ใครจะเป็นแชมป์โอลิมปิก Road Race และ Time Trial?

2016 Rio Olympic Road Race

Road Race ชาย: 6 สิงหาคม 19:30-02:00 / 237.5 กิโลเมตร
Road Race หญิง: 7 สิงหาคม 19:30-23:00 / 141 กิโลเมตร
Time Trial ชาย: 10 สิงหาคม 18:30-20:00 /  54.5 กิโลเมตร
Time Trial หญิง: 20:00-21:00 / 29.8 กิโลเมตร
ถ่ายทอดสด: เช็คลิงก์ที่ Duckingtiger.com/live

 

จักรยานถนนในโอลิมปิกพิเศษยังไง?

t9a5IHL1

วันพรุ่งนี้แล้วที่สนามชิงแชมป์โอลิมปิก ประเภทจักรยานถนนจะเริ่มขึ้นครับ จัดว่าเป็นรายการแรกๆ ที่แข่งกันเลยในโอลิมปิกเกมส์ปีนี้ และมันจะเป็นเส้นทางที่ยากที่สุดในรอบ 20 ปีเลยก็ว่าได้

ที่สำคัญมันเป็นรายการแข่งที่พลวัตรไม่เหมือนสนามแข่งวันเดียวไหนๆ ในฤดูกาลเลย แม้แต่รายการอย่างสนามชิงแชมป์โลกหรือสนามคลาสสิคช่วงต้นปีก็ไม่เหมือนกันด้วยสภาพเส้นทางที่มีความหลากหลายและระยะทางยาว บวกกับจำนวนทีมที่มีขนาดเล็กกว่าการแข่งขันอาชีพสนามอื่นๆ พอสมควรครับ

อีกประเด็นนึงที่น่าจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันมากก็คือเรื่องของรางวัลและเกียรติยศ

การได้เหรียญรางวัลโอลิมปิกนั้นแม้จะเป็นแค่เหรียญทองแดงก็มีศักด์ศรีสูงส่งกว่าการได้เหรียญทองแดงในสนามชิงแชมป์โลกที่มีแข่งทุกปี ผิดกับโอลิมปิกที่แข่ง 4 ปีครั้ง นั่นหมายความว่านักปั่นหลายคนที่ลงแข่งปีนี้อาจจะแก่เกินที่จะท้าชิงเหรียญรางวัลในโอลิมปิกครั้งต่อไป (ญี่ปุ่น, 2020) เพราะหลายคนกำลังอยู่ในช่วงพีคที่วัยยี่สิบปลายๆ หรือสามสิบต้นๆ แต่ถ้าต้องรออีกสี่ปีพวกเขาก็จะเข้าสู่ช่วงขาลงของอาชีพแล้ว ไม่น่าจะสู้เด็กๆ ได้

ทั้งหมดทั้งปวงนี้น่าจะทำให้เป็นเกมที่คาดเดาผู้ชนะได้ยากครับ ในปี 2012 ที่ลอนดอนโอลิมปิก ทีมชาติสหราชอาณาจักรตั้งธงไว้ว่าจะคุมเกมให้อยู่ตลอดระยะทางร่วม 250 กิโลเมตร เพื่อหวังให้มาร์ค คาเวนดิชสปรินต์เก็บเหรีญยทอง แต่แผนก็พังยับเยินเพราะชาตินึงมีนักปั่นสูงสุดในทีมได้แค่ 5 คนเท่านั้น! (และในโอลิมปิกปีนี้มีแค่ห้าประเทศที่มีสมาชิกครบ 5 คน – เบลเยียม โคลอมเบียสหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน) ในปีนั้น กลับเป็นเบรคอเวย์ที่ได้ท้าชิงเหรียญรางวัล โดยผู้ชนะเป็นอเล็กซานเดอร์ วิโนคูรอฟ จากคาซัคสถาน และอันดับสองกลับเป็นนักไต่เขา (O_O) ริกโอเบอร์โต้ อูราน จากโคลอมเบีย! ทั้งๆ ที่คอร์สเป็นทางราบกึ่งเนิน เดายากจริงๆ ครับ

 

เส้นทางเป็นยังไง?

Men-RR-2-800x330

คอร์สสนามถนนชายระยะทาง 237.5 กิโลเมตร (ตัวเลขในรูปไม่ถูกต้อง) และน่าจะเป็นคอร์สแบบวันเดียวที่ยากที่สุดในปีนี้ครับ บอกกันตรงนี้เลยว่าเป็นเส้นทางสำหรับนักไต่เขาล้วนๆ สายอื่นน่าจะหมดโอกาสคว้าเหรียญรางวัลแน่นอน บวกกับอุณหภูมิที่ประมาณ 32 องศา และระยะเวลาในการปั่นที่น่าจะอยู่ราว 6-7 ชั่วโมงแล้ว การันตีได้เลยว่าสนามนี้เดือดมาก

คอร์สโอลิมปิกพอจะแบ่งออกเป็นสามเซคชันหลักๆ

Section 1 — Coastal Flat: ช่วงแรกเป็นการปั่นจาก Fort Copacabana ไปทางตะวันตกเลียบชายฝั่งทะเลแอตแลนติก 37 กิโลเมตรแรกนี้จะเป็นทางราบกับทั้งหมด

Section 2 — Grumari Circuit: พอถึงกิโลเมตรที่ 37 จะเป็นการปั่นในเซอร์กิต (ลูป) ที่ชื่อว่า ‘Grumari Circuit’ ระยะทาง 25 กิโลเมตร ทั้งหมด 4 รอบ

Grumari-800x468

ในเซอร์กิต 25 กิโลเมตรนี้ นักปั่นต้องเจอภูเขาสองลูก ลูกแรกยาว 1.2 กิโลเมตร ความชันเฉลี่ย 7% และอีกลูกยาว 2.1 กิโลเมตรที่ความชันเฉลี่ย 4.5% ที่สำคัญก่อนขึ้นเขานักปั่นต้องเจอช่วงถนนหิน (!!) ความยาว 2 กิโลเมตรด้วย

เมื่อปั่นครบ 4 รอบ (ระยะทางรวม 162 กิโลเมตร) เราจะวนกลับมาเลียบชายฝั่งอีกครั้งเพื่อเข้าสู่ช่วงที่ 3

Section 3 — Vista Chinesa: ที่กิโลเมตร 162 นักปั่นจะเข้าสู่เซอร์กิตที่ 3 ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร ปั่นวนสองรอบครึ่ง ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดที่ยากที่สุดในการแข่งขัน นักปั่นต้องขึ้นเขา Vista Chinesa สามครั้ง ที่ยาว 8.5 กิโลเมตร ชันเฉลี่ย 5.7% และบางช่วงชันกว่า 10% ซึ่งน่าจะเป็นการปีนเขายาวร่วม 30 นาทีต่อครั้ง

Chinesa-800x434

หลังจากขึ้นเขาแต่ละครั้งนักปั่นต้องเจอทางลงคดชันยาว 6 กิโลเมตร คาดว่าผู้ชนะของรายการน่าจะมาจากเซอร์กิตคัดตัวที่นี่ครับ

หลังจากปั่นรอบสุดท้ายใน Chinesa เสร็จแล้ว เราก็จะกลับลงสู่ทางตรงเพื่อมาจบที่เส้นชัยใน Fort Capacabena

Women-RR-2-800x312
เส้นทาง Road Race หญิง: จะใช้รูทเดียวกับชาย แต่จะวนเซอร์กิทแรกแค่สองครั้ง และเซอร์กิทที่สองหนึ่งครั้ง รวมระยะทาง 141 กิโลเมตร
เส้นทาง Time Trial หญิง: ระยะทาง 29.8 กิโลเมตร เป็นการปั่นลูป Grumari Circuit ครั้งเดียว
เส้นทาง Time Trial หญิง: ระยะทาง 29.8 กิโลเมตร เป็นการปั่นลูป Grumari Circuit ครั้งเดียว

 

เกมจะเป็นยังไง?

ปี 2012 อังกฤษพยายามคุมเกมให้จบด้วยสปรินต์ แต่ก็พ่ายให้เบรคอเวย์ในที่สุด
ปี 2012 สหราชอาณาจักรพยายามคุมเกมให้จบด้วยสปรินต์ แต่ก็พ่ายให้เบรคอเวย์ในที่สุด
  •  จากความยาวและความยากของเส้นทางแล้ว เดาได้เลยว่าแชมป์โอลิมปิกจะมาจากกลุ่มนักปั่นที่แข็งแกร่งที่สุดไม่กี่คน จะไม่ใช่กลุ่มใหญ่แน่นอน
  • น่าจะเป็นเกมสไตล์ตัดแรง ที่มีจำนวนคนมากจะได้เปรียบ แต่ถ้ามีคนน้อยก็น่าจะมีลุ้นในการหนีเข้ากลุ่มเบรคอเวย์ไปจนถึงเส้นชัยถ้าองค์ประกอบในกลุ่มเหมาะเจาะ ถ้ากลุ่มเกาะกันมาได้ในครึ่งแรก การันตีได้ว่าเมื่อถึงเซอร์กิต Vista Chinesa กลุ่มก็น่าจะเริ่มแตกกระจายแล้ว
  • แต่ถ้าทีมใหญ่คุมเกมได้ดี เกมน่าจะจบด้วยการไล่จับเบรคอเวย์ได้ที่ช่วงสุดท้ายของการแข่งขัน เพื่อให้ตัวเต็งนักไต่เขาได้จัดหนักแข่งกันบนเซอร์กิตเขาสามรอบสุดท้าย ถ้ายิงกันไม่หลุดตรงนี้ก็อาจจะได้เห็นกลุ่มตัวเต็งไม่เกิน 6–7 คนหนีไปด้วยกันแล้วสปรินต์ชิงกันที่หน้าเส้นชัย ยกเว้นจะมีใครกล้าเบรคอเวย์หนีกลุ่มเหมือนในศึกชิงแชมป์โลกสองปีที่ผ่านมาครับ (ซากานและเควียทคอฟสกี้)
  • ถึงทีมใหญ่จะมีผู้ช่วยเยอะแต่ก็คงคุมเกมไม่ง่ายอยู่ดี คริส ฟรูมที่เป็นตัวเต็งไม่ได้มีโดเมสติกมาช่วยทำเกมเหมือนในตูร์ เดอ ฟรองซ์ ถ้าไม่แก่งจริงก็อาจจะสู
  • สายแข็งทีมอื่นได้ยาก
  • เบิ้ลสองเหรียญทอง? — จากที่เส้นทางการแข่งสนามถนนและ TT ใช้คอร์สหรือลูปเดียวกันและมีการปีนเขาเยอะ นักปั่น Time Trial เพียวๆ หลายๆ คนอาจจะพบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิดครับ ทางจะเอื้อคนที่ขึ้นเขาได้ไวด้วย ซึ่งตอนนี้ตัวเต็งมีแค่สองคน แค่ คริส ฟรูม (สหราชอาณาจักร) และทอม ดูโมลาน์ (เนเธอร์แลนด์) ซึ่งทั้งคู่ลงแข่งประเภทถนนและเป็นตัวเต็งด้วย ถ้าพลาดเกมถนนอาจจะมาลุ้นเหรียญทองฝั่ง TT ได้ ส่วนฝั่งผู้หญิงเอเวอร์ลีน สตีเฟน แชมป์ Hour Record ก็น่ามีลุ้นเช่นกัน
  • คนสุดท้ายที่เคยทำได้ใกล้เคียงการเบิ้ลเหรียญทองโอลิมปิกที่สุดคือแยน อูลริค (เยอรมนี) ในปี 2000 ที่ซิดนีย์ ที่เขาได้เหรียญทองถนน และเหรียญเงิน TT

 

ใครมีลุ้นเป็นแชมป์?

รายชื่อนักปั่น Road Race ชาย / Road Race หญิง / Time Trial ชาย / Time Trial หญิง

นักปั่นที่มีลุ้นเหรียญทองโอลิมปิกปีนี้ต้องเป็นคนที่ปีนเขาได้ดี มีความอึดกับสนามสไตล์ One day race, ลงเขาได้เร็ว และอาจจะต้องมีลูกสปรินต์ในกรณีที่กลุ่มสุดท้ายเหลือหลุดรอดกันมาได้หลายคน มีตัวเต็งหลายคนที่รักษาฟอร์มดีมาจกาตูร์เดอฟรองซ์ และก็มีอีกหลายคนที่ซุ่มซ้อมเพื่อหวังชิงแชมป์รายการนี้โดยเฉพาะ มาดูกันว่าชาติไหนมีใครน่าลุ้นบ้างครับ

ทำไมบางทีมมีนักปั่นไม่ครบโควต้า 5 คน?

การคัดเลือกโควต้านักปั่นเข้าลงแข่งสนามโอลิมปิกจะวัดจากคะแนนสะสมของแต่ละชาติในตาราง UCI WorldTour Ranking ชาติที่ได้คะแนนตามเกณฑ์จะได้นักปั่นลงสนามครบจำนวน 5 คน ถ้าลำดับไม่ถึงก็ลดหลั่นจำนวนลงไป ดูโควต้าของแต่ละทีมได้ที่ลิงก์นี้ครับ ชาย / หญิง 

 

สหราชอาณาจักร (x5) 

เป็นทีมตัวเต็งทีมหนึ่ง ด้วยที่เส้นทางเหมาะกับแชมป์ตูร์อย่างคริส ฟรูม ซึ่งฟอร์มกำลังดีเสียด้วย จากนักปั่นห้าคนของทีม ถ้าจะมีใครน่าลุ้นที่สุดก็ต้องเป็นฟรูมที่ไต่เขาได้ดีกว่าเพื่อน มีอดัม เยทส์ และเกอเรนท์ โทมัสช่วยในช่วงภูเขา และยังมีม้ามืดอย่างสตีฟ คัมมิงส์ที่ช่วยเอซหรือเดินเกมเองได้ในทุกสภาพเส้นทาง อย่างไรก็ดี คริส ฟรูมไม่เคยชนะสนามแข่งแบบวันเดียวครับ ก็น่าสงสัยว่าเขาจะมีลูกอึดเหมือนที่เขามีในแกรนด์ทัวร์มั้ย

 

สเปน (x5)

มากับทีมเต็งเช่นกันมีทั้ง วาวเวอเด้, โรดริเกรซ, และอิซาเกอร์เร ดีกรีเอซสนามสเตจเรซกันทุกคน แต่คนที่น่าลุ้นที่สุดในสเปนคงไม่พ้นวาวเวอเด้ ที่พิสูจน์ตัวเองในสนามคลาสสิควันเดียวแบบ hilly สุดโหดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นอาร์เดนส์คลาสสิคที่เขาคว้าแชมป์หลายต่อหลายครั้ง (Fleche Wallonne และ Liege-Bastonge-Liege) และเหรียญรางวัลแชมป์โลกเกือบสิบสมัยถึงจะยังไม่เคยชนะก็ตาม ไม่ต้องห่วงเรื่องความอึดและฟอร์ม

จุดเด่นของวาวเวอเด้คือ เขาสามารถปั่นขึ้นเขาได้ไวกว่าทุกคนที่จะสปรินต์ชนะเขาได้ แต่สปรินต์ได้ไวกว่าคู่แข่งที่ปีนเขาได้เร็วกว่าเขา (งงมั้ย?) พูดง่ายๆ คือเป็นนักไต่เขาที่มีตีนสปรินต์ดีกว่านักไต่เขาคนอื่นๆ

https://www.instagram.com/p/8MJEwYFF3s/?taken-by=alejanvalverde

 

โคลอมเบีย (x5) 

เป็นทีมที่มีสมาชิกน่ากลัวที่สุดในรายการกับเอสเตบาน ชาเวซ, แชมป์สเตจตูร์ ยาร์ลินสัน พานทาโน, แชมป์ Tour de Suisse มิกูเอล โลเปซ, เหรียญเงินโอลิมปิก 2012 ริกโอเบอร์โต้ อูราน, และหัวลากคริส ฟรูมสุดแรง เซอร์จิโอ้ เฮนาว

อย่างแรกเลยคือเป็นทีม pure climber ล้วนๆ และมีฟอร์มพร้อมจะคว้าเหรียญรางวัลกันทุกคน ถ้าเป็นเกมเบรคอเวย์ก็มีนักปั่นอย่างอูรานและพานทาโนที่ไม่น่าจะพลาดเกมนี้ ชาเวซกับโลเปซอาจจะสนใจวูเอลต้ามากกว่ารายการนี้ แต่ถ้ามีโอกาสหนีกลุ่มก็รับรองว่าไม่น่าจะพลาดจังหวะสำคัญทั้งสองคน

 

เบลเยียม (x5)

ว่ากันตามตรงเบลเยียมไม่มีนักไต่เขาเก่งๆ แต่ก็พอมีสองคนที่น่าจะสู้เนินได้คือจิลแบร์ และแวน เอเวอร์มาร์ต คำถามคือจะรั้งกลุ่มในจังหวะที่นักไต่เขาเขาซัดกันหนักๆ ได้หรือเปล่า ทั้งคู่สปรินต์ได้ดีกว่านักไต่เขาเพียวๆ เพราะงั้นถ้าเกาะกลุ่มสุดท้ายได้ก็น่าจะมีลุ้นโพเดี้ยม และทั้งคู่เป็นเอซด้านการแข่งวันเดียวอยู่แล้ว โดยเฉพาะจิลแบร์ที่เคยได้แชมป์โลกเสือหมอบ

ในเกมเบรคอเวย์ มีม้ามืดอย่างทิม เวลเลนส์และเซอร์เก้ พาวเวลส์ครับ

 

เนเธอร์แลนด์ (x4) 

ถึงสมาชิกจะไม่ครบ 5 แต่ก็เป็นทีมที่แกร่งใช้ได้ มีเวาท์ โพลส์ ขาแรงจาก Sky, เบาเก้ โมเล็มม่า, ทอม ดูโมลาน์ และสตีเวน เคราซ์เวกที่ “เกือบ” จะได้แชมป์ Giro เป็นทีมที่มีลุ้นเหรียญพอสมควรครับ โดยเฉพาะโมเล็มม่าที่เพิ่งจะคว้าแชมป์ Classica San Sebastian เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว

 

อิตาลี (x5) 

อีกทีมที่แข็งใช้ได้ มากับนิบาลี, อารู สองเอซนักไต่เขาจาก Astana มีผู้ช่วยอย่างอเลซานโดร เดอมาชี, ดิเอโก้ โรซา, และดามิอาโน คารูโซ กัปตันทีมคงไม่พ้นอารูและนิบาลี โดยเฉพาะคนหลังที่ตั้งเป้าคว้าเหรียญทองเป็นพิเศษครับ ถึงเวลาที่อารูจะต้องตอบแทนนิบาลีแล้ว ส่วนเดอมาชี และคารูโซ่น่าจะเหมาะกับเกมจับเบรคอเวย์มากกว่า เวลาเจอเขาหนักๆ อาจจะช่วยอะไรมากไม่ได้

 

ฝรั่งเศส (x4) 

ก็มาแรงใช้ได้มีทั้ง อลาฟิลลิป, บาค์เดต์, บาร์กิลล์ และอเล็กซิส วิลเลอร์มอซ ซึ่งเป็นคนที่ได้แชมป์สนามทดลอง (test event) เส้นทางแข่งจริงเมื่อไม่กี่เดือนก่อนนี้ ใน 4 คนนี้เป็นตัวเต็ง GC 2 คน (บาค์เดต์ และบาร์กิลล์) คนที่แข่ง One day race เก่งๆ มีแค่อลาฟิลลิป ส่วนวิลเลอร์มอซเป็นสายเบรคอเวย์ ความหวังน่าจะอยู่ที่อลาฟิลลิปกับบาค์เดต์ถ้ายังรักษาฟอร์มจากตูร์ได้ดีทั้งคู่

 

ออสเตรเลีย (x4) 

มากับเอซในนามริชีย์ พอร์ท, ผู้ช่วยมีโรฮาน เดนนิส, ไซมอน คลาร์ค นักไต่เขามากประสบการณ์อีกคน และน้องใหม่เกล็น โอชี สมาชิกอาจจะไม่แข็งเท่าทีมอื่น แต่พอร์ทน่าจะนักษาฟอร์มในตูร์ได้อยู่

 

ตัวเต็งทีมอื่นๆ 

ทีมที่เหลือมีสมาชิกไม่เยอะและไม่ค่อยมีนักไต่เขา แต่ถ้าจะมองหาม้ามืดที่อยากเชียร์ก็มี รูย คอสต้า (โปรตุเกส), แดน มาร์ตินและนิโคลาส โรช (ไอร์แลนด์), ราฟาล ไมย์ก้า (โปแลนด์), ทิม เวลเลนส์และเซอร์เก้ พาวเวลส์ (เบลเยียม), ยาค็อบ ฟูลก์แซง (เดนมาร์ค), แอนเดรย์ อามาดอร์ (คอสตาริก้า), หลุยส์ แมงกี้ (แอฟริกาใต้)

 

Pick to win

★★★★★ อเลฮานโดร วาวเวอเด้ (สเปน)
★★★★ ฟรูม (สหราชอาณาจักร), อลาฟิลลิป (ฝรั่งเศส), นิบาลี (อิตาลี), อูราน (โคลอมเบีย), มาร์ติน (ไอร์แลนด์)
★★★ โรดริเกรซ (สเปน), โมเล็มม่า (เนเธอร์แลนด์), คอสต้า (โปรตุเกส), จิลแบร์ (เบลเยียม), บอสซัน ฮาเก็น (นอร์เวย์)
★★ บาค์เดต์ (ฝรั่งเศส), สตีบาร์ (เช็ค), แวน เอเวอร์มาร์ทหรือจิลแบร์ (เบลเยียม), เควียทคอฟสกี้ (โปแลนด์)

 

แชมป์โอลิมปิกหญิง? 

london12_womenrr_Vos_wins_11
2012 London Olympic – Vos vs Armistead

เอาจริงๆ แล้วสนามโอลิมปิกนี่สำคัญสำหรับนักปั่นหญิงมากกว่าชายเสียอีกครับ เพราะผู้หญิงไม่ได้มีสนามใหญ่ให้แข่งทั้งปีเหมือนชาย ถึงระยะทางรวมจะสั้นกว่าชายร่วมร้อยกิโลเมตร แต่ก็ยังเป็นคอร์สที่โหดมาก แต่ว่าทีมหญิงมีนักปั่นได้สูงสุดแค่ 4 คนต่อทีม เพราะงั้นทีมเวิร์กไม่น่าจะมีผลมากเท่าชาย คงเป็นการคัดตัวระหว่างนักปั่นที่ฟอร์มดีจริงๆ เป็นรายบุคคลไป

จับตามองเอเฟอร์ลีน สตีเฟน (สหรัฐอเมริกา), แชมป์โลก ลิซลี่ อาร์มิสเตด (สหราชอาณาจักร), แอนนา แวน เดอ เบรกเกน (เนเธอร์แลนด์), เอลิซ่า ลองโก้ บอร์จินี่ (อิตาลี), เอมมา โยฮานสัน (สวีเดน) และม้ามืดมากประสบการณ์สองคนที่อาจจะยังคืนฟอร์มไม่ 100% — มาริอานนา วอส (เนเธอร์แลนด์) แชมป์เก่าปี 2012 และพอลีน เฟอร์รานด์ เพรอโวท์ (ฝรั่งเศส) ที่เพิ่งฟื้นจากอุบัตเหต

แน่นอนว่าเกมผู้หญิงนั้นเรามีน้องบรีซ จุฑาทิพย์ มณีพันธ์ ลงแข่งในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยด้วยครับ อย่าลืมร่วมเชียร์ด้วย :)

 

2012 Olympic Road Race Highlight

สำหรับคนที่อยากดูเกมส์จักรยานถนนโอลิมปิกครั้งล่าสุดที่ลอนดอน (2012) ดูได้จากวิดีโอไฮไลท์นี้ครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *