เราปั่นจักรยานไปเพื่ออะไร?

อ่านจดหมายของอำลาวงการของมาร์เซล คิทเทลแล้วก็ทำให้คิดอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกันนะครับ

คำพูดที่สะท้อนใจมากๆ ของคิทเทลคือที่เขาบอกว่า ในแต่ละปีเขาอยู่บ้านได้ไม่ถึง 2-3 เดือน เพราะเวลาส่วนใหญ่คือออกเวียนแข่งทั่วโลก หรือไม่ก็เข้าค่ายฝึกซ้อม

โดยธรรมชาติของกีฬาจักรยานทางไกล (road cycling) ชื่อมันก็บอกว่า “ทางไกล” (อย่างน้อยๆ 180-200 กิโลเมตร) แต่ละ “แมทช์” ที่ลงแข่งใช้เวลา 4-5-6 ชั่วโมง บางทีก็ต้องทำซ้ำทุกๆ วันสัปดาห์นึงบ้าง เกือบเดือนบ้างก็มี

การจะแข่งไกลให้ได้ดีก็หมายความว่าต้องฝึกซ้อมด้วยระยะทางไกลแบบนี้ด้วย ซึ่งก็ต้องใช้เวลามากจริงๆ ในการซ้อมแต่ละวัน ไม่อย่างนั้นร่างกายก็ไมเ่กิด adaptation ที่เหมาะสม สำหรับนักปั่นอาชีพ เขาไม่ดูความแรงกันด้วยพลังที่ออกได้ใน 20 นาที เหมือนมือสมัครเล่น คำถามสำคัญคือหลังออกแรงแข่งไปแล้ว 5 ชั่วโมง ยังจะมีแรงสปรินต์ หรือโจมตีคู่แข่งบนภูเขาสูงชันมั้ย

เช่นนั้นแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนที่ทนกับวิถีชีวิตแบบนี้ไม่ได้ครับ ถึงแม้จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จที่สุด เป็นเบอร์หนึ่งของโลกก็ตาม ปีเตอร์ ซากานก็ยังเปรยบ่อยๆ ว่าเขาคงไม่แข่งจนแก่ ขอเลิกแค่ตอนยังสนุกอยู่ดีกว่า

ถึงระดับสมัครเล่นแบบที่พวกเราขี่ๆ กันจะไม่ได้ต้องการเวลาของเรามากขนาดโปร แต่สิ่งที่ชวนให้หยุดคิดคือ เราปั่นจริงจังไปเพื่ออะไร ต่อให้จะเป็นระดับสมัครเล่น ชั่วโมงการซ้อมในกีฬานี้ก็ยังต้องการมากกว่ากีฬาอื่นๆ อยู่ดี ถ้าเราไม่ตอบคำถามนี้ให้ชัดเจนกับตัวเอง มันก็คงทำให้เราเบื่อและเลิกปั่นได้ง่ายๆ เหมือนกัน

แต่ก่อนตอนเริ่มผมก็บ้าคลั่งกับการปั่นเหมือนทุกคนนั่นแหละครับ “เป้าหมาย” ที่บอก (หลอก) ตัวเองคืออยากแข็งแรง นั่นก็หมายความว่าต้องซ้อมจริงจัง แต่สิ่งที่ไม่ได้ถามต่อคือ แล้วจะแข็งแรงไปทำไม เพราะในความเป็นจริงก็ไม่ชอบแข่งขัน ไม่ได้ต้องพิสูจน์ตัวเองกับใคร เอาจริงๆ ผมแค่ออกปั่นก็สนุกแล้ว แต่พอไปบ้าคลั่งจริงจังทุกอย่าง ให้เวลากับมันอาทิตย์ละ 12-14 ชั่วโมง ก็มีหลายช่วงที่ท้อ และเบื่อเหมือนกัน แต่ความเบื่อและท้อมันเกิดขึ้นจากมิจฉาทิฏฐิ ไปตั้งมั่นเอาไว้เองว่าเราจะต้องแรง! (เพื่ออะไร เพื่อใคร เพราะใคร!?) ได้เงินจากการแรงมั้ยก็ไม่ใช่ แข็งแรงขึ้นมั้ยก็ บ้าง แต่ก็เสียเวลาทำอย่างอื่นเหมือนกัน ผมพบว่าความสนุกของผมในการฝึกซ้อมปั่นจักรยาน ไม่ได้มาจากที่ตัวเองต้องแข็งแรงขึ้นเยอะๆ

สำหรับคนขี่เสือหมอบ มันง่ายที่จะหลงอยู่ในกรอบของ performance เพราะมันเป็นกีฬาที่มีรากมาจากการแข่งขัน แต่ถ้าเราย่อยมันลงมาแล้ว จักรยานมันก็เป็นแค่พาหนะ แค่พาหนะเสือหมอบนี่มันซิ่ง แต่ไม่จำเป็นว่าเราต้องซิ่งไปกับมันตลอดเวลาก็ได้นะ

ผมเคยลองสังเกตว่าจริงๆ แล้วเนี่ย ถ้าเราปั่นได้แข็งแรงถึง “จุดหนึ่ง” ที่เราแข็งแรงพอประมาณ มีความคุ้นชินกับการปั่น การดูแลตัวเองบนรถ มันก็มากพอที่จะไปปั่นได้เกือบทุกเส้นทางและสถานที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเขาชัน หรือระยะทางไกล โดยไม่ทรมานครับ (ถ้าไม่ซิ่งจนเกินไป)

แต่นั่นหละครับ มันก็คือสเน่ห์ของกีฬานี้ ความสนุกของมันไม่ได้มาจากที่เราต้องแข็งแรงอย่างเดียว มีมิติอื่นอีกมากมายให้เราเอนจอย ไม่ว่าจะเป็นการแต่งรถ การชวนเพื่อเสียเงิน (555) ออกไปสนุกเอนจอยกับเส้นทางสวยๆ (เคยดูวิวกันมั่งไหม!?) ติดตามชีวิตนักกีฬาอาชีพ หรือจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ และเก่า (สำหรับสายวินเทจ)

มีกีฬาไม่กี่ประเภทที่ให้โอกาสเราได้สนุกกับมันในหลากหลายมิติแบบนี้ เช่นนั้นแล้วถ้ามิติไหนที่เราไม่สนุกกับมัน เราลองหามุมอื่นของมันดูก็ดีเหมือนกันนะ แค่เราต้องนั่งคุยกับตัวเองอย่างจริงใจ ว่าเราชอบอะไรจากมันครับ

Published
Categorized as Mind Game

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!