Tour Tactics: ปารีสยังอีกยาวไกล

ทุกปีที่มีตัวเต็งคนใดคนหนึ่งพุ่งทะยานหนีคู่แข่งในสเตจภูเขาจนทำเวลาห่างหลายนาที แฟนๆ จักรยานทั่วโลกไม่น้อยมักจะคิดไปแล้วว่าตูร์ เดอ ฟรองซ์คงจบแค่นี้แหละ เดี๋ยวนักปั่น X ก็ได้แชมป์ละ…

บางปีผลก็ออกมาอย่างนั้นจริงๆ (ฟรูม 2013, นิบาลิ 2014) แต่บางปี มันก็ไม่ได้จบสวยเสมอไป

สเตจ 10 ที่ฟรูมทุบทุกคนซะอยู่หมัดอาจจะเป็นวันที่ฝันของนักปั่นดาวรุ่งบางคนที่จะได้เหยียบโพเดี้ยมต้องพังพินาศ (พินอท์, บาร์เดต์, ทาลานสกี้ etc…) แต่สเตจ 12 เมื่อคืนนี้กลับมอบความหวังครั้งใหม่ให้ใครหลายๆ คน เพราะเป็นครั้งแรกที่ “ตัวเต็ง” GC ไม่โดน Sky ทุบจนป่นปี้ในตูร์เดอฟรองซ์ปีนี้

จริงว่าการโจมตี 8 ครั้งบนทางขึ้นเขา Plateau de Bellies (คินทานา x2, นิบาลิ x2, วาวเวอเด้ x3, คอนทาดอร์ x1) จะไม่สามารถทิ้งฟรูมให้หลุดกลุ่มไปได้ แต่มันก็สะท้อนว่า Sky ไม่ได้แกร่งขนาดจะปั่นหนีไปดื้อๆ เหมือนในสเตจ 10 เช่นกัน ฟรูมให้สัมภาษณ์หลังแข่งว่าทีมเขายัง “in control” ยังเอาอยู่ ความหวังยังไม่หมด คำถามคือ ตัวเต็งกลุ่มนี้จะพลิกสถานการณ์ได้ไหม? สถานการณ์ในเทือกเขาแอลป์จะเป็นยังไง?

ถ้าแชมป์ตูร์ เดอ ฟรองซ์คือคนที่ปีนเขาทำเวลารวมได้เร็วที่สุด บทเรียนทางภูมิศาสตร์อาจจะบอกอะไรเราได้บ้างอย่างครับ

Can he hold it to Paris?
Can he hold it to Paris?

แอลป์และพีรานีสต่างกันยังไง?

ทุกๆ ปี ตูร์ เดอ ฟรองซ์ต้องแวะเวียนไปเยี่ยมเทือกเขาสองแนวที่เป็นไฮไลท์ของประเทศ นั่นคือพีรานีส และแอลป์

สัปดาห์ที่สองในตูร์ทีผ่านมา เราอยู่กันในพีรานีส เขาพีรานีสนั้นต่างกับแอลป์พอสมควร ทั้งเรื่องความชัน แรงกดอากาศ ความสูง ระยะปีน

  • เขาพีรานีสมีความสูง (altitude) ต่ำกว่าแอลป์
  • รูปแบบเขาพีรานีสที่ผู้จัดเลือกใช้ในการแข่งมักจะมีระยะทางสั้น (แต่ชัน) กว่าเทือกเขาแอลป์
  • เขาแอลป์ส่วนใหญ่มีระยะทางการปีนยาวกว่า และระดับความชันค่อนข้างนิ่งคงที่ ไม่ขึ้นๆ ลงๆ เหมือนในพีรานีส
  • เช่นนั้นแล้ว เขาพีรานีสเหมาะกับนักปั่นที่ “ต่อย” หนัก กระชากแรง ทำความเร็วระยะการปีนเขาสั้นๆ ได้ดีกว่าคนอื่น (วาวเวอเด้, โรดริเกรซ, ฟรูม?) ส่วนเขาแอลป์เหมาะกับนักปั่นที่ออกมาสไตล์เครื่องดีเซล ลากแช่ความเร็วได้นาน ไม่ชอบการกระชากบ่อยๆ (นิบาลิ, คาเดล เอวานส์, แบรดลีย์ วิกกินส์, คินทานา, แวนการ์เดอเรน)
ตัวอย่างสเตจในเทือกเขาแอลป์ สังเกตระยะปีน Col de la Crois de Fer ระยะทางเกือบๆ 30 กิโลเมตร เขาลูกสุดท้ายที่ La toussuire ก็ยาวไม่แพ้กัน
สเตจในเทือกเขาพีรานีส เขาที่ต้องปีนจะมีความยาวน้อยกว่าในแอลป์ แต่หลายครั้ง เปอร์เซ็นต์ความชันจะโหดกว่า

ที่ผ่านมา ฟรูมมีผลงานในพีรานีสดีกว่าในแอลป์ ปี 2013 ฟรูมชนะสเตจขึ้นเขาพีรานีสที่จบบนยอดเขา (AX-3 Domaines) เป็นคนแรก ทั้งสัปดาห์เขาครองเสื้อเหลืองและตามปิดการโจมตีคู่แข่งได้หมด, คินทานาเริ่มต้นสัปดาห์ที่สามในแอลป์มีเวลาตามฟรูมร่วม 7 นาที

ปีนี้ฟรูมโชว์ฟอร์มโหดบนทางขึ้น La Pierre Saint Martin ซึ่งอยู่ในเขตเทือกเขาพีรานีส สเตจ 12 เมื่อวานนี้บน Plateau de Bellie เขาก็ตามคู่แข่งได้ทุกคน

ปี 2013 คินทานาทำเวลาตีตื้นฟรูมในช่วงสัปดาห์ที่ 3 บนเทือกเขาแอลป์ได้หลายนาที เรายังไม่เห็นฟรูมนำห่างคู่แข่งได้โดดเด่นบนเทือกเขาแอลป์เหมือนในพีรานีส (แต่ฟรูมก็ให้สัมภาษณ์ว่ามันขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวมากกว่า เพราะในปี 2013 เขากะจังหวะให้ฟอร์มพีคในช่วงเริ่มการแข่งขันเลย จึงเริ่มแรงตกในสัปดาห์ที่สาม แต่ปีนี้เขาบอกว่าซ้อมมาแบบกะพีคช่วงกลางและท้ายการแข่งขัน เพราะงั้นฟอร์มการปั่นในสัปดาห์สุดท้ายอาจจะดีกว่านี้อีกก็ได้)

กลับกันในปี 2013 คินทานาเสียเวลาให้ฟรูมในสเจจ AX-3 Domaines ถึง 1.45 นาที แต่เขาพลิกมาทำเวลาคืนในแอลป์ ไล่ตามฟรูมได้หลายนาทีเช่นกัน เขาได้ที่ 4 ในสเตจขึ้น Alpe d’Huez และได้แชมป์สเตจสุดท้ายบนทางขึ้นยอด Semnoz

ในบรรดานักปั่นที่ไต่เขาเก่งๆ ด้วยกันเอง คินทานาจัดว่าเป็นตัวประหลาดครับ เขามาจากประเทศโคลอมเบีย เกิดในเมืองที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 2,800 เมตร ฟังดูก็สูงดี แต่ประเด็นคือมันสูงกว่าถนนที่สูงที่สุดในยุโรป กลายเป็นนักปั่นที่ร่างกายปรับสภาพเคยชินกับพื้นที่สูงชัน ทั้งเรื่องการหายใจ เมทาโบลิซึ่ม (และเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมนักปั่นโคลอมเบียหลาบๆ คนไต่เขาได้ดีมาก)

ในขณะที่ตัวเต็งอย่าง ฟรูม คอนทาดอร์ และนิบาลิ ต้องหาเวลาไปเข้าค่ายเก็บตัวบนยอดเขาสูง (altitude training camp) เพื่อให้ร่างกายคุ้นชินกับการแข่งบนเขา คินทานาเกิดมากับสภาพแวดล้อมเขาสูงชันตั้งแต่เกิด (ประโยชน์ของการเก็บตัวซ้อมบนเขา อ่านได้ที่นี่: Cyclingnews: The highs and lows of altitude training

Tour de Frane 2015 stage 10 (3 of 6)

แล้วทำไมไม่พูดถึงตัวเต็งคนอื่น? ณ จุดนี้ ถ้านิบาลิ คอนทาดอร์ และทีเจย์ยังไม่คืนสภาพ ผมว่าคงยากที่จะสู้กับฟรูมที่มีขุนผลอย่างโทมัสกับพอร์ท ที่ดูจะฟอร์มดีกว่าทั้งคู่เสียอีก Astana ดูมีปัญหาภายใน ส่วนคอนทาดอร์ดูกรอบไปเยอะเทียบกันฟอร์มในจิโร่ ทีเจย์เองก็เจี๋ยมเจี้ยมไปเยอะ หลังจากที่เจอ “ของจริง” ในสเตจ 10

กลับกัน Movistar มีไพ่สองใบ ทั้ง วาวเวอเด้ (ที่ฟอร์มดีกว่าปีที่แล้วมาก) และคินทานา อย่างเมื่อวานเราก็ได้เห็นทั้งคู่สลับกันกระชากฟรูม ยังดีว่า Sky ยังอุดอยู่ แต่ถ้าสัปดาห์ที่สามมาถึง Sky เริ่มเหนื่อยจากการคุมเกมตลอดสองสัปดาห์ ไม่แน่กระสุนหัวเขียวของ Movistar อาจจะเจาะเกราะสอยยานแม่ Sky ร่วงจากท้องฟ้าก็เป็นได้

ก็อย่างสำนวนเขาว่าละครับ สงครามยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหาร

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *