มีอะไรใหม่ใน Trek Emonda SLR 2018?

Trek Emonda SLR เป็นเสือหมอบอีกหนึ่งคันที่เปิดตัวใน Tour de France ปีนี้ครับ และ Trek ยังคงยืนยันว่ามันเป็นเสือหมอบที่เบาที่สุดในโลกที่คนธรรมดาหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านจักรยาน (lightest production bike) โดยยังคงความเป็นจักรยานแนวว all rounder เหมือนเดิม แล้วมันมีอะไรใหม่เทียบกับรุ่นก่อนบ้าง? มาดูกันทีละข้อครับ

1. เฟรมเบามาก

เฟรม Trek Emonda รุ่นแรกเปิดตัวมาร่วมสามปีแล้ว และตัวท็อปของซีรีย์ Emonda ในตอนนั้น (SLR10) มากับเฟรมน้ำหนัก 690 กรัมเท่านั้นในไซส์ 56cm แน่นอนว่าไม่ได้เบาที่สุดในตลาด แต่ก็อยู่ระดับหัวแถวครับ และ Emonda 2018 นี้ก็น้ำหนักเบากว่าเดิมอีก

เฟรม Emonda SLR (ริมเบรค) ลดน้ำหนักลงอีก 50 กรัมเทียบกับรุ่นก่อน อยู่ที่ 640 กรัม มากับตะเกียบ 313 กรัม ส่วนเวอร์ชันดิสก์เบรคนั้นหนัก 665 กรัมและตะเกียบดิสก์ 350 กรัม

Trek ลดน้ำหนักโดยการใช้คาร์บอนไฟเบอร์ซีรีย์ใหม่ OCLV 700 ที่ใช้กับเฟรม Emonda SLR เท่านั้น และอ้างว่าเป็นเฟรมที่ stiffness-to-weight ดีที่สุดในตลาดตอนนี้

 

2. ไม่สนเรื่องความแอโร

ผิดกับจักรยาน all-round รุ่นใหม่ๆ ที่ผู้ออกแบบต้องการให้เป็นจักรยานแข่งขันที่ทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสติฟ น้ำหนักเบา และแอโรไดนามิก อย่าง Specialzed S-Works Tarmac SL6 ที่เพิ่งเปิดตัวไปก็อ้างว่าเป็นเฟรม all round ที่เร็วไม่แพ้เฟรมแอโรครับ 

แต่ Trek มองต่างมุม โดยใน Emonda SLR รุ่นใหม่ ไม่มีเคลมเรื่องแอโรไดนามิก ความลู่ลมเลยแม้แต่นิดเดียว หรือแม้กระทั่งเรื่องการซับแรงสะเทือนโดยใช้ IsoSpeed เหมือนในเฟรม Madone 9 / Domane SLR ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ เพราะการเพิ่มระบบ ISO Speed เข้ามาในหลักอานคงเพิ่มน้ำหนักเฟรมไม่น้อย

 

3. สติฟกว่าเดิม, แต่ไม่สะท้าน

Trek อ้างว่าวัสดุ OCLV 700 ที่ใช้ช่วยลดน้ำหนักและเพิ่มความสติฟทั้งจุดท่อคอและกระโหลก โดยที่เวอร์ชันริมเบรคจะสติฟกว่าดิสก์เบรคเล็กน้อย รูปทรงตัวถังเฟรมยังใช้ดีไซน์คล้ายๆ Emonda รุ่นก่อนหน้า แต่ปรับให้เฟรมมีขนาดกระชับมากขึ้น (ท่อบนสโล้ปกว่าเดิม) และความกว้างของท่อส่วนต่างๆ ก็ลดลงด้วย

ถึงเฟรมจะสติฟขึ้น แต่ Trek อ้างว่าซับแรงสะเทือนจากพื้นถนนดีขึ้นเล็กน้อยโดยไม่ต้องพึ่ง ISOSpeed เหมือนใน Madone / Domane

ถ้าผู้ใช้คิดว่าเฟรมยังสะเทือนไป ก็สามารถใช้ยางหน้ากว้างได้สูงสุด 28mm (ริมเบรค)

 

4. เฟรมมีให้เลือกสองระดับ – SLR / SL

Trek Emonda SLR ใหม่มีให้เลือกในทุกระดับงบประมาณ​เริ่มจากตัวท็อปสุด Emonda SLR จะใช้คาร์บอน OCLV 700 ซึ่งแน่นอนว่าเบาที่สุดในไลน์อัป แต่ถ้างบไม่อำนวยก็ยังมี Emonda SL ซึ่งใช้คาร์บอน OCLV500 น้ำหนักก็จะมากกว่า แต่ดีไซน์ทั้งหมดเหมือนกันครับ

เฟรม Emonda SL ริมเบรคหนัก 1,091 กรัม ส่วนดิสก์เบรคหนัก 1,149 กรัม ใช้ตะเกียบเดียวกับ Emonda SLR ทั้งหมดยกเว้น Emonda SL5 ที่ใช้ตะเกียบที่หนักกว่าประมาณร้อยกรัม

 

5. เสือหมอบดิสก์เบรคไม่ต้องหนักเสมอไป

เราพูดถึงออพชันดิสก์เบรคสำหรับ Emonda SLR ไปคร่าวๆ แล้ว แต่หัวใจสำคัญของ Emonda Disc ที่ Trek กล่าวถึงก็คือ ถึงจะเป็นเสือหมอบติดดิสก์เบรคก็ไม่ได้แปลว่าต้องมีน้ำหนักมากเสมอไปครับ Trek Emonda 9 Disc H1 ในไซส์ 56cm ที่มากับล้อ Aeolus 3 D3 Disc และชุดขับ Shimano Dura-Ace Di2 หนักเพียง 6.78 กิโลกรัม เบากว่าน้ำหนักขั้นต่ำของ UCI (6.8 กิโลกรัม) และสามารถเบากว่านี้ได้อีกถ้าเลือกทำสีผ่านระบบ Project One ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกสี Vaypor Coat ที่น้ำหนักสีบนเฟรมทั้งชิ้นหนักเพียง 5 กรัมเท่านั้น

ส่วนเวอร์ชันริมเบรคนั้น Emonda SLR/ SL มากับเบรค Direct Mount ในทุกระดับราคา ต่างกับ Emonda รุ่นก่อนที่ใช้เบรค Direct Mount ในรุ่นท็อปเท่านั้น ในเวอร์ชัน SLR เฟรมจะมากับเบรค Bontrager Speed Stop Pro ซึ่งหนักเพียง 95g ต่อชิ้น

 

6. ประสิทธิภาพเท่าเทียมในทุกขนาด

การออกแบบเฟรมให้ประสิทธิภาพเทียบเท่ากันในทุกไซส์กลายเป็นมาร์เก็ตติ้งใหม่ของผู้ผลิตจักรยานหลายแบรนด์ครับ แต่คอนเซปต์ก็คล้ายๆ กัน นั่นคือแทนที่จะออกแบบเฟรมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในไซส์เดียว (ปกติเป็นไซส์ 56) แล้วสเกลขึ้น/ลง ตามไซส์ที่เหลือ เพื่อลดต้นทุนการผลิต (แต่ผลที่ได้คือเฟรมที่ให้ประสิทธิภาพต่างกัน และไซส์ที่ประสิทธิภาพดีสุดจะเป็นไซส์ที่ใช้เป็นต้นแบบเท่านั้น)

สมัยนี้ผู้ผลิตพยายามโปรโมตการออกแบบเฟรมให้ประสิทธิภาพดีที่สุดในทุกขนาดเฟรมและตอบสนองการใช้งานของสรีระนักปั่นในทุกระดับความสูง/ ความแข็งแรง  ซึ่งหมายความว่าสัดส่วนท่อต่างๆ ในเฟรม และการวางเรียงชั้นคาร์บอนในแต่ละไซส์ก็จะต่างกันไปด้วย แน่นอนว่าต้นทุนการผลิตสูงกว่าแต่ก็ทำให้ได้เฟรมที่ปั่นดีกว่า และประสิทธิภาพใกล้เคียงกันในทุกไซส์ ตัดปัญหาไซส์ใหญ่เฟรมย้วย ไซส์เล็กเฟรมแข็งเกินเหมือนสมัยก่อน

ของ Specialzied เรียกว่า Rider-First Engineering ทางฝั่ง Trek เรียกว่า Size-Specific Ride-Tuned Performance ในเชิงปฏิบัติแล้วก็หมายความว่าเราจะได้รถที่ให้ฟีลลิ่งการปั่นดีกว่าเดิมและตรงตามโจทย์การออกแบบในทุกไซส์นั่นเอง

 

7. H1 หรือ H2?

Trek Emonda SLR ยังคงมีออปชัน geometry ให้เลือกสองแบบเหมือนใน Trek ซีรีย์อื่นๆ นั่นคือ H1 สำหรับคนที่ชอบท่าปั่นแบบ aggressive เหมือนนักแข่ง หรือ H2 ที่มีระยะ stack สูงกว่าและปั่นได้สบายขึ้นไม่ต้องก้มมาก

อย่างไรก็ดี geometry H1 มีให้เลือกเฉพาะในเฟรม Emonda SLR เท่านั้น (เลือกได้ว่าจะเป็นเฟรม H1 หรือ H2) ซึ่งระยะ reach จะยาวกว่าและระยะ stack จะเตี้ยกว่า H2 ครับ ส่วนเฟรม Emonda SL จะมีเฉพาะ H2

ส่วนเฟรม Emonda สำหรับผู้หญิงจะมีเฉพาะซีรีย์ SL และเป็น H2 ทั้งหมดและมากับอะไหล่เช่นเบาะ/ แฮนด์ที่เหมาะกับสรีระของผู้หญิง

  • รุ่นท็อป Trek Emonda SLR 9 พร้อมชุดขับ Shimano Dura-Ace Di2 และล้อ Bontrager Aeolus 3 อยู่ที่ 11,500 USD หรือประมาณ​ 380,000 บาท
  • รุ่นเริ่มต้น หรือถูกที่สุดในไลน์อัปคือ Trek Emonda SL 5 มากับชุดขับ Shimano 105 ล้อ Bontrager และอลูมิเนียม ราคา 1,889,99 USD หรือประมาณ​ 63,000 บาท
  • เฟรมเซ็ต Trek Emonda SLR ราคา 2,999 USD หรือประมาณ 100,500 บาท
  • เฟรมเซ็ต Trek Emonda SL ราคา 1,579 USD หรือประมาณ 53,000 บาท
  • ราคาไทยสอบถามตัวแทนจำหน่าย เช็คสเป็คและรายละเอียดได้ที่ www.trekbikes.com ครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *