จุดยืนของเรา

เพื่อนรู้ไหมครับว่าสิ่งที่เว็บไซต์และสื่อต่างๆ ต้องการมากที่สุดจากผู้อ่านคืออะไร?

ไม่ใช่เงินและไม่ใช่เวลา แต่มันคือความเชื่อใจ เมื่อคนอ่านหมดซึ่งความเชื่อใจกับสื่อ ก็ไม่มีเหตุผลที่เขาจะให้ความสนใจมันอีกต่อไป มันคือสิ่งที่เราคิดทุกครั้งก่อนที่จะเขียนอะไรลงในเว็บไซต์ ถ้าไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่เราทำ ก็ปิดเว็บกันไปเลยดีกว่า

เมื่อเราโตขึ้น มีคนอ่านมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมเริ่มมีเรื่องเงินเข้ามา เราชัดเจนว่าทำเว็บไซต์นี้หวังผลกำไร มันเป็นธุรกิจ เราต้องมีรายได้ เพราะถ้าเรามีกำไร เราก็มีทุนที่จะทำให้เว็บไซต์เราดียิ่งขึ้นไปอีก

หลายคนอาจจะคิดว่าการทำเว็บไซต์ไม่มีต้นทุน ไม่ได้ปรินต์ลงกระดาษนี่? นั่งเขียนแล้วก็โพสต์ไปสิ…ไม่ใช่เลยครับ ถึงเราจะไม่ได้ตีพิมพ์ แต่อย่าลืมเว็บไซต์เราอ่านฟรี เราต้องจ่ายค่า Server ค่าลิขสิทธิ์รูปภาพและซอฟต์แวร์ ค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ เงินเดือน ค่ามันสมองความคิด ค่า IT และอีกสารพัดอย่างไม่ต่างอะไรจากการทำธุรกิจอื่นๆ

เนื้อหาที่ดีนั้นใช้เงินและเวลา เพราะมันต้องผ่านการคิดการกลั่นกรองเรียบเรียงยังไม่รวมการโปรดักชั่นที่เรามีความตั้งใจทำให้ดูดี น่าสนใจกว่าเว็บไซต์ทั่วๆ ไป

เรามีนโยบายโปร่งใสกับการทำงานของ Ducking Tiger ทั้งหมด เพราะฉะนั้นวันนี้อยากจะมาคุยเรื่องการ “รีวิว” สินค้า ซึ่งน่าจะเป็นจุดตัดที่สะท้อนเรื่องสมดุลของผลประโยชน์และความน่าเชื่อถือได้ดีที่สุด อยากให้ทุกคนเข้าใจตรงกันครับ

 

รีวิวคืออะไร?

ผมเชื่อว่าคนไทยหลายคนเข้าใจคำว่า “รีวิว” ไม่ถูกต้อง การรีวิวที่ดีต้องมีมาตรฐานและมีความรับผิดชอบต่อคนอ่าน ในโลกที่ทุกคนสามารถเขียนอะไรก็ได้ในช่องทาง Social หรือในเว็บบอร์ดใหญ่ การได้ใช้สินค้าอย่างหนึ่งแล้วหยิบมาพูดให้ฟังก็ถือว่าเป็นการ “รีวิว” แล้ว

ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ การรีวิวที่คิดเงิน เห็นได้ชัดในธุรกิจเครื่องสำอางค์ที่ ถึงจะบอกว่าเป็นการรีวิวทดสอบสินค้า แต่จริงๆ แล้วคือแบรนด์ให้เงินและสินค้ามาพูด เมื่อแบรนด์จ่ายเงินมา เขาต้องคาดหวังให้คนรีวิวพูดถึงแต่ด้านที่ดี (Paid review) นั่นคือคุณมีข้อแม้ (Condition) ในการทำงานแล้ว

ธุรกิจรีวิวลักษณะนี้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่แพร่หลายไปในหลายวงการ จนแบรนด์ถึงกับแบ่งเงินมาเพื่อ “จ้าง” บล๊อกเกอร์ ดารา ผู้เชี่ยวชาญชื่อดัง มา “รีวิว” สินค้ากัน จนทุกคนหลงลืมไปว่า ความสำคัญของรีวิวคืออะไร ผมเป็นคนหนึ่งที่เสียความรู้สึกกับการ “รีวิว” ของกูรูหลายคนที่เคยนับถือ เป็นผู้เชี่ยวชาญ และวิจารณ์สินค้าได้ตรงไปตรงมา แต่สุดท้ายก็กลายเป็นเซลล์แมน ขายวิญญาณให้แบรนด์ในที่สุด และเมื่อบริษัทเขารู้ว่าเขาสามารถซื้อ “ความน่าเชื่อถือ” ของกูรูคนดังได้ เขาก็ทำกันเป็นธรรมเนียมปกติ

มันเป็นธรรมเนียมที่โคตรแย่เลยครับ

Eurobike Cervelo S5 2015 (1 of 1)

อะไรคือรีวิวที่ดี?

 ผมจะไม่พูดถึงการรีวิวของบุคคลทั่วไป ที่เหมือนเป็นการแนะนำ เตือน หรือชักจูงให้เพื่อนได้ชมกัน แต่จะเน้นไปที่การรีวิวของสื่อ ซึ่งเป็นหน้าที่หนึ่งของเราครับ

  • เป้าหมายของการรีวิวสินค้าของสื่อก็เพื่อให้เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจของคนอ่าน มันควรจะมาจากความเห็นของสื่อเองโดยที่ไม่มีข้อผูกมัดจากสปอนเซอร์ใดๆ ทั้งสิ้น
  • ความเห็นของของสื่อนั้นไม่ใช่สิ่งที่ซื้อขายได้ ไม่เช่นนั้นมันก็ไม่ต่างอะไรกับการโฆษณา จริงไหมครับ? นี่คือเรื่องพื้นฐานที่สุดในการเป็นสื่อ
  • สื่อที่ดีไม่ควรรับเงินเพื่อทำรีวิวด้วยประการทั้งปวง
  • การรีวิวที่ดีควรมีมาตรฐาน ผู้รีวิวต้องมีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่งพอที่จะบอกได้ว่า สินค้าหรือบริการที่ทดลองอยู่มันมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร คงไม่ต้องถึงขนาดเป็นปรมาจารย์ในวงการมาเป็นสิบๆ ปี แต่ต้องยุติธรรมไม่ลำเอียง อะไรดีก็ว่าดี อะไรไม่ดีก็ควรบอกให้คนอ่านรู้ เหตุผลที่คนเปิดอ่านเว็บหรือนิตยสารสื่อ และที่บริษัทผู้ผลิตที่อ้างรีวิวของสื่อ ก็เพราะรีวิวจากสื่อมี มาตรฐานมากกว่าความเห็นของบุคคลทั่วไป เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่พูด
  • สินค้าที่ผู้รีวิวซื้อมาใช้เองก็ไม่ได้แปลว่าจะยุติธรรม เพราะคุณมีสิทธิลำเอียง เพื่อหาทางสร้างความชอบธรรมให้กับเงินที่จ่ายไป

 

ความยากของการรีวิวจักรยาน

  • เราจะใช้วิทยาศาสตร์หรือความรู้สึก? — จักรยานแข่งขันเป็นผลผลิตจากเทคโนโลยีแต่ความสัมพันธ์ระหว่างจักรยานกับคนปั่นกลับเป็นสิ่งที่อธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ได้ยาก เพราะจักรยานไม่เหมือนรถยนต์ที่เราวัดค่าอย่างความแรงและอัตราเร่งได้ด้วยตัวเลข ถึงเฟรมๆ หนึ่งจะสติฟมาก (ให้ตัวน้อย) เวลาปั่นจริงเราอาจจะรู้สึกว่ามัน “ไม่พุ่ง” ไม่ติดเท้า เร่งได้แย่มากก็ได้
  • เช่นค่าความสติฟ เฟรมบางตัวอาจจะมีค่าความสติฟห้องกระโหลก (Bottom Bracket) สูงจากผลห้องแล็บ แต่เมื่อใช้งานจริงอาจจะรู้สึกตอบสนองได้แย่กว่าอีกเฟรมที่ค่าความสติฟต่ำกว่า นั่นก็เพราะจักรยานมีความซับซ้อนในเรื่องของการออกแบบ การเชื่อม การเรียงตัวเนื้อคาร์บอน มิติรถ และอีกหลายปัจจัยครับ ถ้าทีมงานออกแบบรถได้สมดุลตามโจทย์ ตัวเลขวัดผลในจุดๆ เดียวอาจจะไม่ได้บอกอะไรเราเลย
  • เช่นเดียวกับเรื่องแอโรไดนามิก การทดสอบเฟรมในอุโมงค์ลมอาจจะบอกได้ว่าเฟรมตัวนี้ลู่ลมขนาดไหนในสภาพการปั่นจำลอง แต่เมื่อใช้งานจริงที่ไม่ได้เจอกระแสลมแค่ไม่กี่องศาแบบในห้องแล็บ มันจะมีผลต่ออย่างไร? ถ้าปั่นกลุ่มแล้วจะมีผลขนาดไหน? เพราะกระแสลมมาจากทุกทิศทาง ก็ไม่มีใครวัดตรงนี้ได้ มันอาจจะลู่ลมจริงอย่างที่อ้าง แต่จะให้ระบุเป็นตัวเลขมาเทียบกันเฟรมต่อเฟรมในชีวิตจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
  • ตัวผู้ใช้ก็สำคัญ คนหนึ่งคนอาจจะรู้สึกต่อจักรยานต่างกับคนอื่นก็ได้ สรีระ ความฟิต ความสูงความเหมาะสมกับการใช้งานทุกคนย่อมไม่เหมือนกัน เราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์?
  • ใช้วัตต์หรือค่าหัวใจเปรียบเทียบ? วิธีนี้ก็ไม่เที่ยงตรง เพราะมีตัวแปรผกผันเต็มไปหมด เส้นทาง กระแสลม อะไหล่ที่ใช้ จุดหมุนต่างๆ บนจักรยาน ความฟิตคนปั่น แรงดันลมยาง ล้อ ทั้งหมดมีผลรวมกันแล้วหลายวัตต์ทีเดียวครับ ที่อาจจะทำให้แต่ละคันต่างกันได้ ถึงจะใช้อะไหล่ทั้งหมดอย่างเดียวกันก็ตาม
Eurobike Champ Bike (2 of 2)

นโยบายรีวิวจักรยานของ Ducking Tiger

  • เราไม่รับจ้างทำรีวิว
  • เราไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด เรามีเพื่อนสนิทซึ่งอาจจะเป็นผู้ประกอบการในวงการ แต่เราไม่เคยข้ามเส้นความสัมพันธ์ของเพื่อนกับงาน พูดง่ายๆ เราไม่อวยเพื่อนครับ หัวใจการทำงานเราคือความเป็นกลาง
  • ความชื่นชอบต่อแบรนด์ และความรู้สึกส่วนตัวไม่มีผลต่อการรีวิว แบรนด์นี้อาจจะประวัติดี แต่ถ้าทำสินค้าออกมาห่วย ก็ต้องบอกว่ามันห่วย
  • รีวิวที่ลงในเว็บคือสินค้าที่เลือกมา และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์และสนใจต่อคนอ่าน บางอย่างเราอาจจะซื้อมาใช้เองหรือมีอยู่แล้ว บางอย่างอาจจะมีบริษัทเสนอมาให้ลองใช้ (ซึ่งเราเลือกก่อน) เราไม่คิดว่าเป็นเรื่องเสียหาย ทุกครั้งที่บริษัทเสนอสินค้าให้รีวิว เราจะบอกเขาเสมอว่า ความเห็นทุกอย่างเป็นของเรานะ เราวิจารณ์ได้นะ คุณไม่มีส่วนในความเห็นที่เราจะโพสต์นะ รับไม่ได้ก็ไม่ทำ
  • เราเชื่อว่าการวิจารณ์ข้อเสียเป็นเรื่องดี เพราะในที่สุดตัวแทน ผู้ผลิตเขาก็จะมีข้อมูลไปฟีดแบ็คไปบอกทีมงานพัฒนาเพื่อทำสินค้าที่ดีกว่าออกมา แบรนด์ที่ไม่รับการวิจารณ์ (อย่างมีเหตุผล) และสินค้าเขาก็จะแย่ลงในที่สุด
  • เราอาจจะไม่ใช่ผู้คร่ำหวอดในวงการที่ปั่นจักรยานมาเป็นร้อยคัน แต่ก็เชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่งและมีความพยายามศึกษา ทดลองเพิ่มเติมตลอดเวลา เรามีความสุขที่ได้ทดลองสินค้าครับ และชอบที่จะบอกต่อว่ามันเป็นยังไงอย่างตรงไปตรงมาและเป็นกลาง ซึ่งเราหวังว่าความเห็นของเราจะเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อคนอ่าน
  • ด้วยความท้าทายในการรีวิวจักรยานที่พูดถึงข้างต้น เราเลยต้องมีรูปแบบการรีวิวสักนิดหนึ่งครับ แน่นอนเราไม่มีเครื่องทดสอบแบบห้องแล็บของนิตยสารดัง การรีวิวของเราจึงจะเป็นการวิเคราะห์วิจารณ์จากประสบการณ์การปั่นและความรู้สึกทั้งหมด
  • เราเชื่อว่า “ความรู้สึก” หรือ “ฟีลลิ่งการปั่น” เป็นเรื่องสำคัญ มันอาจจะวัดเป็นตัวเลขชัดๆ ไม่ได้ แต่ถ้าผู้ทดลองตั้งใจจับความรู้สึกและสื่อสารให้คนอื่นเข้าใจได้ ทำการบ้านดี สื่อสารความรู้สึกได้ชัดเจน ก็น่าจะมีประโยชน์ไม่น้อย ทั้งนี้ผู้อ่านก็ต้องถามตัวเองว่าจะเชื่อคนรีวิวขนาดไหน
  • เราจะไม่เปรียบเทียบสินค้า a กับ b ถึงแม้จะเป็นหมวดหมู่เดียวกัน แต่เราจะพูดถึงมุมมอง มิติ ความรู้สึกการใช้สินค้านั้นๆ ให้จบด้วยตัวมันเอง เพราะถ้าเราเปรียบเทียบ คำถามคือจะใช้สินค้าตัวไหนเป็นบรรทัดฐาน? เราคงไม่มีทางได้ลองสินค้าประเภทนี้ทุกตัวในตลาดที่จะบอกว่า a ดีหรือแย่กว่า b ยังไง
  • ถ้าเป็นการรีวิวจักรยาน เราจะพยายามใช้เบาะ ล้อและยางเดียวกันทั้งหมด เพราะเราเชื่อว่าชนิดของยางและแรงดันลมมีผลต่อความรู้สึกการปั่นมากที่สุด ถ้าคุมสองปัจจัยนี้ได้ การจับความรู้สึกของตัวเฟรมก็จะง่ายขึ้น
  • สินค้าแต่ละชิ้นเราจะใช้เวลารีวิวประมาณ 2–3 สัปดาห์ ในสภาพการใช้งานที่คนทั่วไปใช้กัน
  • ของที่เราได้มารีวิว เราส่งคืนทั้งหมด ยกเว้นว่าเป็นสินค้าชิ้นเล็กๆ ที่ใช้ต่อหรือขายต่อไม่ได้เช่นเสื้อผ้า ยางจักรยาน ทางแบรนด์ก็อาจจะให้มาเลยซึ่งเราก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเป็นน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ แต่การให้หรือไม่ให้สินค้าไม่มีผลต่อรีวิวของเราครับ
  • เราไม่มีทางที่จะได้กระบวนการรีวิวที่สมบูรณ์แบบ 100% ถูกใจทุกคนเพราะความสัมพันธ์ระหว่างคนกับจักรยานไม่ใช่สิ่งที่วัดค่าได้เหมือนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เราสนับสนุนให้คนอ่านอ่านรีวิวหลายๆ ที่ หาข้อมูลให้รอบด้าน ตามหลักกาลามสูตร 10 ครับ อย่าเชื่อเพราะครู กูรู พ่อแม่ หรือเพื่อนบอก ให้ตัดสินด้วยตัวเอง
  • ในอนาคตเราจะเพิ่มฟังก์ชัน User Review ซึ่งผู้อ่านสามารถให้คะแนนและคอมเม้นต์เพิ่มเติมใต้รีวิวของเรา คนอ่านก็จะได้เห็นทั้งรีวิวจากสื่อและผู้ใช้ น่าจะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีกว่ารีวิวของ DT เพียงอย่างเดียว ถ้า DT บอกว่าตัวนี้ดีเลิศ แต่ผู้ใช้บอกว่าห่วยบรมทุกคน คุณก็รู้ว่าใครถูกใครผิด

 

แต่เราก็ต้องการเงินทุน?

  • คุณอาจจะคิดว่าการได้ลองจักรยานและอะไหล่ต่างๆ ฟรีเป็นเรื่องสนุก แต่เช่นเดียวกับการทำงานอื่นครับ รีวิวสินค้ามีต้นทุนคือ 1. เวลา 2. แรงงาน ด้วยที่เราไม่คิดเงินค่ารีวิว เราจะหาเงินยังไง?
  • เว็บ DT มีแพคเกจโฆษณาไม่ต่างกับนิตยสารและเว็บไซต์ทั่วไป เรามีโฆษณาสองแบบ คือ แบนเนอร์ และบทความ Sponsored Post
  • แบนเนอร์ก็เหมือนการลงโฆษณาในนิตยสาร คือเน้นสร้าง brand awareness ให้ติดตาคนอ่าน
  • Sponsored Post คือเราร่วมงานกับแบรนด์หรือห้างร้านต่างๆ เป็นการโปรโมทหรืออธิบายสินค้า บริการ กิจกรรมที่น่าสนใจ อาจจะเป็นเรื่องราวการพัฒนาสินค้า ประวัติแบรนด์ หรือเป็นซีรีย์ความรู้ (เช่นเรื่องสารอาหารสำหรับนักปั่นที่ CP เคยสนับสนุนเรา) ซึ่งเราจะทำเนื้อหาออกมาในเชิงที่มีประโยชน์ ให้ความรู้ต่อคนอ่าน แบรนด์ก็ได้โชว์สินค้า ได้ awareness และได้สนับสนุนเนื้อหาที่มีประโยชน์
  • Sponsored Post ไม่ใช่การรีวิว ไม่มีการทดลองใช้งาน ไม่มีการตัดสินหรือแนะนำว่าดี/ไม่ดี ถ้าเป็นจักรยานหรืออะไหล่ก็จะออกมาในรูปแบบ First Look / Preview ครับ เป็นการ อธิบายถึงสเป็ค คุณสมบัติ ฟังก์ชันใหม่ๆ เสียมากกว่าครับ
  • ทุก Sponsored Post จะมีการระบุว่า บทความชิ้นนี้มีใครเป็นผู้สนับสนุน (Disclosure) รู้ชัดว่านี่คือโฆษณา ไม่ใช่การรีวิว ไม่ใช่การแอบขาย และไม่เชียร์
  • ในบางครั้ง เราจะให้ความสำคัญกับสินค้าของสปอนเซอร์เว็บมากกว่าสินค้าจากห้างร้านที่ไม่ใช่สปอนเซอร์ แต่ก็ไม่ใช่ไม่ทำแต่เรื่องของสปอนเซอร์เพียงอย่างเดียวครับ ถ้าคุณติดตามเว็บเรามานาน น่าจะเข้าใจ

เราหวังว่าจุดยืนของเรามีเหตุผลสำหรับคนอ่านครับ เราเชื่อในความโปร่งใส และอยากให้ทุกคนรู้ว่าเราทำงานกันด้วยใจ เราหวังผลกำไร แต่ไม่ใช่จากการหลอกคนอ่านและสปอนเซอร์เว็บไซต์ เพราะถ้า DT ไม่โต เราก็คงทำงานได้เท่าที่เห็นกันตอนนี้ ไม่พัฒนาไปไหน

เราก็เหมือนคนอ่านทุกคนที่อยากอ่านข้อมูลดีๆ จากเว็บดีๆ เราเห็นตัวอย่างเว็บและนิตยสารที่ไม่ดีมามาก และไม่อยากจะเป็นแบบนั้นครับ แน่นอนว่าสิ่งที่เราเขียนบอกเล่าก็เป็นความเห็นมุมเล็กๆ ในโลกจักรยาน มันอาจจะไม่ดีที่สุด ไม่ถูกใจทุกคน ก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้ต้องการเป็นทุกคำตอบสำหรับทุกคน เพราะเราเชื่อว่าหนทางที่จะล้มเหลวอย่างรวดเร็วที่สุดก็คือการพยายามทำให้ทุกคนชื่นชอบ

เรามีจุดยืนแบบนี้ และเราหวังว่าคุณจะยืนอยู่ข้างๆ เราครับ

คูน

ผู้ก่อตั้ง / บรรณาธิการบริหาร

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *