Wilier Cento 10 NDR เสือหมอบที่อยากเป็นทุกอย่าง

วงการจักรยานเสือหมอบมีเรื่องย้อนแย้งอยู่อย่างหนึ่งครับ นั่นคือผู้ผลิตจักรยานมักจะเก็บเทคโนโลยีที่ดีที่สุดไว้ในจักรยานแข่งขันรุ่นสูงสุด ทั้งเรื่องน้ำหนักและความสามารถในการตอบสนองแรง แต่ใช่ว่านักปั่นทุกคนจะอยากขี่จักรยานแข่ง เพราะจักรยานพวกนี้มีฟิตที่ออกแบบมาให้นักกีฬาใช้งาน คุณต้องร่างกายแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นพอสมควรถึงจะปั่นได้สนุก

จักรยานรุ่นรองๆ ลงมาจึงจะมาฟิตที่เหมาะกับคนทั่วไปมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายครับ แต่นั่นก็เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตหลายรายทำจักรยานสำหรับคนธรรมดาด้วยเทคโนโลยีเดียวกับรถแข่งออกมาด้วย จักรยานรุ่นล่าสุดที่เราได้มาทดสอบคือ Wilier Cento 10 NDR เสือหมอบทรงแอโร แต่มีฟิตแบบจักรยานขี่สบาย ที่มาพร้อมกับดิสก์เบรก แต่จะติดตั้งริมเบรกด้วยก็ได้ ตบท้ายด้วยระบบซับแรงสะเทือนที่ปรับความนิ่มได้!

เหมือนเป็นการยำเอาทุกอย่างเข้ามาไว้ในคันเดียวกัน (ขาดอย่างเดียวคือเรื่องน้ำหนัก ที่ไม่ได้เบามากนัก) เป็นการผสมผสานที่น่าสนใจ แต่จะเวิร์กหรือไม่ลองมาดูกัน


ปั่นสบายด้วย ลู่ลมด้วย? 

จุดเด่นของ Cento 10 NDR คือระบบซับแรงสะเทือน Actiflex ที่ติดตั้งด้วยจุดหมุนระหว่างตะเกียบท่อนั่งและส่วนบนของท่อนั่งอย่างที่เห็นในรูปข้างบนครับ

ภายในระบบนี้ใช้แกนอลูมิเนียมเชื่อมด้วยน็อตขนาดยาว มีลูกยางโพลีเมอร์แทรกอยู่ตรงกลาง ระบบจุดหมุนเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเฟรม ไม่ได้ต่อออกมาเป็นส่วนเสริม ซึ่งช่วยรักษาความสติฟฟ์ของเฟรมเวลาเราออกแรงปั่นหนักๆ

ตัวรับแรงคือลูกยาง technopolymer ซึ่งจะถูกบีบโดยจุดหมุนระหว่างตะเกียบท่อนั่งและท่อนั่ง เวลาซื้อรถมาจะมีลูกยางให้เปลี่ยน 3 ความแน่น ถ้าเลือกตัวที่นิ่มก็จะซับแรงสะเทืิอนได้มากแต่รถก็จะให้ฟีลยวบกว่าด้วย คันที่เราลองมากับความแน่นระดับกลาง

ระบบ ACTIFLEX ให้ตัวได้ 6mm ฟังดูน้อยนิดมากแต่จริงๆ รู้สึกได้ครับ แค่ขย่มรถบนหลักอานก็รู้แล้วว่ามันยุบตัวได้ Wilier กล่าวว่ากว่าจะพัฒนาระบบนี้ได้ให้มันซับแรงสะเทือนแต่ไม่เสียฟีลการพุ่งหรือเร่งนี่ต้องวิจัยเยอะทีเดียว ถึงกับเอา accelerometer มาติดกับเฟรมเพื่อดูว่าระบบ ACTIFLEX มันให้ตัวได้มากน้อยแค่ไหนในสภาพพื้นผิวถนนต่างๆ

นอกจากระบบซับแรงสะเทือนแล้ว ด้านทรงรถก็มีการปรับให้เหมาะกับการปั่นบนทางวิบากด้วย ระยะเอื้อม (reach) จะสั้นกว่ารถแข่งคันอื่นๆ ของ Wilier ระยะตั้ง (stack) ก็สูงกว่าเช่นกันเพื่อที่จะได้ไม่ต้องก้มมากและรักษาสมดุลรถได้ดีบนถนนขรุขระ หลักอานคาร์บอนที่ให้มาด้วยทำโดย Ritchey ซึ่งเป็นหลักอานกลมธรรมดา ให้ตัวได้ดีกว่าหลักอานแอโร

ด้านหน้าของรถดึงเอาดีไซน์มาจากเฟรม Wilier Cento 10 Air ซึ่งเป็นเสือหมอบแอโรเต็มตัว ใช้ทรงท่อแบบ NACA Airfoil แต่ปลายตัดแบบ Kamn tail ตลอดแนวตะเกียบ ท่อล่าง ท่อนั่ง ตะเกียบท่อนั่ง รวมถึงแหวนรองคอด้วย นอกจากนี้เฟรมยังซ่อนสายแบบทั้งคัน ไม่มีโผล่ออกมาแม้แต่เส้นเดียว (แต่ต้องใช้ดิสก์เบรกครับ) ได้ลุคที่คลีนมากๆ

ถ้าใช้ดิสก์เบรกจะไม่มีสายเคเบิ้ลโผล่ออกมาให้เห็นเลย 
ชุดเกียร์ Shimano Di2 ที่ใช้ junction box แบบซ่อนในแฮนด์

Wilier คันนี้มากับแฮนด์และสเต็มคาร์บอน ออกแบบมาให้ใช้ด้วยกัน แต่แยกชิ้นกันได้ ถ้าใช้กรุ๊ปไฟฟ้าสายเคเบิ้ลจะถูกซ่อนทั้งหมด แต่ถ้าเป็นชุดขับ mechanical จะมีสายเบรคหลังที่ซ่อนไม่ได้ครับ


ดิสก์เบรกก็มี ริมเบรกก็ได้

Wilier Cento 10 NDR รองรับทั้งระบบดิสก์เบรกและริมเบรกแบบไดเรคเมาท์ เป็นการตัดสินใจที่แปลกดี เราไม่เคยเห็นเจ้าอื่นทำแบบนี้ครับ ไม่เลือกเป็นเฟรมดิสก์ไปเลยก็ริมเบรกไปเลย การเหยียบเรือสองแคมแบบนี้มันทำให้ออกแบบไม่ได้สุดสักทาง จะดึงเอาจุดเด่นของเฟรมดิสก์เบรกเต็มตัวก็ไม่ได้ เช่นรองรับยางหน้ากว้างเกิน 30mm เพราะต้องเผื่อระยะ clearance ให้ก้ามเบรคธรรมดาด้วย

ดิสก์เบรกติดตั้งมาตรฐาน Flatmount ร่วมสมัย
จุดยึดเบรกไดเรคเมาท์

แต่นั่นก็หมายความว่าผู้ใช้เลือกได้ว่าอยากจะใช้ระบบเบรกแบบไหน ถ้าอยากมีจักรยานคันเดียวที่ทำได้หมดก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจครับ ที่ดรอปเอาท์มีตัวแปลงให้เราติดตั้งได้ทั้งแกนปลดไวหรือแกน Thru Axle


ปั่นจริงเป็นยังไง? 

คำถามแรกเลยคือเวลาเรากระชาก หรือสปรินต์ หรือลุกขึ้นยืนปั่น ระบบซับแรงสะเทือนทำให้เฟรมยวบหรือเปล่า?

เวลาปั่นจริงแทบไม่ต่างกับเฟรมทั่วไปครับ ระบบ Actiflex ที่เห็นไม่ใช่แค่การแทรกลูกยางระหว่างจุดหมุนเพื่อให้ลูกยางซับแรงสะเทือน แกนอลูมิเนียมที่เห็นทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมจุดหมุนช่วยแยก movement ระหว่างช่วงสามเหลี่ยมหน้าและหลังรถ จริงว่าแรงสะเทือนมาตกที่ลูกยางแต่มันจะหยุดแค่ตรงนั้น ฟีลลิง “โช๊คยุบ” ไม่ได้ขึ้นไปถึงหลักอาน/ เบาะ เพราะจุดหมุนมันอยู่ระหว่างท่อนั่งและตะเกียบท่อนั่งพอดี

เวลาปั่นจริงก็ได้ฟีลนิ่มๆ ไหลๆ เลย ถ้าเจอหลุ่มใหญ่ก็ยังรู้สึกได้ว่ากระแทกอยู่ แต่ไม่สะท้าน ถ้าหลุมใหญ่มาก (ผมตั้งใจขี่ตกหลุม) มันจะมีฟีลลูกยางรีบาวด์นิดนึงครับ ไม่ได้มีผลอะไรมาก แต่ก็บ่งบอกว่ากำลังปั่นจักรยานที่มีระบบซับแรงสะเทือนอยู่

เห็นทรงรถดูดุดันเหมือนรถแข่ง แต่เป็นรถที่ไม่ได้ก้มมากนักเพราะระยะเอื้อมกับระยะตั้งไม่ดุดันจนเกินไป ระยะ stack ต่อ reach ในไซส์ XS อยู่ที่ 1.428 เทียบง่ายๆ คือใกล้เคียง TREK H2 ครับ

และถึงท่อคอจะสูงกว่ารถแข่งฟิตโปร แต่ยังได้ฟีลเข้าโค้งคมๆ อยู่ องศาท่อคอมาแบบรถแข่งเต็มตัวที่ 72.5 องศา และระยะเชนสเตย์แค่ 406 มิลลิเมตร เวลาพุ่งออกจากโค้งหรือกระชากหนักๆ ก็ยังให้ฟีลกระฉับกระเฉงดี จะมีหนืดบ้างก็เพราะน้ำหนักเฟรมที่หนักเกือบๆ 1,200 กรัมและระบบดิสก์เบรกครับ 


สรุป

ถามว่า Wilier Cento 10 NDR เหมาะกับใคร ก็อาจจะเป็นคนที่อยากจะมีจักรยานคนเดียวแต่ต้องการใช้งานหลากหลาย ขี่ไกลๆ สไตล์ Audax หรือได้ทั้งวันแบบไม่เมื่อย ระบบดิสก์เบรกไว้ใจได้เวลาต้องลงเขาชัน รองรับยางกว้างได้ถึง 30mm ก็พอจะลุยได้ทุกสภาพเส้นทาง แต่ถ้ายังอยากทำความเร็วก็ไม่น้อยหน้าคนอื่นๆ ครับ หาล้อขอบสูงใส่หน่อยก็เอาอยู่

ทั้งนี้ความเป็นเป็ดของมันก็มีข้อแลกเปลี่ยนนั่นคือ จะลู่ลมก็ยังไม่ไหลลื่นเต็มที่เท่าเสือหมอบแอโร และน้ำหนักตัวก็เยอะเอาเรื่องเมื่อเทียบกับเฟรม all round ที่เน้นความกระฉับกระเฉง ไหลไม่สุด พุ่งไม่สุด แต่นิ่มกว่ารถแข่งแทบทุกคันครับ ถ้าคุณไม่ต้องการความสุดไปหมดแบบนั้น และอยากปรับเปลี่ยนสเป็ครถได้โดยไม่ถูกจำกัดโดยระบบเบรค ชอบลุคคลีนๆ ดุๆ Cento 10 NDR คันนี้น่าจะตอบโจทย์ครับ

เฟรมเซ็ตราคา 129,000 บาท / ผู้นำเข้า Wilier Triestina Thailand


By เทียนไท สังขพันธานนท์

คูน คือผู้ก่อตั้งดั๊กกิ้งไทเกอร์ และอยากใช้เว็บไซต์นี้ช่วยให้คนไทยอยากขี่จักรยานกันเยอะๆ!