ใครจะเป็นเจ้าความเร็วใน Tour de France?

รางวัลเสื้อเจ้าความเร็วหรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “เสื้อเขียว” กลายเป็นรางวัลที่ออกจะ “น่าเบื่อ” มาพักหนึ่ง เพราะตอนนี้มันกลายเป็นเหมือนเสื้อประจำตัวปีเตอร์ ซากาน (Tinkoff-Saxo) แชมป์เสื้อเขียว 3 สมัยซ้อนไปซะแล้ว

เสื้อเจ้าความเร็วมอบให้กับใคร?

ง่ายๆ เลยรางวัลนี้ให้กับนักปั่นที่เก็บ “คะแนน” ได้เยอะที่สุด คุณอาจจะสงสัยว่า อ้าวพวกนักไต่ที่ชิงรางวัลเสื้อลายจุด เขาก็มี “คะแนน” เหมือนกัน แต่มันเป็นคนละหมวดครับ ในหมวดเจ้าความเร็ว หรือ “Point Classification” ผู้จัดจะให้คะแนนจำนวนหนึ่งกับนักปั่นที่เข้าเส้นชัย และผ่านจุดสปรินต์กลางสเตจเป็นอันดับต้นๆ คนที่ได้คะแนนเยอะที่สุดก็จะได้เป็นผู้ครอบครองเสื้อเขียว

รางวัลนี้พุ่งเป้าไปที่นักปั่นสไตล์สปรินเตอร์ หรือสิงห์ทางราบโดยเฉพาะ เพื่อที่นักปั่นกลุ่มนี้จะได้มีเป้าหมายในการลงแข่ง นักไต่เขาก็แย่งเสื้อลายจุดกันไป พวกตัวเต็ง GC ก็แย่งเสื้อเหลืองกันไป ทำให้การแข่งมีหลายประเภทในสนามเดียวนั่นเองครับ

The Sagan’s Problem

sagan 3

เหตุผลที่ซากานได้แชมป์รางวัลนี้ตลอด 3 ปีก็เพราะความสามารถในการปั่นและความคงเส้นคงวาของเขาทำให้เขาเป็นนักปั่นที่เก็บแต้มได้ต่อเนื่องแทบทุกสเตจ อย่างปีที่แล้ว ถึงเขาจะไม่ชนะเลยแม้แต่สเตจเดียว แต่เขาเข้าเส้นชัยในอันดับ placing top 5 หลายต่อหลายสเตจ ทั้งสเตจทางราบและสเตจที่มีเนินเขา ในขณะที่คู่แข่งที่ชนะสเตจ (ซึ่งทำให้ได้คะแนนเยอะ) กลับทำผลงานได้ไม่ต่อเนื่อง บางสเตจก็หายหน้าไปเลย ไม่ติดแม้กระทั่ง Top 10 ทำให้ซากานเก็บคะแนนสะสมได้ยอะกว่า

จากรางวัลที่ปกติเป็นของเพียวสปรินเตอร์ที่ชนะสเตจเยอะๆ ก็กลายเป็นว่าไม่มีใครสามารถแย่งชิงคะแนนจากซากานได้ จนสปรินเตอร์หลายคนล้มเลิกความตั้งใจจะคว้าเสื้อเขียวไปเลย

กฏใหม่ คะแนนใหม่

เช่นนั้นแล้ว ผู้จัดแข่งเลยพยายามจัดน้ำหนักคะแนนใหม่ โดยจะทุ่มให้คะแนนผู้ชนะสเตจแต่ละสเตจ มากเป็นเกือบ 2 เท่าของอันดับสอง คะแนนที่แจกในแต่ละสเตจ แบ่งตามนี้ (สเตจทางราบจะมีน้ำหนักคะแนนเยอะกว่าสเตจภูเขา)

สเตจ Class 1 — ทางราบ

  • Top 15 : 50–30–20–18- 16–14–12–10–8–7–6–5–4–3–2 คะแนน
  • สเตจ 2, 5, 6, 7, 15, and 21

สเตจ Class 2&3— ทางโรลลิ่ง + สเตจภูเขาระดับกลาง

  • Top 15 : 30–25–22- 19–17–15–13–11–9–7–6–5–4–3–2 คะแนน
  • สเตจ 3, 4, 8, 13, 14, และ 16 (class 2) สเตจ 10 (class 3)

สเตจ Class 4&5 — ภูเขาสูงชัน

  • Top 15 : 20–17–15- 13–11–10–9–8–7–6–5–4–3–2–1 คะแนน
  • สเตจ 11, 12, 17, 18 (class 4) และ stages 19 + 20 (class 5).

สเตจ Time Trial

  • Top 15 : 20–17–15–13–11–10–9–8–7–6–5- 4–3–2–1
  • คะแนนให้เฉพาะสเตจ 1 สเตจ Team Time Trial (สเตจ 9) ไม่ให้คะแนน

คะแนนที่จุดสปรินต์กลางสเตจ (ทุกสเตจ)

Top 15 : 20–17–15–13–11–10–9–8- 7–6–5–4–3–2–1

สังเกตว่าระบบคะแนนใหม่ของปี 2015 ให้น้ำหนักคะแนนกับผู้ชนะสเตจทางราบเยอะมาก เยอะเกือบเป็นสองเท่าของอันดับสอง นั่นก็เพราะจะได้ช่วยให้สปรินเตอร์มีโอกาสท้าชิงรางวัลเสื้อเขียวได้ง่ายขึ้นครับ ถ้าอยากจะขึ้นนำในหมวดนี้ โอกาสที่ดีที่สุดคือสปรินต์สเตจทางราบให้ชนะ หรือพยายามทำอันดับดีๆ ในสเตจโรลลิ่ง และต้องคอยเก็บแต้มที่จุดสปรินต์กลางสเตจ

ปีที่แล้วซากานนำคะแนนเสื้อเขียวร่วมร้อยแต้มตั้งแต่สเตจ 7 สุดท้ายชนะคริสทอฟ 149 แต้ม ปี 2013 หรือปีแรกที่เขาลงแข่งตูร์ เขาทำคะแนนชนะคาเวนดิช 98 แต้ม! เพราะงั้นจะเรียกระบบคะแนนใหม่ว่าระบบต่อต้านนักปั่นสไตล์ซากานก็ได้ ที่ถนัดทั้งสเตจทางราบและปีนเนินได้ดีกว่าสปรินเตอร์คนอื่นๆ จนมีสิทธิสะสมคะแนนมากกว่าใคร

(แต่เอาจริงๆ นะ ผมลองคำนวนคะแนนปี 2014 ด้วยระบบคะแนนใหม่ของปี 2015 ซากานก็ยังชนะอยู่ดีครับ อย่างไรก็ดี มันไม่ได้บอกอะไรมาก เพราะเพียวสปรินเตอร์เขารู้อยู่แล้วว่าสู้ซากานไม่ได้แน่ๆ เลยไม่พยายามเก็บแต้ม ปีนี้เราอาจจะได้เห็นพลวัตรใหม่ เพียวสปรินเตอร์อย่างคาเวนดิชพยายามเก็บแต้ม แข่งขันชิงเสื้อมากขึ้น) แล้วก็นักปั่นสไตล์ซากานก็มีเยอะขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นไมเคิล แมธธิวส์ (GreenEdge), เอ็ดวาลด์ โบสซัน ฮาเก็น (MTN-Qhubeka), จอห์น เดเกนโคลบ์ (Giant-Alpecin), ไบรอัน โคคอร์ด (Europcar) และเนเซอร์ บูฮานี (Cofidis)

ซานกานยังได้เปรียบ

TDFR 2014 - stage -21

ถ้าดูจากโปรไฟล์สเตจ ว่ากันจริงๆ แล้วสเตจสปรินต์ทางราบ 100% จริงๆ มีแค่ สเตจ #2, #5, #7 และ #21 บางทีสเตจ 13 อาจจะจบด้วยการสปรินต์ แต่ก็ไม่แน่ เพราะงั้นมีแค่ 4 สเตจที่สปรินเตอร์เพียวๆ อย่างคาเวนดิชจะมีโอกาสเก็บแต้มเยอะครับ และมากสุดก็แค่ 200 แต้ม แต่ต้องชนะทั้ง 4 สเตจเลยนะ ถามว่ายังจะมีโอกาสกวาดแชมป์มั้ย? ผมว่ายาก ถ้าชนะได้ไม่ครบทุกสเตจก็หมายความว่าต้องแบ่งแต้มให้สปรินเตอร์คนอื่นด้วย ทำให้เก็บคะแนนรวมเยอะๆ ได้ยาก นักปั่นคงเส้นคงวาอย่างซากานก็ยังได้เปรียบอยู่ดี

คนที่ดูแล้วพอจะท้าชิงได้ก็มีแค่คริสทอฟ ปีนี้ฟอร์มดี เป็นนักปั่นที่คะแนนรวมเยอะสุดใน UCI WorldTour และ ชนะการแข่งขันมาแล้ว 19 ครั้งในปีนี้ (เยอะที่สุดใน ProTour) ปีที่แล้วคริสทอฟได้แชมป์สองสเตจ มีประสบการณ์ไม่น้อย ขึ้นเนินก็ดีไม่แพ้ซากาน เพราะงั้นมีลุ้นท้าชิงมากกว่านักปั่นอย่างคาเวนดิชที่คงหลุดกลุ่มไปในสเตจโรลลิ่งที่มีเนินตัดกำลังอยู่เป็นระยะ

สปรินเตอร์ที่น่าจับตามอง

เสื้อเจ้าความเร็วอาจจะตกเป็นของซากานอีกสมัย แต่ก็แชมป์สเตจทางราบนั้นมีผู้ท้าชิงหลายคนครับ มาดูตัวเต็งที่น่าจับตามองกันดีกว่า

ชนะ 1 สเตจ แชมป์รับไป 8,000 ยูโร หรือราวสามแสนบาท!

1. อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha): ฟอร์มดี (มาก) ชนะมาแล้ว 18 ครั้งในฤดูกาลนี้ ทั้งสนามคลาสสิคอย่าง Tour of Flanders และสเตจทางราบเช่นในสนาม Tour de Suisse เป็นนักปั่นคนเดียวที่มีชัยชนะทุกเดือนตั้งแต่เปิดฤดูกาล และก็ไม่มีเหตุผลที่เขาจะไม่ชนะในเดือนกรกฏาคมนี้ คริสทอฟมากับทีมที่แข็งแกร่งใช้ได้ครับ มีหัวลากเก่งๆ หลายคนรวมถึงตัวเก๋าลูค่า พาวลินี่กัปตันทีมคู่ใจที่พาคริสทอฟชนะหลายรายการแล้ว

Tour de San Luis 2015 - Stage - 7

2. มาร์ค คาเวนดิช (Etixx-Quickstep): ชนะมาแล้ว 13 สนามในปีนี้ และเป็นเจ้าของสถิติแชมป์สเตจ 25 สเตจใน Tour de France ฟอร์มขึ้นๆ ลงๆ ชนะสนามใหญ่บ้าง แต่ใน Tour de Suisse ก็ไม่ชนะเลยสักสเตจเดียว อย่างไรก็ดี ที่ได้อันดับสองในการแข่งชิงแชมป์ประเทศอังกฤษเมื่อสัปดาห์ก่อนก็น่าจะบอกถึงความฟิตของจรวดทางราบคนนี้ครับ เรื่องท๊อปสปีดไม่ต้องห่วง เรื่องทีมลีดเอาท์ก็ดีที่สุดใน peloton ความมั่นใจเต็มเปี่ยม กลับบ้านรอบนี้รับรองว่าต้องมีสเตจวินติดมือไปด้วยสัก 1–2 สเตจเป็นอย่างน้อย

Paris-Roubaix 2015 (9 of 17)

3. จอหน์ เดเกนโคลบ์ (Giant-Alpecin): นักปั่นสนามคลาสสิคที่ประสบความสำเร็จที่สุดในปีนี้ก็ว่าได้ เก็บทั้งแชมป์ Milan-San Remo และ Paris-Roubaix จะบอกว่าเป็นสปรินเตอร์ก็ใช่ แต่ว่ากันตรงๆ สปีดปลายยังไม่เท่าคาเวนดิช ไกรเปิล หรือแม้กระทั่งซากานก็อาจจะยาก เดเกนโคลบ์ได้เลื่อนบทบาทขึ้นมาแทนมาร์เซล คิทเทลที่ไม่ได้ลงแข่ง ความได้เปรียบคือเขาเป็นคนที่เล่นได้หลายสภาพสนาม จะถนัดสเตจที่มีเส้นชัยบนยอดเนินสั้นๆ ที่อาจจะตัดกำลังเพียวสปรินเตอร์ได้ดี ถึงจะไม่เร็วมากแต่อย่าลืมว่าคนนี้เคยได้แชมป์ 4 สเตจรวด ใน Vuelta a Espana 2013 ครับ

ซากานคิดในใจ (ชวดอีกแล้วเหรอฟระ!?) ยังเหลืออีกหนึ่งสเตจให้ลุ้นนะครับบบบบ

4. ปีเตอร์ ซากาน (Tinkoff-Saxo): ปีนี้ซากานเริ่มฤดูกาลไม่ดีมากนัก ไม่มีผลงานในสนามคลาสสิคจนหัวหน้าทีมถึงกับเครียด (เพราะซื้อตัวมาแพง) แต่ก็เริ่มฟอร์มดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากการคว้าแชมป์ Overall Tour of California ต่อด้วยกวาดแชมป์สเตจใน Tour de Suisse ซากานรู้ดีว่าตูร์ปีนี้ทีม Tinkoff มาเพื่อคอนทาดอร์ เพราะฉะนั้นเขาจะไม่มีผู้ช่วยมากนัก ถ้าซากานอยากจะป้องกันแชมป์เสื้อเขียวเขาก็ต้อง active ตลอดในทุกสเตจเพื่อคอยเก็บแต้มเจ้าความเร็วเหมือนปีที่ผ่านๆ มา สเตจทางราบเพียวๆ ดูไม่เหมาะกับซากานเพราะขาดทีมลีดเอาท์และสปีดปลายไม่ดีเท่าคู่แข่ง แต่ความแกร่งของเขาอยู่ที่ความสามารถในการบังคับรในเส้นทางที่ยากและซับซ้อน การลงเขา และความอึด ดูแล้วมีโอกาสลุ้นแชมป์หลายสเตจ และเสื้อเขียวสมัยที่ 4 ก็ไม่น่าจะเกินความสามารถครับ

Bling Matthews 3

5. ไมเคิล แมธธิวส์ (Orica-GreenEdge): ลงสนาม Tour de France เป็นครั้งแรกในชีวิต สปรินต์ได้ ขึ้นเนินสั้นๆ ได้เร็ว (สไตล์เดียวกับคริสทอฟ และซากาน) ตูร์ปีนี้มีหลายสเตจที่น่าจะเข้าทางแมธธิวส์ ทีมซัพพอร์ทก็ดี เป็นอีกคนที่น่าจับตามอง

Flanders J EBH Boonen

6. เอ็ดวาลด์ โบซซัน ฮาเก็น, (เราเรียกสั้นๆ ว่า EBH) (MTN-Qhubeka): EBH เคยเป็นนักปั่นที่น่าทึ่งครับ ในปี 2012 เขาเก็บแชมป์ 2 สเตจในตูร์ ฟอร์มเหนือชั้นทั้งการสปรินต์และการเบรคอเวย์ในสเตจภูเขา แต่ผลงานก็แผ่วลงมาหลายปีแล้วจนแทบไม่ชนะอะไรเลย ตอนนี้ย้ายไปอยู่กับทีมดิวิชันสอง MTN-Qhubeka และดูความมั่นใจจะกลับมาบ้างแล้ว เรื่องความสามารถมีแน่นอนไม่ต้องสงสัย แต่จะทำได้อย่างเดิมมั้ยคงต้องติดตามกันต่อไป เขาเป็นนักปั่นสไตล์เดียวกับปีเตอร์ ซากาน จริงๆ แล้วก่อนซากานจะดัง ก็มี EBH นี่หละครับที่ผู้คนต่างยกย่องว่าต้องเป็นเอ็ดดี้ เมิร์กซ์ V2 แน่ๆ

Tour de France 2014 Stage 6 (7 of 8)

7. อังเดร ไกรเปิล (Lotto-Soudal): ลงสนามตูร์มาตั้งแต่ปี 2011 และชนะสเตจในทุกปีที่ลง (ถึงบางปีจะชนะไม่เยอะก็ตาม) มีลีดเอาท์เทรนที่แข็งไม่แพ้ Quickstep และสปีดปลายที่น่ากลัว จะขาดก็เรื่องความคงเส้นคงวา เมื่อฟอร์มมาหาตัวจับยาก แต่ฟอร์มตกก็หลุดกลุ่มหายหน้าไปเหมือนกัน ล่าสุดเพิ่งได้แชมป์ Ster ZLM Toer ปีนี้ไกรเปิลอายุ 32 แล้ว ก็แก่ที่สุดในบรรดาสปรินเตอร์ด้วยกัน

demare stage 2 eneco

8. อาร์นอร์ด เดอแมร์ (FDJ): จัดว่าเป็นสปรินเตอร์เกรด B เมื่อเทียบกับระดับคิทเทลและคาเวนดิช แต่ก็ถือว่าเร็วเป็นแถวหน้าของวงการ ทีมลีดเอาท์ FDJ เริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เดอแมร์อายุยังน้อย (23 ปี) ซึ่งยังมีเวลาพัฒนาอีกพอสมควร ต้องดูว่าปีนี้จะมีพัฒนาการยังไงบ้างครับ

bouhani

9. เนเซอร์ บูฮานี (Cofidis): สปรินเตอร์สายบู๊ที่ไม่กลัวจะสับโขกคู่แข่ง (จริงๆ!) แต่ปีนี้ดวงไม่ดีเพราะล้มเจ็บในสนามชิงแชมป์ประเทศฝรั่งเศสเมื่อสัปดาห์ก่อน ทีม Cofidis ไม่ได้มีชื่อเสียงมากเรื่องขบวนสปรินต์ เป้าหมายคือแชมป์สเตจ 5 ซึ่งเส้นทางเข้ากับความถนัดของเขา ชนะแชมป์สเตจคงยากครับ แต่ Top 10 สเตจสปรินต์นี่ไม่น่าเกินความสามารถ

10. ไบรอัน โคคอร์ด (Europcar): ดาวรุ่งพุ่งแรงจาก Europcar นักปั่นสายลู่ที่โชว์ฟอร์มการสปรินต์แบบเดียวกับมาร์ค คาเวนดิชตอนเด็กๆ ปีที่แล้วโชว์ฝีเท้าไล่เก็บแต้มเสื้อเขียวได้ถึงใจผู้ชมดี ปีนี้คงได้เก็บประสบการณ์กับสปรินเตอร์ระดับบิ๊กอีกครั้ง แชมป์สเตจอาจจะยากเกินเอื้อม แต่

คนอื่นๆ ที่น่าจับตามอง?

นอกจากขาแรงที่กล่าวถึงข้างบนแล้วก็ยังมีอีกหลายคนที่น่าลุ้นครับ แซม เบ็นเน็ต (Bora-Argon18), เดวิดชิโมไล (Lampre), ไซมอน เจอร์รานส์ (GreenEdge) เกร็ก แวน เอเวอร์มาร์ท (BMC), ชเน็ค สตีบาร์ (Quickstep), โทนี่ กาโลแพน (Lotto-Soudal), บ็อบ ยุงเกลส์ (Trek Factory Racing) และจูเลียน ซิโมน (Cofidis)

ใครชนะ?

ปีเตอร์ ซากาน. เดาไม่ยาก ถึงน้ำหนักคะแนนจะให้ไปทางแชมป์สเตจทางราบ แต่ดูจากฟอร์มซากานแล้วผมว่าเขาเก็บเสื้อเขียวไม่ยาก ถึงแม้จะไม่ได้แชมป์สเตจเลยก็ตาม ถ้ายังคงเส้นคงวาติด Top 5 ตลอดก็มีสิทธิลุ้นครับ อาจจะต้องทำงานหนักว่าเดิมหน่อย ต้องคอยตัดแต้มที่จุดสปรินต์กลางสเตจด้วย เพราะให้คนที่เข้าเส้นคนแรกถึง 20 แต้มทุกวัน เมื่อรวมกับเส้นทางที่มีสเตจสปรินต์จริงๆ ไม่ถึง 6 สเตจ ดูแล้วคู่แข่งคนอื่นคงยากที่จะหาทางเก็บแต้มแซงซากาน คืออย่างน้อยๆ สปรินเตอร์คนอื่นต้องชนะ 3 สเตจแล้วเก็บแต้มตลอดทั้งการแข่งขันเพื่อให้มีโอกาสทำแต้มได้พอๆ กับซากาน

Sagan

ส่วนผลงานแชมป์สเตจปีนี้ ถ้าทีม Quickstep ทำการบ้านมาดี คาเวนดิชน่าจะได้หลายสเตจ เพราะคู่แข่งคนสำคัญอย่างคิทเทลไม่มา และว่าการตามความเร็วเพียวๆ แล้ว คาเวนดิชยังเร็วกกว่า คริสทอฟ ซากาน และเดเกนโคลบ์มาก ไกรเปิลอาจจะมีจังหวะแย่ได้ แต่ผมคิดว่าจังหวะสปรินต์และความเด็ดขาดในการตัดสินใจหน้าเส้นชัยของคาเวนดิชยังเหนือกว่าหลายๆ คน

★★★★★ Peter Sagan

★★★★ Mark Cavendish, Alexander Kristoff, John Degenkolb, Michael Matthews

★★★ Bryan Coquard, Boasson-Hagen, Andrei Greipel

* * *

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *