ทำไมการแข่งจักรยานล้าหลังกว่ากีฬาอื่นๆ ?

[dropcap letter=”บ่”]อยครั้งที่คนอ่านเว็บ DT ที่เพิ่งหันมาชมการแข่งขันจักรยานส่งข้อความมาถามเราว่า “แข่งจักรยานนี่ดูยังไงนะ?”… แน่นอนว่าทุกประเภทกีฬา จะดูรู้เรื่องและสนุกได้ก็ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันสักพักหนึ่ง บางกีฬาดูง่าย อย่างเทนนิส ฟุตบอล มอเตอร์สปอร์ต บาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล เชื่อว่าถึงไม่เคยเล่น ก็ใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมงเดียวที่จะดูรู้เรื่อง

แต่แข่งจักรยาน! ขอบอกว่าดูเป็นปีบางทีอาจจะยังมีงงครับ กีฬาแข่งเสือหมอบ (หรือที่คนไทยเรียกว่าจักรยานทางไกล) พูดก็พูด เป็นกีฬาที่ล้าหลังมาก ทั้งทางเรื่องการจัดการ ตารางแข่ง ไปจนถึงวิธีการแข่ง มีทั้งสนามแข่งวันเดียว สนามแข่งหลายวันแบบสเตจเรซ การแบ่งแยกดิวิชันก็ไม่ชัดเจน ไม่มีการเก็บแต้ม เลื่อนลำดับ ไม่มีลีกที่ชัดเจน พูดก็พูด คนที่ดูเป็นอาจจะสนุก แต่คนที่ดูไม่เป็นนี่อาจจะเปิดช่องหนีในสิบนาทีแรก คนที่ปั่นเสือหมอบอย่างจริงจังหลายคน เชื่อว่าไม่สนใจจะดูการแข่งขันด้วยซ้ำ

ที่แย่ที่สุดคือ เป็นกีฬาที่ไม่ยั่งยืนสำหรับนักปั่นอาชีพ ทีมต่างๆ ไม่ใช่สโมสร เมื่อสปอนเซอร์ถอนตัว ทีมก็โดนยุบเอาดื้อๆ แบบไม่ให้นักปั่นตั้งตัวย้ายทีมกันเลย อย่างที่เราเห็น Cannondale Pro Cycling ปิดตัวลงไปในฤดูกาลนี้ เคสใหญ่ๆ ก็มี HTC-Highroad ในปี 2011 ซึ่งเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดในช่วงห้าปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ แต่กลับไม่มีใครอยากสนับสนุนพวกเขา…

เชื่อไหมว่าเม็ดเงินที่แต่ละทีมได้มาจากสปอนเซอร์ 90% นั้นคือค่าตัวนักปั่น ที่เหลือเป็น Operating cost ทั้งหมด สำหรับเงินเดือนสตาฟ ค่าอุปกณณ์ ค่าบริหารงานต่างๆ สรุป ไม่มีทีมไหนได้กำไร เงินที่สปอนเซอร์ลงมา ถือได้ว่าเป็น “ค่าโฆษณา” ทั้งหมด ไม่มี Return of Investment ในรูปแบบอื่นนอกจากได้ทำให้แบรนด์ตัวเองติดหูติดตาผู้คน (ในแง่นี้ก็สามารถโต้แย้งได้ว่า “คุ้ม” ถ้าแบรนด์คุณต้องการเจาะตลาดคนที่ดูแข่งจักรยาน)

นี่ยังไม่พูดถึงทีมอย่าง Belkin ที่เปลี่ยนชื่อมาแล้ว 3-4 ครั้งตั้งแต่ Rabobank – Blanco – Belkin แล้วตอนนี้ก็เป็น Lotto NL พอไม่มีทั้งสโมสร และชื่อทีมเปลี่ยนตามกระแสเงินของสปอนเซอร์ อัตลักษณ์ทีมก็ไม่มี ทำให้แฟนๆ ยากที่จะติดตาม จบฤดูกาลต้องมาคอยเช็คว่าคนไหนย้ายไปทีมไหน?

ปวดหัวดีไหมหละครับ
ยังไม่พูดถึงเรื่องคดีโด้ปอีกหลายเคสที่มีให้เห็นทุกปี ยิ่งทำให้ภาพพจน์วงการเสื่อมเสียลงไปอีก
วงการเรานี่ตามกีฬาอย่าง เบสบอล ฟุตบอล บาส อยู่หลายสิบปีครับ

เราจะแก้ปัญหายังไง? | ขอต้อนรับ Project VELON

ไม่ใช่แค่แฟนๆ จักรยานเท่านั้นที่ปวดหัว นักปั่นอาชีพและผู้จัดการทีมก็เดือดร้อนไม่แพ้กัน เพราะพวกเขาคือผู้เสียหายโดยตรง การแข่งจักรยานจะใช้รูปแบบคร่ำครึที่อิงเอากฏและวัฒนธรรมการปั่นนับร้อยปีใช้ต่อไปตลอดไม่ได้ หลายๆ ทีมเลยรวมตัวกันเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจ เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืน หวังปฏิรูปการแข่งขันจักรยานครับ

Screen Shot 2557-11-26 at 4.26.01 PM

ใครที่ติดตามข่าวจักรยานทุกวันจากเว็บต่างประเทศน่าจะได้อ่านข่าวเรื่อง Project Velon (Velon.cc) ที่ 11 ทีมใหญ่เขาร่วมมือเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจกัน โปรเจ็คนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดที่ผมพูดถึงข้างบนนี้ แล้วเขาจะเริ่มยังไง? เป้าหมายเขามี 3 ข้อครับ

1. ทำให้การแข่งจักรยานน่าตื่นตาตื่นใจ

พูดง่ายๆ คือไม่ให้การชมจักรยานเป็นเรื่องน่าเบื่อ ความตั้งใจคืออยากจะสร้าง “เรื่องราว” (narrative) ที่ผู้ชมสามารถติดตามและคาดหวังได้ตลอดทั้งฤดูกาล ไม่ใช่แข่งสะเปะสะปะ เหมือนตารางแข่งตอนนี้ ที่เริ่มกันด้วยสนามคลาสสิคต้นปี สลับไปสเตจเรซ 7 วัน สลับไปแกรนด์ทัวร์ แล้วก็มาชิงแชมป์โลกช่วงเดือนกันยา จากนั้นก็เงียบ กร่อย รอดูแข่งอีกทีก็มกราคมปีถัดไป….

การสร้างเรื่องราวที่น่าติดตาม ในที่นี้คิดได้หลายอย่างเลยครับ อาจจะมีจัดแข่ง MVP เหมือนในอเมริกันฟุตบอล NFL แบ่งเป็นหลายๆ ประเภท ทั้งสปรินเตอร์ GC Man นักไต่เขา นัก TT อาจจะคิดระบบการเก็บคะแนนแข่งขันกัน แล้วช่วงท้ายปีก็มาหา Best Rider of the Year ไม่ใช่แค่สะสม World Tour Point เหมือนในตอนนี้ อาจจะตั้งแรงจูงใจด้วยเงินรางวัลสักล้านยูโร ซึ่งก็มากกว่าค่าตัวนักปั่น 90% ใน peloton ตอนนี้

2. ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้การชมจักรยานไม่น่าเบื่อ

อีกประเด็นที่โปรเจ็คนี้เขาเริ่มทำกันมาแล้วก็คือ บันทึกและถ่ายทอดภาพการแข่งจากมุมมองของนักปั่น หรือกล้องติดจักรยานที่เราเห็นกันมาตลอดทั้งซีซันนี้นั่นหละครับ ให้ได้เห็นอารมณ์การแข่งขันแบบถึงตัว และหวังจะใช้ภาพฟุทเทจพวกนี้ขายให้กับโทรทัศน์เพื่อเป็นช่องทางเสริมรายได้ให้ทีมอีกทางหนึ่ง ในอนาคตอาจจะดึงเอาระบบ GPS เข้ามาใช้เพื่อระบุตัวนักปั่นบนหน้าจอทีวี พร้อมแสดงความเร็ว รอบขา อัตรการเต้นหัวใจ กำลังวัตต์ และความชันของเส้นทาง หรือทำ projection ตำแหน่งของนักปั่นบนเส้นทางที่เขากำลังแข่งกันอยู่ ก็น่าสนใจไม่น้อย

อนาคต ถ่ายทอดสดจักรยานอาจจะเป็นแบบนี้ก็ได้นะ!
3. ทำให้ทีมยั่งยืนและน่าเชื่อถือ

ข้อนี้เป้าหมายคือแก้ปัญหาเรื่องระบบสปอนเซอร์ทีมตอนนี้ ที่สามารถเข้าและออกได้ตลอดเวลา ทำให้ทีมไม่รู้ว่าจะอยู่รอดจนถึงเมื่อไร ถ้า CEO สปอนเซอร์เปลี่ยนใจขึ้นมา ทีมจะทำยังไง? Velon พยายามสร้างฐานรายได้สำหรับทีมใหม่ โดยเสนอขอส่วนแบ่งกำไรจากผู้จัดแข่งรายการใหญ่อย่าง ASO (Tour de France) และ RCS Sport (Giro d’Italia) หรือที่เราเรียกกันว่า Revenue Sharing เป็นระบบที่กีฬาอื่นๆ ก็ทำกันอยู่ครับ ประเด็นของเขาคือ นักปั่นเป็นเสมือนตัวละครและแม่เหล็กดึงดูดแฟนๆ ให้เปิดดูรายการแข่ง ถ้านักแข่งชื่อดังไม่มา แน่นอนว่าเรตติ้งมันก็ลดลงไป แต่ทำไมนักแข่งกลับไม่ได้ส่วนแบ่งเลย ราวกับเป็นตัวแสดงฟรีให้ผู้จัดแข่งเขาได้กำไรจากค่าลิขสิทธิ์และค่าโฆษณาไปเฉยๆ ?

ตรงนี้เราก็ต้องรอดูกันว่าทางบริษัทอย่าง ASO/ RCS เขาจะยอมหรือเปล่า เพราะจากที่เคยได้กำไรมาร่วมร้อยปี ไม่ต้องแบ่งใคร เจอหมัดหนักอย่างงี้เข้าไปจะทำยังไง? ทีมมีอำนาจต่อรองครับ

อีกประเด็นที่ต้องเคาะกันก็คือตัวสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (UCI) เองที่เป็นคนกำหนดระเบียบการแข่งทุกอย่าง ตั้งแต่ปฏิทิน ขนาดทีม กฏอุปกรณ์ ไปจนถึง การจัดอันดับ และตารางลีกปัจจุบัน (ที่ไม่ได้เรื่อง) พูดง่ายๆ ตอนนี้การปกครองมันเป็นแบบ Top-Down ครับ UCI เป็นเจ้าพ่อคุมทุกเรื่อง ถ้า Velon ขึ้นมาต่อรองตรงนี้ สร้างลีกเอง หาส่วนแบ่งกำไรเอง UCI จะเปิดกว้างขนาดไหน?

อนาคตลีกโปรทัวร์?

ผมว่าความพยายามของแต่ละทีมที่มาร่วมลงทุนกันสร้างองค์กรพิเศษอย่าง Velon ขึ้นมาเป็นเรื่องดี และเหมาะสมสำหรับช่วงเวลานี้ ถ้าโปรทีมหาโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนและทำให้การแข่งจักรยานน่าดู ไม่แพ้กีฬาใหญ่ๆ มันคงกระตุ้นตลาดจักรยานได้ไม่น้อย โปรเจ็ค Velon นี่จริงจังครับ 11 ทีมใหญ่ลงหุ้นกัน สร้างองค์กรขึ้นมาคานอำนาจตัวเก๋าในวงการ มี CEO บริหาร มีทีมดำเนินงานครบเป็นบริษัท

ตอนนี้หลายๆ ทีมที่ไม่เข้าร่วมอย่าง FDJ, AG2R, Astana, Movistar, Katusha ยังดูอยู่ห่างๆ เพราะว่ากันตรงๆ โปรเจ็คนี้มันก็ยังไม่ชัดเจน ยังเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น ต้องติดตามกันต่อไปครับ

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *