ชาติไหนผลิตสปรินเตอร์ได้ดีที่สุดในโลก? ถ้าเราจะตอบว่าเยอรมนีก็คงไม่ไกลจากความเป็นจริงมากนัก
เชื่อไหมครับว่าระหว่างปี 2012-2017 กว่า 1 ใน 5 ของแชมป์สเตจในรายการ Tour de France มาจากสปรินเตอร์ชาวเยอรมัน รวมเป็นชัยชนะทั้งหมด 44 สเตจ จากสปรินเตอร์ 3 คน นั่นคือ จอห์น เดเกนโคลบ์, อังเดร ไกรเปิล, และมาร์เซล คิทเทล
สถิติดังกล่าวบอกเราว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่มีชาติไหนที่ผลิตสปรินเตอร์คุณภาพสูงระดับ WorldTour ได้เยอะและต่อเนื่องเท่าเยอรมนี
อย่างไรก็ดี ทั้งเดเกนโคลบ์, ไกรเปิลและคิทเทล เป็นนักปั่นใน “ยุค” เดียวกัน ถ้าเราจะวัดความสามารถของชาติๆ หนึ่งในการสร้างนักกีฬา เราอาจจะต้องดูนักกีฬารุ่นน้องเจเนอเรชันใหม่ด้วย ว่าพวกเขาจะทำผลงานต่อเนื่องจากนักปั่นรุ่นพี่ได้หรือเปล่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทั้งสามคนอยู่ในช่วงขาลง ไกรเปิลเองต้องย้ายไปอยู่กับ Fortuneo-Samsic ทีมดิวิชันสองเมื่อทีม Lotto-Soudal ที่เขาสังกัดมาร่วมสิบปีตัดสินใจไม่ต่อสัญญาให้หลังจบฤดูกาล 2018
เดเกนโคลบ์เองก็มีชัยชนะแค่ประปราย ไม่สามารถคืนฟอร์มพีคในปี 2015 ที่เบิ้ลแชมป์ทั้ง Milan-Sanremo และ Paris-Roubaix ในปีเดียวกัน
ล่าสุดมาร์เซล คิทเทลก็เลิกแข่งกะทันหันจากปัญหาความเครียด ถึงกับยกเลิกสัญญากับทีม Katusha-Alpecin เซอร์ไพรส์กันทั้งวงการ
ปาสคาล แอคเคอร์แมน
ในขณะที่สปรินเตอร์เยอรมันรุ่นพี่เริ่มจะส่งสัญญาณว่าอยู่ในช่วงขาลง ทีม Bora-Hansgrohe ก็แอบปั้นสปรินเตอร์เยอรมันขึ้นมาอย่างลับๆ หนึ่งคน
สปรินเตอร์คนนี้ก็คือปาสคาล แอคเคอร์แมน นักปั่นวัย 25 ปีที่เพิ่งชนะสเตจ 2 ใน Giro d’Italia เมื่อวานนี้นั่นเอง
ที่บอกว่าทีมปั้นอย่างลับๆ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ความลับเสียทีเดียว แต่ด้วยที่แฟนจักรยานทุกคนรู้จักทีม Bora ผ่านแค่ผลงานของปีเตอร์ ซากาน อดีตแชมป์โลก 3 สมัย และเป็นนักปั่นที่โด่งดังที่สุดในเปโลตองตอนนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะมองไม่เห็นนักกีฬาคนอื่นในทีม
และอาจจะเป็นแอคเคอร์แมนนี่เองที่จะขึ้นมาสานต่อผลงานการสปรินต์ในระดับ WorldTour ให้เยอรมนีได้อีกครั้ง
ทีม Bora เซ็นสัญญารับแอคเคอร์แมนเข้าทีมในปี 2017 ถึงปีแรกเขาจะไม่มีผลงานมากนัก แต่ในปี 2018 เขาคว้าชัยชนะให้ทีมได้ถึง 9 ครั้ง โดย 6 ครั้งที่เขาชนะเป็นผลงานระดับ UCI WorldTour (ดิวิชันสูงสุด)
สนามที่แอคเคอร์แมนชนะอาจจะไม่ใช่รายการใหญ่ที่หลายคนจับตามอง และทางทีมเองก็ไม่ได้ให้โอกาสแอคเคอร์แมนลงแข่งในแกรนด์ทัวร์รายการไหนๆ เลยในปี 2018 ขณะเดียวกัน สปรินเตอร์ร่วมทีมอย่างแซม เบนเน็ตคว้าชัยชนะใน Giro d’Italia ไปถึง 3 สเตจ และปีเตอร์ ซากานก็ชนะ 3 สเตจใน Tour de France พร้อมรางวัลเจ้าความเร็วสมัยที่ 5 เช่นนั้นแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่แอคเคอร์แมนจะอยู่นอกสายตารุ่นพี่ที่ผลงานโดดเด่นกว่า
เทียบกับสปรินเตอร์เยอรมันรุ่นพี่แล้ว แอคเคอร์แมนทำผลงานในปี 2018 ได้ดียิ่งกว่าไกรเปิลที่มี 9 ชัยชนะ แต่แค่ 2 ชัยชนะมาจากระดับ WorldTour ส่วนคิทเทลเองชนะแค่ 2 ครั้ง และเดเกนโคลบ์ 3 ครั้ง
แอคเคอร์แมนส่งสัญญาณชัดว่าเขาเป็นสปรินเตอร์เยอรมันที่ฟอร์มดีที่สุดตอนนี้
ก้าวแรกสู่สังเวียน
เติบโตจากครอบครัวที่คลั่งไคล้การแข่งขันจักรยาน แอคเคอร์แมนขี่จักรยานครั้งแรกตั้งแต่อายุแค่ 6 ขวบ พอได้ 7 ขวบเขาก็มีไลเซนส์การแข่งขันจักรยานของตัวเอง เขาให้สัมภาษณ์ว่าจริงๆ แล้วอยากเป็นนักฟุตบอลมากกว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อฟุตบอลยังคงเป็นกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งในเยอรมนี
แต่เหตุผลที่แอคเคอร์แมนเลือกแข่งจักรยานนั้นเป็นเหตุผลง่ายๆ ที่ใครก็น่าจะเข้าใจ
ในเยอรมนี การแข่งฟุตบอลระดับเยาวชนนั้นแทบไม่มีเงินรางวัลเลย หรือถ้ามีก็ต้องแบ่งกับเพื่อนร่วมทีมจำนวนมาก ในขณะที่การแข่งจักรยานนั้นมีเงินรางวัลทุกสนาม ถึงจะไม่มาก ผู้ชนะก็ไม่ต้องแบ่งรายได้กับใคร เมื่อเขารู้ตัวว่าตัวเองมีทักษะการสปรินต์ดีกว่าคนอื่นและเริ่มชนะสนามท้องถิ่นมากขึ้น แอคเคอร์แมนก็ตัดสินใจเลือกที่จะเป็นนักแข่งจักรยานอาชีพ
การจะหาแรงบันดาลใจให้เลือกมาทำอาชีพนักแข่งจักรยานก็ไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อเยอรมนีมีฮีโรนักปั่นอย่างทั้งเอริค ซาเบล อดีตตำนานสปรินเตอร์ที่เป็นเจ้าความเร็วใน Tour de France ถึง 5 สมัย และยังมีแยน อูลริค นักไต่เขาและอดีตแชมป์ Tour de France 1997 ที่คอยขับเคี่ยวกับแลนซ์ อาร์มสตรองตลอดยุค 90s
แอคเคอร์แมนเทิร์นโปรกับทีม Radnet-Rose Team ตั้งแต่เขาอายุได้ 19 ปี และแข่งให้กับทีมอยู่ 4 ฤดูกาล (2013-2016) จนราล์ฟ เดงค์ ผู้จัดการทีม Bora-Hansgrohe เริ่มมองเห็นแวว
มันไม่ใช่การเห็นความสามารถธรรมดาๆ แต่เป็นความมั่นใจในตัวนักกีฬา เมื่อเดงค์ยื่นข้อเสนอสัญญาให้แอคเคอร์แมนยาว 5 ปีเต็ม ซึ่งเป็นอะไรที่แทบไม่มีให้เห็นในวงการจักรยาน นักปั่นส่วนใหญ่ ต่อให้จะเป็นดาวดังของวงการก็มักจะมีสัญญาระยะสั้นแค่ 1-2 ฤดูกาลเท่านั้น มันบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นในตัวนักกีฬา ที่ทีมกล้าจะลงทุนระยะยาวด้วย
ปี 2017 เป็นปีแรกที่เขาแข่งให้ Bora-Hansgrohe แน่นอนว่าในทีมที่มีสปรินเตอร์ฟอร์มดีอย่างเบนเน็ตและซากาน แอคเคอร์แมนไม่ได้ถูกเลือกให้ลงรายการใหญ่ ทีมอยากให้เขาเรียนรู้เก็บประสบการณ์ในสนามเล็กๆ ก่อน โดยมีสัญญาใจว่าจะให้ลงแกรนด์ทัวร์ในปี 2019
เขาจบปี 2017 โดยไม่มีชัยชนะเลย แต่ก็ติดโพเดี้ยมและอันดับ Top 5 หลายครั้ง
ปี 2018 เขาเริ่มโชว์ศักยภาพ คว้าอันดับโพเดียมในรายการระดับ WorldTour และในสนามคลาสสิค อาจจะช้ากว่านักปั่นอย่างคิทเทลและวิวิอานี แต่ได้อันดับดีกว่าคู่แข่งที่โด่งดังกว่าอย่างคาเล็บ ยวน และอเล็กซานเดอร์ คริสตอฟ
แอคเคอร์แมนกล่าวว่าเขาติดนิสัย “ออกตัวเร็ว” จนทำให้แรงตกช่วงปลาย เขารู้ว่าเป็นปัญหาธรรมดาของสปรินเตอร์รุ่นใหม่ที่ประสบการณ์น้อย ยังกะจังหวะการสปรินต์ไม่ถูก และกลัวจะเสียจังหวะให้คนอื่นถ้าออกตัวช้าเกินไป
กลับกันถ้าเราสังเกตสปรินเตอร์ชื่อดัง แชมป์รายการส่วนมากมักเป็นคนที่ออกตัวสปรินต์หลังคนอื่น สามารถเกาะดราฟคู่แข่งข้างหน้าเพื่อประหยัดแรง และขึ้นแซงโดยมีโมเมนตัมการสปรินต์สูงสุด แต่แน่นอนว่าการจะรอเห็นคนอื่นออกตัวไปก่อนนั้นก็ต้องอาศัยความกล้าและความมั่นใจ ที่แอคเคอร์แมนยังไม่มี
ชัยชนะครั้งแรกในปี 2018 ของเขามาจากสนามระดับ WorldTour ในรายการ Tour de Romandie ที่สวิสเซอร์แลนด์ เขาเอาชนะไมเคิล มอร์คอฟ (Quickstep) และโรเบอร์โต้ เฟอร์รารี (UAE) แบบขาดลอย
ไฮไลท์ Tour de Romandie ที่แอคเคอร์แมนชนะ
ชัยชนะใน Romandie ช่วยสร้างความมั่นใจจนเขากล้าที่จะท้าชิงแชมป์สเตจในรายการใหญ่ๆ มากขึ้น ไล่เก็บผลงานแชมป์ในสนามอย่าง Ride London Classics และ Tour of Poland รู้ตัวอีกทีเขาก็กลายเป็นสปรินเตอร์ชาวเยอรมันที่มีผลงานดีกว่ารุ่นพี่ทุกคนในปี 2018
สปรินเตอร์ที่ทีมฝากความหวังไว้
แซม เบนเน็ตอาจจะไม่พอใจกับการที่ทีมเลือกนักปั่นรุ่นน้องอย่างแอคเคอร์แมนลงแข่ง Giro d’Italia แทนเขา แต่มันก็เป็นการตัดสินใจที่เข้าใจได้ไม่ยาก
ทีม Bora-Hansgrohe เป็นทีมสัญชาติเยอรมัน สปอนเซอร์ย่อมพอใจกว่าที่จะให้นักแข่งที่เป็นแชมป์เสือหมอบชาวเยอรมันคนปัจจุบันลงแข่งในสนามใหญ่อย่าง Giro d’Italia
สำหรับฝั่งบริหารของทีม แอคเคอร์แมนเป็นการลงทุนระยะยาว เพราะเขามีสัญญาถึง 5 ปี ในขณะที่เบนเน็ตจะหมดสัญญากับทีมในปลายปี 2019 นี้ โดยปกติแล้วทีมมักให้โอกาสนักปั่นที่จะอยู่ยาวกับทีมมากกว่าคนที่มีแนวโน้มจะย้ายทีม
แต่ถึงทีมจะเลือกแอคเคอร์แมน มันก็ยังเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่เพราะก่อนจะเริ่ม Giro d’Italia เบนเน็ตมีผลงานชัยชนะตั้งแต่ต้นปีมากกว่าแอคเคอร์แมน ฟอร์มเขาพร้อมลงแข่ง และยังมีผลงานจากปีที่แล้วที่ชนะ 3 สเตจใน Giro การันตีความมั่นใจให้ทีมได้ ในขณะที่แอคเคอร์แมนเองยังไม่มีผลงานในแกรนด์ทัวร์เลย
ทั้งเบนเน็ตและแอคเคอร์แมนแทบไม่มีสิทธิลง Tour de France ตราบที่ซากานยังเป็นหัวหน้าทีมนี้ (ไม่มีประโยชน์ที่จะส่งสปรินเตอร์หลายคนลงแกรนด์ทัวร์เดียวกัน) การที่เบนเน็ตไม่ถูกเลือกให้ลง Giro ก็หมายความว่าทีมอาจจะให้เขาลง Vuelta a Espana ซึ่งมีศักดิ์น้อยกว่าทั้ง Giro และ Tour จนเบนเน็ตให้สัมภาษณ์ว่าเขาเองก็มีแนวโน้มที่จะออกจากทีม Bora เพราะชัดเจนว่าทีมให้ความสำคัญกับแอคเคอร์แมนและซากานมากกว่าเขา
การที่เบนเน็ตจะย้ายออก และซากานเองเคยบอกว่าเขาจะแข่งอีกไม่นาน (ซากานเคยคิดจะเลิกแข่งตั้งแต่ปี 2015) ชัดเจนว่าแอคเคอร์แมนคือคนที่จะมารับช่วงต่อเป็นหัวหอกให้ทีม Bora-Hansgrohe ในอนาคต
เขาให้สัมภาษณ์หลังได้แชมป์สเตจ 2 ใน Giro เมื่อคืนนี้:
“ผมคงไม่มีวันลืมชัยชนะครั้งนี้ ที่ผมชนะสเตจในแกรนด์ทัวร์เป็นครั้งแรกในชีวิต มันเป็นก้าวสำคัญในอาชีพของสปรินเตอร์ทุกคนครับ ปีนี้ผมล้มหลายครั้งจนเสียโอกาสสปรินต์ทำผลงาน แต่ทีมก็ยังมั่นใจในตัวผม ยอมให้ผมลงแข่ง Giro”
“ชัยชนะมันสร้างความมั่นใจให้ทุกคนครับ ตอนนี้ทีมเราโล่งเลย หมดแรงกดดันแล้วเพราะเรามีผลงานกลับบ้านแล้ว ผมว่าเราหวังได้มากกว่านี้ ผมอยากชนะสัก 3 สเตจ”
“ผมมีความสุขนะ ในโลกนี้มีคนจำนวนมากที่ยิ้มไม่ออก ผมอยากให้ชัยชนะของผมเป็นกำลังใจให้พวกเขา เป็นตัวอย่างการใช้ชีวิตที่ดี ผมดีใจที่ได้มีชีวิตทำตามความฝัน”
มันจะเป็นอนาคตที่สดใสอย่างที่เขาคิดไว้ หรือต้องจากไปก่อนเวลาอันเหมาะสมเหมือนมาร์เซล คิทเทล อย่างน้อยๆ เราก็น่าจะได้เห็นเสี้ยวหนึ่งของมันจาก Giro d’Italia ปีนี้ครับ