เกอเรนท์ โทมัสคือใคร?

หลังจบการแข่งขัน Tour de France ปีนี้ ทีม Sky จะเป็นเจ้าของแชมป์รายการ 6 ครั้งในระยะเวลา 7 ปี ด้วยนักปั่น 3 คน

แชมป์คนล่าสุดจาก Sky คือเกอเรนท์ โทมัส นักปั่นชาวเวลส์จากสหราชอาณาจักรวัย 32 ปี Ducking Tiger มั่นใจว่าน้อยคนจะรู้จักเกอเรนท์ โทมัส เพราะนอกจากผลงานเหรยีญทองโอลิมปิกสนามลู่ประเภททีมเปอร์ซูต์และแชมป์รายการถนนบางรายการแล้ว โทมัสยังไม่เคยเหยียบโพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์ อันดับที่ดีที่สุดในแกรนด์ทัวร์ของเขาคือที่ 15 ใน Tour de France ในปี 2015 และ 2016

วันนี้เลยอยากเล่าประวัติของโทมัสให้ฟังคร่าวๆ ครับ เพราะถ้าเราดูผลงานทั้งหมดของเขาแล้วจะพบว่าโทมัสเป็นนักปั่นที่รอบด้านมากๆ คนหนึ่งในรูปแบบเดียวกับแบรดลีย์ วิกกินส์ที่สามารถแข่งและชนะกีฬาจักรยานได้ทั้งประเภทลู่ สนามแข่งคลาสสิคแบบวันเดียวจบ สเตจเรซหนึ่งสัปดาห์ และล่าสุดแกรนด์ทัวร์อย่าง Tour de France

เรื่องมันเริ่มจากในลู่

โทมัสฉายแววนักปั่นฟอร์มดีตั้งแต่เด็ก เขาเริ่มแข่งจักรยานให้สโมสรท้องถิ่นในเมืองคาร์ดฟฟ์ตั้งแต่อายุ 10 ปีและมีผลงานชนะในรายการเยาวชนหลายสนาม และถูกทีมชาติคัดตัวเข้าไปฝึกซ้อมใน British Cycling Olympic Academy ที่เป็นโรงงานสร้างนักกีฬาจักรยานระดับโลก เขาเป็นแชมป์โลกจักรยานลู่ประเภท Scratch Race ระดับเยาวชนตั้งแต่ปี 2004

จากนั้นโทมัสพุ่งเป้าไปที่การแข่งแบบทีมเปอร์ซูต์ (ในทีมเดียวกับแบรดลีย์ วิกกินส์) ที่คว้าแชมป์โลกถึง 3 สมัย และครองเหรียญทองโอลิมปิก 2 ครั้งในปี 2008 และ 2012 แต่ระหว่างที่แข่งสนามลู่ โทมัสก็เซ็นสัญญาแข่งจักรยานถนนไปพร้อมๆ กันครับ

สู่เกมถนน

ทีมอาชีพแรกของโทมัสคือ Barloworld – ทีมจากอังกฤษที่มีบริษัทจากแอฟริกาใต้เป็นสปอนเซอร์ เขาร่วมทีมในปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ทีมได้ลงแข่ง Tour de France ด้วย โทมัสได้อันดับ 139 ซึ่งเป็นอันดับรองสุดท้าย จากนั้นปีเดียวเขาได้พบกับคริส ฟรูมซึ่งเข้ามาอยู่กับ Barloworld ในปี 2008 และ 2009 ก่อนที่ทั้งคู่จะย้ายไปอยู่กับทีม Sky ในปี 2010

Sky มีเป้าหมายว่าจะสร้างแชมป์ Tour de France ชาวอังกฤษให้ได้ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งจริงๆ แล้วทีมใช้เวลาแค่ 3 ปีเท่านั้นเมื่อแบรดลีย์ วิกกินส์ชนะรายการในปี 2012 แต่ถ้าดูจากตอนนั้นคงไม่มีใครเชื่อว่าโทมัสจะเป็นแชมป์อีกคนหนึ่งของทีม Sky

ช่วงแรกในทีม Sky โทมัสโฟกัสไปที่การแข่งประเภทคลาสสิค สนามแข่งวันเดียวบนเส้นทางวิบากที่มีถนนหิน และรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยตัวเต็ง Tour de France อย่างวิกกินส์และฟรูม

เขามีผลงานดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากอันดับ 2 ใน Dwars Door Vlaanderen จนได้แชมป์รายการใหญ่อย่าง E3 Harelbeke ในปี 2015 ที่เขาเบรคอเวย์หนีไปคว้าแชมป์คนเดียว และได้โพเดี้ยมใน Gent-Wevelgem ในปีเดียวกัน

ใน Tour de France โทมัสก็มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาเคยได้อันดับสองในสเตจถนนหินในปี 2010 พ่ายให้กับทอร์ ฮุดชชอฟ ขณะเดียวกันก็ไต่อันดับ GC ดีขึ้นทุกปีถึงจะรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยทีมก็ตาม

เขาได้อันดับ 67 ในปี 2010, 31 ในปี 2011, 22 ในปี 2014 และที่ 15 ในปี 2015 และ 2016

ในปี 2013 โทมัสล้มบาดเจ็บในช่วงสัปดาห์แรกของตูร์ สะโพกร้าว แต่ตัดสินใจแข่งต่อเพื่อช่วยคริส ฟรูม คว้าแชมป์ตูร์เป็นครั้งแรก เขาแข่งจนจบรายการ ถึงจะได้อันดับไม่ดี (ที่ 140) แต่ก็แสดงออกถึงความแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจในการต่อกรกับสนามแข่งจักรยานที่ท้าทายที่สุดในโลก

ในปี 2014 โทมัสมีโอกาสได้ขึ้นนำทีม Sky ใน Tour de France แบบไม่ได้ตั้งตัวเมื่อคริส ฟรูมล้มเจ็บจนต้องถอนตัว และริชีย์ พอร์ทป่วยระหว่างแข่งจนอันดับร่วง โทมัสอยู่หน้ากลุ่มตัวเต็งได้ตลอด ถึงจะสู้ระดับสูงสุดกับแชมป์ปีนั้น (นิบาลี) ไม่ได้ แต่ก็จบรายการด้วยอันดับ 22

2015 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

โทมัสเริ่มหันมาตั้งเป้าคว้าแชมป์สเตจเรซจริงๆ จังๆ ในปี 2015 ให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าอยากจะเปลี่ยนจากการคว้าแชมป์นสนามคลาสสิคมาทำผลงานในแกรนด์ทัวร์แทน (เขาฝันว่าอยากจะได้แชมป์ Tour de France สักครั้ง)

ปีนั้นโทมัสน้ำหนักตัวลดลงถึง 8 กิโลกรัม และไต่เขาได้ดีขึ้นชัดเจนเมื่อเขาคว้าแชมป์ Volta ao Algarve, ที่ 5 ใน Paris-Nice และที่ 15 ใน Tour de France

ถ้าใครจำได้ในปี 2015 โทมัสอันดับ GC ดีตลอดทั้งการแข่งขัน เขารั้งอันดับ 4 ได้จนถึงสเตจ 18 ก่อนที่จะหลุดร่วงไป 22 นาทีในสเตจ 19 บนทางขึ้นเขา Col de la Croix de Fer

ปี 2016 โทมัสมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ เขาได้แชมป์สนามสเตจเรซมากขึ้น ชนะ Volta ao Algarve อีกครั้ง, ชนะ Paris-Nice เฉือนเอาชนะอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์แค่ 4 วินาที และจบตูร์ด้วยอันดับ 15 อีกครั้ง

ปี 2017 ทีม Sky มอบหน้าที่นำแกรนด์ทัวร์ให้โทมัสอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แต่มีข้อแม้ว่าเขาต้องนำคู่กับมิเคล แลนด้า ใน Giro d’Italia

เขาเริ่มการแข่งขันได้ดีจนน่าทึ่ง จบอันดับ 3 ในสเตจ 4 บนยอดเขา Bloackhaus ขึ้นมาอยู่อันดับสองในตารางเวลารวม แต่โชคไม่เข้าข้างเมื่อในสเตจ 9 วิลโค เคลเดอร์แมน (Sunweb) ชนเข้ากับมอเตอร์ไซค์ผู้จัดแข่งจนมาพาทีม Sky ล้มทั้งแผง โทมัสไหล่หลุดและบาดเจ็บที่เข่า และเสียเวลาในสเตจนั้นไปห้านาที สุดท้ายต้องถอนตัวจากการแข่งขัน

อย่างไรก็ดีโทมัสกลับมาโชว์ฟอร์มดีอีกครั้งในตูร์ 2017 ที่เขาปั่นช่วยคริส ฟรูม เขาคว้าแชมป์สเตจแรก Time Trial ระยะทาง 13.7 กิโลเมตรจนได้เป็นชาวเวลส์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้สวมใส่เสื้อเหลือง และโชคไม่ดีซ้ำอีกในสเตจ 9 ที่ล้มแหกโค้งระหว่างทางลงเขาจนกระดูกไหปลาร้าหัก ต้องถอนตัวจากการแข่งขันทั้งๆ ที่อยู่ในอันดับสองของตารางเวลารวม

มาถึงปี 2018 โทมัสได้โอกาสที่ฟรูมลงแข่ง Giro ทำให้เขาได้นำทีมในสเตจเรซช่วงต้นปีมากขึ้น เขาชนะ Criterium du Dauphine แบบขาดลอย ซึ่งเป็นสนามที่ใช้วัดฟอร์มตัวเต็ง Tour de France ได้ดีที่สุด และทีม Sky เตรียมให้เขานำ Tour de France ในกรณีที่ฟรูมไม่ชนะคดี Salbultamol แต่สุดท้ายฟรูมพลิกคดีสำเร็จ โทมัสกลายเป็น “ผู้นำสำรอง” สำหรับทีม Sky

2018 – โอกาสและการเป็นผู้นำ

การที่ทีม Sky เตรียม “ผู้นำทีม” ไว้สองคนใน Tour de France เป็นแผนที่ดีและจำเป็น เพราะ Sky เองคงไม่มั่นใจว่า

  1. ฟรูมจะชนะคดีที่ถูกตรวจพบยาขยายหลอดลมเกินเกณฑ์หรือเปล่า
  2. ฟรูมจะกรอบขนาดไหนกับการแข่งแกรนด์ทัวร์ระดับสูงสุด 4 รายการติดต่อกัน

ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสที่โทมัสจะได้ลองสนามใหญ่จริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรก ก่อนเริ่มแข่งไม่มีใครเชื่อว่าโทมัสจะเป็น “ตัวเต็ง” แถวหน้าเหมือนนักปั่นอย่างคินทานา (Movistar), นิบาลี (Bahrain-Merida), และโรมัน บาเดต์ (AG2R)

แต่ถ้าเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว โทมัสเองถึงจะไม่เคยเหยียบโพเดี้ยมแกรนด์ทัวร์เหมือนทั้งสามคนที่ว่ามา เขากลับมีสกิลการแข่งที่รอบด้านกว่านักไต่เขาแบบ pure climber อย่างบาเดต์อยู่พอสมควร โดยเฉพาะการปั่น Time Trial – หัวใจสำคัญสำหรับการคว้าแชมป์สนามแกรนด์ทัวร์

โทมัสเป็นนักปั่นในสไตล์เดียวกับแบรดลีย์ วิกกินส์ และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเขาถึงอยู่นอกเหนือความคาดหมายของทีมคู่แข่ง นักปั่นสนามลู่น้อยคนที่จะผันตัวมาเป็นนักแข่งแกรนด์ทัวร์ระดับสูงสุด ด้วยที่ปกติแล้วจะแข่งลู่ได้ดีต้องตัวใหญ่ ไม่ใช่ผอมเพรียวเหมือนตัวเต็งแกรนด์ทัวร์ที่เราเห็นทั่วๆ ไป แต่ก็เช่นเดียวกับวิกกินส์ ทั้งคู่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะพัฒนาฟอร์มไต่เขาได้ถึงจุดนี้โดยที่ไม่เสียพลังในการปั่น Time Trial ไปมากนัก

ทั้งนี้เราไม่เคยรู้เลยว่าโทมัสจะไปได้ไกลขนาดไหนในแกรนด์ทัวร์ เพราะทุกครั้งที่เขาฟอร์มดีและมีโอกาสนำทีม โชคก็ไม่เข้าข้างมีเหตุให้ต้องออกจากการแข่งขันอยู่ทุกครั้งไป

เหตุผลที่โทมัสได้แชมป์ Tour de France

ตลอด 20 สเตจที่ผ่านมาโทมัสเป็นนักแข่งคนเดียวในตูร์ที่ไม่เคยทำพลาดอะไรเลย เขายังไม่เคยล้ม, ไม่เคยยางรั่ว, ไม่เคยหลุดกลุ่มตัวเต็ง และปิดการโจมตีได้ทุกครั้งจากทุกคน ซ้ำยังอาศัยการเป็นผู้นำทำเกมอย่างฉลาด ไม่เปลืองแรงโจมตีก่อน แต่ใช้วิธีเล่นเกมอุด ไล่ตามปิดคู่แข่ง แล้วออมแรงไว้ชิงโจมตีในช่วกิโลเมตรสุดท้าย ซึ่งก็ได้ผลทุกครั้ง นอกจากจะทำเวลาห่างได้เพิ่มแล้วเขายังได้ time bonus มาหลายสิบวินาที และเป็นแชมป์สเตจถึงสองครั้งติดต่อกันในสัปดาห์ที่สอง

ถ้าเราลองดูทอม ดูโมลาน (Sunweb) อันดับสองของรายการ ที่เสียเวลา 53 วินาทีในสเตจ 6 หลังหลุดกลุ่มบนทางขึ้นเนิน Mur de Bretagne (ดูโมลานยางรั่วก่อนถึงตีนเขาทำให้ต้องเสียแรงไล่ตามกลุ่มอยู่หลายนาที) แล้วยังโดนปรับเพิ่มอีก 20 วินาทีเพราะเกาะรถเซอร์วิสเข้ากลุ่ม วันเดียวดูโมลานเสียเวลาไป 73 วินาทีให้โทมัส นั่นคือเกินครึ่งของระยะห่างของเขากับโทมัสในเวลารวมหลังสเตจ 20

การที่ดูโมลานเวลาตามโทมัสอยู่มากทำให้เขาต้องเป็นคนเปิดเกมรุกเพื่อชิงเวลาคืน แต่ขณะเดียวกันมันก็เข้าทางทีม Sky ที่มีคริส ฟรูมคอยมาร์คดูโมลาน และโทมัสที่ไม่จำเป็นต้องโจมตีแต่แค่ตามให้ทัน ซึ่งเขาก็แกร่งพอจะทำได้ทุกครั้ง นอกจากจะไม่เสียเวลาแล้วยังเป็นการข่มคู่ต่อสู้ไปในตัวว่าการโจมตีของพวกเขาไม่ได้ผลกับโทมัส

ถ้าจะบอกว่าโทมัสฟอร์มสดกว่าคู่แข่งหลายๆ คนที่ลงแข่ง Giro d’Italia มาก่อนก็คงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะปีนี้เขาไต่เขาได้ดีกว่าไนโร คินทานา (Movistar) เจ้าของแชมป์แกรนด์ทัวร์สองรายการอย่างชัดเจน

โทมัสจบสเตจ Alpe d’Huez เร็วกว่าคินทานาถึง 47 วินาที และในสัปดาห์สุดท้ายเขาไต่เขาดีกว่า pure climber อย่างโรมัน บาเดต์ที่เคยขึ้นโพเดี้ยม Tour de France ถึงสองครั้ง

และคืนนี้โทมัสเป็นแชมป์ Tour de France คนล่าสุดจากทีม Sky

The Sky Factory

สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในตูร์ปีนี้อาจจะไม่ใช่ตัวโทมัสเอง แต่เป็นวิธีการสร้างนักแข่งแกรนด์ทัวร์ของทีม Sky ครับ ซึ่งมันมีแพทเทิร์นที่น่าสนใจมาก แชมป์ตูร์ทั้งสามคนจาก Sky – วิกกินส์, ฟรูม, และโทมัส พัฒนาตัวเองในรูปแบบที่ไม่เหมือนนักแข่งแกรนด์ทัวร์คนอื่นๆ เลย (เช่นนิบาลี คอนทาดอร์ วาวเวอเด้ หรือคินทานา)

สิ่งที่ต่างคือนักแข่งแกรนด์ทัวร์ทั่วๆ ไปมักฉายแววฟอร์มดีตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ นิบาลีคว้าอันดับ 19 ใน Giro ปีแรกที่เขาลงแข่งขัน และตลอดการแข่งแกรนด์ทัวร์ของเขา นิบาลีไม่เคยมีอันดับต่ำกว่า 30 ใน 17 แกรนด์ทัวร์ที่เขาลงแข่งเขาติด Top 10 ถึง 13 ครั้ง

เช่นเดียวกับอัลเบอร์โต้ คอนทาดอร์ นอกจากครั้งแรกที่เขาลงแข่งตูร์ในปี 2005 (ได้ที่ 31) เขาได้แชมป์ทุกแกรนด์ทัวร์ที่ลงแข่งระหว่างปี 2007-2012 แข่งเท่าไรก็ได้แชมป์เท่านั้น!

กลับกันกับทีม Sky ที่จับเอานักปั่นที่ไม่ได้มีแววจะเป็นแชมป์แกรนด์ทัวร์แต่จับมาปั้นในระยะเวลา 3-4 ปีจนกลายมาเป็นผู้ท้าชิงที่รอบด้าน ดึงเอาจุดเด่นในการปั่น Time Trial ของทั้งสามคนมาต่อยอดด้วยการลดน้ำหนักเพื่อให้ไต่เขาได้ดี สุดท้ายกลายเป็นนักปั่นที่รอบด้านกว่าผู้ท้าชิงคนอื่นๆ

วิกกินส์ได้แชมป์ตูร์ตอนเขาอายุ 32 ปี, ฟรูมตอนอายุ 28 และโทมัสตอนอายุ 32

แน่นอนว่าเหตุผลในการได้แชมป์แกรนด์ทัวร์คงมีมากกว่าแค่ที่เรายกมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโชค การสนับสนุนของทีม และศักยภาพที่แท้จริงของนักปั่นเอง

น่าสนใจว่าทีม Sky จะพัฒนานักปั่นคนอื่นๆ ในทีมให้ขึ้นมามีผลงานในแกรนด์ทัวร์ได้มากกว่านี้อีกหรือเปล่า และต่อจากนี้โทมัสจะเดินทางไหน? ปีหน้า DT เดาว่าทีมคงให้โอกาสฟรูมได้ลองคว้าแชมป์ตูร์สมัยที่ 5 ในขณะที่โทมัสขึ้นนำ Giro หรือ Vuelta ครับ

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *