สองวันที่ผ่านมามีข่าวการย้ายทีมของนักปั่นชื่อดังหลายคนครับ ตั้งแต่ 1 สิงหาคมถึงปลายฤดูกาลเราเรียกช่วงนี้ว่า “Transfer Season” หรือช่วเวลาที่นักปั่นสามารถย้ายทีมได้
ทำไมย้ายก่อนหน้านี้ไม่ได้? เพราะทุกคนเห็นต้องกันว่าถ้าหากย้ายกลางฤดูกาลได้จะเป็นผลเสียกับทีมและตัวนักปั่นเอง เช่นถ้าทีมรู้ว่านักปั่นตัวเต็งคิดจะย้ายไปอยู่กับทีมคู่แข่งตั้งแต่ต้นฤดูกาล มันก็จะสร้างความไม่สบายใจในทีมหลายอย่าง แต้ม UCI ที่นักปั่นได้จากการแข่งก็จะหายไปด้วย และทีมอาจจะเลือกให้นักปั่นที่เก่งน้อยกว่าแข่งแทนคนที่จะย้าย เพื่อตอบแทนความซื่อสัตย์ต่อทีม
ปีนี้มีเคสที่น่าสนใจครับ มาดูกันก่อนว่าสองวันที่ผ่านมาใครย้ายไปไหนบ้าง
ย้ายทีม
วาร์เรน บากิลล์ (Sunweb) > Fortuneo Oscaro
อเล็กซานเดอร์ คริสทอฟ (Katusha) > Emirates
โทนี กาโลแพน (Lotto-Soudal) > AG2R
แดนเนียล ออส (BMC) > Bora
ปีเตอร์ เคนยอท์ (Sky) > Bora
รามอน ซิงเกิลแดม, จอร์จ ไพรด์เลอร์ (Sunweb) > FDJ
ต่อสัญญา
Sky > ฟรูม, โทมัส, แสตนนาร์ด
Sunweb > ดูโมลาน
Lotto-Jumbo > โรจ์กลิค
Quickstep > ยุงเกลส์, อลาฟิลลิป
Movistar > โอลิเวเรีย
Katusha > ซาคารินe, สปิแลค
BMC > พอร์ท, บุควอลเตอร์, เดอมาชี
Bahrain > โคลเบรลลี
Astana > ฟูลก์แซง, ซานเชซ, Cataldo
AG2R > บาเดต์, เนเซ็น, ลาทัวร์
สังเกตว่าหลายๆ ทีมต่อสัญญากับดาวรุ่ง หวังปั้นให้รุ่งถึงแม้ตอนนี้ผลงานอาจจะยังไม่โดดเด่นมาก เช่น Quickstep (ยุงเกลส์และอลาฟิลลิป) อีกหลายทีมก็ตั้งป้อมลงทุนกับนักปั่นที่เก่งอยู่แล้ว (BMC, Sunweb, Sky, Astana, AG2R)
ทีนี้ปกติเราจะคิดว่านักปั่นมักจะย้ายไปทีมที่ใหญ่กว่า เพราะทีมใหญ่ก็จะมีความพร้อมและเงินทุนค่าจ้างมากกว่า แต่ไม่เสมอไปครับ กรณีของบากิลล์เขาย้ายไปอยู่ทีมดิวิชันสอง ซึ่งเราเดาว่าค่าจ้างก็คงเพิ่มขึ้นนั่นแหละ แต่สภาพแวดล้อมการแข่งจะต่างไปและได้ลงสนามใหญ่น้อยลง….
ทำไมเขาถึงเลือกแบบนั้น? ไม่ใช่นักปั่นทุกคนที่แฮปปี้กับการอยู่ในทีมดิวิชัน 1 ด้วยแรงกดดันและความรับผิดชอบที่มากขึ้นครับ อยู่ทีมใหญ่สปอนเซอร์ก็หวังผลงานใหญ่และเป็นสาเหตุที่บากิลล์ไม่มีผลงานมาหลายปี จนในตูร์ปีนี้ที่เขาไม่ต้องนำทีม GC และได้แข่งอย่างสบายใจ เขาบอกว่าชอบแข่งแบบไม่ต้องดูวัตต์ อยากจะโจมตีเมื่อไรก็เอาตามสัญชาติญาณ และทีมเล็กจากฝรั่งเศสอย่าง Fortuneo นั้นตอบโจทย์ชีวิตของเขาดีแล้ว (เขาอยู่ทีมดิวิชัน 1 มา 4 ปีแล้ว) และท้ายสุด Fortuneo นี่ยังไงก็ได้ลงตูร์ สนามที่สำคัญที่สุดของบากิลล์ เพราะเป็นทีมดิวิชันสองของฝรั่งเศส ยังไงผู้จัดก็เชิญลงแข่งครับ
กรณีของคริสทอฟก็น่าสนใจ เพราะเจ้าตัวมีปัญหากับ Katusha อยู่พักหนึ่งละ จากที่ไม่มีผลงานอะไรเท่าไรมาสามฤดูกาล ผลงานที่ดีที่สุดของเขาอยู่ในปี 2014 ที่ได้แชปม์ San Remo และ Tour de France สองสเตจ ปี 2015 ได้แชมป์ Tour of Flanders แต่จากนั้นผลงานก็ตกลงและทีมก็กดดันให้เขาต้องแข่งให้คุ้มค่าตัว
https://www.instagram.com/p/BXLgsl9AZQl
คริสทอฟจะไปอยู่กับทีมที่มีสปรินเตอร์เยอะมาก (โมโดโล่, กอร์ดินี, สวิฟต์, เฟอร์รารี) แต่ส่วนใหญ่เป็นสปรินเตอร์เกรด B ซึ่งจริงๆ แล้วก็หนีคนอย่างคริสทอฟนี่แหละมาอยู่ทีมนี้ ก็น่าสนใจว่าทีมจะแบ่งผลประโยชน์ยังไงครับ ปีนี้ UAE ได้สายการบิน Fly Emirates มาอัดฉีดทำให้มีเงินทุนทำทีมมากขึ้นประมาณ 5 เท่า (ราว 25-30 ล้านยูโร) พอๆ กับทีม BMC และ Quickstep แต่ยังไม่เท่า Sky ตอนนี้มีข่าวว่าอารูอาจจะย้ายมาทีม UAE ด้วยแต่ยังไม่คอนเฟิร์ม
อีกคนที่เป็นภาพสะท้อนที่ดีมากของระบบ Sky คือปีเตอร์ เคนยอท์ที่ย้ายไป Bora Hansgrohe – เคนยอท์ปกติเป็นรูเลอร์ (Rouleur) ที่แกร่งมาก ขึ้นเขาดี (แต่ไม่สุด) สปรินต์ได้ (แต่ไม่สุด) ส่วนใหญ่รับงานเป็นหัวลากให้ทีมในแกรนด์ทัวร์ และมีโอกาสได้แสดงฝีมือบ้างบางครั้ง จะบอกว่าเขาเป็นเควียทคอฟสกี้เวอร์ชันรองก็ว่าได้ นักปั่นระดับเคนยอท์นี่ควรจะได้มีโอกาสนำทีมมากว่านี้แต่แน่นอนว่าเขาหาโอกาสนั้นไม่ได้ที่ Sky เพราะเสือสิงห์กระทิงแรดเต็มทีมไปหมด ไปอยู่ Bora อาจจะได้โอกาสใหม่ๆ ในสเตจเรซแบบสัปดาห์เดียวครับ
สุดท้ายเราจะเห็นว่ามีหลายเหตุผลที่นักปั่นย้ายทีม บ้างผลงานไม่ดีอยู่กับทีมเก่าไม่ได้ อาจจะพอสิ่งแวดล้อมและแผนการแข่งของทีมไม่เหมาะกับสไตล์การปั่นของเขา บ้างอยากลดแรงกดดันเพิ่มอิสระไปอยู่กับทีมที่เล็กกว่า บ้างอยากเข้าระบบที่ใหญ่ขึ้น มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าไม่ใช่เงินเพียงอย่างเดียวที่เป็นปัจจัยครับ หลายคนยอมลดค่าตัวเพื่อให้ได้ขี่อย่างมีความสุขมากขึ้น โดยเฉพาะนักปั่นที่อยู่ในทีมระบบเข้มอย่าง Sky และ BMC
ข่าวการย้ายทีมคงมีออกมาอีกเรื่อยๆ แต่ไม่น่าจะเยอะมาก เพราะส่วนใหญ่นักปั่นมีสัญญาแล้ว จะมีก็เคส Quickstep ที่หมดสัญญาทั้งทีม น่าสนว่าจะต่อสัญญาให้ใครบ้าง เพราะทีมมีดาวเยอะ แต่งบไม่พอครับ