เมื่อ Rapha ขายกิจการในราคา 8,600 ล้านบาท

เวลาเรานึกถึงคำว่า Rapha คุณนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกครับ? ชุดปั่นจักรยานเรียบๆ สวยๆ ภาพแอคชันของนักปั่นในสีหน้าเจ็บปวดรวดร้าว ทีม Sky ทีม Wiggins หรือประสบการณ์การปั่นดีๆ? คำตอบที่ว่ามาก็ถูกต้องทั้งหมด แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว Rapha มีธุรกิจหลากหลายมากครับ

หลากหลายและประสบความสำเร็จในระดับที่สามารถขายกิจการได้ในราคา 8,600 ล้านบาทให้กับสจว๊ตและทอม วอลตัน หลานชายของแซม วอลตัน ผู้ก่อตั้ง Wal-Mart…จากเมื่อ 13 ปีก่อนที่คอเลคชันชุดปั่นแรกของ Rapha มีแค่ชุดปั่นดำๆ แบบเดียวตัวเดียว จนวันนี้มีสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์นักปั่นผู้มีอันจะกินครบวงจร

เมื่อวานนี้ Rapha ประกาศการขายหุ้นส่วนใหญ่ให้บริษัท RZC Investments ของวอลตัน Sky News รายงานว่ามูลค่าการซื้อขายน่าจะอยู่ที่ 200 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 8,600 ล้านบาท

สจ๊วจ วอลตันกล่าว

“ราฟาเป็นภาพสะท้อนของความเป็นเลิศในวงการจักรยาน เราเชื่อมั่นในความกระตือรือร้นของ Rapha, ในสินค้า ในสังคมนักปั่นที่ Rapha สร้างขึ้นและอนาคตที่เราเชื่อมั่นว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง Rapha มีแผนยุทธศาสตร์ที่เข้มแข็งช่วยให้กิจการของเขาเติบโตอย่างทวีคูณต่อเนื่องทุกปี เราดีใจที่จะได้มีส่วนร่วมในก้าวต่อไปของ Rapha ครับ”

ผู้ลงทุนคนนี้ดูไปดูมาก็คล้ายๆ ที่ Sky Sport และ 21st Century Fox ของตระกูลเมอร์ดอคเข้ามาสนับสนุน Team Sky และ British Cycling ครับ คือไม่ใช่เพื่อผลทางธุรกิจอย่างเดียวแต่ดูจะเป็นความชอบในจักรยานของตัวผู้ลงทุนด้วย และเงินก็ไม่ใช่ปัญหาอยู่แล้ว นอกจาก Rapha แล้ว RZC Sport ยังเป็นผู้ลงทุนในบริษัท Allied Cycle Works ที่เราพูดถึงเมื่อวานนี้ด้วย

Rapha เติบโตกว่าปีละ 25% และมีกำไรตั้งแต่ปี 2009 – 5 ปีหลังจากเปิดกิจการ ปัจจุบันมีลูกค้าประจำกว่า 200,000 ราย และมีพนักงาน 450 คน หัวใจสำคัญของธุรกิจ Rapha คือการที่เป็นธุรกิจแบบ Direct To Consumer – ขายตรงผ่านหน้าเว็บไซต์ Rapha.cc ซึ่งทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลกครับ นอกจากนี้ยังมี Clubhouse ใน 17 หัวเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ทำหน้าที่เป็นทั้งร้านขายสินค้าของ Rapha เป็นร้านกาแฟ และจุดรวมตัวของนักปั่น/ลูกค้า Rapha เรียกได้ว่ามี touchpoint ที่ช่วยให้คน “เข้าถึง” วัฒนธรรม Rapha ได้ใกล้ชิดขึ้น กำจัดจุดอ่อนของการเป็นแบรนด์ออนไลน์ที่คนเข้าถึงและจดจำได้ยาก

Rapha ยังมีบริการ Rapha Travel หรือบริการจัดทริปปั่นพรีเมียมตามเส้นทางปั่นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในเทือกเขาแอลป์  พีรานีส โดโลมิตี้ และอีกหลายจุดทั่วโลก ล่าสุดเปิด Rapha Cycling Club ชมรมจักรยานของ Rapha ที่สมาชิกต้องเสียค่าบริการรายปีและได้รับสิทธิพิเศษ ช่วยเค้นให้ความเป็น community เหนียวแน่นขึ้นอีก และด้วยการลงทุนของ RZC เราน่าจะได้เห็น Clubhouse ของ Rapha เปิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากครับ

ปีที่แล้ว Rapha มีรายได้ 67 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) เป็นกำไร 1 ล้านปอนด์ (ประมาณ 43 ล้านบาท)

ถึงจะขายหุ้นส่วนใหญ่แล้ว ไซมอน มอทแทรม CEO ของ Rapha และทีม Rapha ยังคงทำงานต่อในตำแหน่งเดิม

ผมจำได้ว่าวันที่มอทแทรม เปิดตัวแบรนด์ในปี 2004 เขามีความตั้งใจเพียงแค่ “อยากจะเห็นคนปั่นจักรยานได้ใส่ชุดปั่นที่ดูดี ไม่ใช่ชุดสีสะท้อนแสงที่ไร้มีดีไซน์” ตัวเขาเองเป็นนักปั่นตัวยงแต่หงุดหงิดใจมากที่ไม่สามารถหาชุดปั่นเรียบๆ ไม่เต็มไปด้วยโลโก้แบรนด์และสปอนเซอร์ใส่ได้ สุดท้ายก็ตั้งบริษัทตอบโจทย์นี้เอง ตลอดเวลาที่เปิดบริษัทมา Rapha มีกลุ่มคนที่ไม่ชอบเป็นจำนวนมาก ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูหรูหราเว่อวัง แต่มอทแทรมบอกว่า กรูไม่แคร์ “ถ้าคุณมัวแคร์ทุกเสียงทุกคนคุณก็ไปไม่ถึงฝั่งหรอก” การที่มีคนเกลียดมาก ก็แปลว่ามีคนรักแบรนด์ Rapha มากด้วยเช่นกัน และมันก็สะท้อนออกมาในยอดเงินอย่างที่เราเห็นกันวันนี้ครับ

Via: Rapha.cc

♦ ♦ ♦ ♦

By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!

Leave a comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *