เมื่อผมถูกสั่งให้ไปทำไบค์ฟิตติ้ง

ประสบการณ์การเลือกซื้อจักรยานเสือหมอบคันแรกของหลายๆ คนมักมีรูปแบบคล้ายๆ กัน นั่นคือเดินเข้าไปในร้าน เลือกรุ่นเลือกสี และทางร้านจะเช็คไซด์โดยให้เราลองคร่อมจักรยานเพื่อดูว่าท่อนอนไม่ติดระหว่างขาเป็นอันได้ จากนั้นจ่ายเงิน ยกจักรยานขึ้นรถกลับบ้านได้

แน่นอนว่าจักรยานที่ซื้อมานั้นสามารถปั่นได้ แต่ยิ่งปั่นยิ่งค้นพบว่าจักรยานนั้นเป็นกิจกรรมที่มีพลวัต ตลอด 1 รอบของแรงที่ส่งออกไปนั้นมีการประสานงานของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งส่งผลทั้งท่าทางการปั่นภายนอกอย่างมัดกล้ามขา น่อง สะโพก ไปจนถึงภายในเช่นปอดและกระบังลม ดังนั้นการปรับแต่งจักรยานให้เข้ากับคน & การปรับแต่งคนให้เข้าจักรยาน หรือที่เรามักเรียกกันสั้นๆ ว่าฟิตติ้ง นั้นย่อมสร้างความแตกต่างในการ “ปั่นได้” ไปสู่การ “ปั่นดี”

ครั้งนี้ผมได้มีโอกาสฟิตติ้งอย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้ซักถามและสรุปแนวคิดของการฟิตติ้งจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงให้ผู้อ่านเห็นภาพ และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับจักรยานมากยิ่งขึ้น

 

1. ท้าวความก่อนการฟิตติ้ง

ก่อนหน้าที่จะมาฟิตติ้งอย่างจริงจัง ผมผ่านการฟิตติ้งเบื้องต้นมาตอนที่ซื้อจักรยาน ซึ่งจะเป็นการวัดระยะร่างกายในจุดที่สำคัญ เช่น ความสูง, ความกว้างของไหล่, ความยาวขาด้านใน (Inseam), แนวหัวเข่ากับแกนกลางบันได ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ในการเซตอัพจักรยานให้สามารถปั่นได้ และผมก็ใช้งานจักรยานในสภาพนั้นมาโดยตลอด และไม่ได้เกิดปัญหาใดๆ

แม้ไม่ได้เกิดปัญหา แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่ผมรู้สึกอยู่ในใจคือมันมีบางอย่างที่ยังไม่เข้าที่ของช่วงล่าง (เทียบกับจักรยานคันเก่า) ที่ไม่สามารถระบุได้เพราะไม่แน่ใจว่าเกิดจากอะไร เกิดเป็นความรู้สึกที่ไม่มั่นใจเมื่อตอนต้องเค้นแรง

3,000 กิโลเมตรผ่านไปบน Position เดิม ความรู้สึกที่ไม่พอดีก็เปลี่ยนไปเป็นความเคยชิน เลยคิดว่าแบบนี้แหละคือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องไปฟิตติ้งอีกแล้ว ทั้งๆ ที่ความไม่พอดีนั้นมันไม่เคยหายไปไหน แต่เรามองข้ามมันไปแล้วต่างหาก

เมื่อพี่คูน หัวหน้าทีม DT ของเราถามว่าอยากลองฟิตติ้งมั้ย จะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่มีข้อแม้คือต้องกลับมาเขียนเล่าประสบการณ์การฟิตติ้งของตัวเองอย่างละเอียดลงในเว็บ DT ด้วย และต้องซักถามฟิตเตอร์เก็บความรู้มาให้มีประโยชน์กับคนอ่านที่สุด มีหรือจะรอช้า เพราะผมเองก็อยากจะรู้อยู่แล้วว่าการได้ปั่นจักรยานที่มันลงตัวกับร่างกายผมพอดีจะเป็นอย่างไร ฟิตติ้งครั้งนี้เราก็เลือกไปที่ Jumm Bike Studio ของช่างจ้ำ

 

2. ความคาดหวังส่วนตัวก่อนฟิตติ้ง

เช่นเดียวกับหลายๆ คนว่าการฟิตติ้งจะทำให้วัตต์เพิ่มขึ้น ปั่นได้เร็วขึ้นกว่าเดิมแบบเห็นเป็นตัวเลขวัดผลได้ชัดเจน หรือปรับจักรยานให้ออกมาได้ค่าได้องศาเป๊ะๆ ตามตำรา

ซึ่งความคาดหวังดังกล่าวของผมนั้นห่างไกลจากหัวใจหลักของการฟิตติ้งไปมาก หากฟิตเตอร์ของคุณมีเวลาที่จะอธิบายจุดประสงค์ของการปรับเปลี่ยนแต่ละจุด จะทำให้คุณเข้าใจเป็นอย่างดีว่าเราฟิตติ้งไปเพื่ออะไร ดังนั้นบางครั้งหากฟิตเตอร์เร่งรัดที่จะฟิตติ้งให้เสร็จโดยไม่อธิบายอะไรกับลูกค้านักปั่นเลย พอลูกค้าเอาไปปั่นแล้วเห็นว่าตัวเลขของตนไม่เพิ่มขึ้น ก็พาลบ่นว่าฟิตติ้งได้ไม่ดีนั่นเอง

ซึ่งหัวใจของการฟิตติ้งเราจะกล่าวถึงต่อไป

 

3. เมื่อไหร่ถึงควรต้องฟิตติ้ง

เป็นคำถามแรกที่ผมถามฟิตเตอร์ เพราะการทำฟิตติ้งนั้นย่อมมีค่าใช้จ่ายที่หลายๆ คนมองว่าค่อนข้างสูง และผลลัพธ์อาจไม่ได้เห็นเป็นสิ่งของที่จับต้องได้

ในการเลือกทำฟิตติ้งนั้น อย่างแรกสุดนักปั่นต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อนว่าคุณเริ่มชอบในการปั่นจักรยานอย่างจริงจังแล้วหรือไม่ และการปั่นนั้นมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาตัวเองหรือปั่นสั้นๆ ในสวนเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ หากคุณสามารถตอบตัวเองได้ว่าอยากเริ่มพัฒนาตัวเองและชอบในจักรยานก็แนะนำว่าให้ควรมาทำการฟิตติ้ง เพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา

เนื่องจากการปั่นจักรยานเสือหมอบ หากต้องการไปได้เร็วนักปั่นจะต้องอยู่ในท่าทางที่ผิดธรรมชาติ เนื่องจากมนุษย์มีโครงสร้างร่างกายที่ออกแบบมาเพื่อยืนตัวตรง แนวของน้ำหนักจะถูกถ่ายลงตามแนวกระดูกสันหลังลงมาตรงๆ แต่สำหรับการปั่นเสือหมอบ ร่างกายช่วงบนจะถูกโน้มไปด้านหน้า ทำให้แนวกระดูกสันหลังเริ่มขนานกับพื้น น้ำหนักต่างๆ จึงถูกถ่ายภาระไปอยู่ที่มือ ก้น และขาแทน ดังนั้นนักปั่นอาจเกิดอาการมือเท้าชา ปวดหลัง ปวดก้นได้ ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้น ก็ควรเข้ามาฟิตติ้งเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น

 

4. หัวใจของการฟิตติ้งจักรยานเสือหมอบ

หัวใจของการฟิตติ้งจักรยานเสือหมอบ แบ่งออกได้เป็นสามส่วน

ส่วนหนึ่งเป็นไปเพื่อการปรับระยะจักรยานให้เหมาะกับสรีระของร่างกาย ซึ่งเริ่มกันตั้งแต่ตัวเฟรมที่ควรได้ไซด์รถที่เหมาะสม (ดังนั้นบางครั้งเราควรทำการฟิตติ้งเพื่อนำระยะและขีดความสามารถของร่างกายของเรามาเลือกไซด์ของเฟรมและอะไหล่อื่นๆ วิธีนี้อาจเรียกได้ว่า Bike Sizing) ไปจนถึง เบาะ แฮนด์ ก่อนจะปรับระยะของอุปกรณ์ทั้งหมดให้เข้าที่ เพื่อให้ร่างกายอยู่อย่างเป็นธรรมชาติที่สุดไปพร้อมๆ กับท่าทางในการปั่นที่แอโร่มากที่สุด ซึ่งในส่วนนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นหากในอนาคตกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว (Core Body) ของเราแข็งแรงขึ้นก็สามารถปรับระยะและองศาใหม่เพื่อให้แอโร่ได้มากยิ่งขึ้น โดยในการฟิตติ้งเราจะให้ความสำคัญกับจุดสัมผัสกับจักรยาน (Contact Points) เป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยมือซ้ายขวา, ก้น และเท้าซ้ายขวา ต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมเพื่อให้เราสามารถอยู่บนจักรยานได้สบายตัวที่สุด

ส่วนที่สอง นอกเหนือจากการปรับที่อุปกรณ์บนจักรยาน การปรับอุปกรณ์ที่อยู่บนตัวนักปั่นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการเลือกรองเท้าและการตั้งคลีท เนื่องจากเท้าเป็นส่วนที่ถูกใช้งานหนักและตลอดเวลาที่เกิดการปั่น การตั้งคลีทรองเท้าที่ผิดไปไม่กี่มิลลิเมตร เมื่อถูกคูณด้วยรอบขา คูณระยะทางในการปั่นเข้าไปก็สามารถสร้างปัญหาใหญ่และลามไปถึงส่วนอื่นของร่างกาย ไล่ตั้งแต่ข้อเท้า เข่า ต้นขา สะโพก หลัง ไหล่ คอ และไปจนถึงมือ

ส่วนที่สาม คือการปรับความเข้าใจในการปั่นและทัศนคติเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นส่วนที่หลายคนมองข้าม แต่กลับเป็นส่วนที่สำคัญมากไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของฟิตเตอร์ที่ต้องแก้ไขสิ่งเหล่านี้ของตัวนักปั่น ตัวอย่างเช่น หลายคน “ถีบ” จักรยานโดยเน้นอัดแรงกดลูกบันไดลงด้านล่าง แต่ในความเป็นจริงการ “ปั่น” จักรยานคือการเติมแรงเข้าระบบอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งรอบของการปั่นซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า หรือการปรับทัศนคติของนักปั่นว่าต้องก้มให้สุด ตัดซางให้เหี้ยนเพื่อให้ไปได้เร็ว ให้เปลี่ยนเป็นการปั่นเพื่อลดภาระให้กับร่างกายให้ได้มากที่สุดแทนเป็นต้น ส่วนนี้เป็นส่วนที่ฟิตเตอร์ไม่สามารถปรับแก้ได้โดยทันทีทันใด แต่จะให้เป็นคำแนะนำเพื่อให้นักปั่นไปปรับตัว

 

5. หัวใจสำคัญของการเป็นฟิตเตอร์

ปัจจุบันศาสตร์ของการฟิตติ้งนั้นสามารถหาอ่านได้จากหนังสือหรือสามารถสมัครเรียนคอร์สการฟิตติ้งจักรยานจากสถาบันต่างๆ แล้วอะไรคือสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญหรือสิ่งที่สร้างความแตกต่างระหว่างฟิตเตอร์ทั่วไปกับฟิตเตอร์ที่เชี่ยวชาญ?

ช่างจ้ำตอบเรากลับมาว่า สิ่งสำคัญแรกสุดของการเป็นฟิตเตอร์ที่ดี คือการที่เรามีความรู้สึกต้องการช่วยเหลือคน อยากให้นักปั่นนั้นมีความสุข และประสบการณ์ดีๆ กับจักรยานมากที่สุด

ดังนั้นวิธีของเรา (ช่างจ้ำ) คือให้ความสำคัญกับความสุขในการปั่นมาเป็นอันดับแรก เช่น เราจะถามนักปั่นก่อนว่าชอบรถจักรยานรุ่นไหนสีไหนและพยายามปรับรถคันที่เขาชอบให้เหมาะกับเขามากที่สุด โดยไม่ถึงขั้นห้ามซื้อจักรยานรุ่นนั้นรุ่นนี้เพียงเพราะว่าระยะของร่างกายที่วัดได้ไม่ตรงกับตำรา จักรยานที่ดีที่สุดคือจักรยานที่เรามีความสุขที่ได้ปั่นได้มอง ไม่ใช่จักรยานที่ระยะถูกต้องมากที่สุดแต่ผู้ใช้ไม่เกิดความรักในตัวมัน

ประสบการณ์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ เพราะร่างกายมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกันในทุกๆ คน แม้ในตัวคนคนเดียวขาซ้ายขวาก็ยากที่จะมีความยาวเท่ากัน แน่นอนว่าการไปเรียนตามสถาบันฟิตติ้งนั้นช่วยสร้างพื้นฐานความรู้ให้กับเราได้ แต่การผ่านเคสกว่า 10,000 เคสนั้นจะช่วยให้ฟิตเตอร์สามารถมองเห็นปัญหาในแต่ละจุด และมองความสัมพันธ์ที่ของปัญหาเหล่านั้นในภาพรวม และปรับแก้ได้ตรงเป้าหมายกว่านั้นเอง

 

6. ปัญหาและอุปสรรคของการฟิตติ้ง

ในข้อนี้ผมได้ถามช่างจ้ำต่อว่า ใน 10,000 เคสที่ผ่านมานั้น มีเคสที่เจอได้บ่อย และมีเคสไหนที่แก้ไขได้ยากหรือไม่ได้เลยหรือไม่

คนส่วนใหญ่มักมาฟิตติ้งเมื่อเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งอาการดังกล่าวนั้นมักไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่เกิดจากการปั่นแบบผิด Position สะสมมาช่วงเวลาหนึ่งจนร่างกายเริ่มรับไม่ไหวและฟ้องออกมาผ่านความเจ็บปวด ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการปวดในแต่ละจุดที่แตกต่างกันตามแต่สรีระและความแข็งแรงของแต่ละคน

หากลงรายละเอียดในส่วนของสรีระ แทบทุกคนมีสัดส่วนร่างกายที่ไม่สมมาตร เช่น แขนซ้ายขวายาวไม่เท่ากัน ขาซ้ายขวายาวไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติ โดยเคสของความไม่สมมาตรนี้เป็นสิ่งที่เจอได้บ่อย ซึ่งสามารถแบ่งสาเหตุได้เป็นสองกรณี

กรณีแรกเป็น Physical Balance หรือความไม่เท่ากันด้วยกายภาพ มักเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นมาจากอุบัติเหตุ ร่างกายคุ้นชินกับมัน อีกกรณีหนึ่งคือ Functional Balance หรือความไม่เท่ากันจากพฤติกรรม มักเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมบางอย่างซ้ำๆ ในท่าเดิม อาทิ การขับรถโดยอาจเอนตัวไปข้างใดข้างหนึ่ง การเล่นมือถือด้วยข้างที่ถนัดนานๆ ทำให้ท่านั่งและอริยาบทถูกเซตไว้ให้ไม่สมดุล ซึ่งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องจะเกิดการเรียนรู้จดจำ ส่งผลต่อเนื่องมายังการปั่นรวมถึงการใช้ชีวิตทั่วไปที่ผิด Position ที่ดี

ซึ่งในส่วนของ Physical Balance นั้นเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ง่ายที่สุด เนื่องจากร่างกายของมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวและชดเชยสมดุลได้อย่างมหาศาล ดังนั้นเราสามารถชดเชยส่วนนี้ได้ด้วยการฟิตติ้งที่ตัวจักรยานให้ได้ระยะและองศาที่ดีที่สุด

ส่วน Functional Balance นั้นเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือของนักปั่นที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อเปลี่ยนร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่สมดุลมากขึ้น เช่น พยายามนั่งตัวตรงหลังตรง หรือการยืนโดยถ่ายน้ำหนักลงขาสองข้างเท่าๆ กัน เป็นต้น

แต่ทั้งสองส่วนนั้นไม่ใช่เคสที่ยากที่สุดในการฟิตติ้ง อุปสรรคของการฟิตติ้งที่แท้จริงคือเรื่องของทัศนคติของนักปั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นหรืออคติบางอย่าง เพราะบางครั้งนักปั่นบางคนตัดสินใจมาฟิตติ้งเพียงเพื่อยืนยันว่าทุกอย่างที่ตนเองเซตไว้ถูกต้องที่สุด แต่เมื่อฟิตเตอร์มาเปลี่ยนให้ถูกต้อง  ก็จะมองว่าการฟิตติ้งนี้ล้มเหลวเป็นต้น ซึ่งในเคสดังกล่าวฟิตเตอร์จะพยายามอธิบายก่อนว่าการปรับเปลี่ยนนั้นทำไปเพื่ออะไร แต่หากนักปั่นยืนยันว่าจะเอาตามสิ่งที่ตนเองคิดก็ยากที่จะแก้ไข

 

7. ลำดับขั้นตอนในการทำฟิตติ้ง

ลำดับขั้นตอนในการฟิตติ้งเป็นดังนี้

1.) เริ่มต้นจากการพูดคุยระหว่างฟิตเตอร์กับนักปั่นก่อน เพื่อถามถึงปัญหาที่พบอยู่ในปัจจุบัน ความต้องการในการฟิตติ้งว่าต้องการให้ปั่นได้ไวขึ้น หรือต้องการปั่นให้สบายตัวมากที่สุด ในส่วนนี้จะช่วยให้ฟิตเตอร์เข้าใจทัศนคติของเราแบบคร่าวๆ ก่อนนั่นเอง

2.) ส่วนแรกที่จะเริ่มทำการฟิตติ้งก่อนนั่นคือคลีทและรองเท้า โดยจะให้นักปั่นลองย่ำเท้าอยู่กับที่ และกระโดดสั้นๆ เพื่อตรวจสอบลักษณะการวางเท้าโดยธรรมชาติ ว่ามีลักษณะปลายเท้าบานออก, ปกติ หรือปลายเท้างุ้มเข้าหากันหรือไม่ ในส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดองศาของคลีทว่าจะต้องบิดชดเชยไปในทิศทางใด

3.) เมื่อพอทราบองศาของคลีท ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการกำหนดตำแหน่งของคลีท ซึ่งจะเริ่มจากการวัดแนวของจมูกเท้าจากฝั่งโคนนิ้วโป้งไปยังนิ้วก้อย จากนั้นลากเส้นสมมติซึ่งจะใช้กำหนดตำแหน่งคลีทที่ส่งแรงไปยังแกนบันไดได้ตรงที่สุด และตั้งคลีทให้ได้ตำแหน่งที่รองเท้าอยู่ชิดกับขาจานมากที่สุด โดยที่ยังไม่สีกับขาจาน

4.) เมื่อติดตั้งคลีทเรียบร้อยแล้ว ก็จะให้ใส่รองเท้า ทุกคนที่ฟิตติ้งด้วยในวันนั้นถูกถามกลับมาว่ารู้ได้อย่างไรว่าเราจะใส่รองเท้าได้ตำแหน่งเหมือนเดิมทุกครั้งก่อนจะบิดตัวล็อคให้เข้าที่ ทางฟิตเตอร์จึงแนะนำว่าทุกครั้งที่ใส่รองเท้า ก่อนจะบิดตัวล็อคให้เคาะส้นเท้าลงพื้นเพื่อดันส้นให้เข้ากับส้นรองเท้า และบิดตัวล็อคบนเพื่อยึดเท้านิ่ง ก่อนจะบิดตัวล็อคล่างแบบไม่ต้องแน่นมาก เนื่องจากตัวล็อคล่างมีหน้าที่ประคองเท้าเอาไว้ ซึ่งหากใส่รองเท้าด้วยวิธีนี้จะทำให้เราได้ตำแหน่งเดิมทุกครั้งนั่นเอง

5.) เมื่อจัดการคลีทและรองเท้าเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะให้ลองขึ้นปั่นบนเทรนเนอร์ ระหว่างปั่นก็พูดคุยสอบถามเรื่องทั่วไป แต่ฟิตเตอร์จะสังเกตลักษณะท่าทางในการปั่น โดยเริ่มจากการพิจารณาในส่วนของสะโพก การปั่นที่ดีสะโพกควรอยู่นิ่งที่สุด ไม่เทไปทางซ้ายหรือขวา กระดูกสันหลังตรงไม่โก่ง เนื่องจากหากสันหลังโก่งเราต้องเอื้อมมือจับแฮนด์ไกลขึ้น ไหล่ไม่ห่อเกร็ง มองเห็นคอได้ชัดเจน ถ้าไหล่ห่อแสดงว่าเราไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อแกนกลางในการพยุงลำตัว จะเกิดปัญหาน้ำหนักถ่ายลงมือมากเกินไป

นอกจากนั้นฟิตเตอร์จะพิจารณา Power Curve หรือกราฟวงกลมที่บอกว่าเราออกแรงในตำแหน่งไหนของขาจาน การปั่นที่ดีเราควรเติมแรงตลอดทั้งรอบปั่น ซึ่ง Power Curve จะออกมาเป็นรูปวงกลม แต่หากเราปั่นด้วยการกดลูกบันไดอย่างเดียว กราฟจะเริ่มเบี้ยวเป็นรูปเลขแปด

6.) การปั่นในข้อที่ 5 ทำให้ฟิตเตอร์ทราบเบื้องต้นถึงความผิดปกติของท่าทาง รวมถึงลักษณะการออกแรงของนักปั่น ขั้นตอนต่อไปคือการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น

การยืดเหยียดขา เพื่อทดสอบความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อหน้าและหลังขา เป็นตัวกำหนดระยะสูงสุดและต่ำสุดในการปั่น 1 รอบ

การแพลงค์ เพื่อทดสอบความแข็งแรงกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว เป็นตัวกำหนดความสามารถในการคงสภาพท่าปั่นที่ก้มต่ำว่าทนได้มากน้อยเท่าไหร่

การก้มแตะปลายเท้า เพื่อทดสอบความยืดหยุ่นของหลัง เป็นตัวกำหนดความสามารถในการก้มได้สูงสุดเมื่อต้องการท่าปั่นที่แอโร่ไดนามิกส์

7.) เมื่อทราบขีดจำกัดของร่ายกาย ฟิตเตอร์จะเริ่มทำการปรับระยะและองศาของจักรยาน โดยเริ่มจากส่วนเท้า สะโพกก่อน เมื่อได้ที่แล้วจะไปปรับช่วงหน้าที่หลังและมือต่อไป และหากนักปั่นมีปัญหาเจ็บก้น จะถูกแยกออกมาทดสอบตำแหน่งก้นกบ (Sit Bone) เพื่อใช้หาขนาดของเบาะ วัดสรีระ ความแข็งแรงของแกนกลางลำตัว รวมถึงวัดแรงกดบนเบาะแต่ละจุด (Pressure Mapping) เพื่อประเมินหารูปร่างของเบาะที่เหมาะสม ในบางครั้งหากก้นกบสองข้างของเราแตกต่างกันมากเกินไป อาจต้องพิจารณาเบาะประเภทที่ไม่ได้นั่งด้วยก้นกบ เช่น SMP หรือสำหรับต่างประเทศอาจมีการทำเบาะขึ้นมาเฉพาะบุคคล

8.) เมื่อเซตทุกอย่างเข้าที่ ต่อไปจะเป็นการขึ้นปั่นจริง และวัดองศาเข่า, องศาสะโพก, ระยะเอื้อม ว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่ ทั้งนี้ทุกการเปลี่ยนแปลงเราสามารถบอกกับฟิตเตอร์ได้ว่ารู้สึกดีขึ้น หรือแย่ลงอย่างไร หากรู้สึกว่าไม่พอดีกับร่างกายจุดใด ฟิตเตอร์จะปรับแก้จุดนั้นโดยจะพยายามให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม (การฟิตติ้งไม่มีค่าคงที่ตายตัว แต่จะมีค่าเป็นช่วงนั่นเอง) ปรับแต่งซ้ำจนกว่าจะได้จุดที่พอใจ

9.) เมื่อพอใจกับตำแหน่งของรถแล้ว ฟิตเตอร์จะสรุปว่าได้เปลี่ยนแปลงจุดใดไปบ้าง และให้การบ้านสำหรับบริหารร่างกายส่วนที่ไม่แข็งแรงเพียงพอ รวมถึงอธิบายวิธีการปั่นที่เหมาะสม และจดบันทึกระยะและองศาที่ได้จากการฟิตติ้งในครั้งนี้เอาไว้

10.) แต่งานของฟิตเตอร์และนักปั่นยังไม่จบ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องออกไปปั่นเพื่อจับอาการว่ามีการเจ็บปวดในจุดใดเพิ่มเติม เพื่อนำกลับมาบอกกับฟิตเตอร์เพื่อปรับแก้ หรือที่เรามักเรียกว่า Refitting นั่นเอง ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก เพราะระยะเวลาสั้นๆ ที่ปั่นบนเทรนเนอร์นั้นอาจไม่เพียงพอที่อาการต่างๆ จะแสดงออกมา ดังนั้นการได้ออกไปปั่นจริง บนเส้นทางจริงจะสะท้อนผลลัพธ์ของการฟิตติ้งได้ดีที่สุด

 

8. ปัญหาของผม

สำหรับผมปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มกันตั้งแต่รองเท้า รองเท้าที่ใส่นั้นเป็น Fizik R1B ไซด์ 44 ซึ่งเป็นรองเท้าที่มีลักษณะที่เรียวยาว เมื่อตอนลองที่ร้านรู้สึกว่ารองเท้าค่อนข้างบีบข้างเท้ามาก จึงเข้าใจว่ารองเท้านั้นเล็กเกินไป และได้ขยับไซด์ขึ้นมา 1 ไซด์เพื่อขยายพื้นที่ด้านข้าง แต่ทว่าการเพิ่มไซด์รองเท้านอกจากเพิ่มพื้นที่ด้านข้างแล้ว ยังเพิ่มระยะด้านหน้าด้วย ดังนั้นจึงทำให้มีที่ว่างปลายนิ้วเกือบเซนติเมตร

ผลที่ตามมาจากการใส่รองเท้าใหญ่ไปคือการที่เราไม่สามารถถอยคลีทกลับมาถึงจมูกเท้าได้ กลายเป็นการกดแรงผ่านช่วงนิ้วเท้าแทน พอถึงจุดนี้ผมเข้าใจทันทีถึงความรู้สึกไม่พอดีของช่วงล่างที่เคยกล่าวไว้ตั้งแต่แรก นั่นเป็นเพราะทุกครั้งที่เริ่มจะเค้นแรงกด กลับกลายเป็นต้องจิกปลายเท้าส่งแรงแทนนั่นเอง

เมื่อทราบปัญหาเกี่ยวกับรองเท้า ช่างจ้ำจึงได้นำที่วัดขนาดของเท้า ทั้งความยาว ความกว้าง และสรุปว่าผมควรต้องใส่รองเท้าไซด์ 43 แบบหน้าเท้ากว้าง (Wide) นั่นเอง และถ้าจะให้ดี ควรเสริม Insole หนุนรองช้ำของเท้าเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากเป็นคนเท้าแบน

จบจากเรื่องรองเท้าก็เป็นเรื่องของสมรรถภาพทางกาย ซึ่งในส่วนของการแพลงค์และการงอข้อพับไม่ได้มีปัญหาใด แต่มีปัญหากับการยืดขาให้สุดเนื่องจากกล้ามเนื้อแฮมสตริงนั้นมีความยืดหยุ่นต่ำมากจนถึงขั้นแย่ ส่งผลให้ทุกครั้งที่ยืดขากดลูกบันไดระยะจะลงได้ถึงเพียงแค่จุดหนึ่ง จากนั้นสะโพกจะเป็นตัวช่วยกดต่อจนถึงจุดต่ำสุดของรอบปั่นนั้นๆ และทำให้สะโพกเทสลับซ้ายขวา ตามมาด้วยอาการปวดก้นกบต่อไป

การแก้ไขเบื้องต้นคือการลดความสูงหลักอานลงมาเล็กน้อย เพื่อให้ไม่ต้องใช้สะโพกช่วยกดลูกบันได แต่การแก้ไขที่จะได้ผลในระยะยาวคือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อแฮมสตริงด้วยการใช้ยางยืดดึงขาเข้าหาตัวแบบเหยียดตรง 10 นาทีทุกวัน จะช่วยให้สามารถกดลูกบันไดได้สุดขามากกว่าเดิม

 

9. ความแตกต่างในการฟิตติ้งระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง

นอกเหนือจากการฟิตติ้งให้ผู้ชายแล้ว ครั้งเรามีนักปั่นหญิงที่ไปฟิตติ้งด้วยครับ ซึ่งโครงสร้างของผู้หญิงนั้นจะแตกต่างจากผู้ชายโดยจะมีลำตัวที่สั้นกว่า แต่ขายาว ดังนั้นไม่แปลกที่ผู้หญิงบางคนสามารถดึงหลักอานขึ้นมาได้สูง แต่กลับต้องเลือกใช้แฮนด์และสเต็มที่ระยะเอื้อมสั้นกว่า

ช่างจ้ำกล่าวว่าจริงๆ แล้วแม้เฟรมของผู้หญิงจะมีตัวเลือกสำหรับ Women Geometry ที่หาได้ยากและมีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ทำออกมาโดยเฉพาะ โดยเฟรมของผู้หญิงจะมีระยะเอื้อมที่สั้นกว่า รวมถึงอาจให้อะไหล่ที่เหมาะกับผู้หญิงมากกว่าเช่น เบาะกว้างขึ้นเพื่อรับ Sit Bone ที่กว้างกว่า รวมถึงตัวเบาะไม่ควรสัมผัสหรือกดทับจุดซ่อนเร้น หรือสเต็มแฮนด์ที่สั้นและเล็กกว่าปกติ

อย่างไรก็ตามผู้หญิงก็สามารถใช้เฟรมแบบเดียวกับผู้ชายได้เช่นกัน โดยการเปลี่ยนลดขนาดสเต็มหรือแฮนด์เข้าช่วยให้ได้มิติรถที่เหมาะกับผู้หญิง

ในครั้งนี้นักปั่นหญิงที่ไปฟิตติ้งด้วยนั้นอยู่ในท่าปั่นที่เหยียดไปด้านหน้ามากเกินไป จนทำให้การจับแฮนด์ที่ชิฟเตอร์ดูจะไม่ค่อยถนัด ต้องเปลี่ยนตำแหน่งมาจับบนแฮนด์บนแทน จึงได้รับคำแนะนำว่าควรเปลี่ยนแฮนด์ให้มีระยะ Reach สั้นลง จากเดิมที่ 85 มิลลิเมตร ให้เลือกสัก 70 มิลลิเมตร พร้อมทั้งลดไซด์แฮนด์ลงจาก 40 เซนติเมตรเป็น 38 เซนติเมตร เนื่องจากแฮนด์ที่กว้างเกินไหล่จะทำให้ต้องใช้แขนช่วยในพยุงตัวมากขึ้น (แต่หากแคบเกินไปจะทำให้ไหล่ห่อ กระบังลมไม่ขยาย หายใจได้ยากขึ้น)

ทางเราถามฟิตเตอร์กลับว่า ทำไมถึงไม่เลือกลดความยาวสเต็มแทนการเปลี่ยนแฮนด์ที่ยุ่งยากกว่ามาก (เพราะการเปลี่ยนแฮนด์นั้นหมายถึงการเดินสายใหม่เกือบทั้งหมด) ทางฟิตเตอร์ได้ให้คำตอบกลับมาว่าการเปลี่ยนสเต็มนั้นเป็นเหมือนการดึงแฮนด์ทั้งชิ้นเข้าหาตัวนักปั่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อดึงกลับมาทั้งชิ้น แฮนด์ส่วนที่เป็นดรอปล่างจะเข้ามาใกล้เข่ามากยิ่งขึ้นด้วย มีโอกาสที่เข่าจะกระแทกกับดรอปและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้นั่นเอง

นอกเหนือจากระยะเอื้อม อีกปัญหาหนึ่งของนักปั่นหญิงท่านนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวจักรยาน แต่เป็นพฤติกรรมการปั่นที่รอบขาต่ำมาก (ราว 40–50 rpm) ซึ่ง Power Curve บนจอแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นกราฟเลข 8 ชัดเจน ซึ่งเป็นการปั่นที่เน้นการกดบันได มากกว่าเติมแรงเข้าไปตลอดทั้งรอบของการปั่น

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการปั่นรอบขาที่ช้าเกินไปนั้น คือกล้ามเนื้อขาจะรับภาระในการกดบันไดมากเกินไป จนถึงจุดที่ต้องการเค้นแรงขึ้นเพื่อเร่งความเร็ว จะทำได้ช้ากว่าผู้ที่มีรอบขาสูงกว่า อีกทั้งจะทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อยู่ในสภาวะหดตัวจนป่อง เป็นสาเหตุให้ขาใหญ่ขึ้นได้

ซึ่งทางฟิตเตอร์ให้คำแนะนำถึงรอบขาที่เหมาะสมอยู่ในช่วงประมาณ 85–95 rpm ซึ่งแต่ละคนจะมีรอบขาที่เหมาะสมกับตัวเองแตกต่างกัน ขึ้นกับน้ำหนักตัวของนักปั่นด้วย วิธีที่จะทราบได้ว่าเราเหมาะกับรอบขาเท่าไหร่ ให้ลองปั่นด้วยความเร็วหรือ Power คงที่ โดยเปลี่ยนรอบขาไปเรื่อยๆ และสังเกตว่าที่รอบขาเท่าไหร่หัวใจเราเต้นต่ำที่สุด

 

10. หลังฟิตติ้งแล้วการปั่นเป็นอย่างไร

สิ่งแรกที่รู้สึกได้ทันทีหลังจากฟิตติ้งและเปลี่ยนรองเท้ากับปรับตำแหน่งคลีทใหม่ คือความรู้สึกที่กดได้อย่างเต็มเท้ามากยิ่งขึ้น เหมือนเท้ากับบันไดสัมพันธ์กันมากกว่าเดิม ไม่มีอาการจิกเกร็งปลายเท้าตอนเค้นแรง

อย่างที่สองคือรู้สึกเหมือนคนปั่นไม่เป็นในช่วงแรก เนื่องจากการเปลี่ยน Position ของจักรยานส่งผลให้ท่าปั่นเปลี่ยนไป ทำให้ลดภาระการใช้กล้ามเนื้อมัดหลัก และเพิ่มการใช้งานของกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ออกแรง

แต่หลังจากที่กล้ามเนื้อเริ่มชินกับการใช้งานใหม่ พบว่าการออกแรงโดยรวมทำได้อย่างต่อเนื่องขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากเฉลี่ยการใช้งานไปสู่กล้ามเนื้อหลายๆ ส่วน ซึ่งสำหรับนักปั่นบางคนหลังฟิตติ้งเสร็จอาจรู้สึกว่าตนเองปั่นได้แย่ลง ทำให้รู้สึกไม่ดีกับการฟิตติ้ง ดังนั้นควรต้องให้เวลาสำหรับการปรับตัวของร่างกายด้วย

อย่างไรก็ตามการปั่นหลังฟิตติ้งครั้งแรกจะเป็นการเก็บความรู้สึกในส่วนต่างๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นในการปั่นบนถนนจริง ทำการจดบันทึกสิ่งเหล่านี้ไว้แจ้งกับฟิตเตอร์อีกครั้งเพื่อปรับให้พอดีกับเรามากยิ่งขึ้น

 

11. คุ้มไหมที่ไปทำฟิตติ้ง

สำหรับผู้ที่ตั้งใจปั่นจักรยานอย่างจริงจัง การฟิตติ้งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้เราสามารถปั่นจักรยานได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวลกับการเจ็บปวดที่เป็นอุปสรรคบั่นทอนความตั้งใจในการปั่น

หากเป็นไปได้เราควรทำการฟิตติ้งและ Sizing ก่อนที่จะตัดสินใจประกอบจักรยานขึ้นมาสักหนึ่งคัน ไม่ว่าจะเป็นจักรยานเสือหมอบ, จักรยานทามไทร์อัล (Time Trial) หรือจักรยานสำหรับไตรกีฬา เพื่อที่เราจะเลือกรุ่น, ไซด์เฟรม และอะไหล่ให้เหมาะสมกับระยะของเรามากที่สุด เป็นการป้องกันการเสียเงินซ้ำซ้อนจากการเปลี่ยนอะไหล่ในอนาคต

 

12. เก็บตกสิ่งที่ฟิตเตอร์อยากจะบอกกับนักปั่น

เนื่องจากการฟิตติ้งหนึ่งครั้งกินเวลาค่อนข้างมาก ถ้าให้ฟิตเตอร์อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างอาจต้องใช้เวลาหลายวัน ดังนั้นขอสรุปประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่เก็บเกี่ยวได้ระหว่างการพูดคุยดังนี้ครับ

  • การปั่นจักรยาน ไม่ทำให้ร่างกายทั้งหมดแข็งแรงขึ้น กีฬาจักรยานนั้นส่วนที่เราใช้ออกแรงจริงๆ จะเป็นช่วงล่างของร่างกาย จริงอยู่ที่ร่างกายช่วงล่างนั้นจะแข็งแรงมากยิ่งขึ้นจากการใช้งานหนัก รวมถึงเส้นเลือด, หัวใจ, ความสามารถในการสันดาปพลังงานนั้นดีขึ้นจริง แต่ส่วนอื่นของร่างกายที่ไม่ได้ใช้งานนั้นไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นตาม ดังนั้นหากต้องการสร้างร่างกายให้สมบูรณ์แบบ ต้องออกกำลังกายจำพวก Weight Training รวมถึงโยคะควบคู่ไปด้วย
  • ความยืดหยุ่นของร่างกาย (Flexibility) นั้นสำคัญในระดับเดียวกันกับความแข็งแรง (Strength) ความยืดหยุ่นของร่างกายเป็นตัวขยายขีดจำกัดในการใช้งานกล้ามเนื้อ ยิ่งยืดหยุ่นได้มาก เราจะยิ่งปรับเปลี่ยนรูปแบบการปั่นและการใช้งานกล้ามเนื้อได้มากขึ้น ส่งผลให้กล้ามเนื้อนั้นล้าช้าลง ลดระดับการเกิดของเสียสะสมในกล้ามเนื้อ ซึ่งการฟิตติ้งนั้นมีส่วนช่วยให้จุดตัดระหว่างความยืดหยุ่นกับความแข็งแรงนั้นอยู่สูงขึ้น ได้ประสิทธิภาพการปั่นที่ดีขึ้นด้วยการลดภาระของร่างกายให้น้อยลง
  • กล้ามเนื้อนั้นเป็นเหมือนกับเส้นใยที่ถูกมัดรวมกันเหมือนลูกรักบี้ ซึ่งทำงานได้แค่การหดตัวเท่านั้น (ดังนั้นแขนขาจะมีกล้ามเนื้อตรงข้ามกันเสมอเพื่อหดตัวสลับด้านกันนั่นเอง) มีกระดูกเป็นแกนกลางและเส้นเอ็นไว้ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างกระดูกกับกล้ามเนื้อ ดังนั้นหากไม่ทำการยืดกล้ามเนื้อหลังปั่น เส้นใยของกล้ามเนื้อจะถูกคงอยู่ในสภาพหดตัว และคลายตัวได้ช้า ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นของร่างกาย และก่อให้เกิดการเจ็บปวดสะสมต่อไป
  • การฟิตติ้งไม่ใช่สิ่งที่ทำครั้งเดียวตลอดชีวิต แต่ควรจะฟิตติ้งเป็นประจำเนื่องจากร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงไปทั้งในทางที่ดีขึ้นและแย่ลง สำหรับนักปั่นระดับโปรอาจมีฟิตเตอร์ตามไปประจำตามสนามแข่งเพื่อที่จะปรับจักรยานให้เหมาะกับสภาพความฟิตในวันนั้นๆ รวมถึงอาจปรับเพื่อลดความเจ็บปวดจากอุบัติเหตุที่ประสบระหว่างแข่งขัน เป็นต้น
  • จักรยานของฝั่งยุโรปบางครั้งอาจไม่เหมาะกับชาวเอเชีย เช่น นักปั่นยุโรปจะมีกระดูกต้นขาที่ยาวกว่านักปั่นเอเชีย ทำให้ต้องใช้หลักอานแบบเยื้องหลังหรือถอยเบาะไปหลังสุด แตกต่างกับชาวเอเชียที่เหมาะกับหลักอานตรงมากกว่า
  • แต่ละสถาบันที่สอนฟิตติ้งนั้นให้ความสำคัญกับจุดต่างๆ แตกต่างกัน จึงไม่อาจตอบได้ว่าสถาบันใดสอนได้ดีที่สุด ดังนั้นจึงควรเลือกเรียนหลายๆ สถาบันเพื่อตกผลึกความรู้ให้เหมาะสม และประสบการณ์ที่พบเจอตลอดการฟิตติ้งนั้นเป็นบทเรียนที่สำคัญไม่แพ้กัน
  • ประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีการฟิตติ้งแบบครบวงจร One Stop Service ที่สุดประเทศหนึ่ง เพราะแท้จริงแล้วหน้าที่ของฟิตเตอร์คือการให้คำแนะนำแก่นักปั่นเท่านั้น ไม่ครอบคลุมหน้าที่ของการปรับเซตจักรยาน ที่เป็นหน้าที่ของช่างซ่อมจักรยาน และไม่ครอบคลุมถึงการให้คำแนะนำในการทำกายภาพ ที่เป็นหน้าที่ของนักกายภาพ ดังนั้นหากเลือกที่จะทำการฟิตติ้งที่ต่างประเทศ คุณอาจต้องเตรียมใจที่จะต้องจ่ายเงินหลายต่อด้วย

Ducking Tiger ขอขอบคุณช่างจ้ำ อานุศานติ์ เผ่าจินดาจาก Jumm Bike Studio ที่ทำฟิตติ้งและมอบความรู้ให้ทีมงานของเรากว่า 6 ชั่วโมงเต็มจนออกมาเป็นบทความนี้ ใครสนใจอยากไปฟิตติ้งกับช่างจ้ำติดต่อได้ที่เพจ Jumm Bike Studio ครับ

By จุติพงศ์ ภูสุมาศ

ใช้ กับตันทีมปั่นฝัน ใช้ชีวิตควบคู่กับการปั่นตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงปัจจุบัน สนใจในทุกด้านของเครื่องจักรสองล้อพลังเท้า!