร้อมจะผลักดันมันโดยทิ้งริมเบรกไปเลย

แต่ในความเป็นจริงก็คือ Shimano คือตัวตั้งตัวตีครับ

ตลาดจักรยานมี Shimano เป็นศูนย์กลาง ไม่มีแบรนด์จักรยานไหนในโลกที่มีอำนาจต่อรองกับ Shimano ได้ ถ้าปีนี้ Shimano บอกว่าฉันจะขายดิสก์เบรก คุณก็ต้องผลิตจักรยานที่รองรับดิสก์เบรกออกมา

จะบอกว่า Shimano คือผู้กำหนดทิศทางการออกแบบจักรยานเสือหมอบของโลกใบนี้ก็คงไม่ผิดครับ

สรุปก็คือ จักรยานเสือหมอบดิสก์เบรกนั้น “มาแน่” ครับ จะมาแทนที่ริมเบรกใน 3-4 ปีนี้หรือเปล่าก็คงไม่ เพราะมันยังไม่สามารถทำประสิทธิภาพบางจุดได้เทียบเท่าเสือหมอบริมเบรก นั่นก็คือเรื่องน้ำหนัก และมันรู้สึกได้เวลาปั่นจริงครับ แต่เมื่อไรที่ดิสก์เบรกลดน้ำหนักได้จนเทียบเท่าริมเบรกแล้ว เมื่อนั้นริมเบรกอาจจะเริ่มเฟดไปเหมือนกับเสือภูเขาก็เป็นได้

 

ริมเบรก vs disc brake ในเสือหมอบรุ่นเดียวกัน

ทริปญี่ปุ่นรอบนี้ผมยืมเสือหมอบ Chapter 2 Tere Disc มาปั่นครับ ได้ใช้ขี่ใหลากหลายสภาพเส้นทางมากทั้งขึ้นเขา ลงเขา ทางวิบาก ลงเขาระหว่างฝนตก ทางราบทำความเร็ว และถ้าใครติดตาม DT มาตลอดจะรู้ว่าเราเคยรีวิว Chapter 2 Tere (ริมเบรก) มาแล้ว และก็เป็นจักรยานอีกคันที่เราชอบมากครับ ด้วยคาแรคเตอร์ที่สมดุล มากับ geometry แบบรถแข่ง กระชากได้คล่องแคล่ว อาจจจะสติฟไม่สุดเหมือนเสือหมอบไฮเอนด์แต่ก็ขี่สนุก และ handling ได้มั่นคงนิ่งแน่นอนมาก

พอได้มาลองปั่นรุ่นดิสก์เบรก ในชุดอะไหล่ที่ไม่ต่างกันมากนัก กับเฟรมไซส์เดียวกัน อย่างแรกที่รู้สึกได้เลยคือรถมีความอืดกว่าเล็กน้อยด้วยน้ำหนักที่มากกว่าครับ คันนี้ใช้อะไหล่ Ultegra Di2 กับล้อ Reynolds Assault Disc แต่จานหน้าเป็น Dura-Ace 9100

นั่นคืออัตราเร่งเสียเปรียบรุ่นริมเบรกอย่างเห็นได้ชัด แต่พ้นจากจุดนี้แล้วก็แทบไม่มีอะไรต่างกัน ถ้าได้ใช้กรุ๊ปดิสก์รุ่นใหม่ที่น้ำหนักเบากว่าเดิมก็คอาจจะทำให้ขี่สนุกกว่านี้

การโยกขึ้นเขานั้นรู้สึกเร่งได้ไม่สุดเท้าเท่ารุ่นริมเบรก แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้นอาจจะลบจุดอ่อนไปได้ 80% นั่นคือจังหวะลงเขานั้นมันทำให้ความกลัวต่างๆ ในการลงด้วยความเร็วทุกรูปแบบหายไปหมดเลยครับ

ผมเป็นคนที่ลงเขาไม่ได้เก่งมากนัก ออกจะปอดแหกหน่อยๆ โดยเฉพาะเวลาเจอโค้งบอด หรือทางที่ชันมาก จะชอบกลัวเอารถไม่อยู่ ไม่กล้าเบรกลึก กลัวล้อล็อค พอได้ลองดิสก์เบรกนี่แทบจะเปลี่ยนสไตล์การขี่ไปหมด ยังกะขี่เสือภูเขาเลยก็ว่าได้ ความกลัวในการลงเขาที่เคยมีมาหายไปหมด

ได้ทดสอบลงเขาสองลูกยาวๆ ลูกแรกคือภูเขาไฟซาโอ ลงเขายาวๆ 12 กิโลเมตร ความชันเฉลี่ย 7-8% กับโค้ง switchback หลายจุด ด้วยที่มันผ่อนแรงเลียเบรกได้ละเอียดมาก ทำให้คุมความเร็วได้ละเอียดในทุกจังหวะครับ จากที่ปกติเบรกก่อนถึงโค้งหลายเมตร ถ้าโค้งไม่หักเกินไปนี่แทบจะเบรกในโค้งเลยโดยที่ไม่ต้องกลัวล้อล็อค เพราะเรารู้ว่าจุดล็อคมันอยู่ตรงไหนได้ละเอียดกว่าริมเบรก และปล่อยความเร็วให้ขึ้นไปสูงได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องชะลอเหมือนแต่ก่อนที่กลัวเบรกไม่ทัน

ผมจอดเช็คเบรกประมาณครึ่งทางตอนลงเขาเล็กน้อยเพื่อดูว่าใบดิสก์ร้อนแค่ไหน ด้วยที่ใช้เบรกแบบไม่แคร์กลัวขอบล้อพัง มันก็ร้อนพอสมควร แต่ยังอยู่ในจุดที่ระบบไฮดรอลิคทำงานได้อยู่ ลงเขามาได้ 8 กิโลเมตร กับความเร็ว 50-60 ตลอดทางทั้งๆ ที่โค้งเยอะได้แบบนี้ก็เบาใจไปได้เยอะ แต่ผมยังไม่กล้า push ว่ามันจะทนร้อนได้ถึงแค่ไหนเหมือนกัน เพราะชีวิตจริงคงใช้ไม่ถึงขั้นนั้นครับ

อีกครั้งที่ได้ทดสอบแบบเสี่ยงตายมากคือจังหวะลงเขาตอนเย็นในวันเดียวกันกับทางที่กึ่งมืดสนิทเพราะเราเอาไฟไปไม่พอครับ ผมอยู่กลางแถวขบวนสิบคนแบบเรียงเดี่ยว แต่ทีช่วงลงเขาประมาณ 3-4 กิโลเมตรกลางฝนตก แล้วยิ่งสายตาสั้นไม่ได้ใส่แว่น หลายจังหวะใช้ใจล้วนๆ ในการลง แต่การมีเบรกดีทำให้มั่นใจขึ้นเยอะจนไม่ต้องกลัวจะเกี่ยวคันหน้า

รวมๆ แล้วเปลี่ยนฟีลลิงการขี่เสือหมอบไปเยอะมากครับ ทั้งหมดนี้ใช่ว่าริมเบรกจะทำไม่ได้ ถ้าเป็นคนที่ทักษะถึง ใจกล้าพอ ดิสก์เบรกก็คงไม่ได้ทำให้เร็วขึ้นมากนัก จะช่วยมากเวลาฝนตกถนนเปียก และการดูแลก็จุกจิกเหมือนกัน ถ้าใครรูดเบรกเยอะๆ จนใบร้อน ยังไงก็น่าจะเจอปัญหาใบเบี้ยวแล้วสีผ้าเบรกซึ่งน่ารำคาญมาก ซ้ำต้องคำนึงถึงแรคจักรยานและเทรนเนอร์ที่เราใช้อยู่ว่ารองรับไหม ไม่งั้นก็ต้องเปลี่ยนกันใหม่ยกชุดครับ

แต่สำหรับคนทั่วไปที่เน้นการใช้งานแบบคันเดียวจบหลากหลายเส้นทาง ขี่สนุกอุ่นใจ ดิสก์เป็นตัวเลือกที่โอเคมากครับ แต่ต้องเลือกพวกฮู้ดรุ่นใหม่ๆ ที่ขนาดเล็กลงนะครับ จะจับแฮนด์ได้สบายขึ้นเยอะเลย อยากให้ลองกันครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *