ใครจะเป็นแชมป์ Paris-Roubaix 2018?

สนามคลาสสิคที่เดิมพันสูงที่สุดกลับมาอีกครั้ง Paris-Roubaix ครั้งที่ 116 ที่จะแข่งกันวันนี้ จัดเป็นหนึ่งในสนามแข่งจักรยานที่ดุเดือดและสนุกสนานที่สุดในทุกๆ ปีครับ กับสภาพเส้นทางถนนหิน สภาพอากาศหนาวเหน็บ ลมกรรโชกรุนแรง และระยะทางร่วม 257 กิโลเมตร การันตีได้ว่าไม่มีรายการแข่งจักรยานไหนที่จะได้บรรยากาศเหมือนสนามรบเท่า Paris-Roubaix อีกแล้ว

แล้วเส้นทางเป็นยังไง? ปีนี้ใครท็อปฟอร์ม? เกมจะจบแบบไหน เราลองมาวิเคราะห์กัน แต่ก่อนหน้านั้น ดูเทรลเลอร์เท่ๆ ของผู้จัดก่อน

 

เส้นทาง

เริ่มจากเมือง Compiegne ทางตอนเหนือของปารีส ไปจบที่เมือง Roubaix เส้นทางรวมทั้งหมด 257 กิโลเมตร เท่ากับปีที่แล้ว

เทียบกับสนามคลาสสิคระดับ Monument รายการอื่นๆ แล้ว Paris-Roubaix เป็นรายการเดียวที่เป็นทางราบเกือบจะสนิท ไม่มีเนินสลักสำคัญอะไรเลยแม้แต่ลูกเดียวครับ ความท้าทายไม่ได้มาจากเนินเหมือนในสนามพวก Tour of Flanders / E3 Harelbeke แต่มาจาลักษณะของพื้นถนนหิน ซึ่งก้อนใหญ่กว่า ขรุขระกว่า คมกว่า ถนนก้อนอิฐในเบลเยียมหลายขุม

2018ParisRoubaixprofile

พูดถึงถนนหินแล้ว ลองดูกราฟข้างบนครับ มีช่วงถนนหิน  (Secteur) ทั้งหมด 29 ช่วง คิดเป็นระยะทางถนนหินรวมทั้งหมด 54.5 กิโลเมตร จุดแรกเริ่มที่กิโลเมตร 93.5 ถนนหินช่วงสุดท้ายอยู่ห่างเส้นชัยแค่ 1 กิโลเมตรเท่านั้น ช่วงที่สั้นที่สุดสั้นแค่ 700 เมตร ช่วงที่ยาวที่สุดยาว 3.7 กิโลเมตร

เช่นเดียวกับภูเขาสูงชันใน Tour de France ถนนหินแต่ละช่วงมีเรตติ้งความยากของมันด้วยครับ 5 ดาวถือว่ายากสุด และในรายการนี้มีช่วงที่ได้ 5 ดาวแค่ 3 จุด

a.) Trouee d’Arenberg (#19): หรือป่าอาเรนเบิร์กอันโด่งดัง อยู่ที่กิโลเมตร 95 ยาว 2.4 กิโลเมตร เป็นจุดที่ยากที่สุดจุดแรกซึ่งทำหน้าที่เหมือน “เนินคัดตัว” ได้เป็นอย่างดี ตัวเต็งมักแก่งแย่งกันสปรินต์เข้าช่วงนี้ให้ได้เป็นคนแรกๆ เพราะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในช่วงถนนนี้แทบทุกปี จากที่หินมันขรุขระและหยาบ ยาวกว่าช่วงอื่นๆ ใครอยู่หลังกลุ่มแล้วติดขบวนล้มก็แพ้กันได้ง่ายๆ เลย

b.) Mons-en-Pevele (#11): เริ่มต้นที่ 48.5 กิโลเมตรสุดท้าย ยาวถึงสามกิโลเมตร เป็นอีกช่วงที่ใช้คัดตัวได้เป็นอย่างดีจากที่มันยาวเป็นพิเศษ เหมาะแก่การกระชากกลุ่มให้ขาด

c.) Carrefour de ‘lArbre (#4): เริ่มที่ 17 กิโลเมตรสุดท้าย ยาว 2.1 กิโลเมตร จุดนี้เป็นจุดตัดสินที่ใช้เป็นแท่นยิงหนีกลุ่มได้ดีครับ ถ้าหนีกันตรงนี้ไม่รอด ก็จะเป็นกลุ่มตัวเต็งเล็กๆ ที่ไปแข่งสปรินต์กันที่เส้นชัยในเวโลโดรม Roubaix

 

เกมจะจบยังไง?

จะบอกว่า Roubaix เป็นรายการที่อลหม่านที่สุดในบรรดาสนามแข่งก็ว่าได้ครับ ถึงจะไม่มีภูเขา หรือเนินชัน แต่การอยู่หน้ากลุ่มเป็นเรื่องสำคัญมาก ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่ที่ตีนเขาลูกสุดท้าย สภาพเส้นทางเปิดโล่งสองข้างตลอดเวลาหมายความว่าลมเป็นตัวแปรสำคัญเสริมกับทางวิบากที่จะใช้ทอนแรงกลุ่ม ถ้าตำแหน่งไม่ดี อยู่หลังกลุ่ม แล้วกลุ่มหน้าเกิดกระตุกเร่งกันขึ้นมา นักปั่นต้องสู้กับทั้งลม ทั้งทางแคบๆ และถนนหิน การจะเร่งขึ้นไปจับกลุ่มหนีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในทางกลับกันโชคก็เป็นตัวแปรที่สำคัญมากๆ ในสนามนี้ด้วย แกร่งที่สุดไม่ได้แปลว่าจะชนะเสมอไป ต่อให้โทนี มาร์ตินจะพูดไว้ว่า “Paris-Roubaix ก็เหมือน Time Trial ยาวๆ สนามหนึ่งแค่นั้น”

ด้วยอุปสรรคถาโถมขนาดนี้ ผู้ชนะมักเป็นคนที่แกร่งที่สุดและโชคดีที่สุด แทบไม่มีปีไหนเลยที่นักปั่นเกินสิบคนจะไปถึงเส้นชัยพร้อมกัน 10 ปีที่ผ่านมา สถิติเป็นแบบนี้ครับ

  • 5 ครั้งมาจากการหนีเดี่ยว
  • อีก 5 ครั้งมาจากการชนะด้วยการสปรินต์จากกลุ่ม 2, 3, 4, 5 และ 6 คนอย่างละครั้ง

เกมก็น่าจะเดินแบบเดียวกันในปีนี้ เริ่มจากเบรคอเวย์กลุ่มเล็กหนีไปตอนเริ่มการแข่งขัน แล้วก็โดนรวบเมื่อเข้าใกล้ช่วงถนนหินที่ยากๆ หรือใกล้เส้นชัยมากขึ้น ช่วง 100 กิโลเมตรสุดท้ายเป็นต้นไป เริ่มจากป่าอาเรนเบิร์กจะมีการโจมตีจากทีมใหญ่และตัวเต็งให้เห็นต่อเนื่อง 30 กิโลเมตรสุดท้ายมักเหลือตัวเต็งที่มีโอกาสชนะไม่เกิน 10 คน (รวมม้ามืดด้วย)

แล้วถามว่าเบรคอเวย์มีสิทธิชนะมั้ย? ก็ใช่ว่าจะไม่มีครับ แมทธธิวส์ เฮย์แมน โดเมสติกตลอดกาลจาก Orica-Scott เป็นเบรคอเวย์ชุดแรกๆ ของวันใน Roubaix 2016 แล้วดันหนียาวได้จนถึงเส้นชัย แถมสปรินต์เอาชนะทอม โบเน็น (Quickstep) แชมป์ 5 สมัยได้อีก เจ้าตัวยังแทบไม่เชื่อว่าชนะจริง รายการนี้ถ้าจักรวาลและหมู่ดาวเรียงตัวเข้าทางคุณสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ

อย่างไรก็ดี เกมน่าจะจบด้วยเบรคอเวย์หนีคนเดียว แรงเกินเพื่อน หรือเป็นกลุ่มตัวเต็งเล็กๆ ที่สลัดกันไม่หลุด เข้าไปท้าชิงสปรินต์กันที่เส้นชัยมากกว่าครับ

 

ใครมีลุ้น?

ก่อนจะเริ่มเช็ครายชื่อผู้ท้าชิงที่มีลุ้น เราต้องพูดถึงทีม Quickstep ก่อน

quickstep wolfpack

จริงว่าปีนี้ทีม Quickstep ชนะเยอะมาก จนถึงตอนนี้ทีมมี 23 ชัยชนะจากนักปั่น 9 คน ทั่วทุกทวีปและในสภาพสนามทุกรูปแบบ ตั้งแต่ทางเขา ทางสปรินต์ ทางวิบาก เรียกได้ว่าแทบจะใกล้เคียงกับสมัยที่ทีม Mapei ยังแข็งแกร่งในยุค 1990s เลยก็ว่าได้ และถึง Quickstep จะชนะคลาสสิคมาเกือบครบทุกรายการ แต่รายการที่เป็นเป้าใหญ่สุดก็ยังคงเป็น Paris-Roubaix เสมอมา ในรอบสิบปีที่ผ่านมา Quickstep เป็นเจ้าของแชมป์ถึง 4 สมัย (โบเน็น – 2008, 2009, 2012 / เทิร์ปสตร้า 2014) แต่นั่นหมายความว่าทีมนี้ไม่ชนะ Roubaix มาสามปีติดต่อกันแล้ว

นิกี้ เทิร์ปสตร้า น่าจะเป็นคนที่แข็งแกร่งที่สุดในทีมตอนนี้ ด้วยชัยชนะแบบโซโล่เดี่ยวใน E3 Harelbeke และ Tour of Flanders (ใน Flanders เขาปั่น 10 กิโลเมตรสุดท้ายด้วยความเร็ว 46kph) และเป็นคนเดียวในทีมตอนนี้ที่เคยได้แชมป์ Roubaix ด้วยการหนีเดี่ยวเช่นกัน เทิร์ปสตร้าพูดเองว่า เขาชนะด้วยวิธีอื่นไม่ได้ เพราะงั้นเกมเดียวที่จะชนะคือการสลัดคู่แข่งให้ได้หมด ซึ่งก็ดูมีความเป็นไปได้พอประมาณครับ

ชเน็ค สตีบาร์ คือจอมเฉียด เพราะเหยียบโพเดี้ยมรายการนี้สองสมัยแล้วแต่ยังไม่เคยชนะ และเป็นรายการที่เขาผลงานดีที่สุด (เคยได้ที่ 2, 2 ,5 ,6) ดูจากผลงานฤดูกาลนี้ก็เป็นคนที่คงเส้นคงวามากด้วย ถึงจะไม่มีโอกาสเดินเกมจบเองก็ตาม เขาได้ Top 10 ใน Strade Bianche, Gent-Wevelgem, Dwars door Vlaanderen และ Tour of Flanders จะบอกว่าฟอร์มดีกว่าตัวท็อปทีมอื่นหลายๆ คนก็ไม่ผิด

ฟิลลิป จิลแบร์ เป็นคนที่บอกว่าอยากจะชนะรายการนี้ให้ได้ตามเป้าการไล่เก็บแชมป์สนาม Monument ให้ครบทุกรายการ แต่จริงๆ แล้วอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะจิลแบร์เคยแข่งรายการนี้แค่ครั้งเดียวในปี 2007 นู่น ก่อนหน้านี้เขาไปเอาดีในสนามอาร์เดนนส์ (สายระเบิดเนิน) มากกว่า การย้ายทีมมา Quickstep รอบนี้เราได้เห็นเขาเปลี่ยนมาเฉพาะทาง Cobbled Classics ตัวหนาขึ้น ดูปั่นทนขึ้น

ปีนี้จิลแบร์ก็ฟอร์มดีครับ อันดับไม่แพ้เพื่อนร่วมทีมเลย ที่สองใน E3, ที่สามใน Flanders, ที่สองใน Le Samyn และที่ห้าใน Omloop จิลแบร์เองเล่นได้ทั้งเกมหนี และเกมสปรินต์ ในบรรดาตัวคลาสสิคแล้วเขาสปรินต์เป็นรองแค่คริสทอฟ, ซากาน และเดเกนโคลบ์เท่านั้น

อีกคนที่น่าสนใจคืออีฟ แลมพาร์ท เกมโดยรวมของ QS คือเล่นเกมหนักแต่เริ่ม จับเบรคให้หมด ส่งทีมตัวเองเข้ากลุ่มหนีหน้าสุดให้ได้หลายๆ คน เท่านี้ก็การันตีโอกาสชนะได้เยอะมากแล้ว สิ่งสำคัญคือนักปั่นเขาแกร่งพอจะทำเกมแบบนี้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทีมอื่นๆ แต่จะปิดเกมได้มั้ยก็ต้องดูกันครับ

 

เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC)

ปีนี้แวน เอเวอร์มาร์ทฟอร์มไม่ร้อนแรงเท่าปีก่อนที่ชนะมันเกือบทุกรายการด้วยตัวคนเดียว รวมถึงสนามอย่าง Roubaix ที่เขาสารภาพว่าไม่ถนัดมากด้วย แต่ปีนี้ผลงานก็ไม่ขี้เหร่นะครับ ที่ห้าใน Flanders, ที่แปดใน Dwars door Vlaanderen ที่สามใน E3 Harelbeke ดูจะโดนหมายหัวและแพ้เกม QS มากกว่า แต่ก็ยังเห็นเขาโจมตีตัดแรงกลุ่มหลายครั้ง จะป้องกันแชมป์ได้ไหมก็น่าสนใจ เพราะถ้าทำได้จะเป็นคนแรกหลังโบเน็นในปี 2008/2009 ที่คว้าแชมป์สองสมัยต่อกันได้สำเร็จ

 

ปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe) 

การเป็นแชมป์โลกสามสมัยหมายความว่าคุณจะเป็นตัวเต็งในทุกรายการคลาสสิคที่ลง บวกกับการเป็นสปรินเตอร์ตัวท็อปของโลก การันตีได้ว่าไม่มีทีมไหนอยากพาซากานไปหน้าเส้นชัยด้วยแน่นอน การที่เขาถูกกลุ่มมาร์คตลอดเวลาก็เลยไม่ใช่เรื่องแปลกครับ ยิ่งเก่งเท่าไรยิ่งชนะยากขึ้นเท่านั้น เป็นสัจธรรมของกีฬานี้ ทีม Bora อาจจะต้องหาทางเล่น QS ในแบบอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ซากานได้มีลุ้น ซากานจะชนะได้ง่ายหน่อยก็ต้องหนีไปคนเดียว หรืออย่างน้อยอยู่ในกลุ่มเล็กๆ ที่เขามีโอกาสสปรินต์ชนะ

โอลิเวอร์ เนเซ็น (AG2R) เริ่มฤดูกาลคลาสสิคปีนี้ไม่ดีเท่าไร เพราะล้มหลายครั้งจนเข่าบวมกและฟอร์มน่าจะไม่ 100% แต่ AG2R มากับทีมที่ซัพพอร์ทดีครับ ไม่ควรขีดชื่อออก

อานอด์ เดอมาร์ (Groupama-FDJ) เป็นสปรินเตอร์ที่อึดและเล่นรายการคลาสสิคได้ดีตลอด แต่ดูจะแพ้เนินในเบลเยียมครับ ถ้าเป็นทางราบแบบ Roubaix นี้น่าจะเข้าทางเขาดี FDJ มีทีมลีดเอาท์ที่แข็งแกร่งมาก ในรายการทางวิบากอย่าง Roubaix ก็น่าจะมาช่วยเอซได้เยอะทีเดียว

Trek-Segafredo มีตัวน่าลุ้นหลายคน ทั้งแชมป์เก่า จอห์น เดเกนโคลบ์ (ที่ปีนี้ไม่ท็อปฟอร์มเท่าไร), แยสเปอร์ สตอยเว็นที่เห็นอยู่ในกลุ่มนำแทบทุกรายการคลาสิค และล่าสุด แมดส์ เพเดอร์เซ็น น้องใหม่ไฟแรงที่คว้าอันดับสอง Tour of Flanders เมื่อสัปดาห์ก่อน

ทีม Sky ส่งเกอเรนท์ โทมัส มาชิมลาง Roubaix แต่เป็นสนามคลาสสิครายการแรกที่เขาลงปีนี้ จริงๆ น่าจะมาซ้อมทางใน Tour de France มากกว่า แต่ทีมก็มีนักปั่นคลาสสิคเก่งๆ หลายคน – ดีแลน แวน บาร์ล, ลุค โรว์, จิอันนี มอสคอน พวกนี้ถือว่า above average ทั้งหมด

เช่นเดียวกับ Mitchelton-Scott ที่มีแชมป์เก่าแมธ เฮย์แมน, สปรินเตอร์รอบจัด แมทเทรโอ เทรนตินและสาย TT พลังช้างอย่างลุค เดอบริดจ์

อีกคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คงเป็น เซป ฟานมาร์ค (EF Education First-Drapac) ที่จริงๆ แล้วเคยชนะรายการคลาสสิคแค่สนามเดียว แต่เก่งพอจะมีบทบาทในทุกรายการที่ลงแข่ง เขามีผลงานที่ดีมากใน Roubaix ครับ ที่สองในปี 2013, ที่สี่ในปี 2014, และที่สี่ในปี 2016 ปีนี้ก็เหยียบโพเดี้ยมคลาสสิคสองรายการแล้ว ขาดแค่ชัยชนะนี่แหละ เซปดูจะขาด winning move เหมือนจังหวะโจมตีของเขายังไม่คมเสียทีเดียว จะโดนจับก่อนทุกที ถ้าปิดเกมได้ถูกก็น่าลุ้นครับ

ส่วนคนอื่นๆ ที่น่าลุ้น ก็มี

  • อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha)
  • เอ็ดวาลด์ บอสซัน ฮาเก็น (Dimension Data)
  • ไมเคิล วาลเกรน (Astana)
  • ไฮน์ริช เฮาส์เลอร์ (Bahrain)
  • โทนี มาร์ติน (Katusha)
  • คริสคอฟ ลาพอร์ท (Cofidis)
  • ซิลเวน ชาวาเนล (Direct Energie)
  • ลารส์ แบค (Lotto-Soudal)
  • และขาดไม่ได้ เวาท์ แวน อาร์ท! (Willems Veranda’s Crelan) ซึ่งจริงๆ เขาอยู่ในกลุ่มหน้าสนามคลาสสิคปีนี้แทบทุกรายการ ยังไม่รวมโพเดี้ยมใน Strade Bianche และที่ 9 ใน Tour of Flanders น่าสนใจว่า Paris-Roubaix ครั้งแรกจะทำได้ดีแค่ไหนครับ

 

ฝนจะตกมั้ย?

เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้วที่ฝนไม่ตกใน Paris-Roubaix ก็ไม่แปลกครับ เพราะเมษายนคือเดือนที่แห้งที่สุดในฝรั่งเศสก็ว่าได้​ โอกาสฝนตกใน Tour de France ยังมีมากกว่าอีก ครั้งสุดท้ายที่ฝนตกใน Roubaix คือ 16 ปีก่อน ชนะโดยโยฮาน มิวเซวล์ เบรคอเวย์หนีชนะคนเดียว 3 นาทีก่อนอันดับสอง พยากรณ์อากาศรายงานว่าฝนคงไม่ตก ถึงแม้จะตกก่อนหน้าวันแข่งไปพอสมควร (เลยได้เห็นรูปนักปั่นไปเช็คสนามแบบเลอะๆ เปียกๆ ครับ)

อีกอย่างไม่มีนักปั่นคนไหนในเปโลตองตอนนี้เคยแข่ง Roubaix ตอนเปียกครับ เพราะงั้นถ้าฝนตกขึ้นมารับรองว่าสนุกและเดือดแน่นอน

 

ถ่ายทอดสดเวลาไหน ทางไหนบ้าง?

ถ่ายทอดสดทาง Eurosport ดูออนไลน์เช็คลิงก์ที่ duckingtiger.com/live ถ่ายทอดสดตั้งแต่ 16:00-22:15 ครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!