ทำไมเสือหมอบแอโรรุ่นใหม่ๆ น้ำหนักเยอะจัง?

ปีนี้เราเห็นจักรยานแอโรรุ่นใหม่จากแบรนด์กระแสหลักเปิดตัวออกมา 5 รุ่น จริงว่าเสือหมอบพวกนี้ดูจะเป็นพัฒนาการล่าสุดจากผู้ผลิต แต่แทบทุกคันมีน้ำหนักเยอะเกินกว่ามาตรฐานที่เราเคยรับได้ในระดับราคานี้ไปมากครับ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

ผมลองรวบรวมน้ำหนักรถแบบ completed bike ในสเป็ครุ่นท็อปจากที่แบรนด์ส่งให้สื่อต่างๆ รีวิว บางสื่อชั่งน้ำหนักรวมบันได หรือเมาท์การ์มิน หรือขากระติกด้วย เราก็ตัดออกอย่างคร่าวๆ น้ำหนักทีไ่ด้อาจจะไม่เป๊ะสักทีเดียว แต่ใกล้เคียงกัน (systemsix และ Venge มากับพาวเวอร์มิเตอร์) ซึ่งก็ได้ออกมาเป็นรูปนี่

อย่างที่เห็น จักรยานเสือหมอบแอโรรุ่นท็อปสุดในโลกตอนนี้ ที่ค่าตัว 380,000 บาท++ ในไซส์ 56cm เวอร์ชันดิสก์เบรก น้ำหนักเท่ากับหรือเกิน 7.5kg เกือบทุกคัน (ยกเว้น Venge ที่ชั่งจริงไม่ถึง 7.2kg) บางคันขึ้นไปใกล้ถึงเลข 8

สองปีที่แล้วถ้าบอกว่าจ่ายเงินเกือบสี่แสนเพื่อจักรยานน้ำหนักเจ็ดโลครึ่งนี่คงส่ายหัว หรืออาจจะบอกว่าพี่บ้าหรือเปล่า?

แล้วทำไมเราถึงมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา?

1.) เพราะ Narrative หรือการเล่าเรื่องของแบรนด์ครับ

ที่พยายามชี้ให้เห็นว่า “น้ำหนักไม่ได้มีผลขนาดนั้น” โดยเฉพาะเมื่อปั่นบนเส้นทางที่ความชันเฉลี่ยยังไม่ถึง 8% ยังไงรถแอโรก็เร็วกว่า ซึ่งในทางฟิสิกส์ก็เป็นเรื่องจริงครับ ถ้าเราขี่ด้วยความเร็วคงที่เทียบกัน แต่การใช้งานจักรยานจริงๆ ของเราก็ไม่ได้ขี่นิ่งๆ คนเดียว…จาก A ไป B จริงไหม

2. จักรยานแอโรรุ่นใหม่ใช้ดิสก์เบรกทั้งหมด

ทำให้น้ำหนักระบบรวมเพิ่มขึ้น 300-500 กรัม แล้วแต่การออกแบบของแต่ละเจ้า จริงว่าน้ำหนักไม่ใช่ทั้งหมดของการขี่จักรยาน และเสือหมอบแอโรรุ่นใหม่ๆ นั้นก็มีความคล่องแคล่วคล่องตัวมากกว่ารุ่นก่อนๆ ที่ออกจะทื่อๆ แข็งๆ

รีวิวจากทุกเจ้ากับหมอบแอโรรุ่นใหม่พวกนี้ บอกเหมือนกันหมดว่า “เวลาไต่เขาก็ไม่ได้รู้สึกหนัก” ซึ่งก็เป็นความรู้สึกน่ะนะ ตอนผมได้ทดสอบ Specialized S-Works Venge ไซส์ 52cm ก็ยังรู้สึกได้ถึงน้ำหนักของมันอยู่ คือมันขึ้นเขาไม่มันส์เท่ารถเบาๆ แน่ๆ หละ และเวลาขี่ทางราบมันก็เร็วลื่นไหลสนุกดี

3. เบาเกินไปก็ไม่ทำให้เร็วขึ้น? 

ส่วนสุดท้ายคือ เสือหมอบพวกนี้เป็นรถแข่ง ออกแบบมาให้มืออาชีพใช้แข่งนั่นหมายความว่ายังอยู่ภายใต้กฏที่สหพันธ์จักรยานนานาชาติตั้งไว้ นั่นคือน้ำหนักจักรยานต้องไม่ต่ำกว่า 6.8 กิโลกรัม ผู้ผลิตหลายรายที่เคยคุยด้วยมองว่า น้ำหนักจักรยานเบาไปกว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ขี่เร็วขึ้น และเบาเกิน 6.8kg ก็ใช้แข่งไม่ได้อยู่ดี

เมื่อพัฒนาวัสดุมาได้จนถึงจุดที่มันเบามากแล้ว ควรจะเอาไปปรับจูนเรื่องรูปทรงของรถให้มันมีความลู่ลมมากขึ้นดีกว่า ถึงแม้จะแลกกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นก็ตาม

ทั้งหมดนี้เลยสานทอรวมกันออกมาเป็นสตอรี่ใหม่ ที่ขายเรื่องความแอโรไดนามิก โฟกัสไปที่ความเร็วความลู่ลม ประสิทธิภาพของดิสก์เบรก ประสิทธิภาพเฟรมโดยรวมที่ดีขึ้น ดึงให้เราลืมหรือสนใจเรื่องน้ำหนักน้อยลง ถึงแม้จะต้องจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้รถที่หนักกว่าที่เคยมี

อย่าลืมว่าคนส่วนใหญ่ซื้อรถรุ่นท็อปไม่ได้ครับ แต่ถ้าเขาซื้อหมอบแอโรรุ่นรองลงมา น้ำหนักมันจะมากกว่ารุ่นท็อปพวกนี้อีก

สุดท้ายผู้ซื้อจะให้ความสำคัญกับแอโรไดนามิกหรือน้ำหนักเท่าไรนั้นก็ต้องตัดสินใจกันเอาเองครับ อยากได้เบาก็มีรถแนวไต่เขาให้เลือก อยากได้ลู่ลมก็มีเสือหมอบแอโรให้เลือก แต่สังเกตุว่ามันเป็นการ “เพิ่มตัวเลือก”

คือถ้าเรามีแนวคิดว่าต้องเอาสุดทุกอย่างเราก็จะอยากมีจักรยานหลายคัน ถ้าจ่ายไหวก็ดีใจด้วย แต่ถ้าจ่ายไม่ไหว ชอบมีรถคันเดียวอย่างผม ก็คงต้องหาจุดสมดุลให้เจอครับ พอมีสตอรี่มาเทรวมๆ กันทั้งสายเบา สายแอโร มันก็เปลี่ยนความคิดเราอย่างเนียนๆ ว่าจักรยานเรามันอาจจะไม่ดีเหมือนที่เคยเสียแล้ว

วิธีของผมคือเลือกรถ all around ที่มีดีไซน์แอโรไดนามิกผสมด้วย เลือกอุปกรณ์ที่ลู่ลมพอประมาณ เช่นแฮนด์ สเต็ม ล้อ มาเสริม ก็ลงตัวได้พอดีๆ ครับ ลื่นไหล นิ่มสบาย ไม่นักมาก ~ คันเดียวเที่ยวทุกที่ครับ~

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

1 comment

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *