ใครจะเป็นแชมป์ Tour of Flanders 2018 ?

สัปดาห์นี้เรากำลังอยู่ในช่วงท้ายของการแข่งขันสนามคลาสสิค เหลือแค่สนามใหญ่ๆ สองรายการเท่านั้นคือ Tour of Flanders ที่จะแข่งขันกันวันนี้ และ Paris-Roubaix สัปดาห์หน้า

Tour of Flanders ประจำปี 2018 จะแข่งขันเป็นครั้งที่ 102 และเป็นรายการระดับ Monument สนามที่สองของปี นี่คือสนามที่นักแข่งคลาสสิคทุกคนถวิลอยากได้แชมป์สักครั้ง และปีนี้เราก็มีผู้เข้าแข่งขันที่น่าจับตามองกันหลายคนทีเดียวครับ เส้นทางจะเป็นยังไง ใครมีโอกาสชนะ รูปเกมจะออกมาแบบไหนลองมาวิเคราะห์กันดู

 

ถ่ายทอดสด

15:15-22:30 / ลิงก์ถ่ายทอดสด: Duckingtiger.com/live

 

เส้นทาง

Tour of Flanders ปีนี้จะมีระยะทางยาวที่สุดในรอบ 17 ปี เริ่มแข่งจากเมือง Antwerp ไปจบที่ Oudenaarde ระยะทางรวม 267 กิโลเมตร

เส้นทางแบ่งออกเป็นสามช่วง

RVVprofile

  • 108 กิโลเมตรแรกเป็นทางราบผสมเนินเล็กน้อย ไม่มีเนินชัน
  • จากนั้นนักปั่นวนลูปรอบๆ Oudenaarde อีก 110 กิโลเมตร ต้องผ่านเนินชัน 12 ครั้ง
  • กลับมาถึงเมือง Oudenaarde เพื่อวนออกอีกหนึ่งเส้นทาง มีเนินชัน 6 จุด กลับมาจบที่เมืองเดิม

รวมแล้วมีเนินชันทั้งหมด 18 ลูก

RVVmap

ใน 18 ลูกนี้มีการใช้เนินเดิมซ้ำๆ (เพราะทางมันเป็นลูป) เนินส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 150 กิโลเมตรสุดท้ายของการแข่งขัน นั่นหมายความว่ายิ่งปั่นนานเท่าไรทางยิ่งยากขึ้นเท่านั้น

เนินที่ใช้นั้นคล้ายๆ กับเนินปีก่อนๆ ครับ มีเนิน 4 ลูกที่ต้องจับตามอง เพราะมักใช้เป็นจุดสังหารโจมตีคู่แข่ง

  1. Murr van Geraadsbergen: เนินลูกที่ 8 ของวัน อยู่ห่างเส้นชัย 97 กิโลเมตร ปีที่แล้วทีม Quickstep และฟิลลิป จิลแบร์ใช้เนินนี้เป็นจุดกระชากกลุ่มตัวเต็งจนขาดตอน เปิดโอกาสให้จิลแบร์หนียาวคนเดียวจนถึงเส้นชัย
  2. คอปเปนเบิร์ก (Koppenberg): เนินลำดับที่ 13 อยู่ห่างเส้นชัย 46 กิโลเมตร ชันมากและสั้นมาก ถ้าจังหวะไม่ดีอาจจะต้องมีถอดบันไดลงจูงเหมือนที่เราเห็นทุกปี
  3. ควาเรอมองท์ (Kwaremnont): ความยาว 2.2 กิโลเมตร ชันเฉลี่ย 4.4% ชันสูงสุด 11%
  4. พาเตอร์เบิร์ก (Paterberg): ความยาว 400 เมตร ความชันเฉลี่ย 12.5%

สองเนินสุดท้ายนี่เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด นักปั่นต้องปีน Kwaremont 3 ครั้ง และ Paterberg 2 ครั้ง (ดูลำดับจากชาร์ทข้างบนครับ)

เนิน Koppenberg

เพราะงั้นแล้ว Kwaremont / Paterberg จะเป็นคู่เนินสุดท้าย อยู่ 17 /14 กิโลเมตรสุดท้ายก่อนถึงเส้นชัย ถ้าเบรคเอวย์หนีไกลๆ ไม่รอด สองเนินนี้จะกลายเป็นจุดตัดสินแทบทุกครั้ง

ลงจากเนิน Paterberg ครั้งสุดท้ายแล้วจะเป็นทางตรงยาวไปถึงเส้นชัย

ถ้าอยากรู้ว่าเนินพวกนี้ยาท้าทายแค่ไหน ลองดูวิดีโอของ GCN ข้างบนนี้ครับ

 

เกมจะจบยังไง?

ส่วนใหญ่แล้วสนามนี้จบสองแบบ คือ นักปั่นหนีเดี่ยว เข้าเส้นชัยคนเดียว หรือสปรินต์แข่งกันจากกลุ่มเล็กๆ

ด้วยลักษะเส้นทางที่ยาว เนินกระจุกตอนท้ายและเนินหลายๆ จุดเป็นทางปูพื้นอิฐ ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่กลุ่มขนาดใหญ่จะจบพร้อมกันครับ ทางค่อนข้าง selective จะเหลือแต่นักปั่นตัวเต็งที่แกร่งจริงๆ เท่านั้นที่เหลือแรงมาสู้แชมป์กันในช่วงสุดท้าย ถ้าหลุดกลุ่มแล้วก็ยากที่จะกลับเข้า คนที่หนีบนเนิน Kwaremont/ Paterberg รอบสุดท้ายจนมีเวลานำได้มักจะชนะเสมอ ถ้าเราย้อนดู 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า

  • 6 ครั้งเป็นการชนะแบบหนีเดี่ยว
  • 1 ครั้งตัดสินด้วยการสปรินต์ระหว่างนักปั่นสองคน
  • 2 ครั้งตัดสินกันด้วยการสปรินต์ระหว่างนักปั่นสามคน
  • 1 ครั้งตัดสินด้วยการสปรินต์ระหว่างนักปั่นสี่คน

ครั้งสุดท้ายที่กลุ่มใหญ่กว่าสี่คนมาถึงเส้นชัยพร้อมกันต้องย้อนไป 17 ปี (2001)

 

ใครเป็นตัวเต็ง?

ขอพูดถึงตัวเต็งของ Quickstep 4 คนก่อน การที่ทีมนี้มีกลยุทธ์ไม่กำหนดหัวหน้าทีม ทำให้แผนมันต่างจากทีมอื่นๆ พอสมควรครับ วิธีคิดของ QS คือใครก็ได้ในทีมชนะ ถ้าใครมีโอกาสคนที่เหลือจะหาทางช่วยให้คนนั้นได้แชมป์ ถึงจะต้องสละผลงานตัวเองก็ตาม และการที่ทีมมีนักปั่นหลายคนที่ฝีเท้าใกล้กันทำให้ยากที่จะเลือกตัวเต็งเพียงแค่ตนเดียว

 

1. ฟิลลิป จิลแบร์ (Quickstep Floors)

ปีนี้จิลแบร์ยังไม่ชนะรายการไหนๆ เลย แต่ถ้าดูจากผลงานก็จะไม่เห็นฟอร์มของเขา เพราะในช่วงรายการคลาสสิคปีนี้ จิลแบร์เดินเกมกดดันคู่แข่งหลายครั้งเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมได้แชมป์ไปหลายสนาม แต่ถ้าโอกาสมาถึงจะเดินเกมคนเดียวก็ทำได้ เหมือนปีที่แล้วที่เขาหนีคนเดียว 55 กิโลเมตรคว้าแชมป์ Flanders เป็นครั้งแรกในชีวิต

ถ้าต้องสู้จากกลุ่ม จิลแบร์น่าจะเป็นนักปั่นไม่กี่คนในเปโลตองที่มีโอกาสชนะสปรินเตอร์แบบปีเตอร์ ซากาน

 

2. อีฟ แลมพาร์ท (Quickstep Floors)

แลมพาร์ทเป็นตัวเต็งที่อายุน้อยที่สุดในทีม แต่ก็ฟอร์ฒดีมากๆ เช่นกัน ปีนี้เลื่อนระดับมาเป็นหัวหน้าร่วมกับตัวเต็งคนอื่นๆ จากผลงานแชมป์รายการ Dwars door Vlaanderen เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ว่าด้วยผลงานทั้งหมดแล้วอาจจะไม่สู้เพื่อนคนอื่น แต่ฟอร์มและความมุ่งมั่นรับรองว่าไม่แพ้ใคร

ดูจากผลงานในคลาสสิคปีนี้เขาก็ฟอร์มดีใช้ได้ครับ เป็นผู้ช่วยนิกี้ เทิร์ปสตร้าใน E3 Harelbeke แต่เห็นชัดว่ายังไม่แข็งแรงเท่าเพื่อนที่หนีไปด้วยกัน

 

3. ชเน็ค สตีบาร์ (Quickstep Floors)

มาถึงคนที่สาม จะว่าไปแล้ว Quickstep นี่ดูจะหมีตัวเต็งเยอะกว่าผู้ช่วยในทีมอีก สตีบาร์ยังไม่เคยมีผลงานใหญ่ๆ ในรายการคลาสสิคในเบลเยียม (ถึงจะเคยได้แชมป์ Strade Bianche) แต่ก็เป็นคนชงเกมให้ทีมหลายครั้ง

สตีบาร์ดูจะขาดจังหวะปิดเกมที่เด็ดขาด แต่ก็ช่วยเพื่อนไล่ปิดระยะห่างเวลาตัวเต็งทีมอื่นโจมตีได้ดี แต่เรายังไม่ค่อยเห็นเขาออกหนีคนเดียว เรียกได้ว่าเป็นสายถึก ม้างานตัวสำคัญที่คอยคุมสถานการณ์ให้ทีม น่าสนใจว่าถ้ามีโอกาสหลุดเดี่ยวเขาจะปิดเกมได้เหมือนเพื่อนคนอื่นหรือเปล่า

 

4. นิกี้ เทิร์ปสตร้า (Quickstep Floors)

จบรายการนี้ในอันดับโพเดี้ยมมาแล้วสองครั้ง และเคยได้แชมป์ Paris-Roubaix หนึ่งครั้ง เทิร์ปสตร้าคุ้นเคยกับเส้นทาง Tour of Flanders เป็นอย่างดี

จุดเด่นคือความถึกทน แชมป์รายการคลาสสิคสี่ครั้งของเขาที่ผ่านมา มาจากการหนีเดี่ยวทุกครั้ง และมักจะเข้าเส้นชัยก่อนคนอื่นแบบมีเวลาเหลือ

จุดอ่อนน่าจะเป็นเรื่องการสปรินต์ เทิร์ปสตร้าเป็นพวกเครื่องดีเซลมากกว่าตัวจี๊ดสายกระแทกเนินเหมือนจิลแบร์หรือแวน เอเวอร์มาร์ต เจ้าตัวเองก็บอกว่าถ้าจะวัดด้วยสปรินต์เขาสู้ไม่ค่อยได้ แต่จะชอบเกมหนักๆ ที่ฉีกกลุ่มหลุดหมดมากกว่า ออกจะคล้ายๆ แคนเชอลาราครับ

 

5. ปีเตอร์ ซากาน (Bora-Hansgrohe)

ถึงปีนี้จะยังชนะไม่เยอะ แต่ไม่มีใครขีดชื่อซากานออกจากตัวเต็งแน่นอน ในสนามคลาสสิครายการอื่นๆ เส้นทางยังไม่ยาวและยากแบบ Flanders เปิดโอกาสให้ม้ามืดและนักปั่นใหม่ๆ มีโอกาสทำเกมหนี แต่เมื่อทางยาวขึ้นเป็นเกือบสามร้อยกิโลเมตร น้อยคนที่จะอยู่ยาวในกลุ่มหน้าได้เหมือนซากาน

ตั้งแต่แข่ง Flanders มาเขาเคยขึ้นโพเดี้ยมสองครั้ง (เป็นแชมป์หนึ่งครั้ง) และติด Top 5 สี่ครั้ง มีผลงานที่คงเส้นคงวา

ซากานได้เปรียบสูงตรงที่สู้บนเนินได้ แรงดีจะหนีกลุ่มได้ และถ้าจบด้วยการสปรินต์ ไม่มีตัวเต็งคลาสสิคคนไหนสปรินต์ได้เร็วกว่าเขา อุปสรรคอยู่ที่ทีมที่ตัวเต็งเยอะๆ อย่าง Quickstep/ BMC ที่จะคอยคุมการโจมตีของเขาหรือคอยถ่วงกลุ่มเขาโดยเฉพาะเวลาที่ซากานหลุดกลุ่มหน้า น่าสนใจว่า Bora จะทำงานแก้เกมให้หัวหน้าทีมได้ดีแค่ไหน

 

6. เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC)

ถ้าจะมีนักปั่นในเปโลตองที่ผลงานใน Flanders ดีกว่าซากาน ก็เหลือแค่ GVA คนเดียวเท่านั้น เขาเคยได้อันดับ 8, 7, 4 ,3 ที่สอง 2 ครั้ง แต่ยังไม่เคยได้แชมป์

GVA เกริ่นไว้ก่อนหน้าว่าปีนี้เขาไม่คิดว่าตัวเองจะทำผลงานได้ดีเหมือนปีที่แล้ว (ชนะ Paris-Roubaix, Gent-Wevelgem, E3 Harebeke, Omloop Het Nieusblad) และยอมรับว่าฟอร์มไม่ดีเท่าเดิม ดูได้จากผลงานปีนี้ที่ยังไม่ชนะคลาสสิครายการไหนๆ แต่ก็ยังติด top 10 ในหลายๆ รายการ

เพราะงั้นเรียกได้ว่าฟอร์มยังดูครึ่งๆ กลางๆ แต่ GVA เป็นนักปั่นที่ชอบเกมหนักโหด และยาวเหมือนซากาน อย่างที่สะท้อนในผลงาน Flanders ของเขาครับ ถ้าเดินเกมดี GVA มีโอกาสอยู่ในกลุ่มหน้า แต่จะปิดเกมยังไงนั้นก็คงต้องรอดู Flanders เป็นรายการเดียวที่เขายังไม่เคยได้แชมป์และเป็นรายการที่อยากได้ที่สุด เขาไม่คิดว่าตัวเองจะชนะ Roubaix ด้วยซ้ำ แต่กลับชนะได้ก่อน Flanders

โอกาสชนะของ GVA น่าจะมาจากกลุ่มเล็ก หรือออกหนีคนเดียวมากกว่า โดยที่ต้องไม่มีตัวเร็วอย่างซากานติดมาด้วย แต่ถึงกระนั้น เวลาสู้กันตัว-ตัว GVA ก็ชนะซากานมากกว่าที่ซากานชนะ GVA ครับ

 

7. ทีช เบนูท (Lotto-Soudal)

ตัวเต็งที่อายุน้อยที่สุดในลิสต์นี้ ด้วยวัยแค่ 24 ปี แต่ฟอร์มกระโดดขึ้นมาเซอร์ไพรส์ทุกคนในปี 2018 เริ่มเป็นที่จับตามองตั้งแต่ปี 2015 ที่เขาได้อันดับ 4 Tour of Flanders และมาได้แชมป์ Strade Bianche ปีนี้ และที่ผ่านมาถึงจะเงียบๆ แต่ก็ติด Top 10 รายการคลาสสิคแทบทุกรายการในช่วงสองปีที่ผ่านมา

เรื่องฟอร์มและความสามารถก็น่าจะดีพอจะชนะได้ถ้าสถานการณ์เป็นใจ แต่จุดอ่อนของเบนูทคือเพื่อนร่วมทีม Lotto-Soudal ที่เสียขุนผลหลักจากอาการบาดเจ็บไปมากทั้ง เย็นส์ เคอร์คิวแลร์, อังเดร ไกรเปิล และนิโคลาส แมร์ ที่ปกติเป็นตัวชงเกมให้กัปตัน

 

8. เซป ฟานมาร์ค (EF Education First Drapac)

ที่ 3 ใน Omloop, ที่ 3 ใน Dwars Door Vlaanderen และที่ 7 ใน E3 Harelbeke พร้อมอยู่กลุ่มนำในรายการคลาสสิคแทบทุกรายการ ฟานมาร์คอาจจะเป็นตัวเต็งที่อับโชคที่สุดในรอบทศวรรษ จริงๆ แล้วเขามีผลงานแชมป์คลาสสิคแค่รายการเดียวเท่านั้นเมื่อ 6 ปีก่อน (Omloop 2012) และไม่เคยชนะรายการคลาสสิคอีกเลย

แต่ทำไมคนยังมองว่าเขาเป็นตัวเต็ง? ส่วนหนึ่งก็เพราะความคงเส้นคงวาของเขาที่ทำผลงานได้ดี อยู่กลุ่มหน้าได้ตลอดในรายการคลาสสิคแทบทุกรายการ เผลอๆ อาจจะเป็นคนที่แกร่งที่สุดด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่เขาขาด ตามคำกล่าวของโจนาธาน วอเธอร์ส ผู้จัดการทีม ก็คือ ฟานมาร์คเป็นคนขี้ตื่น ขี้ประหม่า โดยเฉพาะในช่วงคับขัน โค้งสุดท้ายของการแข่งขัน เขาจะเป็นไก่ตื่นชอบเปิดหนีก่อนคนอื่น เกินระยะทำการตัวเองเสมอ จนโดนรวบหน้าเส้นทุกครั้งไป หรือบางที จะยิงกลุ่มเปิดหนียาว ก็มักทำในจุดที่คนอื่นตามได้ เช่นที่ทางราบไม่กี่กิโลเมตรสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย

และการที่เขาไม่มีลูกสปรินต์แบบคนอื่นๆ (GVA, ซากาน, จิลแบร์, แลมพาร์ท, สตอยเว็น สปรินต์ดีกว่าเขา) โอกาสชนะน่าจะมาจากการหนีเดี่ยวให้รอดมากกว่า

ดูไปดูมาก็คล้ายๆ แวน เอเวอร์มาร์ทก่อนจะท็อปฟอร์มครับ คือเฉีดยหลายครั้งแต่ยังไม่ชนะ ยังขาดความมั่นใจแบบแชมป์ที่รู้ว่าตัวเองสามารถชนะได้

ด้วยอายุแค่ 29 ปี ฟานมาร์คยังมีเวลาอีกมากที่จะพัฒนาฟอร์ม กว่า GVA จะมาดังในรายการคลาสสิคก็สามสิบต้นๆ แล้ว ถ้าฟานมาร์คชนะ Flanders ปีนี้คงบูสความมั่นใจได้หลายเท่า

 

 

9. แยสเปอร์ สตอยเว็น (Trek-Segafredo)

ลงแข่งในฐานะกัปตันทีมร่วมกับจอห์น เดเกนโคลบ์ที่ฟอร์มไม่ดีเท่าไรหลังจากบาดเจ็บช่วงต้นปี ทำให้ปีนี้สตอยเว็นเป็นคนที่ผลงานดีที่สุดในรายการคลาสสิคของทีม นั่นคือ ตั้งแต่เริ่มซีซันมา มีแค่ Kuurne-Brussel-Kuurne รายการเดียวที่เขาจบด้วยอันดับแย่กว่าที่สิบ (แต่ก็เพราะพยายามหนีระยะไกลจนเกือบจะรอดได้เหมือนกัน)

ว่าไปแล้วสตอยเว็นดูเป็นม้ามืดมากกว่า ที่ผ่านมามักได้ลงเป็นผู้ช่วย แต่พอได้สิทธินำทีมแล้วก็น่าดูว่าเขาจะใช้ทรัพยากรทีมยังไง และจัดการคู่แข่งด้วยวิธีการไหนครับ

 

11. โอลิเวอร์ เนเซ็น (AG2R)

ที่ 4 ใน E3 Harelbeke และที่ 6 ใน Gent-Wevelgem – เหมือนจะฟอร์มดีแล้วแต่โชคไม่ดีใน Dwars Door Vlaanderen วันพุธที่ผ่านมาที่เขาล้มเข่ากระแทกจนต้องถอนตัวจากการแข่งขัน ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะผลกับฟอร์มของเขายังไงใน Flanders ปีนี้ จากตอนแรกที่ทีมเกือบจะไม่ให้ลงแข่งแล้ว แต่น่าจะยากครับ

 

12. แมทเทโอ เทรนติน (Mitchelton-Scott)

เทรนตินเริ่มจากติดลบสำหรับฤดูกาล 2018 เพราะป่วยช่วงต้นปีจนฟอร์มตก แต่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้อันดับ 11 ใน E3 และ 7 ใน Gent-Wevelgem พร้อมโชว์ฟอร์มโจมตีกลุ่มหลายครั้ง รวมใน Milan-San Remo ด้วย อยู่ในกลุ่มตัวเต็งได้ตลอด

จุดแข็งของเทรนตินคือเป็นสปรินเตอร์ชั้นดี อาจจะไม่เร็วเท่าซากาน แต่ถ้าวัดกันตัวตัวเฉพาะในกลุ่มตัวเต็งที่ลิสต์มาวันนี้ มีน้อยคนมากที่จะแข่งสปรินต์กับเขาชนะ ที่ผ่านมาผลงานน้อยเพราะเพิ่งย้ายมาจาก Quickstep และทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยลีดเอาท์มากกว่าได้เป็นคนนำทีม เป็นม้ามืดที่น่าสนใจครับ

 

13. มิฮาล เควียทคอฟสกี้ (Sky)

คนนี้จะดูต่างจากตัวเต็งคนอื่นๆ เพราะเขาเน้นไปเก็บฟอร์มในสเตจเรซมากกว่าสนามคลาสสิค ปีนี้ได้แชมป์ Tirreno-Adriatico และที่ผ่านมาเคยได้แชมป์ E3 Harelbeke หนึ่งครั้ง ที่น่าเป็นห่วงคือเควียคอฟสกี้ไม่ค่อยได้ลงแข่ง Flanders เคยลงแค่ปี 2013 (ที่ 40) และ 2016 (ที่ 27) ผลงาน one day race ส่วนใหญ่ของเขาอยู่ไปทางรายการที่ไม่ใช่ Cobbled Classics เช่น Milan-San Remo, Strade Bianche และ Classica San Sebastian

แต่ก็เป็นคนที่น่าจับตามอง เพราะเรารู้ว่าเวลาเควียทคอฟสกี้ท็อปฟอร์มนั้น หาคนสู้ด้วยยาก และเป็นคนที่มีกึ๋นเวลาแข่ง หาโอกาสเปิดช่องทำเกมได้เสมอ สปรินต์ก็เร็วไม่น้อย ต้องดูว่า Sky จะเดินเกมยังไง และจะช่วยเขาได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

 

14. อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (UAE)

อีกคนที่ปีนี้ฟอร์มไม่ดีเท่าไร ถึงจะเคยเป็นแชมป์เก่าปี 2015 ก็ตาม ปีนี้เท่าที่ดูผลงานในสนามคลาสสิค ดูจะยังขาดความเฉียบคม หลุดกลุ่มนำหลายครั้ง อันดับรวมๆ ไม่ค่อยดีครับ

ด้วยความที่เป็นสปรินเตอร์โอกาสชนะของเขาน่าจะดีกว่าถ้าจบเกมกับกลุ่มเล็ก หนีเดี่ยวคงไม่ง่ายเท่าไร และผู้ช่วยในทีมไม่เยอะอย่าง Bora/ BMC/ Quickstep

 

นอกสายตา 1: วินเชนโซ นิบาลี (Bahrain-Merida)

ครั้งแรกของนิบาลีใน Tour of Flanders โอกาสชนะคงไม่ง่าย แต่อย่างที่เราเห็นผลงานของเขา นิบาลีเป็นคนที่ครบเครื่องเหมือนกันครับ แชมป์แกรนด์ทัวร์ครบทั้งสามรายการ และตอนนี้เป็นแชมป์สนามระดับ Monument แล้วสองรายการ (San Remo + Lombardia) ความมั่นใจก็น่าจะเต็มเปี่ยม

ถ้านิบาลีเกิดชนะขึ้นมา เขาจะเป็นชาวอิตาเลียนคนแรกในรอบหลายสิบปีที่ชนะ Flanders และที่ผ่านมามีแค่เอ็ดดี้ เมิร์กซ์คนเดียวที่เคยได้แชมป์ San Remo / Flanders ในปีเดียวกัน!

ถ้าจะมีจุดได้เปรียบ นิบาลีคงไม่ใช่คนที่คู่แข่งหมายหัวเท่าไร อาจจะใช้โอกาสนี้หนีเข้ากลุ่มเบรคอเวย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ความรอบด้านและประสบการณ์การแข่งของเขาน่าจะมากพอให้หาช่องลุยต่อในช่วงสุดท้ายของการแข่งขันได้

 

นอกสายตา 2: เวาท์ แวน อาร์ท (Vérandas Willems–Crelan)

ถึงจะไม่ใช่ตัวเต็งเบอร์ต้น และไม่ใช่นักปั่นเกมถนนแบบ 100% แต่แชมป์โลก Cyclocross วัย 23 คนนี้เราไม่ควรละสายตาครับ ผมแปลกใจกับฟอร์มเขาเหมือนกันที่ลากยาวมาตั้งแต่จบซีซัน cyclocross

ว่ากันตามตรงนี่เกินจุดพีคมาเกินสี่เดือนแล้วแต่ยังไม่กรอบ ผลงานที่ 3 Milan-San Remo และที่ 10 Gent-Wevelgem ยืนยันฟอร์ม และเป็นคนระเบิดกลุ่มใน 3 Days of De Panne (ที่วิวิอานีชนะ) ถึงโอกาสชนะจะไม่มาก ทีมไม่แข็ง ประสบการณ์น้อย แต่ก็น่าสนใจมากๆ ว่าจะได้ที่เท่าไร

 

นอกสายตา 3: เดเกนโคลบ์, มอสคอน, บอสซันฮาเก็น

Flanders เป็นรายการที่ม้ามืดไม่ค่อยชนะครับ ด้วยระยะทางของมัน ความยากของเส้นทาง เป็นสนามที่ต้องอาศัยความอึด และแทคติค ซึ่งทั้งคู่มาจากประสบการณ์ แชมป์น่าจะมาจาก 20 คนนี้

 

จัดการกับ Quickstep ยังไง?

คำถามคาใจของทุกทีมตอนนี้คือ จะจัดการกับอี 4 คนของ Quickstep นี้ยังไงดี?

จริงว่าที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ความแกร่งแบบยกทีมของ QS ทำให้ทีมแพ้ภัยตัวเองหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่ใช่ในปีนี้ ที่เก็บแชมป์คลาสสิคไป 7 รายการด้วยแชมป์ที่แทบไม่ซ้ำหน้ากันเลย

จริงว่ามีนักปั่นบางคนที่แข็งแกร่งพอจะทุบ Quickstep ทั้งทีมได้ อย่างซากานและ GVA แต่สำหรับทีมอื่นๆ Quickstep เป็นปัญหาใหญ่ครับ

จุดอ่อนหลักของทีมอื่นคือการมีผู้นำทีมแค่คนเดียว ถ้าเอซคนนี้หลุดกลุ่มนำหรือล้ม หรือเจ็บ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้พลาดจังหวะสำคัญ ก็แทบจะจบเกมไม่ต้องหวังแล้ว กลับกัน Quickstep เป็นทีมที่เจนเส้นทางคลาสสิค มีนักปั่นที่เล่นเกมได้ทุกแบบ จะหนียาวก็ได้ จะโจมตีต่อเนื่องทอนแรงกลุ่มก็ได้ สปรินต์ก็พอได้ มีไพ่ให้เล่นหลายใบในหลายสถานการณ์ ถ้าจะต้องจบด้วยกลุ่มก็ยังมีจิลแบร์ (และแต่ก่อนโบเน็น) ที่เก็บงานสปรินต์ได้ ว่ากันตรงๆ คือคุมเกมได้ทุกแบบ

แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางชนะ โอกาสที่ QS จะแพ้มีสองแบบครับ คือ

1. มีตัวเต็งคนเดียวในกลุ่มนำ: ถ้าทำได้ QS จะเสียความได้เปรียบทุกอย่างที่มี เพราะแผนของทีมอาศัยจำนวนตัวเต็งที่คุมเกมในกลุ่มหน้าและกลุ่มหลัง แต่ก็ไม่ง่าย เพราะเบลเยียมเป็นถิ่น QS จะฉีกทีมนี้ให้หลุด ซึ่งปกติก็ตั้งกระดานเป็นแถวหน้าสุดของกลุ่มนำอยู่แล้วนี่ต้องอาศัยจังหวะที่เด็ดดวงเฉียบคมมาก ไม่งั้นก็ต้องหวังโชคให้ทีมล้มทั้งยวง

2. ทีมกรอบหมดแรง: ด้วยการส่งนักปั่นในทีมหนีออกไปในเบรคอเวย์ บังคับให้ QS ต้องนำเปโลตองไล่จับกลุ่มหนี ก็เป็นไปได้เหมือนกัน เพราะทุกทีมจะคาดหวังให้ QS ไล่อยู่แล้ว จากที่มีตัวเต็งเยอะกว่าเพื่อน QS มักแพ้ด้วยสถานการณ์แบบนี้บ่อยๆ ครับ ฟีลคล้ายๆ Sky ในแกรนด์ทัวร์ ที่เวลาตัวเต็งทีมอื่นหนีไป ด้วยศักดิ์ศรีและความกระหายแชมป์ ทีมเต็งจะขึ้นนำเอง

แต่แผนสองจะได้ผลก็ต้องเป็นสถานการณ์ที่ QS ทีมเดียวหลุดเบรค เช่นมี GVA / ซากาน อยู่ในกลุ่มหน้าที่ไม่มี QS อยู่เลย

จะบังคับให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ได้ ทีมคู่แข่งก็ต้องเดินเกมหนัก และไม่ปล่อยให้ QS คุมงานไปจนจบ แน่นอนว่าง่ายกว่าพูดครับ และ QS อาจจะไม่ชนะก็ได้ แต่ถ้าต้องเดิมพันกันตอนนี้แล้ว คงไม่ค่อยมีใครอยากแทงข้างทีมเสื้อน้ำเงินจากเบลเยียมทีมนี้

 

 

ย้อรอยปี 2017

ถ่ายทอดสดเริ่ม 15:15-22:30 ที่ duckingtiger.com/live

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!